มือที่มองไม่เห็น เป็นเหตุหรือไม่ ?
มือ ที่แปลกปลอม มือที่ไม่ต้องการ แต่สอดเข้ามา มือมืด มือที่ทุกคนไม่อยากเจอ มือบ่อนทำลาย…..ทุกคนโทษว่าเป็นมือที่ 3 แต่บางครั้ง…เจ้ามือที่ 1 มือที่ 2 ก็ไม่ใช่ย่อยเหมือนกัน…. อาจสร้างความเสียหาย หรือเป็นเหตุให้เจ้ามือที่ 3 เข้ามาทำลาย หรือสร้างความเสียหายได้…..
อุทาหรณ์ เรื่อง ตาอิน กับตานา แบ่งปลากัน แต่ตกลงกันไม่ได้…..ปัญหามันเริ่มตรงนี้….ตาอยู่มาจากไหนไม่ทราบ (มือที่สาม มือที่มองไม่เห็นหรือเปล่า ??) มาเอาปลาไปกิน…จะโทษใคร… ตาอิน กับตานา ก็จะโทษตาอยู่ ที่ไม่เป็นธรรม, ส่วนตาอยู่ได้ปลาไปกิน ก็จะมองอย่างกระหยิ่มยิ้มย่องว่า “ไอ้ตาอิน กับตานา มันโง่เอง” มันเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่ออย่างหนึ่งว่า หลาย ๆ คน มุ่งมองหาผู้อื่นว่าเป็นตัวสร้างปัญหา หรือก่อปัญหา หรือจะแก้ปัญหาให้แก่ตนเอง…มุ่งมองที่จะโทษผู้อื่น หาความผิดของผู้อื่น แต่ไม่ได้มองถึงตัวเอง..หรือจะแก้ปัญหาให้กับตนเองอย่างไร ???
หลักการแก้ปัญหา ควรคำนึงถึง ความสงบสุข และความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเป็นสำคัญ ถ้าแก้ปัญหาโดยไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เดี๋ยวปัญหามันก็จะตามมาอีก…เข้าตำรา แก้ตรงนี้ มันก็ไปโผล่ตรงโน้น… แก้ไม่เสร็จสักที… ในบางครั้งบางคราว… มือที่สาม หรือมือที่มองไม่เห็น ก็สร้างปัญหา ความวุ่นวายได้เช่นเดียวกัน บางครั้งเขาอาจทำไปเพราะไม่รู้ หรือมีความจงใจอย่างไร หรือเปล่า โดยหลักแล้ว ตัวบุคคลที่เป็นมือที่ 1 และมือที่ 2 ควรจะได้พูดคุยกัน และหาเหตุผลให้ดีเสียก่อน บางครั้งมือที่สามเขาทำไปโดยความไม่รู้เรื่องอะไรเลย…. มีอุทาหรณ์ในธรรมบท มาเล่า ประกอบดังนี้ว่า…
ในอดีตสมัยพุทธกาล มีครอบครัว ๆ หนึ่ง หัวหน้าครอบครัว เป็นนายช่างเจียรนัย รัตนะ ต่าง ๆ (แก้วมณี, เพชร..) รับงานแล้วก็ทำที่บ้านของตนเอง ครอบครัวนี้ เลื่อมใสพระเถระรูปหนึ่ง ชื่อว่า พระอุปติสสะ นิมนต์ให้มาฉันที่บ้านเป็นประจำ… วันหนึ่ง…นายช่างแก้ว นิมนต์พระเถระให้ไปฉันที่บ้าน ตามปกติ…พอดีวันนั้น อาหารยังทำไม่เสร็จ ก็บอกให้พระเถระนั่งรอ ตนเองก็จัดการทำอาหาร ขณะนั้นมีบุรุษที่เป็นมหาดเล็กของพระเจ้าปัสเสนทิโกศล นำแก้วมณีมาให้ช่างแก้วเจียรนัย…ช่างแก้วก็รับไว้ทั้ง ๆ ที่มือก็เปื้อนกลิ่นคาวของปลาของเนื้อ….วางไว้ในที่แห่งหนึ่ง…ตนเองก็เข้าห้องน้ำไปเพื่อจะล้างมือ…
เผอิญนกกระเรียนตัวหนี่งที่นายช่างแก้วเลี้ยงไว้…เดินหากินอยู่ไม่ไกลแถวนั้น เห็นแก้วมณีก็นึกว่าคงเป็นชิ้นเนื้อ ก็เลยจิกแล้วก็กลืนแก้วมณีนั้นลงไป พระเถระที่นั่งอยู่ก็เห็นเหตุการณ์นั้น แต่ก็ไล่ไม่ทัน…นายช่างแก้วออกมาจากห้องน้ำมา…มองไม่เห็นแก้วมณี ก็เลยถามพระเถระ…พระเถระก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร??? คิดในใจว่า “ถ้าบอกว่า นกกระเรียนมันกลืนลงท้องแล้ว ก็กลัวนายช่างแก้วจะฆ่านกกระเรียน” ก็เลยนั่งนิ่ง… นางช่างแก้วก็แน่ใจเลย…ว่าพระเถระลักเอาแก้วมณีไป โกรธพระเถระแล้วก็จับมัด ลงมือซ้อม ให้พระเถระรับสารภาพ ว่าลักเอาแก้วมณีไปไว้ที่ไหน..?? (เพราะแก้วมณีนั้นเป็นของพระราชา ถ้าไม่ได้ไปคืนพระราชา ตนและภรรยาจะถูกสั่งประหารแน่) พระเถระก็ไม่ยอมตอบ…
