ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,333)


โวหารภิกขุภาวะ

เป็นพระตามที่เรียกกัน

อ่านว่า โว-หา-ระ-พิก-ขุ-พา-วะ

(ไม่ใช่ โว-หาน-พิก-ขุ-พา-วะ)

ประกอบด้วยคำว่า โวหาร + ภิกขุ + ภาวะ

(๑) “โวหาร”

บาลีอ่านว่า โว-หา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อว (คำอุปสรรค = ลง) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ลบสระหน้า” คือ วิ + อว ลบ อิ ที่ วิ (วิ > ว), แผลง อว เป็น โอ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)

: วิ > ว + อว > โอ : ว + โอ = โว + หรฺ = โวหร + ณ = โวหรณ > โวหร > โวหาร แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันเขากล่าว” (2) “คำเป็นเครื่องกล่าว” (3) “คำที่ลักใจของเหล่าสัตว์อย่างวิเศษ” (คือดึงดูดใจคนฟังไป) (4) “ภาวะที่พูดทำความขัดแย้ง” (5) “การตกลงกัน”

“โวหาร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า -

“โวหาร : (คำนาม) ชั้นเชิงหรือสํานวนแต่งหนังสือหรือพูด เช่น มีโวหารดี, ถ้อยคําที่เล่นเป็นสําบัดสํานวน เช่น อย่ามาตีโวหาร เขาชอบเล่นโวหาร. (ป.).”

ในภาษาไทย “โวหาร” เล็งถึง “คำพูด” แต่ในภาษาบาลี “โวหาร” มีความหมายหลายอย่าง คือ -

(1) ชื่อหรือการเรียกขานที่ใช้กันในเวลานั้น, การใช้ภาษาร่วมกัน, ตรรกวิทยา, วิธีปกติธรรมดาของการนิยาม, วิธีใช้, ตำแหน่ง, ฉายา (current appellation, common use, popular logic, common way of defining, usage, designation, term, cognomen)

(2) การค้า, ธุรกิจ (trade, business)

(3) คดีความ, กฎหมาย, พันธะทางกฎหมาย; วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับคดีความ, วิชาธรรมศาสตร์ (lawsuit, law, lawful obligation; juridical practice, jurisprudence)

(๒) “ภิกขุ”

เขียนแบบบาลีเป็น “ภิกฺขุ” (มีจุดใต้ กฺ) อ่านว่า พิก-ขุ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง ดังนี้ -

(1) “ผู้ขอ” : ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภิกฺขฺ (ธาตุ = ขอ) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

(2) “ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” : ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ = ภินฺนปฏ = ผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ, ธโร = ผู้ทรงไว้ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, รัสสะ อู เป็น อุ

(3) “ผู้เห็นภัยในการเวียนตายเวียนเกิด” : สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภย (ภัย) + อิกฺขฺ (ธาตุ = เห็น) + รู ปัจจัย, ลบ ย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

(4) “ผู้ทำลายบาปอกุศล” : ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

(5) “ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน” : ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ = ภกฺขฺ (ธาตุ = บริโภค) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

, แปลง อะ ที่ ภ-(กฺขฺ) เป็น อิ (ภกฺขฺ > ภิกฺข)

บาลี “ภิกฺขุ” ภาษาไทยใช้เป็น “ภิกษุ” ตามรูปสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ภิกษุ : (คำนาม) ชายที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา. (ส.; ป. ภิกฺขุ).”

ในที่นี้ใช้เป็น “ภิกขุ” ตามรูปบาลี

(๓) “ภาวะ” 

บาลีเป็น “ภาว” อ่านว่า พา-วะ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อู เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อาว

: ภู + ณ = ภูณ > ภู > โภ > ภาว แปลว่า ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ (being, becoming, condition, nature)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ภาว-, ภาวะ : (คำนาม) ความมี, ความเป็น, ความปรากฏ, เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ. (ป., ส.).”

การประสมคำ :

๑ ภิกฺขุ + ภาว = ภิกฺขุภาว (พิก-ขุ-พา-วะ) แปลว่า “ความเป็นภิกษุ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภิกฺขุภาว” ว่า state of being a monk, monkhood, bhikkhuship (ภิกขุภาวะ, ความเป็นภิกษุ, ความเป็นพระ) 

๒ โวหาร + ภิกฺขุภาว = โวหารภิกฺขุภาว (โว-หา-ระ-พิก-ขุ-พา-วะ) แปลว่า “ความเป็นภิกษุตามโวหาร” คือเป็นภิกษุตามที่เรียกกัน

“โวหารภิกฺขุภาว” เขียนแบบไทยเป็น “โวหารภิกขุภาวะ” 

ขยายความ :

“ภิกขุภาวะ” มี 2 อย่าง คือ -

(1) “กัมมวาจาภิกขุภาวะ” (กำ-มะ-วา-จา-พิก-ขุ-พา-วะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นภิกษุที่ได้มาด้วยกรรมวาจา” จะเรียกว่าเป็นภิกษุตามพระธรรมวินัยก็ได้ กล่าวคือสงฆ์ประชุมกันสวดกรรมวาจาอนุมัติให้บุคคลผู้ขออุปสมบทและมีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นภิกษุได้ 

(2) “โวหารภิกขุภาวะ” (โว-หา-ระ-พิก-ขุ-พา-วะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นภิกษุตามโวหาร” หรือ “ความเป็นภิกษุตามที่เรียกกัน” หมายความว่า คนทั้งหลายเห็นบุคคลที่ครองเพศภิกษุคือแต่งตัวเป็นภิกษุ ก็พูดบอกกันหรือเรียกบุคคลนั้นว่าภิกษุ โดยที่ยังไม่ได้รู้ความจริงว่า (๑) บุคคลผู้นั้นเป็นภิกษุจริงตามพระธรรมวินัยและยังมีความเป็นภิกษุอยู่ หรือ (๒) เป็นภิกษุจริงตามพระธรรมวินัย แต่ต้องอาบัติหนักขาดจากความเป็นภิกษุไปแล้ว แต่ยังครองเพศภิกษุอยู่ หรือ (3) เป็นคนธรรมดา ไม่ได้บวช แต่เอาไตรจีวรของภิกษุมานุ่งห่ม แสดงอาการภายนอกให้คนที่พบเห็นเข้าใจว่าเป็นภิกษุ

สรุปว่า ภิกษุมี 2 ประเภท คือ ภิกษุตามพระธรรมวินัย กับภิกษุตามที่เรียกกัน

ภิกษุตามพระธรรมวินัย เป็นพระแท้

ภิกษุตามที่เรียกกัน เป็นพระแท้ก็มี ไม่ใช่พระแต่แต่งตัวเป็นพระก็มี

..............

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่รักษาพระธรรมวินัย

: ท่านจะใช้อะไรรักษาพระศาสนา 

[full-post]


 

ปาราชิโก โหติ อสํวาโส (๕)-จบ

-----------------------

หมายความอย่างไร

.........................................................

“ต้องอาบัติปาราชิก ต้องทำพิธีลาสิกขาก่อนจึงจะขาดจากความเป็นพระ”

เราควรได้ข้อคิดเตือนใจอะไรบ้างจากความเข้าใจเช่นนี้?

.........................................................

ในตัวบทบัญญัติของปาราชิกทั้ง ๔ สิกขาบท บอกไว้แต่เพียงว่า เมื่อทำผิดครบองค์ประกอบก็เป็นปาราชิก (ปาราชิโก) และขาดจากความเป็นพระ (อสฺสมโณ) ไปแล้ว ไม่ได้มีเงื่อนไขว่า ต้องทำพิธีลาสิกขาก่อนจึงจะขาดจากความเป็นพระ 

แต่ในคัมภีร์อธิบายความมีเงื่อนไขที่บอกว่า ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับว่าต้องอาบัติปาราชิก ตราบนั้นก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ

น่าคิดว่า ทำไมจึงมีเงื่อนไขแบบนี้?

ถ้าศึกษาต้นเหตุต้นเรื่องของการบัญญัติสิกขาบท ก็จะพบว่า ขั้นตอนจะเริ่มจาก (๑) มีผู้กระทำความผิดหรือก่อเหตุขึ้น (๒) แล้วเรื่องไปถึงพระพุทธเจ้า (๓) ทรงให้ประชุมสงฆ์ (๔) เรียกตัวผู้กระทำมาสอบถาม (๕) ได้ความจริงแล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบทหรือปรับโทษ

ขั้นตอน-เรียกตัวผู้กระทำมาสอบถามนั้น ปรากฏว่าผู้กระทำยอมรับว่าได้กระทำเช่นนั้นจริงทุกราย 

จะเห็นได้ว่า กระบวนการปรับโทษมีขั้นตอนการยอมรับความจริง (คำบาลีว่า ปฏิชานาติ) มาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ เพราะผู้กระทำยอมรับตั้งแต่ต้นเช่นกัน 

ทำจริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ ไม่มีปรากฏเลย

ทำจริงหรือเปล่าจึงไม่ต้องพิสูจน์

พิสูจน์กันที่การกระทำนั้นเป็นความผิดหรือเปล่า

แต่ครั้นล่วงกาลผ่านเวลาไป ระดับคุณธรรมในจิตใจค่อย ๆ ลดลง อลัชชีหรือคนหน้าด้านมีมากขึ้น 

ทำจริง ผิดจริง ตัวคนทำก็รู้อยู่แก่ใจ แต่ไม่ยอมรับ ก็มีมากขึ้น

.........................................................

ในอริยวินัย-คือพระพุทธศาสนา-ไม่มีระบบใช้กำลังบังคับ

บังคับให้ยอมรับผิด ไม่มี

รับผิดแล้ว ลงโทษด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายกัน ก็ไม่มี

มีแต่ระบบนิคหกรรมสำหรับภิกษุ เช่น ตัดสิทธิ์ ลดฐานะ ขับออกจากหมู่คณะ เป็นต้น และระบบทัณฑกรรมสำหรับสามเณร โดยให้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เช่น ตักน้ำ ขนฟืน ขนทราย ล้างส้วม เป็นต้น (ระบบทัณฑกรรมนี้บางทีใช้กับภิกษุด้วย)

.........................................................

ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก คัมภีร์สมันตปาสาทิกาแสดงกระบวนการสอบสวนของพระวินัยธรไว้อย่างละเอียด เป็นการสอบสวนที่สุภาพ ละมุนละไม ไม่ได้มุ่งจะเอาผิด ทั้งไม่ได้มุ่งจะช่วยคนชั่วให้หมกตัวอยู่ในพระศาสนา แต่มุ่งจะช่วยให้ออกไปแต่โดยดี

กระบวนการสอบสวนขั้นตอนสุดท้าย ท่านบอกว่าให้ผู้กระทำผิดไปปฏิบัติธรรม ตัดสินด้วยผลของการปฏิบัติ เพราะหลักสัจธรรมมีอยู่ว่า ผู้ต้องอาบัติปาราชิกจริง ปฏิบัติขนาดไหนจิตก็ไม่มีทางที่จะสงบลงได้ 

ปฏิบัติแล้วอาการของจิตเป็นอย่างไร ขอให้มาบอก

เมื่อผู้กระทำผิดมาบอกว่าจิตไม่สงบ-ซึ่งหมายถึงต้องอาบัติปาราชิกจริง ท่านก็แนะให้พระวินัยธรให้กำลังใจด้วยคำแนะนำที่นุ่มนวล ดังนี้ -

.........................................................

นตฺถิ  โลเก  รโห  นาม  ปาปกมฺมํ  ปกุพฺพโต  สพฺพปฐมํ  หิ  ปาปํ  กโรนฺโต  อตฺตนาว  ชานาติ  อถสฺส  อารกฺขเทวตา  ปรจิตฺตวิทู  สมณพฺราหฺมณา  อญฺเญ  จ  เทวตา  ชานนฺติ  ตฺวํเยว  ทานิ  ตว  โสตฺถึ  ปริเยสาหีติ  วตฺตพฺโพ  ฯ 

ที่มา: สมันตปาสาทิก ภาค ๑ หน้า ๓๓๘

(ควรศึกษาตอนที่ว่าด้วยจตุพพิธวินยกถาทั้งหมด หน้า ๓๒๖-๓๓๘) 

.........................................................

แปลประโยคต่อประโยค ดังนี้ -

.........................................................

นตฺถิ  โลเก  รโห  นาม  ปาปกมฺมํ  ปกุพฺพโต 

ขึ้นชื่อว่าความลับของผู้กระทำกรรมชั่วย่อมไม่มีในโลก

สพฺพปฐมํ  หิ  ปาปํ  กโรนฺโต  อตฺตนาว  ชานาติ

แท้จริงบุคคลผู้กระทำความชั่วย่อมรู้ด้วยตนเองก่อนคนอื่นทั้งหมด 

อถสฺส  อารกฺขเทวตา  

ต่อจากนั้นก็อารักขเทวดาทั้งหลาย (ย่อมรู้ความชั่วของเธอ)

ปรจิตฺตวิทู  สมณพฺราหฺมณา  อญฺเญ  จ  เทวตา  ชานนฺติ

สมณพราหมณ์และเทพเจ้าเหล่าอื่นผู้รู้จิตของบุคคลอื่น ย่อมรู้ความชั่วของเธอ

ตฺวํเยว  ทานิ  ตว  โสตฺถึ  ปริเยสาหิ

บัดนี้ เธอนั่นแลจงแสวงหาความสวัสดีแก่เธอเองเถิด

อิติ  วตฺตพฺโพ  ฯ

พระวินัยธรพึงบอกภิกษุนั้นไปดังว่ามานี้

.........................................................

ขั้นตอนการยอมรับ ไม่มีปัญหาในยุคสมัยที่จิตใจคนยังมีหิริโอตตัปปะอยู่มาก แต่มีปัญหามากในยุคสมัยที่หิริโอตตัปปะในจิตใจคนมีอยู่น้อย

สมัยที่จิตใจคนยังมีหิริโอตตัปปะอยู่มาก เราก็หวังได้ว่าผู้ต้องอาบัติปาราชิกปฏิบัติธรรมแล้วจะมาบอกอาการของจิตไปตามความจริงดังที่ท่านบรรยายไว้ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา

แต่สมัยนี้ หาคนที่จะพูดความจริง คงยากมาก

ขั้นตอนการยอมรับก็จะกลายเป็นเงื่อนไขที่อลัชชียกขึ้นมาใช้เพื่อยื้อตัวเองให้คงอยู่ในสังคมสงฆ์ได้ต่อไป

ถอดเป็นคำพูดว่า ไม่ยอมรับซะอย่างก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ-แม้จะทำผิดจริง

คัมภีร์อัตถโยชนาจึงแนะทางออก ให้ช่วยกันรู้ทันว่า ภิกขุภาวะ-ความเป็นพระ มี ๒ แบบ

โวหารภิกขุภาวะ เป็นพระตามที่เขาเรียกกัน

กัมมวาจาภิกขุภาวะ เป็นพระตามพระธรรมวินัย

จะเป็นพระแบบไหน ผู้ต้องอาบัติปาราชิกที่ยืนยันว่าตนยังเป็นพระอยู่-ย่อมรู้ได้ด้วยตัวเอง

......................

ผมมองเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต-ตามที่ท่านพรรณนาไว้ในเรื่องความอันตรธานของพระศาสนา ดังนี้ -

หลักของพระพุทธเจ้า-ทำผิดปาราชิกครบองค์ประกอบ ขาดจากความเป็นพระทันที

ต่อมา มีการยกขั้นตอนสอบสวนขึ้นมาอ้าง-ต้องรับสารภาพจึงจะขาด 

เริ่มเคลื่อนจากหลักของพระพุทธเจ้า

บัดนี้ มีผู้ตั้งเงื่อนไขที่คนไทยพากันสนับสนุน-ต้องทำพิธีลาสิกขาจึงจะขาดจากความเป็นพระ

เรากำลังอยู่ในช่วงเวลานี้

ต่อไปในอนาคตอันไม่ไกลต้องมีแน่ คือเงื่อนไขที่ว่า-แม้ทำพิธีลาสิกขาแล้ว ความเป็นพระก็ยังไม่ขาด ต้องเปลื้องจีวรออกจากตัวจึงจะขาด

เห็นไหม มีทางยื้อได้ต่อไปอีก

และในอนาคตซึ่งอาจจะไกลหน่อย แต่มาถึงแน่ ก็จะเกิดเงื่อนไขสุดท้าย นั่นคือ-เปลื้องจีวรออกจากตัวแล้วก็จริง แต่ถ้ายังมีชิ้นส่วนของจีวรติดกายอยู่ ก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ

เอากะท่านสิ

ซึ่งนั่นก็คือ “โคตรภูสงฆ์” ที่มีพุทธพยากรณ์ล่วงหน้ามาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีบุคลิกโดดเด่นที่ท่านใช้คำว่า “กาสาวกัณฐะ” คำบาลีแปลว่า “ผ้าเหลืองพันคอ” คำคนไทยเก่าพูดว่า “ผ้าเหลืองน้อยห้อยหู”

.........................................................

โคตรภูสงฆ์ : พระสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัด ปฏิบัติเหินห่างธรรมวินัย แต่ยังมีเครื่องหมายเพศ เช่น ผ้าเหลืองเป็นต้น และถือตนว่ายังเป็นภิกษุสงฆ์อยู่, สงฆ์ในระยะหัวต่อจะสิ้นศาสนา

ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต

.........................................................

เงื่อนไขที่ช่วยกันสร้างขึ้นแต่ละขั้นตอน-เพื่อจะยื้อความเป็นพระไว้ มองให้ถูกก็จะเข้าใจ -

ก็คือเงื่อนไขที่เรากำลังช่วยกันผลักดันให้พระศาสนาถึงยุคผ้าเหลืองน้อยห้อยหูเร็ว ๆ ขึ้นนั่นแล

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๓ เมษายน ๒๕๖๗

๑๘:๕๙

[full-post]

 


ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,332)


นกกิกี

บอกชื่อบาลีไม่เข้าใจ

ถ้าบอกชื่อไทยจะร้องอ๋อ

อ่านว่า นก-กิ-กี

(๑) “นก” 

เป็นคำไทย ผู้เขียนบาลีวันละคำขอถือโอกาสทำบุญวิทยาทาน เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แทนท่านที่ไม่มีอุตสาหะมากพอที่จะเปิดได้เอง ดังนี้ - 

“นก ๑ : (คำนาม) ชื่อสัตว์มีกระดูกสันหลังเลือดอุ่น มี ๒ เท้า ๒ ปีก และมีขนปกคลุมร่างกาย ออกลูกเป็นไข่ก่อนแล้วจึงฟักเป็นตัว.”

(๒) “กิกี”

เป็นคำบาลี พยางค์หน้า สระ อิ พยางค์หลังสระ อี อ่านว่า กิ-กี รากศัพท์มาจาก กิ (เสียงนกชนิดนี้ร้องตามที่หูได้ยิน) + กรฺ (ธาตุ = ทำ, ส่งเสียง) + อี ปัจจัย, ลบ ร ที่สุดธาตุ (กรฺ > ก)

: กิ + กรฺ= กิกรฺ + อี = กิกรี > กิกี แปลตามศัพท์ว่า “นกที่ส่งเสียงร้องว่ากิกิ” (คือร้องเสียงแหลมเล็ก) 

..............

