ศีลเมื่อจำแนกโดยอาศัยสภาพความหมดจดของบุคคลเป็นไฉน ?  มีอะไรเป็นขอบเขตแห่งความหมดจดนั้น ?

   - มีได้ในบุคคล 5 ประเภท ดังนี้ คือ

   1. ปริยันตปาริสุทธิศีล คือ  ศีลของอนุปสัมบันบุคคล เพราะมีสิกขาบทจำกัด คือ สิกขาบท 5 ในฐานะเป็นนิจจศีล (สิกขาบทที่พึงรักษาเป็นประจำ) สิกขาบท 8 (สืกขาบทในฐานะเป็นองค์อุโบสถ) อุตสาหะเต็มที่ก็สิกขาบท 10 ทรงจัดเป็นชุดๆ เพื่อให้อนุปสัมบันทราบว่า การเข้าถึงความบริสุทธิ์หมดจดได้ ต้องรักษาได้ทุกสิกขาบทครบ ดุจภาชนะใส่น้ำ แม้รั่วเพียงรูเดียว น้ำก็ไหลรั่วรดท่วมทับภาชนะนั้นได้ฉันใด สิกขาบทที่เป็นชุดๆนั้น รั่วคือรักษาไม่ได้ด้วยสิกขาบทใด กิเลสก็ไหลรั่วรดท่วมทับจิตใจทางสิกขาบทนั้นก็ฉันนั้น ศีลของอนุปสัมบันจึงเกี่ยวข้องกับจำนวนสิกขาบทแน่นอน เหมือนศีลของท่านฆฏิกการผู้เป็นสหายท่านโชติกมานพนั่นแล

      2. อปริยันตปาริสุทธิศีล คือศีลของอุปสัมบันบุคคล เนื่องจากจำนวนสิกขาบทมีมาก นับเป็นโกฏิข้อก็ไม่จบสิ้นได้ ท่านจึงศึกษาหลักการการจัดการ เพื่อป้องกันความเสียหาย ซี่งต้องประกอบพร้อม ทั้งสาตถกสัมปชัญญา ทั้งสัปปายสัมปชัญญะ และหลักการการบริหาร เพื่อป้องกันความผิดพลาด ซึ่งต้องประกอบพร้อมทั้งโคจรสัมปชัญญะ ทั้งอสัมโมหสัมปชัญญะ เช่น ภูตคามสิกขาบท เมื่อท่านเห็นว่าไม่เหมาะกับสมณเพศ(สัปปายสัมปชัญญะไม่มี)ท่านก็ไม่จัดการทำเอง เมี่อท่านเห็นว่า การบริหารด้วยกัปปิยโวหารโดยการใช้อนุปสัมบัน ทั้งโคจรสัมปชัญญะ ทั้งอสัมโมหสัมปชัญญะก็ไม่เสีย แถมท่านก็ไม่พลาดจากการบริหารวัดให้สะอาดสวยงามได้อีกด้วย ดังนั้นความเป็นผู้รอบรู้การจัดการความเสียหาย และรอบรู้การบริหารความผิดพลาดจึงไม่มีผลต่อจำนวนสิกขาบทแน่นอน เหมือนศีลของพระมหาติสสเถระผู้อาศัยอยู่ที่จีวรคุมพวิหารที่นอนเพลียอ่อนแรงจวนเจียนจะสิ้นแรงจากการเดินทางไกลใต้มะม่วงที่มีผลสุกร่วงหล่นกระจายเต็มพื้นที่ ซึ่งไม่มีเจ้าของก็ไม่หยิบฉัน เพราะขาดผู้ประเคน(ปฏิคาหก) คือไม่ยอมละเมิดปฏิคคาหณสิกขาบท(สิกขาบทที่เกี่ยวกับการรับ) พอมีอุบาสกผู้เป็นบัณฑิตแตกฉานพระวินัยพบเห็นเข้าก็รู้ถึงความเป็นผู้มีศีลบรืสุทธื์หมดจดของท่าน จึงเกิดศรัทธาทำน้ำปานะมะม่วงถวายให้ท่านดื่มบรรเทาอาการกระหายและอิดโรย พร้อมแบกท่านขึ้นหลังของตนเพื่อนำส่งวัด ด้วยพลานุภาพของศีลที่บริสุทธิ์หมดจดดังกล่าวพระเถระเจริญวิปัสสนาบนหลังของอุบาสกก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้สะดวกแล              

