ภายในวันนั้น ไม่ใช่ภายใน ๗ วัน (๑)

------------------------------

เรื่องที่มีคนเข้าใจผิดและชอบเอาไปพูดผิด ๆ เรื่องหนึ่งก็คือ คฤหัสถ์ หรือฆราวาส หรือคนครองเรือน คือชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่พระภิกษุสามเณร ถ้าบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จะตายภายใน ๗ วัน ใช้สำนวนธรรมะว่า จะนิพพานภายใน ๗ วัน

เรื่องนี้ต้องถอยหลังไปตั้งหลักกันไกลหน่อย

แต่หลักใกล้ ๆ ที่ขอบอกก่อนคือ เรื่องนี้ผมได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่อง-จ่ายสองหมื่นไปนิพพานได้ ที่มีท่านผู้หนึ่งเอามาบอกเล่า ผมไปอ่านเจอเข้า ตรงที่เป็นเหตุให้เกิดแรงบันดาลใจก็คือ ท่านผู้เล่าได้กล่าวว่า ชาวบ้านธรรมดาก็สามารถเป็นพระอรหันต์ได้ เพียงแต่ว่าจะต้องนิพพานคือตายภายใน ๗ วัน

........................

เอาละ ทีนี้ถอยหลังไปตั้งหลักกัน

หลักก็คือ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้วก็ทรงประกาศธรรมแก่ชาวโลก เป้าหมายก็คือเพื่อให้ชาวโลกพ้นทุกข์

ทุกข์ที่เป็นต้นเค้าของปวงทุกข์ก็คือ การเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่มีวันจบสิ้น ภาษาวิชาการเรียกว่า สังสารทุกข์ ถ้าเล็งไปที่การเวียนว่ายตายเกิด ก็เรียกว่า สังสารวัฏ

หลักการก็คือ ถ้ายังเกิดก็ยังต้องทุกข์ ถ้าจะไม่ทุกข์ก็ต้องไม่เกิด

แต่พูดว่า “ไม่เกิด” คนจะกลัว เพราะคนอยากเกิด การไม่เกิดคือการสูญสลาย ตัดความหวังความต้องการให้สูญสิ้น จึงอยากเกิดต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อจะได้เสพสุขจากความมีความเป็นได้เรื่อยไป และไม่ต้องการสูญสลาย

แต่คนลืมคิดไปว่า การเกิดเป็นต้นเหตุของทุกข์ทั้งปวง และไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่สูญสลาย ตามกฎธรรมชาติที่ภาษาวิชาการเรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คำไทยว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

การต้องการเกิด แต่ไม่ต้องการดับสูญสลาย จึงเป็นความต้องการที่ฝืนธรรมชาติหรือผิดธรรมชาติ

เกิดแล้ว ต้องการเสวยสุขอย่างเดียว ไม่ต้องการทุกข์ ก็ผิดธรรมชาติ

เกิดแล้ว ต้องทุกข์

ไม่ต้องการทุกข์ ก็ต้องไม่เกิด

เป็นหลักการธรรมดา ๆ แต่คนทั่วไปมองไม่เห็น

แต่การไม่เกิดไม่ใช่สำเร็จได้เพียงแค่ต้องการ

ถ้ายังมีเหตุปัจจัยให้เกิด ก็ยังต้องเกิด-แม้จะไม่อยากเกิดก็ตาม

คำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมุ่งไปที่-ตัดกระบวนการคือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด

กระบวนการของเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด ภาษาวิชาการเรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” (ปะ-ติด-จะ-สะ-หฺมุบ-บาด) แปลเอาความว่า สิ่งที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น หรือพูดเป็นคำสรุปว่า “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี”

กระบวนการคือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นธรรมชาติที่ซับซ้อน แต่พระพุทธองค์ก็ทรงค้นพบ ทั้งทรงค้นพบวิธีที่จะตัดกระบวนการนั้นด้วย

วิธีที่จะตัดกระบวนการคือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “วิปัสสนาธุระ” คือ การฝึกอบรมจิตให้เข้าถึงภาวะที่รู้เข้าใจสภาวะต่าง ๆ ตรงตามความเป็นจริง

ภาวะที่รู้เข้าใจตรงตามความเป็นจริงนั้น ถ้าใช้ศัพท์วิชาการก็ตรงกับคำว่า “อริยภูมิ”

ถึงตรงนี้ก็ควรทำความเข้าใจแทรกไว้ด้วยว่า จิตของมนุษย์มี ๒ ระดับ คือ ระดับปุถุชน และระดับอริยชน

ระดับปุถุชน คือระดับปกติทั่วไป มีชอบมีชัง อยากได้ อยากมี อยากเป็น ที่ภาษาพระเรียกว่า มีโลภโกรธหลงเป็นปกติ เกิดมาก็เป็นอย่างนี้กันทั่วไป และถ้าไม่ฝึกอบรมก็จะเป็นอย่างนี้เรื่อยไป และนี่เองคือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด หรือเวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น

ระดับอริยชน คือระดับที่ได้ฝึกอบรมจิตจนสามารถระงับหรือดับหรือจำกัดโลภโกรธหลงออกไปจากจิตใจได้ เริ่มจากกำจัดได้เป็นบางส่วน ไปจนถึงกำจัดได้หมดสิ้นเชิง

ตรงนี้เป็นหลักวิชานิดหนึ่ง กรุณาอดทนกัดฟันศึกษากันสักหน่อย

นั่นคืออริยชน หรือคำทั่วไปเรียกว่า “อริยบุคคล” หรือ “พระอริยะ” นั้น ท่านแบ่งเป็น ๔ ระดับ คือ -

.........................................................