หมายเหตุ :

เสียง “กิ” ที่นกชนิดนี้ร้องตามที่หูได้ยิน หมายความว่า นกชนิดนี้เมื่อร้องออกมา หูของชาวชมพูทวีป-โดยเฉพาะชาวมคธ ได้ยินเป็นเสียง “กิ” นำออกมาก่อน ชาวเมืองอื่นที่มีนกชนิดนี้อาศัยอยู่อาจได้ยินเป็นเสียงอื่น เช่นหูคนไทยได้ยินเป็น “แต้แว้ด” หรือ “แตแต้แว้ด” เป็นต้น

เสียงตามธรรมชาติที่ได้ยินต่างกันไปในแต่ละชาติภาษานี้ เสียงหนึ่งที่ผู้เขียนบาลีวันละคำทราบมาตั้งแต่เริ่มหัดอ่าน A B C D ก็คือเสียงไก่ขัน บ้านเราได้ยินเป็น เอ็ก-อี๊-เอ้ก-เอ็ก แต่ฝรั่งอังกฤษได้ยินเป็น ค็อก-อะ-ดูเดิ้น-ดู นี่ว่าตามที่จำมา ไม่ได้ศึกษาสืบค้น

ในภาษาบาลีก็มีเสียงที่ได้ยินต่างกันแบบนี้ นักเรียนบาลีอาจจะพอระลึกได้ เช่นในเสขิยวัตรอันเป็นส่วนหนึ่งของศีล 227 ในหมวดที่ว่าด้วยมารยาทในการขบฉัน

การเคี้ยวอาหารที่หูคนไทยได้ยินเสียงเป็น “จับ จับ” หรือ “จั๊บ จั๊บ” หูคนพูดบาลีได้ยินเป็น “จปุจปุ” (จะ-ปุ-จะ-ปุ) เช่นในประโยคว่า -

น  จปุจปุการกํ  ภุญฺชิสฺสามีติ  สิกฺขา  กรณียา ฯ  

ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดังจับ จับ

การซดน้ำแกงที่หูคนไทยได้ยินเสียงเป็น “ซูด ซูด” หูคนพูดบาลีได้ยินเป็น “สุรุสุรุ” (สุ-รุ-สุ-รุ) เช่นในประโยคว่า -

น  สุรุสุรุการกํ  ภุญฺชิสฺสามีติ  สิกฺขา  กรณียา ฯ

ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดังซูด ซูด

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 850-851

..............

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “กิกี” ว่า นกต้อยตีวิด, นกกระต้อยตีวิด, นกแต้แว้ด, นกกระแตแต้แว้ด 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กิกี” ดังนี้ -

(1) the blue jay (นกต้อยตีวิด)

(2) a hen [or the female of the jay?] (แม่ไก่ [หรือนกต้อยตีวิดตัวเมีย?])

เป็นอันว่า “กิกี” ก็คือ นกกระแตแต้แว้ด

ต่อไปก็หาความรู้จากพจนานุกรมฯ 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า - 

“กระแตแต้แว้ด ๑ : ดู ต้อยตีวิด.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้คำนิยามที่คำว่า “กระแตแต้แว้ด” แต่ให้ไปดูที่คำว่า “ต้อยตีวิด” มีนัยอย่างไร?

มีนัยว่า พจนานุกรมฯ เห็นว่า ชื่ออย่างเป็นทางการของนกชนิดนี้ คือ “ต้อยตีวิด” ส่วน “กระแตแต้แว้ด” เป็นชื่อที่เรียกกันเป็นภาษาปากหรือเรียกกันเล่น ๆ ซึ่งมีชื่ออื่นอีก ดังที่พจนานุกรมฯ ลงท้ายที่คำว่า “ต้อยตีวิด” ว่า “กระต้อยตีวิด กระแตแต้แว้ด หรือ แต้แว้ด ก็เรียก”

ตามไปดูคำว่า “ต้อยตีวิด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ดังนี้ - 

“ต้อยตีวิด : (คำนาม) ชื่อนกชนิด Vanellus indicus ในวงศ์ Charadriidae ตัวขนาดนกเขาใหญ่ หัวสีดําขนบริเวณหูสีขาว มีติ่งเนื้อสีแดงพาดทางด้านหน้าจากขอบตาหนึ่งไปอีกขอบตาหนึ่ง ปากยาว ขายาวสีเหลือง ตีนมี ๔ นิ้ว นิ้วหลังเป็นติ่งเล็ก ร้องเสียงแหลม “แตแต้แว้ด” กินสัตว์ขนาดเล็ก วางไข่ในแอ่งตื้น ๆ บนพื้นดิน, กระต้อยตีวิด กระแตแต้แว้ด หรือ แต้แว้ด ก็เรียก.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ปรับปรุงใหม่เป็นตรงกันข้าม กล่าวคือ -

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า -

“กระแตแต้แว้ด ๑ : ดู ต้อยตีวิด.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า - 

“ต้อยตีวิด : ดู กระแตแต้แว้ด ๑.”

นั่นหมายความว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เห็นว่า ชื่ออย่างเป็นทางการของนกชนิดนี้ คือ “กระแตแต้แว้ด” ส่วน “ต้อยตีวิด” เป็นชื่อที่เรียกกันเป็นภาษาปากหรือเรียกกันเล่น ๆ ซึ่งมีชื่ออื่นอีก ดังที่พจนานุกรมฯ ลงท้ายที่คำว่า “กระแตแต้แว้ด” ว่า “กระต้อยตีวิด ต้อยตีวิด หรือ แต้แว้ด ก็เรียก”

ตามไปดูคำว่า “กระแตแต้แว้ด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ - 

“กระแตแต้แว้ด ๑ : (คำนาม) ชื่อนกขนาดเล็กชนิด Vanellus indicus (Boddaert) วงศ์ย่อย Charadriinae ในวงศ์ Charadriidae ปากยาว หัวสีดำ ขนบริเวณหูสีขาว มีติ่งเนื้อสีแดงพาดระหว่างตาผ่านหน้าผาก ขายาวสีเหลือง วางไข่ในแอ่งตื้น ๆ บนพื้นดิน กินแมลงและสัตว์ขนาดเล็ก ร้องเสียงแตแต้แว้ด, กระต้อยตีวิด ต้อยตีวิด หรือ แต้แว้ด ก็เรียก.”

ขยายความ :

พจนานกรุมฯ ยังเก็บ “กระแตแต้แว้ด” เป็น “กระแตแต้แว้ด ๒” อีกคำหนึ่ง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า -

“กระแตแต้แว้ด ๒ : (คำนาม) ใช้เปรียบผู้หญิงที่ชอบจุ้นจ้านเจ้ากี้เจ้าการ.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า -

“กระแตแต้แว้ด ๒ : (คำนาม) ใช้เปรียบผู้หญิงที่ชอบจุ้นจ้าน เจ้ากี้เจ้าการ, กระแตแว้ด ก็ว่า.

เรียกว่า เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังเฉือนคมกันไม่ละเว้นนั่นทีเดียว

..............

แถม :

เวลาเขียนคำว่า “กระแตแต้แว้ด” หรือ “แตแต้แว้ด” หรือ “แต้แว้ด” โปรดระลึกว่า“แว้ด” คำนี้ใช้วรรณยุกต์โท

ใช้วรรณยุกต์ตรีเป็น “กระแตแต้แว๊ด” คนอ่านก็รู้ว่าเป็นนกชนิดนี้แหละ แต่รู้ว่าเป็นนกชนิดนี้ด้วย และสะกดถูกด้วย ย่อมสง่างามกว่า

..............

ดูก่อนภราดา!

: คำที่เคยสำคัญบางคำ 

อาจถูกลดความสำคัญไปตามกล

: คนที่เคยสำคัญบางคน 

อาจถูกลดความสำคัญไปตามกรรม

[full-post]



ปาราชิโก โหติ อสํวาโส (๔)

-----------------------

หมายความอย่างไร

“อัตถโยชนา” หรือที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า “โยชนา” เป็นคัมภีร์อธิบายความหมายของศัพท์และความสัมพันธ์ระหว่างศัพท์ในประโยคบาลี แสดงไวยากรณ์ และแยกแยะให้เข้าใจเชิงชั้นของศัพท์ที่ปรากฏในประโยคนั้น ๆ เป็นคัมภีร์ประกอบหรือหนังสือคู่มือ ช่วยให้การแปลคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

สรุปว่า คัมภีร์อัตถโยชนามุ่งแสดงหลักภาษา ไม่ได้มุ่งอธิบายหลักธรรม

คัมภีร์อัตถโยชนาเป็นภาษาบาลี ไม่มีแปลเป็นภาษาไทย ผู้ที่จะอ่านคัมภีร์อัตถโยชนารู้เรื่องจึงต้องรู้ภาษาบาลีในระดับใช้งานได้ดี

คัมภีร์อัตถโยชนาเป็นคัมภีร์อธิบายความในอรรถกถาลงมา (ไม่มีคัมภีร์อัตถโยชนาที่อธิบายความในพระบาลีพระไตรปิฎก) ฉบับหนึ่งก็อธิบายเฉพาะอรรถกถาหรือฎีกาฉบับใดฉบับหนึ่ง ไม่ใช่เอาอรรถกถาหรือฎีกาทุกฉบับมาอธิบายรวมกัน คัมภีร์อัตถโยชนามีครบทั้งสามสายในพระไตรปิฎก

หลักสูตรบาลีของคณะสงฆ์เรียนคัมภีร์ ๕ คัมภีร์ คือ -

๑ ธัมมปทัฏฐกถา (สายพระสูตร)

๒ มังคลัตถทีปนี (ปกรณ์พิเศษ)

๓ สมันตปาสาทิกา (สายพระวินัย)

๔ วิสุทธิมรรค (ปกรณ์พิเศษ)

๕ อภิธัมมัตถวิภาวินี (สายพระอภิธรรม)

ทั้ง ๕ คัมภีร์นี้ มีคัมภีร์อัตถโยชนาที่พิมพ์เป็นบาลีอักษรไทยเพียง ๒ คัมภีร์ คือ อัตถโยชนาของคัมภีร์สมันตปาสาทิกา และอัตถโยชนาของคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี

แปลว่า นักเรียนบาลีบ้านเราได้หยิบจับคัมภีร์อัตถโยชนาเพียง ๒ ฉบับเท่านั้น

และธรรมชาติของนักเรียนบาลีบ้านเรา เปิดอัตถโยชนาก็เพียงเพื่อจะดูว่า ศัพท์นี้โยคอะไร