   3. ปริปุณณปาริสุทธิศีล คือศีลของกัลยาณปุถุชนบุคคล ผู้เจริญวิปัสสนาถึงขั้นสังขารุเปกขาญาณจนเชี่ยวชาญชำนาญเป็นปกติวิสัยก็มีความบริสุทธิ์หมดจดอันเป็นเหตุให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้สะดวก เหมือนศีลของพระมหาสังฆรักขิตเถระ และพระสังฆรักขิตเถระผู้เป็นหลาน มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุสงฆ์ถามถึงการบรรลุโลกุตตรธรรมกะพระมหาสังฆรักขิตเถระ ผู้มีพรรษาเกิน 60 ซึ่งนอนอยู่บนเตียงที่จะมรณภาพ พระเถระกล่าวตอบว่า " เราไม่มีโลกุตตรธรรม " ภิกษุหนุ่มผู้เป็นอุปัฏฐากของพระเถระกล่าวว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผู้คนทั้งหลายประชุมกันตลอด 12 โยชน์โดยรอบ เพราะคิดว่า ท่านจะเป็นพระที่ปรินิพพาน, ความร้อนใจจักมีแก่มหาชน เพราะการตายอย่างปุถุชนของท่านนี่แหละ " พระเถระจึงกล่าวว่า " นี่แน่ท่าน เพราะเราตั้งใจว่า " ฉันจักพบพระผู้มีพระภาคเมตไตรย " วิปัสสนาญาณจึงหยุดยั้งอยู่แค่สังขารุเปกขาญาณ, ถ้าอย่างนั้น ท่านจงช่วยพยุงให้เรานั่งขึ้นเถิด " แล้วภิกษุหนุ่มก็ออกไปนอกห้อง พระเถระบรรลุพระอรหัตพร้อมกับการเดินออกไปของพระภิกษุนั้นนั่นแหละ แล้วได้ให้สัญญาด้วยการดีดนิ้วมือ สงฆ์ประชุมกันกล่าวว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ตัวท่านเมื่อทำโลกุตตรธรรมให้บังเกิดขึ้นได้ในเวลาใกล้ตายเห็นเช่นนี้ ชื่อว่าทำกิจที่บุคคลทำได้ยาก"  พระเถระกล่าวว่า " ดูก่อน ท่านทั้งหลาย ตัวเราตั้งแต่กาลที่บวชแล้ว ชื่อว่า การกระทำที่เราทำเพราะไม่รู้สึก เพราะหาสติมิได้ เราระลึกถึงไม่ได้เลย " (ท่านสำรวมทวารอินทรีย์ด้วยการเจริญอินทรีย์สังวรศีลเป็นปกติวิสัย) แม้พระสังฆรักขิตเถระผู้เป็นหลานของท่านก็บรรลุอรหัตโดยทำนองนี้ ในกาลที่มีพรรษา 50 นั่นแล

