ทองย้อย แสงสินชัย 

#บาลีวันละคำ (4,298)


อารักข์สา

ภาษาที่ต้องทำใจ

คำที่ยกขึ้นมาวันนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำได้มาจากโพสต์ในเฟซบุ๊กซึ่งเป็นโพสต์ที่โฆษณาหรือประชาสัมพันธ์โครงการที่ชื่อว่า “โครงการอารักข์สา”

คำว่า “อารักข์สา” ถ้าฟังแต่เสียง ไม่เห็นตัวหนังสือ ก็เดาได้ยากว่าจะสะกดอย่างไร แม้เห็นตัวหนังสือแล้วก็ยังต้องสงสัยว่า สะกดอย่างนี้จะให้แปลว่าอย่างไร 

ต้องใช้ความสังเกต อ่านที่ตอนล่างของโพสต์ พบข้อความว่า (ดูภาพประกอบ) -

..............

โครงการ อาสา ARSA Project/โครงการ

อารักข์ ARRAG Project

..............

จึงพอเดาได้ว่า คำว่า “อารักข์” มาจากคำว่า “โครงการ อารักข์” คำว่า “สา” มาจากคำว่า “โครงการ อาสา” เอา “อารักข์” กับ อาสา” มาประสมกันเป็น “อารักข์สา” อ่านว่า อา-รัก-สา

เมื่ออ่านอย่างนี้ ก็เดาใจผู้คิดประสมคำนี้ได้ว่า เสียงว่า อา-รัก- ต้องการให้จิตประหวัดไปถึงคำว่า “อารักข์” หรือ “อารักษ์” และเสียงว่า -รัก-สา ต้องการให้จิตประหวัดไปถึงคำว่า “รักษา” ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่า รูปคำที่เขียนว่า “อารักข์-” จะถูกต้องตรงกับคำว่า “อารักข์” และ “อารักษ์” หรือไม่ และรูปคำที่เขียนว่า “-รักข์สา” จะถูกต้องตรงกับคำว่า “รักษา” หรือไม่ 

สรุปว่า อาศัยเสียงอ่านจากคำหนึ่งเป็นสื่อให้นึกไปถึงอีกคำหนึ่งเป็นสำคัญ สะกดการันต์ไม่เอามาคิดคำนึง

วิธีคิดแบบนี้เป็นทำนองเดียวกับวิธีคิดตั้งชื่อของคนไทยสมัยใหม่ ที่มีตำราตีความพยัญชนะแต่ละตัวว่ามีความหมายอย่างไร เช่น ญ หญิง มีความหมายอย่างนี้ ณ เณร มีความหมายอย่างนี้ แล้วเอาพยัญชนะที่ต้องการแต่ละตัวมาประสมกันโดยไม่คำนึงว่า เมื่อประสมกันแล้วจะเป็นคำที่มีความหมายอย่างไร 

เช่น ณ เณร มีความหมายตรงกับที่ต้องการ ญ หญิง มีความหมายตรงกับที่ต้องการ เอามาประสมกันเป็น “ณญ” อ่านว่า นน เอาไปตั้งชื่อ โดยไม่คำนึงว่า “ณญ” เป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร 

เราจึงเห็นชื่อเด็กรุ่นใหม่ที่สะกดแปลก ๆ เขียนตามคำบอกก็สะกดตามไม่ถูก เขียนแล้วก็อ่านยาก ไม่รู้ว่าออกเสียงอย่างไร แม้เขียนได้ อ่านได้ ก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร - นี่คือวิธีคิดตั้งชื่อของคนไทยสมัยนี้

ขยายความ :

อย่างไรก็ตาม ชื่อ “โครงการอาสา” และ “โครงการอารักข์” ก็ยังสามารถใช้เป็นสื่อเพื่อศึกษาถ้อยคำเป็นความรู้ได้อยู่

(๑) “อาสา” 

อ่านว่า อา-สา เป็นรูปคำบาลี รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = อยาก) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ อิ-(สฺ) เป็น อา (อิสฺ > อาส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อิสฺ + อ = อิส + อา = อิสา > อาสา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเหตุให้อยาก” หมายถึง ความจำนง, ความหวัง, ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้ (expectation, hope, wish, longing, desire)

บาลี “อาสา” สันสกฤตเป็น “อาศา” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -

“อาศา : (คำนาม) มโนรถ; ความใคร่, ความปรารถนา; ความอยาก; ความยาว; ทิศ; ประเทศ; hope; desire; wish; length; quarter; region.”