กล่าวคือ หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของอัตถโยชนาก็คือ การบอกศัพท์ที่ต้องใส่เพิ่มเข้ามา ที่เรียกว่า “โยค” 

เนื่องจากประโยคภาษาบาลีกล่าวถึงคำนามใดครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อจะกล่าวถึงคำนามนั้นอีก นิยมใช้คำสรรพนามแทน สรรพนามที่ใช้เป็นพื้นคือ ต-ศัพท์ (ตะ-สับ) แปลว่า “นั้น” อาจแจกวิภัตติเป็น -

โส = อันว่า-นั้น 

ตํ = ซึ่ง-นั้น

ตสฺมึ = ใน-นั้น

เวลาแปลต้องเพิ่มศัพท์เข้ามาให้ถูกต้องว่า “อะไร-นั้น” เช่น คนนั้น สัตว์นั้น ต้นไม้นั้น ธรรมะข้อนั้น ถ้าใส่ศัพท์ผิด ความหมายก็จะเพี้ยนไป ตรงนี้แหละเป็นหน้าที่ของอัตถโยชนาที่จะบอกศัพท์ที่จะต้องใส่เพิ่มเข้ามา

นักเรียนบาลีบ้านเรา ถ้าจะเปิดอัตถโยชนา ก็จะเปิดเพื่อดูศัพท์ที่จะต้องใส่เพิ่มเข้ามานี่แหละ ถามกันติดปากว่า โส-โยคอะไร ตํ-โยคอะไร ตสฺมึ-โยคอะไร 

เปิดอัตถโยชนาเพื่อจะดูตรงนี้เท่านั้น 

พอรู้ว่าโยคอะไรแล้วก็ปิด 

ไปเจอศัพท์ที่ไม่รู้ว่าโยคอะไรเข้าอีก ก็ค่อยมาเปิดอีก 

นักเรียนบาลีบ้านเราใช้ประโยชน์จากอัตถโยชนาเฉพาะเรื่องนี้มากที่สุด เรื่องอื่น ๆ ใช้น้อยที่สุดหรือไม่เคยใช้เลย

ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าคัมภีร์อัตถโยชนามีสถานะเหมือนหนังสืออ้างอิงชนิดหนึ่ง นักเรียนบาลีจะเปิดอ่านก็เพื่อหาคำตอบเฉพาะเรื่องที่ต้องการ ไม่มีใครเปิดอ่านเพื่อหาความรู้เหมือนอ่านหนังสือทั่วไป

ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้ ผมจึงเชื่อว่า ข้อความในคัมภีร์อัตถโยชนาที่ผมไปเจอคำตอบ-กรณีต้องอาบัติปาราชิกยังไม่ขาดจากความเป็นพระ-เข้านี้ นักเรียนบาลีบ้านเราไม่เคยเห็นมาก่อน

นักเรียนบาลีท่านใดเคยเห็นเคยอ่านมาแล้ว ขอน้อมคารวะขอรับ

ข้อความในอัตถโยชนาของคัมภีร์สมันตปาสาทิกา เป็นดังนี้ -

.........................................................

ปาราชิกํ  อาปนฺโน  หิ  โวหารภิกฺขุภาเว  ฐิโต  ปุคฺคโล  ยาว  ปาราชิกาปนฺนภาวํ  น  ปฏิชานาติ  ตาว  ตสฺส  โวหารภิกฺขุภาโวเยว  โหติ  น  กมฺมวาจาย  ลทฺธภิกฺขุภาโว ฯ 

ที่มา: สมนฺตปาสาทิกาย  นาม  วินยฏฺฐกถาย อตฺถโยชนา (ปฐโม ภาโค) หน้า ๒๗๐

.........................................................

แปลประโยคต่อประโยค ดังนี้ -

.........................................................

หิ

จริงอยู่

โวหารภิกฺขุภาเว  ฐิโต  ปุคฺคโล

บุคคลที่ดำรงอยู่ในภิกขุภาวะตามโวหาร

(คือเป็นพระตามที่เรียกกัน)

ปาราชิกํ  อาปนฺโน

ต้องอาบัติปาราชิก

ยาว  ปาราชิกาปนฺนภาวํ  น  ปฏิชานาติ

ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับว่าตนต้องอาบัติปาราชิก

ตาว  ตสฺส  โวหารภิกฺขุภาโวเยว  โหติ

ตราบนั้น บุคคลนั้นก็ยังมีภิกขุภาวะตามโวหารเท่านั้น

น  กมฺมวาจาย  ลทฺธภิกฺขุภาโว  

ภิกขุภาวะที่ได้มาตามกรรมวาจา (คือภิกขุภาวะตามพระธรรมวินัย) หามีไม่

.........................................................

ขออนุญาตสรุปเป็นภาษาบ้าน ๆ

.........................................................

พระต้องอาบัติปาราชิก แต่ปากแข็ง-หรือหน้าด้านก็ตาม-ยืนยันว่า อาตมายังเป็นพระอยู่นะ

ถ้าจะยืนยันอย่างนั้นก็ได้ ไม่เถียง ท่านยังเป็นพระอยู่

แต่เป็น “พระ” ตามที่ชาวบ้านเขาเรียกนะ

ชาวบ้านเห็นคนโกนผมห่มเหลือง จะเป็นพระจริงหรือคนปลอมเขาไม่รู้ แต่เขาก็เรียกไว้ก่อนว่า “พระ”

ท่านก็เป็น “พระ” แบบนั้นแหละ-พระตามที่เขาเรียก (โวหารภิกขุภาวะ)

ไม่ใช่ “พระ” ตามพระธรรมวินัย

.........................................................

นี่คือคำตอบ นี่คือทางออก-ที่คัมภีร์อัตถโยชนาของคัมภีร์สมันตปาสาทิกาชี้ไว้ให้

ปาราชิกในพระบาลีพระไตรปิฎกของพระพุทธองค์ก็ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่

คำอธิบายของคัมภีร์สารัตถทีปนีก็ไม่กระทบกระเทือน เพราะท่านบอกแต่เพียงว่า “ภิกขุภาวะ” ความเป็นพระยังมีอยู่ แต่ท่านละ “โวหารภิกขุภาวะ-ความเป็นพระตามที่เขาเรียก” ไว้ในฐานเข้าใจ

บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ละมุนละม่อมดีแท้ ๆ

......................

“ต้องอาบัติปาราชิก ต้องทำพิธีลาสิกขาก่อนจึงจะขาดจากความเป็นพระ”

เราควรได้ข้อคิดเตือนใจอะไรบ้างจากความเข้าใจเช่นนี้?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๒ เมษายน ๒๕๖๗

๒๐:๑๙ 

[full-post]



ปาราชิโก โหติ อสํวาโส (๓)

-----------------------

หมายความอย่างไร

ตรวจดูข้อความนี้ในคัมภีร์สารัตถทีปนีที่แสดงไว้ ปรากฏว่า เป็นคำอธิบายความในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ ว่าด้วยปฐมปาราชิก ก็เป็นอันว่าอยู่ในหลักที่ว่า-ท่านต้องการอธิบายประเด็นไหน ตอบว่าอธิบายปฐมปาราชิก ตรงประเด็น

แต่เมื่อจะให้ชี้เฉพาะว่า ท่านอธิบายเฉพาะประเด็นที่ว่า-ต้องอาบัติปาราชิกแล้วขาดจากความเป็นพระหรือยัง แบบว่า-บอกชัด ๆ ว่า ต่อไปนี้จะอธิบายประเด็นที่พระบาลีว่า ต้องอาบัติปาราชิกแล้วขาดจากความเป็นพระ (พระบาลีว่า ปาราชิโก โหติ อสํวาโส = อสฺสมโณ โหติ อสกฺยปุตฺติโย) ที่พระบาลีว่าไว้เช่นนั้นข้าพเจ้า-ผู้แต่งคัมภีร์สารัตถทีปนีไม่เห็นด้วย ข้าพเจ้าเห็นว่า จะขาดจากความเป็นพระก็ต่อเมื่อรับสารภาพ ถ้าไม่รับสารภาพก็ยังไม่ขาด

ไม่ปรากฏว่าคัมภีร์สารัตถทีปนีชี้เฉพาะตรง ๆ เช่นนี้

ท่านพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็มาพาดพิงเข้ากับประเด็นนี้-แบบเรื่องมันพาไป ไม่ได้ตั้งใจชี้ประเด็น

ผมอาจจะเข้าใจผิดเพราะศึกษาไมทั่วถึงทั่วถ้วน ขอนักเรียนบาลีทั้งมวลมีเมตตาชี้แนะด้วย

อย่างไรก็ตาม สรุปได้ว่า -

พระบาลีบอกว่า ต้องอาบัติปาราชิกแล้วขาดจากความเป็นพระทันที

คัมภีร์สารัตถทีปนีบอกว่า ถ้าไม่รับสารภาพก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ

ถ้าคำสรุปนี้ถูกต้อง ก็มาถึงคำถามว่า แล้วจะถือเอาคำของใครเป็นหลัก

.........................................................

หลักสำคัญอย่างหนึ่งที่ยอมรับกันมาก็คือ หากจะพึงมีความเห็นไม่ตรงกันจะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม ท่านให้ถือเอาพระบาลีอันเป็นชั้นสูงสุดเป็นหลัก

.........................................................

ถ้าใครจะถือเอาคัมภีร์อธิบายความเป็นหลัก ก็ต้องตอบได้-อธิบายเหตุผลได้ว่าทำไมจึงไม่ยึดพระบาลีอันเป็นชั้นสูงสุดเป็นหลัก

......................

แต่-เรื่องยังไม่จบง่าย ๆ เพียงแค่นี้ เพราะหลักสำคัญที่ต้องจับประเด็นให้ถูกมี ๒ เรื่อง คือ -

หนึ่ง-ท่านต้องการอธิบายประเด็นไหน? 

ตอบว่า อธิบายปฐมปาราชิก นับว่าตรงประเด็น แม้จะไม่ได้ชี้ชัดแบบคำต่อคำ

และสอง-ท่านอธิบายว่าอย่างไร? 

