ทองย้อย แสงสินชัย อยู่กับ เตช์ รอดทองดี

#บาลีวันละคำ (4,305)


โรงเรียนสอนโจร

ผูกเป็นคำบาลีว่าอย่างไร

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีบุคคลระดับรัฐมนตรีกล่าวขึ้นลอย ๆ ว่า “เรือนจำคือโรงเรียนสอนโจร” 

ท่านผู้หนึ่งที่รับราชการอยู่ที่หน่วยเรือนจำได้ฟังแล้วก็ถามผู้เขียนบาลีวันละคำว่า คำว่า “โรงเรียนสอนโจร” ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลี จะว่าอย่างไรดี

ผู้เขียนบาลีวันละคำแสดงความเห็นไปว่า คำว่า “เรือนจำเป็นโรงเรียนสอนโจร” เป็นการแสดงความคิดเห็นชนิดหนึ่ง คือมองว่าเรือนจำก็คือแหล่งที่สอนคนให้รู้จักวิธีทำโจรกรรมหรือวิธีทำความชั่ว พูดง่าย ๆ ว่า ใครติดคุกก็เท่ากับเข้าไปรับการศึกษาวิธีทำชั่วให้ช่ำชองยิ่งขึ้น - ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นของคนบางคน เมื่อคิดเห็นเช่นนี้จึงได้กล่าวออกไปเช่นนั้น

ดังนั้น คำว่า “โรงเรียนสอนโจร” จึงไม่ใช่ชื่อโรงเรียน แต่เป็นสำนวนที่เกิดจากการตีความตามความคิดเห็น จึงเป็นการยากที่จะคิดเป็นคำบาลีให้คล้อยตามความคิดเห็นเช่นนั้นได้

แต่ถ้าจะเรียกกันเป็นคำสนุก ๆ และอาจจะไม่ได้สาระอะไร ก็เรียกเล่น ๆ ได้ว่า “โจรกรรมศาลา” 

คำนี้ คนไทยรุ่นใหม่ที่นิยมอ่านหนังสือแบบไม่มีลูกเก็บ* คงอ่านว่า โจน-กำ-สา-ลา

..............

*คำว่า “ลูกเก็บ” เป็นภาษาดนตรีไทย หมายถึงการบรรเลงที่เพิ่มเติมเสียงสอดแทรกให้มีพยางค์ถี่ขึ้นกว่าทำนองเนื้อเพลงธรรมดา

..............

อ่านหนังสือแบบไม่มีลูกเก็บคืออ่านตรงเทิ่งไปเป็นคำ ๆ ไม่มีเสียงสระระหว่างคำ

“โจรกรรมศาลา” อ่านว่า โจ-ระ-กำ-มะ-สา-ลา 

ไม่ใช่ โจน-กำ-สา-ลา

“โจรกรรมศาลา” เขียนแบบบาลีเป็น “โจรกมฺมสาลา” อ่านว่า โจ-ระ-กำ-มะ-สา-ลา ประกอบด้วยคำว่า โจร + กมฺม + สาลา

(๑) “โจร” 

บาลีอ่านว่า โจ-ระ รากศัพท์มาจาก จุรฺ (ธาตุ = ลัก, ขโมย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ จุ-(รฺ) เป็น โอ (จุรฺ > โจร)

: จุรฺ + ณ = จุรณ > จุร > โจร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ลักขโมย” หมายถึง ขโมย, โจร (a thief, a robber) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“โจร ๑, โจร- : (คำนาม) ผู้ร้ายที่ลักขโมยหรือปล้นสะดมทรัพย์สินผู้อื่นเป็นต้น. (ป., ส.).”

