ภายในวันนั้น ไม่ใช่ภายใน ๗ วัน (๒)

------------------------------

ทบทวนนิดหนึ่งว่า ฆราวาสชาวบ้านธรรมดาสามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผลคือบรรลุธรรมได้ทุกระดับ

บรรลุมรรคผลเป็นพระโสดาบันก็ได้

บรรลุมรรคผลเป็นพระสกทาคามีก็ได้

บรรลุมรรคผลเป็นพระอนาคามีก็ได้

บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ก็ได้

แต่เฉพาะระดับพระอรหันต์ มีเงื่อนไข 

คือถ้าเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ ก็ดำรงชีพต่อไปเป็นปกติ ธาตุขันธ์เป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ระดับจิตอยู่ในอริยภูมิชั้นสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์ 

แต่ฆราวาส ถ้าบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ ท่านว่าจะมีคติเป็น ๒ คือ -

๑ ถือเพศเป็นบรรพชิตในวันนั้น และดำรงชีพต่อไปในเพศบรรพชิต หรือ - 

๒ ถ้าไม่ถือเพศเป็นบรรพชิต ก็จะนิพพานในวันนั้น

ทั้ง ๒ เงื่อนไขนี้เป็นเหตุที่จะต้องเกิด “ในวันนั้น” เท่านั้น

ถ้าบวช ก็ต้องบวชในวันนั้น

ถ้าไม่บวช ก็ต้องนิพพานในวันนั้น

ไม่ใช่ภายใน ๗ วันอย่างที่เข้าใจผิดและเอาไปบอกกล่าวเผยแพร่กันผิด ๆ

และกรุณาจับหลักให้ถูกด้วยนะครับ

ถ้าบวชในวันนั้นได้ ก็ดำรงชีพอยู่ต่อไปเป็นปกติ 

ไม่ใช่ว่าบวชในวันนั้น แล้วอยู่ไปอีก ๗ วันจึงนิพพาน

ถ้าไม่บวชในวันนั้นก็ต้องนิพพานในวันนั้น 

ไม่ใช่อยู่ไปได้อีก ๗ วันแล้วนิพพาน

ที่ว่ามานี้ว่าตามหลักฐานในคัมภีร์ ไม่ได้ว่าเอาเอง

หลักฐานในคัมภีร์ท่านแสดงไว้ดังนี้ -

.........................................................

เยปิ  หิ  สนฺตติมหามตฺโต  อุคฺคเสโน  เสฏฺฐิปุตฺโต  วีตโสกทารโกติ  คิหิลิงฺเค  ฐิตาว  อรหตฺตํ  ปตฺตา  ฯ

แม้บุคคลที่ดำรงเพศคฤหัสถ์ คือ สันตติมหาอำมาตย์ อุคคเสนะเศรษฐีบุตร วีตโสกทารกะ ก็บรรลุพระอรหัตได้

เตปิ  มคฺเคน  สพฺพสงฺขาเรสุ  นิกนฺตึ  สุกฺขาเปตฺวาว  ปตฺตา  ฯ

บุคคลเหล่านั้นยังความติดใจในสังขารทั้งปวงให้เหือดหายไปด้วยมรรคแล้วบรรลุ (-ธรรมเป็นพระอรหันต์) ได้

ตํ  ปตฺวา  ปน  น  เตน  ลิงฺเคน  อฏฺฐํสุ  ฯ

แต่เมื่อบรรลุแล้วก็ไม่ดำรงอยู่ด้วยเพศนั้น

คิหิลิงฺคํ  นาเมตํ  หีนํ  ฯ

อันว่าเพศคฤหัสถ์นี้เป็นเพศต่ำ

อุตฺตมคุณํ  ธาเรตุํ  น  สกฺโกติ  ฯ

ไม่สามารถทรงคุณอันสูงสุด (คือความเป็นพระอรหันต์) ไว้ได้

ตสฺมา  ตตฺถ  ฐิโต  อรหตฺตํ  ปตฺวา  ตํทิวสเมว  ปพฺพชติ  วา  ปรินิพฺพาติ  วา  ฯ

เพราะฉะนั้น ผู้อยู่ในเพศคฤหัสถ์บรรลุพระอรหัตแล้ว ย่อมบวชหรือปรินิพพานในวันนั้นเอง

ที่มา: ปปัญจสูทนี (อรรถกถามัชฌิมนิกาย) ภาค ๓ หน้า ๒๒๓ (เตวิชชวัจฉสุตตวัณณนา)

.........................................................