ตรงนี้แหละที่จะต้องพิจารณาต่อไป เราเข้าใจคำอธิบายตรงตามเจตนาที่ท่านต้องการจะพูดหรือเปล่า

บางเรื่อง-หลายเรื่อง ถ้าอ่านตรงทื่อไปตามตัวอักษรก็ไปคนละเรื่องไปเลย เช่นพุทธวจนะในพระธรรมบท บทนี้ -

.........................................................

มาตรํ  ปิตรํ  หนฺตฺวา

ราชาโน  เทฺว  จ  ขตฺติเย 

รฏฺฐํ  สานุจรํ  หนฺตฺวา

อนีโฆ  ยาติ  พฺราหฺมโณ. 

ที่มา: ปกิณกวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๓๑

.........................................................

แปลตามตัวอักษรว่า

.........................................................

พราหมณ์ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา 

ฆ่าขัตติยราชอีกสององค์ 

ทำลายรัฐ พร้อมทั้งผู้ครองรัฐเสียแล้ว 

ย่อมสัญจรไป อย่างไร้ทุกข์ 

ที่มา: หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

.........................................................

แปลตรงตัวว่าอย่างนี้ ถูกต้อง แต่-ถามว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำตรงตัวแบบนี้หรือ?

ตอบว่า ไม่ใช่

พระพุทธองค์ทรงสอนให้ทำลายกิเลส แต่ทรงใช้ถ้อยคำภาษาที่เป็นปริศนาธรรม

.........................................................

“ฆ่ามารดา” หมายถึง ฆ่าตัณหา อันเป็นตัวแม่ของกิเลส

“ฆ่าบิดา” หมายถึง ฆ่าอัสมิมานะ หรือความถือตัว อันเป็นกิเลสตัวพ่อ

“ฆ่าขัตติยราชอีกสององค์” หมายถึง ฆ่าสัสตทิฐิ (ความเห็นว่าตายแล้วมีสิ่งเป็นอมตะอยู่ไปชั่วนิรันดร์) และอุจเฉททิฐิ (ความเห็นว่าตายแล้วทุกอย่างสูญสิ้นหมด)

“ทำลายรัฐ” หมายถึง ควบคุมระบบการรับกระทบในตัว (ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นล้มรส กายรับสัมผัส ใจคิดนึก) ไม่ให้มีปฏิกิริยาเกินขอบเขต

“ผู้ครองรัฐ” หมายถึง นันทิราคะ หรือความกำหนัดยินดี

.........................................................

ถ้าตีปริศนาธรรมไม่แตกหรือตีความไม่ถูก เข้าใจตรงทื่อไปตามตัวอักษร ก็จะกลายเป็นว่าพระพุทธพจน์บทนี้เป็นคำสอนที่วิปริตผิดเพี้ยน

......................

พระบาลีว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก เป็น “ปาราชิโก” แปลว่า ผู้พ่ายแพ้ คืออยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ไม่ได้อีกต่อไป เหมือนนักมวยแพ้แล้วต้องลงจากเวทีไป “อสฺสมโณ” แปลว่า “ไม่ใช่สมณะ” คือไม่เป็นพระอีกต่อไป

พระบาลีมีอยู่ชัด ๆ อย่างนี้ ท่านผู้รจนาคัมภีร์สารัตถทีปนีก็ย่อมจะเห็นประจักษ์ตาอยู่ ท่านจะบังอาจโต้แย้งเชียวหรือ?

เพราะฉะนั้น ลองพิจารณาถ้อยคำในคัมภีร์สารัตถทีปนีอีกที -

.........................................................

ปาราชิกํ  อาปนฺโนว  ภิกฺขุลิงฺเค  ฐิโต  ยาว  น  ปฏิชานาติ  ตาว  อตฺเถว  ตสฺส  ภิกฺขุภาโว  ฯ

ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิก ยังอยู่ในภิกขุลิงคะ (แต่งตัวเป็นพระ) ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับ (ว่าตนต้องอาบัติปาราชิก) ภิกขุภาวะ (ความเป็นพระ) ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น

ที่มา: สารัตถทีปนี วินยฏีกา ภาค ๒ หน้า ๑๖๐

.........................................................

สรุปชัด ๆ ว่า ถ้ายังนุ่งสบงทรงจีวรอยู่ และเชื่อว่าตัวเองยังเป็นพระ ก็ยังคงเป็นพระอยู่

หมายความตามนี้แน่หรือ 

หรือมีความหมายว่าอย่างไรกันแน่

......................

ผมไม่เชื่อว่า ท่านผู้รจนาคัมภีร์สารัตถทีปนีมีเจตนาแสดงความเห็นขัดแย้งกับพระบาลี แต่น่าจะต้องมี “นัย” อะไรบางอย่างในความเห็นของท่าน

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญปราดเปรื่องในคัมภีร์ ประเภทมองเห็นทะลุปรุโปร่งว่าเรื่องนี้อยู่ในเล่มนั้น เรื่องนั้นอยู่ในเล่มโน้น 

ตรงกันข้าม ผมเป็นคนค่อนข้างงุ่มง่าม เรื่องในธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) ที่นักเรียนบาลีต้องเรียนต้องผ่าน อย่ามาถามผม ในจำนวนเรื่องทั้งหมด ๓๐๒ เรื่อง เรื่องไหนอยู่ภาคไหนผมจำได้ไม่เกิน ๕ เรื่อง 

แต่ผมขยันค้น ไม่เบื่อที่จะค้น รู้สึกสนุก-มีความสุขที่ได้ค้นเรื่องต่าง ๆ ในคัมภีร์ สติปัญญาไม่ดี ก็ต้องใช้ความพยายามเข้าช่วยมากขึ้น เหนื่อยมากหน่อย

ผมค้นไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็พัก หนักก็วาง มีกำลังก็ลุกขึ้นมาค้นต่อไป

.........................................................

ถ้านักเรียนบาลีของเรารวมกำลังกันเป็นกลุ่ม เป็นชมรม ช่วยกันทำงานบาลี ไม่ปล่อยให้ใครงมงุ่มง่ามไปคนเดียว ค้นเรื่องอะไรก็จะเจอได้ง่ายขึ้น ทำงานได้มากขึ้น และที่สำคัญ-ให้ความรู้แก่สังคมได้มากขึ้น กว้างขวางขึ้น

คงมีสักวันหนึ่ง-ที่วงการบาลีบ้านเราจะมีกลุ่มหรือชมรมที่ผมฝันไว้นี้

.........................................................

ค้นไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด 

ในที่สุดก็ไปเจอคำตอบในคัมภีร์อัตถโยชนาครับ

คัมภีร์อัตถโยชนาคือคัมภีร์อะไร?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๒ เมษายน ๒๕๖๗

๑๑:๓๕ 

[full-post]



ปาราชิโก โหติ อสํวาโส (๒)

-----------------------

หมายความอย่างไร

หลักของคัมภีร์บาลี คือ -

.........................................................

พระบาลีคือพระไตรปิฎก เป็นชั้นสูงสุด

อรรถกถาเป็นคัมภีร์อธิบายพระบาลี

ฎีกาเป็นคัมภีร์อธิบายอรรถกถา (อาจรวมถึงพระบาลีด้วย)

อนุฎีกาเป็นคัมภีร์อธิบายฎีกา (อาจรวมถึงอรรถกถาและพระบาลีด้วย)

.........................................................

วัฒนธรรมของคัมภีร์บาลี คือ -

.........................................................

อรรถกถาจะไม่ขัดแย้งกับพระบาลี

ฎีกาจะไม่ขัดแย้งกับอรรถกถาและพระบาลี

อนุฎีกาจะไม่ขัดแย้งกับฎีกา อรรถกถา และพระบาลี

.........................................................

ขัดแย้ง ก็อย่างเช่น -

พระบาลีบอกว่า-ขวา

อรรถกถาบอกว่า-ซ้าย

การแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ อันเป็นส่วนประกอบย่อมทำได้ ความเห็นประกอบนี้อาจมีมาได้หลายทาง เห็นตรงกันก็มี เห็นต่างกันก็มี แต่จะไม่ขัดแย้งกันในหลักการที่แสดงไว้ในพระบาลี

.........................................................

หลักสำคัญอย่างหนึ่งที่ยอมรับกันมาก็คือ หากจะพึงมีความเห็นไม่ตรงกันจะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม ท่านให้ถือเอาพระบาลีอันเป็นชั้นสูงสุดเป็นหลัก

.........................................................

อนึ่ง เรื่องที่พึงระวังก็คือ เวลาศึกษาคัมภีร์อรรถกถาฎีกาหรือที่ผมเรียกเป็นคำรวมว่า คัมภีร์อธิบายความ พึงจับประเด็นให้ถูกใน ๒ เรื่อง คือ -

หนึ่ง-ท่านต้องการอธิบายประเด็นไหน

และสอง-ท่านอธิบายว่าอย่างไร

หนึ่ง-ท่านต้องการอธิบายประเด็นหนึ่ง แต่เราเอาคำอธิบายมาใช้กับอีกประเด็นหนึ่ง ก็ผิดประเด็น จริงอยู่ บางประเด็นเป็นคำอธิบายที่อนุโลมเข้ากันได้ แต่บางประเด็นท่านมีคำอธิบายเฉพาะประเด็นนั้น ๆ อยู่แล้วก็ต้องตัดสินด้วยคำอธิบายเฉพาะของประเด็นนั้น ไม่ใช่เอาคำอธิบายประเด็นหนึ่งไปตัดสินอีกประเด็นหนึ่ง

ที่ว่ามานี้เผื่อยังไม่เข้าใจ ขอเทียบให้เห็นง่าย ๆ 

ภิกษุฉันสุรา ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาหารบางชนิดเขาผสมสุราลงไปเพื่อปรุงรส

ภิกษุฉันอาหารนั้น 

จะเอาเกณฑ์เรื่องฉันสุรามาปรับอาบัติมิได้

คำอธิบายประเด็นไหน ใช้ให้ตรงกับประเด็นนั้น ก็ทำนองเดียวกัน

สอง-ท่านอธิบายว่าอย่างไร นี่เป็นหลักวิชาล้วน ๆ ทั้งนี้เพราะคัมภีร์เป็นภาษาบาลี ต้องแปล และต้องแปลให้ถูก แล้วตีความหรือขบความให้แตกว่าท่านต้องการจะพูดว่าอย่างไร แปลถูกตามที่เรียนมา แต่ตีความผิดเพราะเข้าไม่ถึงอรรถรสของภาษา ความมุ่งหมายที่ท่านต้องการจะพูดก็คลาดเคลื่อน ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องเอาไปปฏิบัติ ก็อาจจะปฏิบัติผิดไปจากเจตนา

ตัวอย่างง่าย ๆ ของการตีความก็อย่างเช่นข้อความว่า -

.........................................................

