สายลมที่เปลี่ยนไป?
“สายลมที่เปลี่ยนไป” มันกำลังสื่อถึงอะไร ? มันกำลังสื่อถึงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ บางสิ่งไปแล้วไปเลย บางสิ่งหมุนเวียนกลับมาใหม่, ทุกสิ่งทุกอย่าง หมุนเวียนเป็นวงกลม จากจุดเริ่มต้น ไปจุดท่ามกลาง ไปจุดสุดท้าย แล้วเริ่มต้นใหม่….เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป….เจริญขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป…. มีกิเลส ทำกรรม ได้รับผลของกรรม (วิบาก)….
เหตุการณ์ต่าง ๆ ปรากฏการทางธรรมชาติ วัน เดือน ปี หมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่มีหยุดนิ่ง แม้ วินาที นาที ชั่วโมง ชื่อวัน ชื่อเดือน ชื่อปี จะหมุนเวียนกลับมาใหม่ แต่ชีวิต ร่างกายของมนุษย์กำลังเปลียนแปลงไปสู่ความเสื่อมอย่างเดียว….
ผู้คนส่วนมาก มักจะติดอยู่ในช่วงเวลาแห่งความเจริญของชีวิต ไม่ได้คำนึงถึงช่วงเวลาแห่งความเสื่อม หลาย ๆ คนจึงลุ่มหลงมัวเมาในชีวิต หลาย ๆ คนที่ประสบกับปัญหาชีวิต ปัญหารอบข้าง ปัญหาสังคม จนไปถึงปัญหาของประเทศชาติ บางคนบางท่านพยายามปลอบตนเองว่า “…เอาน่า เดี๋ยวมันก็หมุนเวียนเปลี่ยนไป เมื่อเรื่องร้าย ๆ ผ่านไปแล้ว มันก็น่าจะมีเรื่องดี ๆ เข้ามาบ้าง….” เมื่อพายุมันสงบ ความเป็นปกติก็จะตามมา. ปัญหาหรือความทุกข์ เมื่อเกิดขึ้น บุคคลจะต้อง…
– ทำใจให้ได้
– วางใจเป็นอุเบกขา ปล่อย ละ วาง บ้าง
เบื้องต้น ต้องทำใจให้ได้ก่อน การทำใจให้ได้ ก็คือ การยอมรับในปัญหา ในความทุกข์ที่เกิดขึ้น —> ตั้งสติ —-> หาสาเหตุของปัญหา —-> แล้วดำเนินการแก้ปัญหา. ถ้าบุคคลทำใจไม่ได้คือไม่ยอมรับ กระบวนการในการที่จะแก้ปัญหามันก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อเกิดปัญหา ไม่แก้ปัญหา. ปัญหามันก็เพิ่มไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดปัญหาเยอะแยะไปหมด เมื่อหมดทางแก้ก็มาแก้ที่ตัวเอง คือ ฆ่าตัวตายหนีปัญหา. กระบวนการในการยอมรับเรื่องปัญหานั้น ในทางพระพุทธศาสนา แสดงไว้อย่างชัดแจ้งในอริยสัจจ์ 4 คือ ทุกข์ และสมุทัย…
ทุกข์ คือปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนสมุทัย คือสาเหตุหรือต้นเหตุของปัญหา. การยอมรับในเมื่อทุกข์หรือปัญหาเกิดขึ้น บุคคลจะต้องทำความเข้าใจเหมือนในหลักของอริยสัจจ์ ที่ว่า ทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรทำความเข้าใจหรือกำหนดรู้. การกำหนดรู้ทุกข์หรือปัญหาที่เกิดขึ้น มันเป็นเครื่องแสดงออกถึงปัญญาของบุคคล และกำลังบอกถึงว่า บุคคลได้ยอมรับถึงการกระทำของตนเองแล้ว ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะหลายคนในโลกนี้ ไม่ยอมรับในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป พอมีเหตุการณ์ร้าย ๆ เกิดขึ้นแก่ตนเอง หลาย ๆ คนจะมุ่งมองหาสิ่งอื่น หรือกล่าวโทษว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือผู้นั้นผู้นี้กระทำให้แก่ตนเอง พอไปกล่าวโทษผู้อื่นหรือสิ่งอื่น นั่นก็หมายความว่า บุคคลไม่ยอมรับในการกระทำของตนเอง บุคคลก็จะละเลยในการแก้ปัญหาที่ตนเอง มุ่งมองที่จะโทษผู้อื่นร่ำไป ปั้ญหามันก็ไม่จบ แก้ไม่ได้ จะเห็นได้ชัดเจนในสังคมเมืองไทยในปัจจุบันนี้…