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=240

.........................................................

คำที่เป็นหลักฐานสำคัญคือ “ตํทิวสเมว  ปพฺพชติ  วา  ปรินิพฺพาติ  วา” 

ปพฺพชติ แปลว่า ย่อมบวช

ปรินิพฺพาติ แปลว่า ย่อมปรินิพพาน

วา แปลว่า หรือว่า 

ปพฺพชติ  วา  ปรินิพฺพาติ  วา แปลว่า ย่อมบวชหรือย่อมปรินิพพาน

“ตํทิวสเมว” อ่านว่า ตัง-ทิ-วะ-สะ-เม-วะ แยกศัพท์เป็น ตํ + ทิวสํ + เอว

ตํ แปลว่า นั้น that

ทิวสํ แปลว่า วัน day

เอว แปลว่า นั่นเทียว only 

“ตํทิวสเมว” แปลว่า “ในวันนั้นนั่นเทียว” in that day only

........................

ตามหลักฐานที่ยกมา เป็นอันยืนยันได้ว่า ฆราวาสบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ ย่อมบวชหรือไม่ก็ปรินิพพานภายในวันนั้น 

ไม่ใช่ภายใน ๗ วัน

ท่านผู้ใดมีหลักฐานว่า ฆราวาสบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ ย่อมบวชหรือไม่ก็ปรินิพพานภายใน ๗ วัน ไม่ใช่ภายในวันนั้น 

ก็สามารถยกหลักฐานมาแสดงเป็นการยืนยันได้

ที่ทำกันอยู่ตอนนี้คือพูดกันขึ้นมา เขียนกันออกไป แต่ไม่ได้บอกว่า ที่ว่า “ภายใน ๗ วัน” นั้น ไปเอามาจากไหน ใครพูด มีหลักฐานอยู่ที่ไหน คนที่พูดขึ้นก่อนไปเห็นหลักฐานที่ไหนจึงเอามาพูด หรือพูดเอาเองเข้าใจเอาเอง-โดยไม่เคยเห็นไม่เคยอ่านไม่เคยศึกษาคัมภีร์ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ซึ่งเป็นหลักฐานเก่าที่สุดรองลงมาจากพระไตรปิฎก

หรือใครมีหลักฐานว่า ในพระไตรปิฎกบอกไว้ว่า “ภายใน ๗ วัน” ก็ยกข้อความในพระไตรปิฎกมาให้ดูกัน เราจะได้รู้กันว่า คัมภีร์ปปัญจสูทนีขัดแย้งกับพระไตรปิฎก

ถ้าในพระไตรปิฎกไม่มีบอกไว้-ภายใน ๗ วัน หรือภายในวันนั้น-ไม่มีบอกไว้ที่ไหนเลย ก็ต้องยึดเอาคัมภีร์ปปัญจสูทนีเป็นหลักฐาน

ใครสงสัยว่า คัมภีร์ปปัญจสูทนีไปเอาข้อมูลมาจากไหนว่า “ภายในวันนั้น” ก็สามารถศึกษาสอบค้นต่อไปได้ ไม่จำเป็นจะต้องเชื่อตามคัมภีร์

ตรงนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรพูดกันให้เข้าใจและมองกันให้ถูก 

คือมีบางท่านประชดประชันหรือกระแหนะกระแหนคนที่อ้างคัมภีร์ว่า “พวกติดคัมภีร์” “พวกยึดคัมภีร์” “นักคัมภีร์” แล้วก็อ้างกาลามสูตรสำทับว่า พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดคัมภีร์