   4. อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล คือ ศีลของพระเสขะ 7 จำพวก ที่ละอาหารอันเป็นเหตุให้ตัณหาและทิฏฐิจับต้องลูบคลำศีลไม่ได้ คือ การละสักกายทิฎฐิได้เป็นสมุทเฉท(เด็ดขาด)แล้วในโสดาปัตติมรรค แต่ก็ยังมีการป้องกันไม่ให้ตัณหาและทิฏฐิจับต้องลูบคลำศีลได้ด้วยการเจริญอินทรีย์สังวรศีล ท่านจึงสงเคราะห์กัลยาณปุถุชนผู้เจริญอินทรีย์สังวรศีลเข้าไว้ในกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งเมื่อสำรวมได้ดีเป็นอุปนิสัยแล้ว สติจะตั้งมั่นไม่หวั่นไหวที่จะหลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์ให้ได้ เพราะไม่มีตัณหาและทิฏฐิทำให้การปฏิบัติมัวหมอง เหมือนอย่างศีลของพระติสสเถระ ผู้เป็นบุตรของกฏุมพี ออกบวชปฏิบัติวิปัสสนาในป่า น้องสะใภ้เกรงว่าจะสึกออกมาแบ่งสมบัติ จึงจ้างคนให้ไปฆ่า พระเถระขอโอกาสปฏิบัติวิปัสสนาต่อ แต่คนร้ายไม่ยอม เพื่อให้มั่นใจว่าท่านไม่หลบหนี พระเถระจึงใช้ก้อนหินใหญ่ทุบทำลายเท้าทั้งสอง รุ่งเช้าพระเถระก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ อีกตัวอย่างหนึ่ง พระเถระเป็นไข้หนัก ไม่สามารถบริโภคอาหารด้วยมือตนเองได้ นอนจมเกลือกกลิ้งบนปัสสาวะอุจจาระของตน ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งพบเห็นเข้าจึงกล่าวว่า " โอ้ ! ชีวิตสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์หนอ " พระเถระกล่าวกับภิกษุรูปนั้นว่า " นี่แน่ะ ท่าน เราเมื่อตายไปบัดนี้ ย่อมได้สวรรค์สมบัติ, เราไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้, แต่ขึ้นชื่อว่าสมบัติที่ได้เพราะทำลายศีลนี้ เป็นเหมือนได้ความเป็นคฤหัสถ์กลับมาเพราะบอกคืนสิกขา, เราจักตายไปพร้อมกับศีลนี้นี่แหละ " พระเถระนอนพิจารณาโรคนั้นไปก็บรรลุเป็นพระอรหันต์แล

   5. ปฏิปัสสัทธิศีล คือ ศีลของพระขีณาสพผู้เป็นสาวกของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่บริสุทธิ์หมดจด เพราะสงบระงับความทะยานยากได้สิันเชิงแล้ว

   ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกา 1/20/88 อธิบายความ คำว่า เสขปริยันตธรรม คือ การเจริญวิปัสสนา นับตั้งแต่ นามรูปปริเฉทญาณ ถึงโคตรภูญาณ เป็นขอบเขตเต็มที่ของ

โลกีย์ญาณ ส่วนความบริบูรณ์เต็มเปี่ยม ต้องนับตั้งแต่การสมาทาน สังวรวินัย(ซึ่งจำต้องอาศัยป้องกันและฝึกฝน ไม่ให้เผลอประมาท มีการสพประมาท และชล่าใจเป็นต้น อันเป็นเหตุให้สภาพจิตรใจ หยาบแข็งกระด้าง ทำให้ไม่คู่ควร แก่การรองรับมรรคผลได้ ดังนั้น คำว่าไม่มีที่สุด ท่านจึงมุ่งหมายเอา การสมาทานได้หมด ไม่มีเหลือเลย คือไม่มีที่สุดด้วยกายและชีวิตนั่นแหละ คือด้วยอานุภาพที่ปฏิบัติได้เช่นนั้นนั่นเอง หาใช่ด้วยการนับไม่ ทั้งๆที่นับได้ หนึ่งหมื่นเจ็ดพันโกฏิห้าล้านสามสิบหกสิกขาบทแล้ว ก็ยังละการนับต่อ ด้วยเปยยาลนั่นแล ซึ่งสภาวะเช่นนั้นผู้ปฏิบัติต้องเจริญถึงสังขารุเบกขาญาณจึงจะมีอานุภาพเช่นนั้นได้

สมดังพระคาถาที่ว่า ท่านผู้มีอายุนั้น เมื่อไม่ละอนุสติของสัตบุรุษข้อที่ว่านี้ คือ

" ธนํ จเช องฺควรสฺส เหตุ

  องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน

  องฺคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ สพฺพํ

  จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโตติ."( ขุ ชา 28/147)

ความว่า " นระ พึงสละทรัพย์ เพราะเหตุแห่งอวัยวะที่ประเสริฐกว่า

เมื่อจะรักษาชีวิต พึงสละอวัยวะเสีย เมื่อตามระลึกถึงธรรม พึงสละอวัยวะ ทรัพย์และแม้นชีวิตได้ทั้งหมดแล."

--------
ขอขอบคุณ อาจารสมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ (เพจ)

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.