โปรดสังเกตว่า “อาศา” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างกว่า “อาสา” ในบาลี

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“อาสา : (คำกริยา) เสนอตัวเข้ารับทำ. (คำนาม) ความหวัง เช่น นิราสา = ความหวังหมดแล้ว คือ ความหมดหวัง, ความต้องการ, ความอยาก. (ป.; ส. อาศา).” 

“อาสา” ในบาลีหมายถึง “ความหวัง” แต่ในภาษาไทยไม่มีใครเข้าใจว่า “อาสา” คือ “ความหวัง”

“อาสา” ตามความหมายที่คนไทยเข้าใจกันทั่วไป ก็คือ “เสนอตัวเข้ารับทำ” เช่นในคำว่า “อาสาสมัคร” หรือคำที่เกิดใหม่ว่า “จิตอาสา” 

(๒) “อารักข์” 

เขียนแบบบาลีเป็น “อารกฺข” อ่านว่า อา-รัก-ขะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค =ทั่วไป, ยิ่งขึ้นไป) + รกฺขฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + อ (อะ) ปัจจัย 

: อา + รกฺข + อ = อารกฺข แปลตามศัพท์ว่า “การดูแลทั่วไป” หมายถึง การอารักขา, การดูแล, การป้องกัน, การเอาใจใส่, การระมัดระวัง (watch, guard, protection, care)

เพื่อให้เห็นความหมายที่กว้างออกไปอีก ขอนำคำแปลคำกริยา “รกฺขติ” (รก-ขะ-ติ) ซึ่งเป็นรากเดิมของ “อารกฺข” จากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มาเสนอเพิ่มเติมดังนี้ 

ความหมายของ รกฺขติ :

(1) ป้องกัน, ให้ที่พึ่ง, ช่วยให้รอด, ปกป้องรักษา (to protect, shelter, save, preserve)

(2) รักษา, ดูแล, เอาใจใส่, ควบคุม (เกี่ยวกับจิต และศีล) (to observe, guard, take care of, control [with ref. to the heart, and good character or morals]) 

(3) เก็บความลับ, เอาไปเก็บไว้, ระวังมิให้..(คือเลี่ยงจาก) (to keep (a) secret, to put away, to guard against [to keep away from])

“อารกฺข” สันสกฤตเป็น “อารกฺษ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -

“อารกฺษ : (คำนาม) การคุ้มครองหรือรักษา; protection or preservation;- (คุณศัพท์) อันป้องกันหรือคุ้มครองรักษาแล้ว, มีผู้อภิบาล, อันน่าอภิบาล; defended or preserved, having a protector, worthy to be preserved.”

“อารกฺข” ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “อารักษ์” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“อารักษ์ : (คำนาม) การป้องกัน, ความคุ้มครอง, ความดูแล; เทวดาผู้พิทักษ์รักษา, มักใช้ว่า เทพารักษ์ หรือ อารักษเทวดา. (ส.; ป. อารกฺข).”

โปรดสังเกตว่า คำตามพจนานุกรมฯ สะกดเป็น “อารักษ์” ษ ฤษี การันต์ แต่ชื่อโครงการสะกดเป็น “อารักข์” ข ไข่ การันต์

พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “อารักข์” ไว้ แต่เก็บคำว่า “อารักขา” บอกไว้ดังนี้ -

“อารักขา : (คำกริยา) ป้องกัน, คุ้มครอง, ดูแล. (คำนาม) การป้องกัน, ความคุ้มครอง, ความดูแล. (ป.).”

