ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,292)


ปาปิจโฉ ปรารถนาลามก

ทำไมชอบคิดสกปรกแต่ “เรื่องพรรค์นั้น”

คำว่า “ปาปิจโฉ” นักเรียนบาลีของเราแปลกันว่า “มีความปรารถนาลามก” อันเป็นการแปลตามสำนวนเก่าที่แปลกันมาอย่างนั้น

“ปาปิจโฉ” เขียนแบบบาลีเป็น “ปาปิจฺโฉ” มีจุดใต้ จฺ อันเป็นการบังคับให้ จฺ เป็นตัวสะกด

ถ้าไม่มีจุดใต้ จฺ คือเขียนเป็น “ปาปิจโฉ” แบบที่เขียนเป็นคำไทย อ่านแบบบาลีต้องอ่านว่า ปา-ปิ-จะ-โฉ แต่คำนี้อ่านว่า ปา-ปิด-โฉ คือ จ เป็นตัวสะกด ไม่ออกเสียง เมื่อเขียนแบบบาลีจึงต้องมีจุดใต้ จฺ บังคับให้ จฺ เป็นตัวสะกด คือเขียนเป็น “ปาปิจฺโฉ” จึงจะอ่านว่า ปา-ปิด-โฉ ได้ 

นี่เป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่คนทั่วไปมักมองข้าม แต่นักเรียนบาลีถูกสอนให้เอาใจใส่-แม้แต่จุดเล็ก ๆ จุดเดียว

ปัญหาก็คือ เมื่อแปล “ปาปิจฺโฉ” ว่า “มีความปรารถนาลามก” คำว่า “ลามก” ทำให้คนที่ไม่คุ้นกับสำนวนบาลีเข้าใจไปว่า หมายถึง “เรื่องพรรค์นั้น” หรือ “เรื่องอย่างว่า” พูดตรง ๆ ก็คือเข้าใจไปว่า หมายถึงการร่วมเพศ

“ปาปิจฺโฉ” แยกศัพท์เป็น ปาป + อิจฺโฉ 

อิจฺโฉ แปลว่า “ผู้มีความปรารถนา”

“ลามก” แปลจากคำว่า “ปาป” ทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “บาป” หรือแปลออกศัพท์ว่า “ชั่ว” หรือ “ความชั่ว” เช่นคำว่า “ปาปการี” = คนทำชั่ว

เพราะฉะนั้น “ปาปิจฺโฉ” ถ้าไม่แปลว่า “มีความปรารถนาลามก” ก็ต้องแปลว่า -

“มีความปรารถนาบาป” 

“มีความปรารถนาชั่ว” 

“มีความปรารถนาความชั่ว”

ก็ไม่พ้นที่จะต้องอธิบายขยายความอีกอยู่นั่นเองว่า ปรารถนาอะไรหรือปรารถนาแบบไหน

ขยายความ :

“ลามก” บาลีอ่านว่า ลา-มะ-กะ รากศัพท์มาจาก -

(1) ลมฺ (ธาตุ = ตำหนิ) + ณฺวุ ปัจจัย แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ลมฺ > ลาม)

: ลมฺ + ณฺวุ > อก = ลมก > ลามก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขาตำหนิ” 

(2) ลา (ธาตุ = ถือเอา) + มก ปัจจัย 

: ลา + มก = ลามก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือเอาภาวะที่เลว” 

“ลามก” ในบาลีใช้เป็นคุณศัพท์ นักเรียนบาลีนิยมแปลทับศัพท์ว่า “ลามก”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“ลามก : (คำวิเศษณ์) หยาบช้าต่ำทราม, หยาบโลน, อันเป็นที่น่ารังเกียจของคนดีมีศีลธรรม, เช่น หนังสือลามก พูดลามก ทำลามก. (ป.).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ลามก” ว่า insignificant, poor, inferior, bad, sinful (ไม่สำคัญ, แย่, ต่ำต้อย, เลว, ทราม)

จะเห็นได้ว่า “ลามก” ไม่ได้มีความหมายชี้เฉพาะว่า “การร่วมเพศ” แต่ประการใดเลย

คนไทยเอาไปคิดกันเอง เอาไปปรุงแต่งกันเอง แล้วก็รังเกียจคำว่า “ลามก” กันไปเองแท้ ๆ

ในบาลี คำที่มีความหมายเท่ากับ “ลามก” คือ “ปาป” (ปา-ปะ) “ปาป” เป็นทั้งคำนามและคำคุณศัพท์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาป” ที่เป็นคำนามว่า evil, sin, wrong doing (ความเลวร้าย, ความชั่ว, การทำผิด) แปล “ปาป” ที่เป็นคำคุณศัพท์ว่า evil, bad, wicked, sinful (เลวร้าย, เป็นอกุศล, ชั่ว, เลวทราม, บาป)

เวลาพูดคำว่า “ลามก” ถ้ารู้สึกรังเกียจ

เวลาพูดคำว่า “บาป” ก็ควรจะรังเกียจด้วยเท่า ๆ กับคำว่า “ลามก”

เรียนบาลีดีตรงนี้ หรือได้เปรียบตรงนี้ คือเราไม่รังเกียจคำอะไรง่าย ๆ เพราะเรารู้ไปถึงรากหรือโคตรเหง้าของคำคำนั้น

เช่นเดียวกับคน

นอกจากรู้จักนิสัยใจคอในปัจจุบันของเขาเท่าที่เห็น หากรู้ไปถึงภูมิหลังหรือโคตรเหง้าของเขาด้วย เราก็จะประเมินค่าเขาได้ถูกต้องยิ่งขึ้น ไม่หลงชอบหลงชังไปตามที่ “เขาว่า” หรือแม้แต่ที่ตาเห็นเองเฉพาะในปัจจุบัน

สรุปว่า คำแปล “ปาปิจฺโฉ” ว่า “มีความปรารถนาลามก” หมายถึง อยากได้ใคร่ดีในทางผิด ๆ ผิดวินัยก็ไม่อาย ผิดกฎหมายก็ทำ ผิดศีลธรรมก็เอา ไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี นั่นแหละคือ “มีความปรารถนาลามก” 

ไม่ได้หมายถึง-มีความปรารถนาจะร่วมเพศ-อย่างที่มักคิดกันไปเองแต่ประการใด

เวลาได้ยินคำนี้ โปรดตั้งอารมณ์ให้ถูกต้อง

..............

ดูก่อนภราดา!

: เรียนรู้ให้ทันคำ คำก็ไม่หลอกคน

: เรียนรู้ให้ทันคน คนก็ไม่หลอกกัน

[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,ปาปิจโฉ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.