เต  วยปฺปตฺเต  ฆรพนฺธเนน  พนฺธึสุ. 

(ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ จักขุปาลเถรวัตถุ)

พ่อแม่ผูกลูกผู้ถึงแล้วซึ่งวัยด้วยเครื่องผูกคือเรือน

.........................................................

ดูคำบาลีแล้ว แปลถูกต้องตามนี้ทุกคำ 

ถามว่า พ่อแม่ทำอะไรกับลูก?

ถ้าเข้าไม่ถึงสำนวนภาษา แม้จะแปลได้แปลถูก ก็อาจจะเข้าใจความหมายผิดไปไกล เพราะฉะนั้นจึงว่า-ท่านอธิบายว่าอย่างไร ต้องเข้าใจได้ถูกต้องด้วย

......................

พอได้หลักดังที่ว่านี้แล้ว ทีนี้ก็ลองพิจารณาข้อความในคัมภีร์อธิบายความที่ยกมาเสนอในตอนที่แล้ว

.........................................................

น  หิ  ปาราชิกํ  อนาปนฺนสฺส  สิกฺขํ  อปจฺจกฺขาย  วิพฺภมิสฺสามีติ  คิหิลิงฺคคฺคหณมตฺเตน   ภิกฺขุภาโว   วินสฺสติ  ฯ  ปาราชิกํ  อาปนฺโนว  ภิกฺขุลิงฺเค  ฐิโต  ยาว  น  ปฏิชานาติ  ตาว  อตฺเถว  ตสฺส  ภิกฺขุภาโว  ฯ

ภิกษุที่มิได้ต้องอาบัติปาราชิก ยังไม่ได้บอกลาสิกขา เพียงแต่นึกว่าจะสึก แล้วแต่งตัวเป็นคฤหัสถ์ ก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ (ส่วน) ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิก (แต่) ยังอยู่ในภิกขุลิงคะ (แต่งตัวอย่างพระ) ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับ (ว่าตนต้องอาบัติปาราชิก) ภิกขุภาวะ (ความเป็นพระ) ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น

ที่มา: สารัตถทีปนี วินยฏีกา ภาค ๒ หน้า ๑๖๐

.........................................................

ที่มาของข้อความนี้คือ คัมภีร์สารัตถทีปนี 

ก่อนที่จะช่วยกันพิจารณาประเด็นที่คัมภีร์สารัตถทีปนีแสดงไว้ ขออนุญาตแวะหาความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์สารัตถทีปนีสักเล็กน้อย

สารัตถทีปนีคือคัมภีร์อะไร พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -

.........................................................

สารัตถทีปนี : ชื่อคัมภีร์ฎีกาอธิบายความในสมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎก พระสารีบุตรเถระแห่งเกาะลังกา เป็นผู้รจนาในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๖–๑๗๒๙)

.........................................................

คัมภีร์สารัตถทีปนีพิมพ์เป็นบาลีอักษรไทย ๔ เล่มหรือ ๔ ภาค ใช้เป็นคัมภีร์ประกอบการศึกษาชั้นเปรียญธรรม ๖ และ ๗ ประโยค ตามหลักสูตรการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน

“คัมภีร์ประกอบการศึกษา” หมายความว่า เป็นหนังสืออ่านประกอบ จะอ่านหรือไม่ก็ได้ นักเรียนบาลีบ้านเราส่วนมากไม่อ่าน เพราะไม่ได้เอามาเป็นข้อสอบ 

นักเรียนบาลีบ้านเราศึกษาเฉพาะคัมภีร์ที่ออกเป็นข้อสอบเท่านั้น แทบไม่ได้แตะต้องคัมภีร์ประกอบ

อย่างไรก็ตาม ในอดีตคณะสงฆ์ไทยเคยกำหนดให้คัมภีร์สารัตถทีปนีเป็นแบบเรียนในหลักสูตรบาลีชั้นเปรียญธรรม ๙ ประโยค จนกระทั่งมายกเลิกในสมัยกลางรัชกาลที่ ๕ 

เป็นอันว่านักเรียนบาลีรุ่นเก่าของเราเรียนคัมภีร์สารัตถทีปนี แต่นักเรียนบาลีรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้ว แม้จะกำหนดให้เป็นคัมภีร์ประกอบก็ไม่มีใครสนใจ เพราะไม่มีผลโดยตรงต่อการสอบได้

.........................................................

ถ้าการเรียนบาลีในบ้านเรายังเป็นแบบนี้อยู่ต่อไป-คือเน้นการสอบได้ แต่ไม่ได้เน้นการมีความรู้ในหลักพระธรรมวินัยคือพระไตรปิฎก ผลก็จะออกมาเป็นอย่างนี้เรื่อยไป-คือนักเรียนบาลีที่สอบได้หาไม่ยาก แต่นักเรียนบาลีที่มีความรู้หลักพระธรรมวินัยพระไตรปิฎกหาไม่ง่าย

.........................................................

คัมภีร์สารัตถทีปนีนี้ ท่านอาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ.๙ สำนักวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ได้แปลเป็นไทยจบครบทั้ง ๔ ภาค และพิมพ์เป็นเล่มแล้วครบถ้วน

ผมไม่มีข้อมูลว่า คัมภีร์สารัตถทีปนีฉบับแปลนี้ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และจัดการพิมพ์เผยแพร่ ลองคลิกเข้าไปที่ google ก็เห็นมีจำหน่ายที่เว็บไซต์ขายหนังสือด้วย 

ผมอยากให้มีใครสักคนที่มีกุศลจิตและมีฉันทะอุตสาหะรับเป็นธุระติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์-ซึ่งเดาว่าน่าจะเป็นมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ นั่นเอง เอาคัมภีร์สารัตถทีปนีฉบับแปลมาทำเป็นหนังสืออีบุ๊ก มีไฟล์ PDF ให้ดาวน์โหลดได้ หรือท่านผู้ใดสามารถหาหนังสือมาทำเป็นอีบุ๊กดาวน์โหลดได้ด้วยวิธีการหรือช่องทางอย่างใดอย่างหนึ่งที่สุจริต ก็จะเป็นคุณูปการแก่การศึกษาบาลีเป็นอย่างยิ่ง

ผมเองมีคัมภีร์สารัตถทีปนีฉบับแปลที่เป็นเล่มกระดาษครบชุดครับ แต่อยากให้นักเรียนบาลีทั้งหลายได้มีไว้ด้วย กลไกไฮเทคในปัจจุบันช่วยให้อ่านหนังสือจากหน้าจอสะดวกสบายกว่ายกเล่มกระดาษมากางอ่าน ขอแรงช่วยกันคิดหน่อยนะครับ

นักเรียนบาลีแก่ ๆ คนหนึ่ง ฝากความหวังไว้กับนักเรียนบาลีหนุ่ม ๆ ครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๑ เมษายน ๒๕๖๗

๑๘:๐๐

 

[full-post]



ปาราชิโก โหติ อสํวาโส (๑)

-----------------------

หมายความอย่างไร

ศีลของภิกษุทั้ง ๒๒๗ ข้อ มีตัวบทบัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎกเรียกว่า “สิกขาบท” เทียบกับพระราชบัญญัติก็คือที่เรียกว่า “มาตรา” เมื่อจบข้อความแต่ละสิกขาบท จะมีคำจำกัดความเรียกว่า “วิภังค์” คำเก่าเรียกว่า คัมภีร์วิภังค์ พระไตรปิฎกแปลเป็นไทยใช้คำว่า “สิกขาบทวิภังค์” 

สิกขาบทวิภังค์ตรงกับคำในพระราชบัญญัติที่บอกว่า “ในพระราชบัญญัตินี้ ... หมายความว่า ... ” เช่น -

.........................................................

        ในพระราชบัญญัตินี้ 

         “การศึกษาพระปริยัติธรรม” หมายความว่า การศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

         “วัด” หมายความว่า วัดตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ 

.........................................................