๑ พระโสดาบัน กำจัดกิเลสสำคัญได้ ๓ ตัว คือ (1) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน (2) วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลไม่แน่ใจ (3) สีลัพพตปรามาส การทำตาม ๆ กันไปอย่างงมงาย

๒ พระสกิทาคามี กำจัดกิเลสสำคัญได้เพิ่มขึ้นไปอีก คือ (4) กามราคะ ความติดใจในกามคุณ (5) ปฏิฆะ ความหงุดหงิดขัดเคือง กิเลส ๒ ตัวนี้พระสกิทาคามียังกำจัดได้ไม่หมด แต่ทำให้เบาบางลง

๓ พระอนาคามี กำจัดกิเลสสำคัญทั้ง ๕ ตัวข้างต้นนั้นได้หมดสิ้นเชิง

๔ พระอรหันต์ กำจัดกิเลสสำคัญได้อีก ๕ ตัว คือ (6) รูปราคะ ความติดใจในรูปภพ (7) อรูปราคะ ความติดใจในอรูปภพ (8 ) มานะ ความถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (9) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (10) อวิชชา ความไม่รู้จริง

เป็นอันว่าพระอรหันต์กำจัดกิเลสสำคัญได้หมดทั้ง ๑๐ ตัว กิเลสรายย่อยไม่ต้องพูดถึง พระอรหันต์จึงเป็นอริยบุคคลหรือพระอริยะที่ปราศจากกิเลสด้วยประการทั้งปวง

.........................................................

พึงทราบหลักต่อไปด้วยว่า -

พระโสดาบัน ยังต้องเกิดอีก แต่ไม่เกิน ๗ ชาติก็จะนิพพาน

พระสกิทาคามี เกิดอีกชาติเดียวแล้วนิพพาน

พระอนาคามี ไม่เกิดในภูมิมนุษย์ แต่เกิดในภูมิเทพชั้นสุทธาวาสแล้วนิพพาน

พระอรหันต์ นิพพานในชาตินี้ ไม่เกิดในภพใด ๆ อีกต่อไป คือที่เราพูดว่า สิ้นภพจบชาติ

นิพพานไม่ใช่โลกอีกโลกหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมจนสิ้นกิเลสแล้วไปเกิดรวมกันอยู่ในที่นั้นเสวยสุขเป็นอภิมหาอมตะนิรันดร-อย่างที่มักจะเข้าใจกันผิด ๆ

คำว่า “นิพพาน” ในพระพุทธศาสนาหมายถึงสิ้นภพจบชาติ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป และไม่ได้ไปสถิตอยู่ในที่ไหน ๆ

การที่จะฝึกอบรมจิตให้เข้าถึงภาวะอริยภูมิจนถึงนิพพานนั้น ถ้ายังครองเรือนอยู่ก็ทำได้ยาก เพราะสิ่งแวดล้อมไม่อำนวย ผู้ต้องการปฏิบัติมุ่งนิพพานจึงมักปลีกตัวออกไปถือเพศนักบวชตามที่พระพุทธองค์ทรงวางระบบหรือ “จัดตั้ง” ขึ้น นี่คือกำเนิดเพศสงฆ์หรือวิถีชีวิตสงฆ์ที่สืบต่อกันมาดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้คือส่วนที่ “ถอยหลังไปตั้งหลัก”

........................

คราวนี้ก็มาจับจุดกันตรงที่ว่า ชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่พระภิกษุสามเณร ถ้าบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จะนิพพานภายใน ๗ วัน 

จริง ๆ แล้วคืออย่างไร

จริง ๆ แล้วคือพูดผิดจากคัมภีร์ครับ

หลักการบรรลุธรรมคือเข้าถึงอริยภูมิท่านว่า ระดับโสดาบัน สกทาคามี และอนาคามี ชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่พระภิกษุสามเณร ก็สามารถปฏิบัติจนเข้าถึงได้ ตัวบุคคลในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาที่เป็นชาวบ้านบรรลุธรรมมีกล่าวไว้ในคัมภีร์มีให้พบได้ทั่วไป

.........................................................

แวะตรงนี้นิดหนึ่งว่า การไม่ได้บวชเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนาไม่ได้ตัดโอกาสที่จะบรรลุธรรมแต่ประการใดทั้งสิ้น

ความจริงประเด็นนี้พาดพิงไปถึงสตรีที่ครองเพศภิกษุณีที่ปรากฏตัวอยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้ แต่ขอตัดไว้แค่นี้ มีโอกาสค่อยถกเถียงกันต่อไป

.........................................................

สรุปว่า ไม่ต้องบวชก็เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และแม้แต่เป็นอรหันต์ก็ยังได้ 

แต่กรณีชาวบ้านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์นั้น มีเงื่อนไขที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์ เป็นเรื่องที่ควรแก่การศึกษา จะได้ไม่เข้าใจผิดแล้วเอาไปพูดกันผิด ๆ

เงื่อนไขคืออย่างไร ตอนหน้าจะยกมาศึกษากันครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๑๗ มีนาคม ๒๕๖๗

๑๘:๔๓

 

[full-post]

ปกิณกธรรม,อริยบุคคล,พระอริยะ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.