ทำไมชื่อโครงการจึงไม่สะกดเป็น “โครงการอารักษ์” ษ ฤษี การันต์ คงเป็นเหตุผลเฉพาะตัวของผู้คิดชื่อนี้

อีกคำหนึ่งคือ เสียงที่อ่านว่า -รัก-สา ทำให้จิตประหวัดไปถึงคำว่า “รักษา” แต่รูปคำที่ตาเห็นสะกดเป็น “-รักข์สา” (อารักข์สา) พึงทราบว่า ไม่มีรูปคำในบาลีที่สะกดแบบนี้ 

มีที่สะกดเป็น “รักข์” เขียนแบบบาลีเป็น “รกฺข” 

แต่ที่เป็น “รักข์สา” เขียนแบบบาลีเป็น “รกฺขสา” ไม่มี 

แต่เนื่องจากคำว่า “อารักข์สา” ที่แยกเป็น “อารักข์-” (ประหวัดถึงคำว่า “อารักษ์”) และ “-รักข์สา” (ประหวัดถึงคำว่า “รักษา”) เป็นชื่อเฉพาะ หรือ proper name จึงอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ คือสะกดอย่างไรก็ไม่ถือว่าผิดว่าถูก เป็นข้อยกเว้น เป็นอันว่าผ่านไป

แต่ก็ยังหาความรู้จากคำว่า “รักษา” ได้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“รักษ์, รักษา : (คำกริยา) ระวัง เช่น รักษาสุขภาพ, ดูแล เช่น รักษาทรัพย์สมบัติ, ป้องกัน เช่น รักษาบ้านเมือง, สงวนไว้ เช่น รักษาความสะอาด รักษาไมตรี; เยียวยา เช่น รักษาคนไข้. (ส.; ป. รกฺข).”

แถม :

ดูการแบ่งบรรทัดในข้อความตอนล่างของโพสต์ (ดูภาพประกอบ) -

โครงการ อาสา ARSA Project/โครงการ

อารักข์ ARRAG Project 

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่เข้าใจว่าทำไมจึงแบ่งบรรทัดแบบนี้

ชื่อที่เป็นคำเดียวกัน คือ “โครงการ อารักข์” ทำไมเอาคำว่า “โครงการ” ไปไว้บรรทัดบน เอาคำว่า “อารักข์” มาไว้บรรทัดล่าง ทั้ง ๆ บรรทัดล่างก็มีที่ว่างมากพอ

ทำไมจึงไม่แบ่งบรรทัดเป็น -

โครงการ อาสา ARSA Project

โครงการ อารักข์ ARRAG Project

คือแต่ละชื่ออยู่คนละบรรทัดชัดเจน พื้นที่ว่างก็มีพอทั้ง 2 บรรทัด

ดูการแบ่งบรรทัดตามภาพแล้ว ทำให้นึกไปถึงวิธีแบ่งวรรคตอนในการเขียนหนังสือของเด็กไทยรุ่นใหม่ -

คำที่ควรเว้นวรรค ก็เขียนติดกัน 

คำที่ควรติดกัน ก็เขียนเว้นวรรค

พบได้ทั่วไปในการเขียนหนังสือของเด็กไทยรุ่นใหม่

ดูการสะกดการันต์ ดูการเขียนหนังสือ ทำให้คิดไปถึงวิธีคิด วิธีให้เหตุผลต่อปัญหาต่าง ๆ ของคนรุ่นใหม่ 

อย่างไรดี อย่างไรชั่ว 

อย่างไรถูก อย่างไรผิด 

อย่างไรงาม อย่างไรทราม

คนรุ่นใหม่มีวิธีคิด วิธีมอง วิธีตัดสินอย่างไร?

ใครรู้บ้าง?

..............

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าหาโอกาสปล่อยสิ่งที่ไม่มีสาระ

: ก็จะมีโอกาสไปถึงสิ่งที่มีสาระ

[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,อารักข์สา

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.