(๒) “กมฺม” 

เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า กำ-มะ สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”

“กรรม” ในแง่ภาษา -

1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) 

2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม

3- กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม

4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ” (the doing, deed, work)

“กรรม” ในแง่ความหมาย -

1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม 

2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม

3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม

4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม

“กรรม” ในแง่ความเข้าใจ -

1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น”

2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)

3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น

(๓) “สาลา”

รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ส-(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สลฺ + ณ = สลณ > สล > สาล + อา = สาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา”

“สาลา” หมายถึง ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์ (a large [covered & enclosed] hall, large room, house; shed, stable)

บาลี “สาลา” สันสกฤตเป็น “ศาลา” (สันสกฤต ศ ศาลา บาลี ส เสือ)

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาลา”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ศาลา : (คำนาม) อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ. (ส.; ป. สาลา).”

การประสมคำ :

๑ โจร + กมฺม = โจรกมฺม > โจรกรรม แปลว่า “กรรมของผู้ขโมย” “การกระทำของขโมย” 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“โจรกรรม : (คำนาม) การลัก, การขโมย, การปล้น. (ส.; ป. โจรกมฺม).”

ข้อสังเกต: “โจรกรรม” เป็นคำนาม แต่ในภาษาไทยบางทีก็มีผู้ใช้เป็นคำกริยา เช่น คนร้ายโจรกรรมทรัพย์สินไปได้หลายรายการ

๒ โจรกมฺม + สาลา = โจรกมฺมสาลา > โจรกรรมศาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเป็นที่สอนการงานของผู้ขโมย” หรือแปลสั้น ๆ ว่า “โรงสอนงานโจร” ตรงตามคำว่า “โรงเรียนสอนโจร” 

คือ โจรทำงานอะไรบ้าง เช่น ปลิ้นปล้อน หลอกลวง ลักขโมย งัดแงะ ตัดช่อง ย่องเบา ตีชิง วิ่งราว จี้ปล้น ก็เปิดสอนวิชาเหล่านี้ให้แก่คนที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ออกจากเรือนจำไปแล้วก็สามารถใช้วิชาเหล่านี้ประกอบอาชีพได้อย่างช่ำชอง

โปรดทราบว่า นี่เป็นการพูดแบบประชด ตามมุมมองหรือความคิดเห็นของผู้ที่พูดว่า “เรือนจำคือโรงเรียนสอนโจร” 

แต่โดยหลักการแล้ว เรือนจำย่อมไม่ใช่โรงเรียนสอนโจร และไม่มีเรือนจำที่ไหนมีนโยบายที่จะทำแบบนั้น หากแต่ทำตรงกันข้าม คือ ฝึกหัด อบรม สั่งสอน ให้ผู้ต้องขังละเลิกการประพฤติผิดประพฤติชั่ว และให้ดำรงตนอยู่ในคุณธรรมความดี

คนส่วนมากเมื่อเห็นปัญหาเกิดขึ้นที่ไหน มักจะตำหนิอย่างเดียว แต่ไม่ช่วยคิดแก้ไข นับว่าน่าเสียดาย เพราะปัญหาที่อยู่ตรงหน้าเป็นโอกาสที่จะแสดงปัญญาได้อย่างเต็มที่ 

ข้อเสนอแนะ :

ต่อไปนี้ เมื่อใครเห็นว่าที่ไหนมีปัญหาอะไร เมื่อได้วิจารณ์หรือตำหนิติเตียนต่าง ๆ แล้ว ให้ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องเสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหานั้น ๆ ด้วยทุกครั้งไป เป็นการช่วยกันแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมร่วมกัน

หากจะมีข้อขัดข้องตรงที่-ข้อเสนอแนะของเราไปไม่ถึงหูตาของผู้มีอำหน้าที่ ก็ต้องช่วยกันคิดหาวิธีแก้ข้อขัดข้องนี้อีกด้วย

การร่วมมือร่วมใจกันเช่นนี้ ผู้รู้ท่านเรียกว่า การบริหารบ้านเมืองด้วยระบบสามัคคีธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ใครคิดคนเดียวทำคนเดียวไปตามความพอใจ

..............

ดูก่อนภราดา!

มนุษย์เรา -

: ถ้าสอนให้ทำชั่วได้

: ก็ต้องสอนให้ทำดีได้

[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,โรงเรียนสอนโจร

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.