สิกขาบทแต่ละข้อจะมีคำว่า “โย ปน ภิกฺขุ ...” แปลว่า “ภิกษุใด” สิกขาบทวิภังค์ก็จะให้คำจำกัดความว่า “ภิกษุ” ในสิกขาบทนี้หมายถึงใคร ทั้งนี้เพราะภิกษุในพระพุทธศาสนามีที่มาหลายทาง เช่น -

ผู้บวชด้วยวิธีเอหิภิกขุ ก็เป็น “ภิกษุ” 

ผู้บวชด้วยวิธีรับไตรสรณคมน์ในสมัยต้น ๆ ก็เป็น “ภิกษุ” 

ผู้บรรลุธรรมเป็นเสขบุคคล ก็เป็น “ภิกษุ” 

ผู้บรรลุธรรมเป็นอเสขบุคคล ก็เป็น “ภิกษุ” 

ผู้บวชด้วยวิธีที่สงฆ์ประชุมกันอนุมัติดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็เป็น “ภิกษุ” 

สิกขาบทวิภังค์บอกที่มาของภิกษุดังนี้แล้วก็ระบุว่า “ภิกษุ” ในสิกขาบทนี้หมายถึงผู้บวชด้วยวิธีที่สงฆ์ประชุมกันอนุมัติ (ภาษาวิชาการเรียกว่า ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา)

การให้คำจำกัดความแบบนี้ นักเลงกฎหมายอาจพูดได้ว่า ภิกษุที่บวชด้วยวิธีเอหิภิกขุเสพเมถุนได้ ไม่ต้องอาบัติปาราชิก เพราะไม่ใช่ภิกษุที่บวชด้วยวิธีญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา

ในแง่ภาษาย่อมมองได้เช่นนั้น แต่ภาษาในพระวินัยไม่ได้คำนึงเฉพาะภาษาอย่างเดียว หากแต่คำนึงถึงข้อเท็จจริงด้วย

ข้อเท็จจริงก็คือ ภิกษุที่มาด้วยวิธีอื่น ๆ เป็นภิกษุในสมัยต้นแห่งการประกาศพระศาสนา บวชแล้วก็ปฏิบัติธรรมและบรรลุธรรมหมดสิ้น และในเวลาที่ทรงบัญญัติสิกขาบทต่าง ๆ ท่านเหล่านั้นก็อยู่ในฐานะเป็น “ภิกษุ” แต่ไม่อยู่ในฐานะที่จะละเมิดสิกขาบทได้อีกแล้ว ถ้าไม่จำกัดความไว้ให้ชัดเจน ก็จะมีผู้กล่าวได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทเหวี่ยงแหทั่วไปหมด ไม่รู้จักแยกแยะ ไม่สมกับที่ยกย่องว่าเป็นสัพพัญญู

......................

ในตัวบทอาบัติปาราชิกทั้ง ๔ สิกขาบท จะลงท้ายด้วยคำที่เหมือนกัน คือ “ปาราชิโก โหติ อสํวาโส” มีคำแปลว่า เมื่อภิกษุประพฤติล่วงละเมิดทั้ง ๔ กรณี (เสพเมถุน ลักทรัพย์ ฆ่ามนุษย์ อวดอุตริ) ก็จะ “เป็นปาราชิก ไม่มีสังวาส”

“ปาราชิโก” แปลว่า “ผู้ปาราชิก” (ผู้พ่ายแพ้)

“โหติ” แปลว่า “ย่อมเป็น”

“อสํวาโส” แปลว่า “ไม่มีสังวาส”

......................

“ปาราชิโก โหติ อสํวาโส เป็นปาราชิก ไม่มีสังวาส” หมายความว่าอย่างไร?

สิกขาบทวิภังค์ขยายความไว้ดังนี้ -

.........................................................

         ปาราชิโก  โหตีติ  เสยฺยถาปิ  นาม  ปุริโส  สีสจฺฉินฺโน  อภพฺโพ  เตน  สรีรพนฺธเนน  ชีวิตุํ  เอวเมว  ภิกฺขุ  เมถุนํ  ธมฺมํ  ปฏิเสวิตฺวา  อสฺสมโณ  โหติ  อสกฺยปุตฺติโย  เตน  วุจฺจติ  ปาราชิโก  โหตีติ  ฯ

         คำว่า ปาราชิโก  โหติ หมายความว่า บุรุษถูกตัดศีรษะแล้วไม่อาจมีสรีระคุมกันมีชีวิตอยู่ได้แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เสพเมถุนธรรมแล้วย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า ปาราชิโก  โหติ (เป็นปาราชิก) 

         อสํวาโสติ  สํวาโส  นาม เอกกมฺมํ เอกุทฺเทโส สมสิกฺขาตา  เอโส  สํวาโส  นาม  โส  เตน  สทฺธึ  นตฺถิ  เตน  วุจฺจติ  อสํวาโสติ  ฯ

         คำว่า อสํวาโส หมายความว่า ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่ กรรมที่พึงทำร่วมกัน อุเทศที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่า สังวาส สังวาสนั้นไม่มีร่วมกับภิกษุนั้น เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า อสํวาโส (ไม่มีสังวาส)

ที่มา: ปฐมปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๓๖-๓๗

.........................................................

โปรดสังเกตว่า ตามคำอธิบายในสิกขาบทวิภังค์ ต้องอาบัติปาราชิกแล้วขาดจากความเป็นพระทันที ไม่มีข้อแม้

คำว่า “อสฺสมโณ  โหติ” แปลตามศัพท์ว่า “ย่อมไม่เป็นสมณะ” คือที่ผมใช้คำว่า “ขาดจากความเป็นพระ”

......................

เมื่อมีพระต้องอาบัติปาราชิก-เช่นเสพเมถุน มีความเข้าใจกันว่า ต้องลาสิกขา-คือต้องสึก-ก่อนจึงจะขาดจากความเป็นพระ และมีข่าวตามมาว่าพระที่ปาราชิกนั้น “ยอมลาสิกขา” ก็ยิ่งทำให้แน่ใจว่า ต้องสึกก่อน “ภิกขุภาวะ” คือความเป็นพระจึงสิ้นสุดลง ดังจะให้เข้าใจต่อไปว่า พระที่ต้องอาบัติปาราชิก ถ้าไม่ลาสิกขาก็ยังคงเป็นพระอยู่ได้ต่อไป

ต่อจากนั้นก็มีผู้รู้บาลียกข้อความจากคัมภีร์มาอ้างว่า พระที่ต้องอาบัติปาราชิก ถ้าไม่ลาสิกขาก็ยังคงเป็นพระอยู่ได้ต่อไป-มีแสดงไว้ในคัมภีร์

คัมภีร์ฉบับหนึ่งบอกไว้ดังนี้ -

.........................................................

น  หิ  ปาราชิกํ  อนาปนฺนสฺส  สิกฺขํ  อปจฺจกฺขาย  วิพฺภมิสฺสามีติ  คิหิลิงฺคคฺคหณมตฺเตน   ภิกฺขุภาโว   วินสฺสติ  ฯ  ปาราชิกํ  อาปนฺโนว  ภิกฺขุลิงฺเค  ฐิโต  ยาว  น  ปฏิชานาติ  ตาว  อตฺเถว  ตสฺส  ภิกฺขุภาโว  ฯ

ที่มา: สารัตถทีปนี วินยฏีกา ภาค ๒ หน้า ๑๖๐

.........................................................

แปลประโยคต่อประโยค ดังนี้ -

.........................................................

ปาราชิกํ  อนาปนฺนสฺส  

ภิกษุที่มิได้ต้องอาบัติปาราชิก

สิกฺขํ  อปจฺจกฺขาย  

ยังไม่ได้บอกลาสิกขา

(คือยังไม่ได้บอกให้ใครรู้ว่า ฉันสึกละนะ)

วิพฺภมิสฺสามีติ  คิหิลิงฺคคฺคหณมตฺเตน

เพียงแต่นึกว่าจะสึก แล้วแต่งตัวเป็นคฤหัสถ์

น  หิ  ภิกฺขุภาโว   วินสฺสติ 

ก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ

ปาราชิกํ  อาปนฺโนว  

(ส่วน) ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิก

ภิกฺขุลิงฺเค  ฐิโต

(แต่) ยังอยู่ในภิกขุลิงคะ

(ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว แต่ยังนุ่งสบงทรงจีวรอย่างพระอยู่)

ยาว  น  ปฏิชานาติ

ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับ (ว่าตนต้องอาบัติปาราชิก)

ตาว  อตฺเถว  ตสฺส  ภิกฺขุภาโว

ภิกขุภาวะ-ความเป็นพระก็ยังมีอยู่ตราบนั้น

.........................................................

ดูปาราชิกในพระบาลีกับปาราชิกในคัมภีร์อธิบายความ จะเห็นความแตกต่าง ดังนี้ -

ปาราชิกในพระบาลีหรือปาราชิกของพระพุทธเจ้า:

.........................................................

ปาราชิโก โหติ อสํวาโส

เป็นปาราชิก ไม่มีสังวาส (อยู่ร่วมกับภิกษุปกติไม่ได้)

อสฺสมโณ โหติ อสกฺยปุตฺติโย

ขาดจากความพระ ไม่นับเป็นลูกพระพุทธเจ้าอีกต่อไป

.........................................................

ปาราชิกในคัมภีร์อธิบายความ:

.........................................................

ปาราชิกํ  อาปนฺโนว  ภิกฺขุลิงฺเค  ฐิโต

ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว แต่ยังนุ่งสบงทรงจีวรอย่างพระอยู่

ยาว  น  ปฏิชานาติ  ตาว  อตฺเถว  ตสฺส  ภิกฺขุภาโว

ยังไม่ยอมรับ ก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ

.........................................................

พูดชัด ๆ -

ปาราชิกของพระพุทธเจ้า: หมดความเป็นพระทันที

ปาราชิกของอาจารย์ทั้งหลาย: ไม่ยอมรับซะอย่าง ก็ยังเป็นพระอยู่ได้

จะเอาปาราชิกของใครดี?

นักเรียนบาลีช่วยกันคิดหน่อย!

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๐ เมษายน ๒๕๖๗

๑๗:๔๘

 

[full-post]



ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,330)


กรวดน้ำ ไม่ใช่ตรวจน้ำ

ทำไมจึงไม่ใช่?

คำว่า “กรวด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“กรวด ๓ : (คำกริยา) หลั่งน้ำ เช่น น้ำพระเต้าสิโตทกธารามารดริน กรวดลงในมืออินทพฤฒาจารย์. (ม. กาพย์ สักบรรพ). (ข. จฺรวจ).”

คำนิยามที่ว่า “หลั่งน้ำ” ยืนยันว่า “กรวดน้ำ” ใช้ “กรวด” ก-ร-ว-ด ไม่ใช่ “ตรวจ” ต-ร-ว-จ

“ตรวจ” (ต-ร-ว-จ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“ตรวจ : (คำกริยา) พิจารณาดูความเรียบร้อย เช่น ตรวจพล ตรวจราชการ, พิจารณาดูว่าถูกหรือผิด ดีหรือร้าย เป็นต้น เช่น ตรวจบัญชี ตรวจแบบฝึกหัด ตรวจดวงชะตา, พิจารณาหาสมุฏฐาน เช่น ตรวจโรค, สำรวจ เช่น ตรวจพื้นที่. (คำนาม) ชื่อเรือชนิดหนึ่ง.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “กรวดน้ำ” บอกไว้ว่า - 

“กรวดน้ำ : (คำกริยา) แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งนํ้า; (ภาษาปาก) โดยปริยายหมายความว่า ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย, มักใช้ว่า กรวดนํ้าควํ่ากะลา หรือ กรวดนํ้าควํ่าขัน.