ส่วนภรรยา ไปทำธุระนอกบ้านกลับ เห็นสภาพพระเถระอย่างนั้น ก็อ้อนวอนสามีไม่ให้ทำร้ายพระเถระ พร้อมทั้งขอโทษพระเถระตลอดเวลา…. ฝ่ายนายช่างแก้วก็ไม่ยอมลดละ ตะเพิดเมียของตนเองไป แล้วก็ซ้อมพระเถระจนเลือดไหลออกจากปาก และจมูก เลือดไหลลงพื้นดิน…เจ้านกกระเรียนที่เดินวนเวียนอยู่แถวนั้น ได้กลิ่นคาวเลือด ก็เดินตรงไปยังพระเถระเพราะคาวเลือด นายช่างแก้วเห็นเข้าด้วยโความโกรธก็กระโดดเตะนกกระเรียนอย่างจัง…นกกระเรียนดิ้นชัก และเสียชีวิตในขณะนั้น…พระเถระเห็นอย่างนั้น ก็เลยถามนายช่างแก้วว่า…นกกระเรียนมันแน่นิ่งไป ดูซิว่ามันตายหรือยัง…นายช่างแก้วก็หันมาขู่พระเถระว่า เดี๋ยวท่านก็จะตายอย่างนกกระเรียนนี่แหละ…เสร็จแล้วก็ตรวจดูนกกระเรียน เห็นว่ามันตายแล้ว ก็เลยบอกกับพระเถระ… พระเถระก็เลยพูดว่า แก้วมณีของพระราชา อยู่ในท้องของนกกระเรียนนั่นแหละ… นายช่างแก้วคิดได้ ผ่าท้องนกกระเรียนดู ก็เจอแก้วมณีจริง ๆ….. นอนกลิ้งเกลือกที่เท้าพระเถระ ขอให้พระเถระอดโทษต่อตนเอง… พระเถระก็บอกว่า เรื่องทั้งหมดไม่โทษใคร มันเป็นโทษของวัฏฏะ…และโทษในปัจจุบันนี้ เป็นโทษอันเกิดมาจากการเข้าไปสู่ตระกูล หรือการเข้าไปใกล้ชิดกับตระกูลมากเกินไป…….(ตรงนี้มีนัย)
ตรงนี้ มีนัยสำคัญที่จะกล่าวว่า นายช่างแก้ว มือที่ 1 พระเถระมือที่ 2 ทั้งสองต้องมาเดือดร้อนทำร้ายกัน พระเถระท่านไม่ได้ทะเลาะ แต่ท่านก็ต้องมารับทุกข์ทรมาณ, นายช่างแก้วก็สำคัญผิด ขาดสติสัมปชัญญะ ขาดการพิจารณาใคร่ครวญให้ดี…เลยทำกรรมอันสาหัส. ส่วนเจ้ามือที่สาม คือ นกกระเรียน ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ตนกระทำนั้น เป็นการสร้างปัญหาให้เกิดแก่บุคคลทั้งสอง จะด้วยความจงใจหรือไม่จงใจก็ตาม แต่ปัญหามันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว…
(ทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันเกิดมาจากรรม คือ การกระทำของทั้ง 3 ฝ่าย ผสมกลมกลืนกัน เป็นเรื่องเป็นราว…. คือ…
1. การเข้าไปสู่ตระกูลจนเคยชิน โดยไม่คำนึงถึงโทษอื่น ๆ ที่จะตามมา….เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ได้ (ข้อนี้มีบัญญัติในพระวินัย….ในภายหลัง)
2. นายช่างแก้ว… ก็กระทำการโดยเผลอเรอ…ตั้งแต่การรับแก้วมณี ไม่เก็บให้ดีก่อน….ไม่รู้ว่านกกระเรียนอาจจิกกินได้…และการเข้าใจว่าพระเถระหยิบเอาไป เป็นการคิดที่ไร้เหตุผลไปนิด
3. นกกระเรียน ตัวสร้างปัญหา ไม่รู้ว่าสิ่งไหนคืออาหารของตน… อะไรควรจะกิน หรือไม่ควรกิน…
)
เหตุการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้…มันคงจะมีเกินมือที่ 3 มีหลายมือเหลือเกิน เลยทำให้บ้านเมืองวุ่นวายไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งมือที่สว่าง ๆ มองเห็นกันชัด ๆ ก็มี มือที่มองไม่เห็น อยู่ในมุมมืดก็มี ถ้ามือทั้งหมดเป็นมือสะอาดก็คงไม่เป็นไร ?? แต่ถ้ามันเป็นมือสกปรก ก็คงจะวุ่นวายไม่เลิก…
เรื่องราวในธรรมบท ยังมีต่ออีกว่า พระเถระหลังจากได้รับการพยาบาลแล้ว ท่านก็ยึดถือธุดงค์ คือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ไม่เข้าไปนั่งที่บ้านของใครอีก ไม่นานท่านก็ได้บรรลุอรหัตต์และนิพพานในกาลไม่นาน และอีกไม่กี่ปี นายช่างแก้วก็เสียชีวิต และภรรยา ก็สิ้นชีวิต….