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลทำใจยอมรับปัญหาได้แล้ว บุคคลจะต้องพิจารณาถึงปัญหาและสาเหตุของปัญหาว่ามีมาอย่างไร จะแก้ปัญหาตรงจุดไหน ปัญหาอะไรจะต้องแก้ก่อนหรือแก้ทีหลัง บางครั้งเราต้องปล่อยวางปัญหาหนึ่งแล้วมาแก้อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญเร่งด่วนกว่า เรียกว่าจัดลำดับความสำคัญของปัญหาให้ได้. การปล่อยวาง ทำใจเป็นอุเบกขา มิใช่เป็นการละเลยปัญหา มิใช่ปล่อยวางด้วยความเขลา หรือเพราะขี้เกียจจะแก้ไขปัญหา บุคคลจะต้องเข้าใจว่า ปัญหาหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่าง มิใช่จะแก้ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่มากมาย ที่ต้องมานั่งคอยแก้ปัญหาให้ประชาชนคนทั้งประเทศ ต้องปล่อยวางให้ได้ ผู้ที่ประสบปัญหาเองก็ต้องปล่อยวางให้ได้เช่นกัน. การปล่อยวางนี้เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ในพรหมวิหาร 4 เพราะเหตุใดพระพุทธเจ้าถึงตรัส อุเบกขา นั่นเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า เมื่อบุคคล เมตตาไม่ได้ กรุณาไม่ได้ มุทิตาไม่ได้ เราจะต้องทำใจเป็นอุเบกขา มิให้ทำใจไปเป็นอย่างอื่น เช่น เราเห็นว่าบุคคลผู้นี้เป็นศัตรูของเรา บุคคลกลุ่มนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อเรา ถ้าหากว่า เราทำใจเมตตา กรุณา มุทิตาเขาไม่ได้ เราจะต้องทำใจเป็นอุเบกขา ปล่อยวาง เพราะถ้าเราไม่อุเบกขาปล่อยวางแล้ว เราก็จะตกไปฝ่ายอกุศล คือ โกรธต่อเขา หรือดุด่า ทำร้ายเขา กระบวนการในการปฏิบัติของทางพุทธศาสนานั้น ละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว จุดสำคัญอยู่ที่ว่า ใครได้กระทำกรรมอะไรลงไป เป็นบุญหรือเป็นบาป ไม่ต้องมีใครรู้ ไม่ต้องมีใครจดบันทึก มันจะหมุนเวียนส่งผลให้ได้รับแน่นอน… ดังที่ท่านกล่าวว่า “อุปาทิโน ธมฺมา” แปลว่า ผลกรรมจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะมีเหตุที่จะให้เกิดขึ้น สำเร็จไปแล้ว.
อนึ่ง มีเรื่องที่น่าสลดใจว่า มีหลายคนหลายท่านตั้งข้อรังเกียจว่า “ทุกข์หรือปัญหาที่เราประสบในปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องของกรรมเก่า” เรื่องของอดีตกรรม และในที่สุดก็มีทิฏฐิว่า ความทุกข์หรือปัญหาต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องกรรมเก่า หรืออดีตกรรมอะไรที่ไหนหรอก นี่ก็เลยเถิดไปกันใหญ่ กำลังแสดงความไม่ยอมรับในการกระทำของตนเอง เมื่อไม่ยอมรับในกรรม คือการกระทำของตนเอง ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว. แล้วจะแก้ป้ญหาได้อย่างไรเล่า ?