ควรพูดกันให้เข้าใจและมองกันให้ถูกว่า เราศึกษาคัมภีร์และอ้างอิงคัมภีร์พระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาในฐานะเป็น “หลักฐาน” บันทึกคำสอนคือพระธรรมวินัยที่เรามีอยู่

เราต้องอ้างเพราะนั่นคือหลักฐานที่เรามีอยู่ เป็นการยืนยันว่าพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนานั้นเราไม่ได้พูดเอาเองคิดเอาเอง แต่เราพูดตามหลักฐาน

แต่เราจะเชื่อหลักฐานหรือจะไม่เชื่อ ตลอดจน-หลักฐานนั้นเชื่อได้หรือไม่ เป็นสิทธิของเราที่จะพิจารณาตรวจตราไตร่ตรอง ไม่มีใครที่ไหน-รวมทั้งตัวหลักฐานนั้นเอง-ที่บังคับให้เราเชื่อ ถ้าไม่เชื่อจะถูกลงโทษ จะตกนรก

ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่สับสนวุ่นวายเข้าใจไม่ตรงกันอยู่ในทุกวันนี้ล้วนเกิดมาจากต่างคนต่างพูด แต่ไม่ศึกษาไปให้ถึงหลักฐานต้นฉบับก่อน

เรื่องเดียวกัน แต่พูดกันไปร้อยคนพันคน กลายเป็นร้อยพันประเด็น

อ้างคัมภีร์ที่เดียว เรื่องก็จบ 

ถ้ามีกรณีคัมภีร์เยื้องแย้งกันเอง ก็ช่วยกันศึกษาตัวคัมภีร์นั่นก่อน เรื่องก็จบได้ไม่ยาก

เวลาศึกษาก็แยกให้ชัดเจน 

ส่วนนี้ท่านว่าไว้ในคัมภีร์ 

ส่วนนี้เป็นความเห็นของเรา 

อย่าเอาไปปนกัน

ที่ต้องอ้างคัมภีร์ก็ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้

ที่พลาดกันมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ เอาความเห็นของตัวบุคคลนำหน้า คัมภีร์จะว่าไว้อย่างไรไม่สนใจ ไม่รับรู้

แทนที่จะแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า

ก็กลายเป็นแสดงธรรมของข้าพเจ้า

........................

กรณี-บวชหรือนิพพานภายใน ๗ วัน-นี้ ถ้าไม่มีหลักฐาน ก็ต้องประกาศให้รู้กันตรง ๆ ว่าเป็นการพูดเอาเอง จะพูดกันมากี่ทอดจนหาตัวคนพูดคนแรกไม่เจอ ก็ต้องย้ำว่าเป็นการพูดเอาเองทั้งสิ้น

แล้วก็ต้องระวังไว้ด้วย อย่าพูดให้คลุมเครือ เช่น -

“ฆราวาสบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ต้องบวชหรือนิพพานในวันนั้น แต่บางตำราบอกว่าต้องบวชหรือนิพพานภายใน ๗ วัน”

แบบนี้คือสร้างปัญหา หรือเอาขยะมาทิ้งไว้ในสังคมอีกวิธีหนึ่ง

เพราะที่ว่า “บางตำราบอกว่าต้องบวชหรือนิพพานภายใน ๗ วัน” ก็บอกไม่ได้ว่า “ตำราเล่มไหน” บอก จึงเป็นการพูดเอาเองอีกเหมือนกัน 

เว้นไว้แต่จะมีใครสามารถยก “ตำราเล่มนั้น” มาแสดงหักล้างคัมภีร์ปปัญจสูทนีอันเป็นหลักฐานที่เรามีอยู่ในเวลานี้ลงไปได้

เราก็จะได้ช่วยกันรับรู้และกำหนดเป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องร่วมกันต่อไป

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๑๘ มีนาคม ๒๕๖๗

๑๖:๓๓

 

[full-post]

ปกิณกธรรม,พระอริยบุคคล,อริยบุคคล,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.