พวกภิกษุทั้งหลาย สนทนาธรรมกันในโรงธรรม ทราบเรื่องราวของพระเถระนั้น และครอบครัวของนายช่างแก้ว ก็เลยทูลถามถึงคติในสัมปรายพภพของบุคคลทั้ง 3 ต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ได้ทรงตรัสว่า…
คพฺภเมเก อุปฺปชฺชนฺติ นิรยํ ปาปกมฺมิโน
สคฺคํ สุคติโน ยนฺติ ปรินิพฺพนฺติ อนาสวา.
แปลได้ความว่า : บุคคลบางพวก (หลังจากตายแล้ว) ย่อมเกิดในครรภ์.. บางพวกที่ทำบาปก็เกิดในนรก…บางพวกที่ทำกรรมดีก็เกิดในสุคติภูมิ…บางพวกที่ไม่มีอาสวะ ก็นิพพาน…
ข้อความในพระคาถานี้ ท่านตรัสโดยเอกเทสนัย… คือ ตรัสเพียงบางส่วน แต่หมายเอาความทั้งหมด คืออย่างไร ?? อย่างเช่น คำว่า “คพฺภเมเก อุปฺปชฺชนฺติ” ที่แปลว่า บางพวกเกิดในครรภ์ ก็ต้องขยายไปว่า พวกใดบ้างที่เกิดในครรภ์ ต้องครอบคลุมผู้ที่เกิดในครรภ์ทั้งหมด….ฯ ข้อความที่ว่า “นิรยํ ปาปกมฺมิโน” บางพวกทำบาปกรรมไว้ ก็เกิดในนรก นั้น ก็กล่าวโดยส่วนเดียว แต่แท้ที่จริงแล้ว หมายเอาอบายภูมิทั้งหมด อีก 3 คือ เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ด้วย. เพราะสัตว์ผู้เกิดในอบายภูมิอีก 3 อย่างนั้น ก็ไปด้วยบาปกรรมอันลามก….ฯ ข้อความที่ว่า “สคฺคํ สุคติโน ยนฺติ” บางพวกที่ทำกุศลไว้ ก็ย่อมไปสู่สุคติ นั้น คำว่า “สุคติ” ก็หมายเอาทั้ง กามสุคติภูมิ 7 (มนุษย์ 1, สวรรค์ 6), และ รูปภูมิ 16, อรูปภูมิ 4 รวมเป็นสุคติภูมิ 27. ตามอำนาจของกุศลกรรม 17 คือ กามาวจรกุศลกรรม 8 รูปาวจรกุศลกรรม 5 และ อรูปาวจรกุศลกรรม 4…. ฯ ส่วนคำว่า “ปรินิพฺพนฺติ อนาสวา” ผู้ที่ไม่มีอาสวะ ก็ย่อมปรินิพพาน นั้น หมายถึงท่านพระอรหันต์ทั้งหมด หลังจากดับขันธปรินิพพาน (เสียชีวิต) แล้ว ก็หมดบัญญัติที่จะกล่าวเรียกได้อีก… เพราะไม่มีขันธ์ 5 ที่จะให้บัญญัติได้อีก วิถีหลังจากการดับลงแห่งจุติจิตของพระอรหันต์ ก็จะเป็น อนุปาทิเสสนิพพาน….. คือขันธ์ห้าดับหมด….ไม่มีบัญญัติที่จะกล่าวเรียกได้อีก…. ตรงนี้ เข้ากับพระดำรัสที่ว่า “นิพพานํ ปรมํ สุญฺญํ นิพพาน เป็นสิ่งที่สูญอย่างยิ่ง”
แต่จะเป็นมือที่เท่าไร ก็แล้วแต่….มนุษย์เราแทบจะทุกคน มีความปรารถนา อยากจะ…
– ได้สัมผัสมือนุ่ม ๆ ที่อบอุ่น
– ได้มือที่ช่วยประคองให้เราลุกขึ้นได้ เมื่อเราล้มลง
– ได้มือที่คอยช่วยเหลือเมื่อทั้งร่างกายเราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
– ได้มือที่อาจจะซับน้ำตาให้ในกาลบางคราว….
– ได้มือ ที่ชักจูงเราให้เดินตรงสู่เส้นทาง
– ได้มือ ที่นำเราไปสู่แสงสว่าง สู่ทางเดินที่ถูกต้อง..
– ได้มือ ที่ปิดตาให้ ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
----------------------
veeza
[right-sice]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