ผู้เขียนเคยให้ความเห็นไปหลายครั้งแล้วว่า คำว่า กรรมเก่า หรือ อดีตกรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น มุ่งหมายเอากรรมหรือการกระทำที่เราทำอยู่ทุกวันนี่แหละ คำว่า อดีตนั้น แม้ล่วงไป 1 วินาที ก็จัดว่าเป็นอดีตแล้ว คนที่ถูกตำรวจจับวันนี้ ก็เพราะเมื่อวานนี่ไปปล้นธนาคาร หรือ คนที่ปล้นธนาคารในวันนี้ ตอน 9 โมง แต่ถูกตำรวจจับได้ตอน 10 โมง กรรม คือการกระทำทั้ง 2 กรณี ก็จัดว่าเป็นอดีตกรรมแล้ว และมาส่งผลคือถูกตำรวจจับได้ในภายหลัง และก็จะถูกจำคุกในเวลาต่อมา. ความเป็นอดีตของกรรมคือการกระทำนั้น ความจริงแล้วมิได้จำกัดเพียงว่าในขณะกระทำการปล้นธนาคาร ในกรณีของการปล้นธนาคารนี้ กรรมทางใจ ที่เรียกว่า มโนกรรม ย่อมเกิดขึ้นก่อนการกระทำด้วยกาย คือ การลงมือปล้น หมายความว่า บุคคลได้คิดก่อนแล้ว ว่าจะทำการปล้น การคิดนั้น อาจจะคิดไว้เป็นปี เป็นเดือน เป็นวัน หรือเป็นชั่วโมง หรือจะเป็นเสี้ยววินาทีก่อนที่จะทำการปล้นก็ได้ จะเร็วจะช้าเท่าใดก็ตาม การคิดว่าจะปล้นนั้นเป็นกรรมไปแล้ว ซึ่งเรียกว่ามโนกรรม และกรรมนั้นก็เป็นอดีตไปแล้ว จึงถูกเรียกว่าเป็นอดีตกรรม หรือกรรมเก่าก็ได้ แล้วแต่จะพูด…
ในทางพระพุทธศาสนา การจำแนกกาล (เวลา) ว่า เป็น ปัจจุบัน อดีต และอนาคตนั้น มีหลายนัย บางครั้ง…
– ยึด วันนี้ทั้งวันว่าเป็นปัจจุบัน เมื่อวานนี้เป็นอดีต วันพรุ่งนี้เป็นอนาคต ……วินาทีนี้ ชั่วโมงนี้ สัปดาห์นี้ เดือนนี้ ปีนี้…….
– ยึดชาตินี้ทั้งชาติ ว่าเป็นปัจจุบัน (ปัจจุบันนชาติ), ชาติที่แล้ว ว่าเป็นอดีต, ชาติหน้า ว่าเป็นอนาคต
– ยึดช่วงระยะเวลาของนามรูปที่ตั้งอยู่ ว่าเป็นปัจจุบัน เมื่อนามรูปนั้นดับไปแล้ว ก็จัดว่าเป็นอดีต นามรูปที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่จะเกิดขึ้น ว่าเป็นอนาคต (อตีตา ธมฺมา,อนาคตา ธมฺมา,ปจฺจุปฺปนฺนา ธมฺมา)
– ยึด ขณะเล็ก ๆ ที่เรียกว่าเป็นอุปาทะ (กำลังเกิดขึ้น) ว่าเป็นปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเสี้ยวหนึ่ง ๆ ของนามและรูป, (ในขณะหนึ่ง ๆ ของนามรูป มี 3 ขณะเล็ก คือ อุปปาทะ, ฐีติ, ภังคะ.) เมื่ออุปปาทะ(เกิดขึ้น)เป็นปัจจุบัน ฐีติ(ตั้งอยู่), ภังคะ(ดับไป) ก็เป็นอนาคต. พอขยับมาถึงฐีติ อุปปาทะก็เป็นอดีต ฐีติเป็นปัจจุบัน. พอถึงภังคะ อุปปาทะ และฐีติเป็นอดีต ภังคะเป็นปัจจุบัน.