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็นดังนี้ - 

“กรวดน้ำ : (คำกริยา) แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งนํ้า.”

และเก็บคำว่า “กรวดน้ำคว่ำกะลา, กรวดน้ำคว่ำขัน” บอกไวดังนี้ -

“กรวดน้ำคว่ำกะลา, กรวดน้ำคว่ำขัน : (สำนวน) (คำกริยา) ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย.”

แต่คำที่สะกดเป็น “ตรวจน้ำ” ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

เพราะฉะนั้น ขอให้เลิกพูดและเขียนผิด ๆ เป็น “ตรวจน้ำ” กันเสียที

“กรวดน้ำ” กรวด- ก-ร-ว-ด

ไม่ใช่ “ตรวจน้ำ” ตรวจ- ต-ร-ว-จ

ขยายความ :

“กรวดน้ำ” พูดเป็นคำบาลีว่าอย่างไร?

“กรวดน้ำ” เป็นคำไทย พจนานุกรมฯ บอกความหมายว่า “แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งนํ้า” 

คำว่า “แผ่ส่วนบุญ” ตรงกับคำบาลีว่า “ปตฺติทาน” อ่านว่า ปัด-ติ-ทา-นะ แปลตามศัพท์ว่า “การให้ส่วนบุญ” คำกริยาสามัญว่า “ปตฺตึ เทติ” (ปัด-ติง เท-ติ) แปลว่า “ย่อมให้ส่วนบุญ” 

ถ้าพูดถึงบุญที่ทำด้วยวิธีแผ่ส่วนบุญ ใช้คำว่า “ปตฺติทานมย” อ่านว่า ปัด-ติ-ทา-นะ-มะ-ยะ แปลว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ”

คำขยายความที่ว่า “ด้วยวิธีหลั่งนํ้า” พาดพิงไปถึงคำว่า “ทักขิโณทก”

“ทักขิโณทก” เขียนแบบบาลีเป็น “ทกฺขิโณทก” อ่านว่า ทัก-ขิ-โน-ทะ-กะ แยกศัพท์เป็น ทกฺขิณ (บุญทานที่ทำเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย) + อุทก (น้ำ)

: ทกฺขิณ + อุทก = ทกฺขิณุทก > ทกฺขิโณทก แปลว่า “นํ้าที่หลั่งในเวลาทำบุญเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย”

“ทกฺขิโณทก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทักขิโณทก” และ “ทักษิโณทก”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ - 

(1) ทักขิโณทก : (คำนาม) นํ้าที่หลั่งในเวลาทำบุญทำทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย, นํ้าที่หลั่งลงเป็นการแสดงว่ามอบให้เป็นสิทธิ์ขาด, นํ้าที่หลั่งลงให้แทนสิ่งของซึ่งใหญ่โตหรือไม่มีรูปที่จะหยิบยกให้ได้ อย่างวัด ศาลา บุญกุศล เป็นต้น. (ป.).

(2) ทักษิโณทก : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) นํ้าที่หลั่งการบำเพ็ญพระราชกุศล, นํ้าที่หลั่งลงเป็นการแสดงว่ามอบให้เป็นสิทธิ์ขาด, นํ้ากรวด คือ น้ำที่ใช้แทนสิ่งของที่ให้ซึ่งใหญ่โตหรือสิ่งไม่มีรูปที่จะหยิบยกให้ได้ อย่างวัด ศาลา บุญกุศล เป็นต้น เช่น พระเวสสันดรหลั่งทักษิโณทกยกสองกุมารให้ชูชก, ชื่อของพระเต้าที่พระมหากษัตริย์ทรงหลั่งน้ำเพื่ออุทิศพระราชกุศล เรียกว่า พระเต้าทักษิโณทก. (ส.).

..............

ดูก่อนภราดา!

: ทำบุญเองเมื่อยังมีชีวิต

: ดีกว่ารอบุญที่คนอื่นอุทิศไปให้ 

[full-post]



ทองย้อย แสงสินชัย 

#บาลีวันละคำ (4,331)


สาธารณโภคี

ผู้ไม่หวงดีไว้คนเดียว

อ่านวา สา-ทา-ระ-นะ-โพ-คี

ประกอบด้วยคำว่า สาธารณ + โภคี 

(๑) “สาธารณ” 

บาลีอ่านว่า สา-ทา-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก - 

(1) สห (คำบุรพบทและอุปสรรค = พร้อม, กับ, พร้อมด้วย) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง สห เป็น ส, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ธรฺ > ธาร), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ (ยุ > อน > อณ) 

: สห + อา + ธรฺ = สหาธรฺ + ยุ > อน = สหาธรน > สาธรน > สาธารน > สาธารณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปพร้อมกับการรองรับทั่วไป” 

(2) สม (เสมอกัน) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง สม เป็น ส, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ธรฺ > ธาร), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ (ยุ > อน > อณ) 

: สม + อา + ธรฺ = สมาธรฺ + ยุ > อน = สมาธรน > สาธรน > สาธารน > สาธารณ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่อันบุคคลรับรองสิ่งทั้งหลายเสมอภาคกัน” 

“สาธารณ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทั่วไป, ธรรมดา, ร่วมกัน (general, common, joint)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“สาธารณ-, สาธารณะ : (คำวิเศษณ์) เพื่อประชาชนทั่วไป เช่น สวนสาธารณะ โทรศัพท์สาธารณะ บ่อน้ำสาธารณะ, ทั่วไป เช่น ถนนนี้ไม่ใช่ถนนสาธารณะ อย่าแต่งตัวประเจิดประเจ้อในที่สาธารณะ. (ป., ส.).”

(๒) “โภคี” 

อ่านว่า โพ-คี รูปคำเดิมมาจาก โภค + อี ปัจจัย

(ก) “โภค” บาลีอ่านว่า โพ-คะ รากศัพท์มาจาก ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ, แปลง ช เป็น ค

: ภุชฺ + ณ = ภุชณ > ภุช > โภช > โภค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนใช้สอย” หรือ “สิ่งที่ต้องใช้สอย” 

“โภค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ -

(1) การเสพหรือบริโภค (enjoyment) 

(2) สมบัติ, ความร่ำรวย (possession, wealth) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“โภค, โภค-, โภคะ : (คำนาม) สมบัติ เช่น ถึงพร้อมด้วยโภคะ. (คำกริยา) กิน, ใช้สอย. (ป., ส.).”

(ข) โภค + อี ปัจจัย

: โภค + อี = โภคี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีโภคะ” หรือ “ผู้บริโภค” (คือกินใช้สมบัติที่มีหรือที่หามาได้)

“โภคี” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ -

(1) เป็นคุณศัพท์: บริโภคหรือเสพ, มีหรือมีมาก, มีส่วนร่วมหรืออุทิศตนให้เพื่อความสุข (enjoying, owning, abounding in, partaking in or devoted to pleasure) 

(2) เป็นนาม: เจ้าของ (ผู้มีทรัพย์), คนร่ำรวย (owner, wealthy man) 

สาธารณ + โภคี = สาธารณโภคี แปลว่า “ผู้มีของกินของใช้ทั่วไปแก่คนอื่น” หมายความว่า มีของกินของใช้ที่พอจะแบ่งให้คนอื่นได้กินได้ใช้ด้วย ก็แบ่งให้ ไม่หวงไว้กินไว้ใช้คนเดียว เป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของคนที่อยู่ร่วมสังคมกัน เรียกว่า “สารณียธรรม” หรือ “สาราณียธรรม”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [273] แสดงสารณียธรรมไว้ดังนี้ -

(“สาธารณโภคี” อยู่ในข้อ 4 ชื่อ สาธารณโภคิตา : สาธารณโภคี + ตา ปัจจัย = สาธารณโภคิตา แปลว่า “ความเป็นผู้มีของกินของใช้ทั่วไปแก่คนอื่น”)

..............

สารณียธรรม 6 (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน, ธรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี, หลักการอยู่ร่วมกัน — Sāraṇīyadhamma: states of conciliation; virtues for fraternal living) สาราณียธรรม ก็ใช้

1. เมตตากายกรรม (ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมหมู่คณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง — Mettākāyakamma: to be amiable in deed, openly and in private)

2. เมตตาวจีกรรม (ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — Mettāvacīkamma: to be amiable in word, openly and in private)

3. เมตตามโนกรรม (ตั้งเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน — Mettāmanokamma: to be amiable in thought, openly and in private)

4. สาธารณโภคิตา (ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน — Sādhāraṇabhogitā: to share any lawful gains with virtuous fellows) ข้อนี้ ใช้ อัปปฏิวิภัตตโภคี ก็ได้

5. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ — Sīlasāmaññatā: to keep without blemish the rules of conduct along with one’s fellows, openly and in private)

6. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญอันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา — Diṭṭhisāmaññatā: to be endowed with right views along with one’s fellows, openly and in private)

ธรรม 6 ประการนี้ มีคุณคือ เป็น สารณียะ (ทำให้เป็นที่ระลึกถึง — making others to keep one in mind) เป็น ปิยกรณ์ (ทำให้เป็นที่รัก — endearing) เป็น ครุกรณ์ (ทำให้เป็นที่เคารพ — bringing respect) เป็นไปเพื่อ ความสงเคราะห์ (ความประสานกลมกลืน — conducing to sympathy or solidarity) เพื่อ ความไม่วิวาท (to non-quarrel) เพื่อ ความสามัคคี (to concord; harmony) และเพื่อ เอกีภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน — to unity)

..............

ดูก่อนภราดา!

: แบ่งกันกิน ยอดดี

: แบ่งกันโกง ยอดเลว 

[full-post]
ขับเคลื่อนโดย Blogger.