และในการให้ผลของกรรม มีระยะเวลาให้ผล ดังนี้คือ
– หลังจากตัวเหตุดับลง ผลเกิดขึ้นติดต่อกันก็มี เช่น ระหว่าง มรรค กับ ผล ในมัคควิถี (อกาลิโก) (แต่ในที่นี้ ตัวเหตุไม่จัดว่าเป็นกรรม)
– ให้ผล นับเวลาช่วงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันชาตินี้ หลังจากทำกรรมเสร็จไปแล้ว ไปจนถึงสิ้นชีวิต อาจจะ 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง 3 วัน 7 วัน……จนสิ้นชีวิต
– ให้ผลหลังจากสิ้นชีวิต หลังจากจุติจิตดับลง แล้วให้ผลทันทีในขณะปฏิสนธิ (เรียกว่าให้ผลในภพที่สอง)
– ให้ผลหลังจากปฏิสนธิเป็น สัตว์ บุคคลในภพใหม่แล้ว (คือหลังจากปฏิสนธิจิตไปแล้ว)
– ให้ผลในภพต่อ ๆ ไป เรื่อย ๆ (ตราบเท่าที่ยังมีการเกิดอยู่ เรียกว่า ให้ผลในภพที่สาม และภพต่อไป) จนถึงการสิ้นสุดการเกิด (ปรินิพพาน)
ดูตัวอย่างสังคมไทยในปัจจุบันนี้ ฉะนั้น จึงกล่าวไว้แต่ต้นว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง หมุนเวียนเป็นวงกลม เป็นวัฏฏจักร (วัฏฏะ = หมุน, จักร = ล้อ) ล้อรถ ล้อเกวียน หมุนเป็นวงกลม
ความเป็นอดีตนั้น มันยืดยาวไม่มีกำหนดหรอกครับ จะหลายสิบปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายภพ หลายชาติ มันก็เป็นอดีตทั้งนั้น ไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ก็มีคนโง่บางจำพวก ที่ปฏิเสธอดีต ปฏิเสธกรรมที่ทำไปแล้ว เรื่องการปฏิเสธอดีตกรรม หรือกรรมเก่านั้น ไม่ใช่แต่ฆราวาสญาติโยมนะครับปฏิเสธ แม้พระเองบางรูปเวลาแสดงธรรมบางครั้งก็ปฏิเสธเรื่องอดีตกรรม โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงกล่าวไว้แต่ตอนต้นว่า เป็นเรื่องที่น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง.
การกระทำที่บุคคลได้กระทำลงไป ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา หรือทางใจ มันจะส่งผลกลับไปหาบุคคลนั้นในภายหลัง ผลที่เกิดแก่บุคคลที่ทำกรรมไปแล้วในภายหลังนั่นแหละ คือผลกรรมที่เขาได้กระทำไปแล้ว แม้การกระทำนั้น จะเป็นการกระทำด้วยวาจา คือ การกล่าวหา ด่าว่า เสียดสี ยุงยง ด้วยถ้อยคำเท็จ หรือถ้อยคำหยาบคาย บุคคลนั้น ก็จะได้รับผล คือการถูกกล่าวหา ด่าว่า เสียดสี ด้อยถ้อยคำหยาบ ถ้อยคำเท็จเช่นเดียวกัน
ดังที่ท่านผู้รู้ ได้ประพันธ์เป็น คาถา ว่า….
หนฺตา ลภติ หนฺตารํ เชตารํ ลภเต ชเย
อกฺโกสโก จ อกฺโกสํ โรเสตารญฺจ โรสโก.
แปลได้ความว่า “ฆ่าผู้ใดไว้ ก็จะได้ผู้ทีฆ่าตอบ ชนะผู้ใดไว้ ก็จะได้ผู้ชนะตอบ
ด่าผู้ใดไว้ ก็จะได้ผู้ด่าตอบ และ โกรธแค้นผู้ใดไว้ ก็จะได้ผู้โกรธแค้นตอบ”.
(นี้เป็นลักษณะที่ว่า เหตุกับผล ตรงกัน)
สายลม บางครั้งเราก็ปรารถนา บางครั้งเราก็ไม่ต้องการ เราปรารถนาสายลมที่พอดี พอให้เราเย็นสบาย คลายความร้อน. ลมที่แรงเกินไปจนเป็นพายุ มันจะนำมาซึ่งความวิบัติ ความพินาศ ลมชนิดที่รุนแรงนี้ เขาเรียกว่า วาตภัย คือ ภัยอันเกิดจากลม. ส่วนลมที่พ่นออกจากปากผู้คน กล่าวร้าย ให้ร้ายผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น ด้วยถ้อยคำเท็จหรือ คำหยาบคาย จ้ดเป็น วาทภ้ย จะนำความเสียหายมาสู่ตนเอง สังคม และประเทศชาติได้เช่นกัน ……..
--------------------
veeza
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