ธรรมอันเป็นดุจหัวใจของพระพุทธศาสนา อาจจะกล่าวได้หลาย ๆ อย่าง แล้วแต่จะกล่าวในแง่ใด ส่วนใด โดยทั่วๆ ไป ก็จะเคยได้ยินว่า
– ทำความดี
– ละเว้นความชั่ว
– ทำใจให้หมดจดผ่องแผ้ว
จัดว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
…แต่เมื่อว่าโดยวิธีปฏิบัติแล้ว ทำความดี ต้องทำอย่างไร ละเว้นความชั่วต้องทำอย่างไร และทำใจให้หมดจดแผ่องแผ้วต้องทำอย่างไร ? สรุปแล้ว…ก็จะไม่หนีไปจาก…ศีล สมาธิ ปัญญา… ธรรม 3 ประการนี้..ได้ถูกเทียบเคียงไว้ในลักษณะต่าง ๆ เช่น….
เมื่อกล่าวถึง ความงาม แห่งพระพุทธพจน์ 3 ประการ…ท่านเทียบเคียงว่า….
1. อาทิกัลยาณธรรม… คือ ธรรมอันงามในเบื้องต้น… ได้แก่ ศีล
2. มัชเฌกัลยาณธรรม คือ ธรรมอันงามในท่ามกลาง…ได้แก่ สมาธิ
3. ปริโยสานกัลยาณธรรม คือ ธรรมอันงามในเบื้องปลาย ได้แก่ ปัญญา
เมื่อกล่าวถึง พระไตรปิฎก ท่านเทียบเคียงว่า…
1. วินัยปิฎก ได้แก่ ศีล
2. สุตตันตปิฎก ได้แก่ สมาธิ
3. อภิธรรมปิฎก ได้แก่ ปัญญา
เมื่อกล่าวถึง การประหาณกิเลส…ท่านเทียบเคียงว่า….
1. ประหาณวีติกกมกิเลส ด้วย… ศีล
2. ประหาณ ปริยุฏฐานกิเลส ได้ด้วย.. สมาธิ
3. ประหาณ อนุสัยกิเลส ได้ด้วย ปัญญา
เมื่อเทียบเคียงด้วยข้อปฏิบัติแห่งพระโยคาวจร….ท่านเทียบเคียงว่า…
1. ข้อธรรมใด อันเป็นเครื่องขัดเกลา กาย วาจา ให้เรียบร้อย ให้เป็นปกติ…ข้อปฏิบัตินั้น ท่านเรียกว่า ศีล
2. ข้อปฏิบัติใด…เป็นเครื่องทำใจให้สงบจากนิวรณ์ธรรมบ้าง, จากการรับอารมณ์ หลาย ๆ อารมณ์ให้มาสงบนิ่งในอารมณ์เดียวบ้าง…ข้อปฏิบัตินั้น ท่านเรียกว่า สมาธิ หรือ สมถกรรมฐาน
3. ข้อปฏิบัติใด…เป็นเครื่องทำให้รู้แจ้งเห็นจริงในสังขารธรรมทั้งหลาย… ข้อปฏิบัตินั้น…ท่านเรียกว่า ปัญญา หรือ วิปัสสนากรรมฐาน…
นอกจากนี้….ศีล สมาธิ ปัญญา ได้ถูกบัญญัติเรียกไปในลักษณะต่าง ๆ อีกมากมาย… อย่างที่เห็นในภาพ….ศีล สมาธิ ปัญญา….ก็คือ องค์มรรค 8 // เมื่อกล่าวโดยองค์ธรรมปรมัตถ์ อันเป็นแก่น เป็นจุดสุดท้าย หรือเป็นอันติมะแล้ว….. ธรรม 3 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้….ได้แก่
1. ศีล….. หมายเอา วิรตีเจตสิก…คือ ธรรมอันเป็นตัวงดเว้นจาก กายทุจริต 3 วจีทุจริต 4
2. สมาธิ….หมายเอา….เอกัคคตาเจตสิก (ในโสภณจิตทั้งมวล) อันเป็นธรรมที่ทำให้จิตตั้งมั่น แนบแน่นในอารมณ์เดียว
3. ปัญญา…หมายเอา…ปัญญาเจตสิก…ซึ่งประกอบกับญาณสัมปยุตตจิตทั้งมวล
บางครั้ง..หลายท่านอาจจะเคยได้ยินพระพุทธดำรัสที่ว่า… “สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง = ไม่ทำบาปทั้งปวง…., กุสะลัสสูปะสัมปะทา = ทำกุศลให้ถึงพร้อม…, สะจิตตะปะริโยทะปะนัง = ทำใจให้ผ่องแผ้ว….” พระดำรัสทั้งสามประการนี้ ก็จัดว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา…. พระดำรัสทั้งสามประการนี้ มีความเกี่ยวพันเกี่ยวข้องอะไรกับ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือไม่….??? ตอบว่า…มีความเกี่ยวพันกัน..หรือเป็นอันเดียวกันนั่นเอง…จะอธิบายไปอย่างไรก็ตาม…. “การไม่ทำบาปทั้งปวง…ก็คือ การมีศีล…มีสมาธิ ปัญญา นั่นเอง…” คำว่า “ไม่ทำบาปทั้งปวง” ในที่นี้…มีความหมายที่กว้างขวางมาก….แต่จุดสำคัญที่ท่านเน้น ก็คือ ไม่ทำอกุศลกรรมบถ 10 ประการ นั่นเอง… อกุศล กรรมบถ 10 ประการ คือ…
ฆ่าสัตว์
ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม
พูดเท็จ
พูดคำหยาบ
พูดส่อเสียด
พูดเพ้อเจ้อ
มุ่งมั่นอยากได้ของผู้อื่นโดยอกุศลวิธี
พยาบาทปองร้ายผู้อื่น
เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ธรรมทั้ง 10 ประการนี้…เป็นจุดสำคัญ ของคำว่า “ไม่ทำบาปทั้งปวง” เพราะธรรมทั้ง 10 ประการนี้…เป็นกรรมบถ เป็นมรรคอย่างหนึ่ง…คือ อกุศลมรรค ได้แก่เป็นหนทางนำสัตว์ไปสู่อบายได้ในปฏิสนธิกาล….จะเห็นได้ว่า…บุคคลผู้มี ศีล สมาธิ ปัญญาอยู่เท่านั้น จึงจะจัดได้ว่าเป็นผู้..”ไม่ทำบาปทั้งปวง” หรือ พูดอีกอย่างหนี่งว่า เพราะเหตุที่บุคคล มีศีล สมาธิ ปัญญา จึงไม่ทำบาปทั้งปวง…. ในขณะเดียวกัน…บุคคลจะทำกุศลให้ถึงพร้อมได้…ก็ด้วยอำนาจแห่ง ศีล สมาธิ และปัญญาอีกเช่นกัน… และการทำจิตให้ผ่องแผ้ว… ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ก็เข้าประกอบร่วมกัน…ความที่จิต หมดจดผ่องแผ้วสูงสุด..ก็คือจิตที่ปราศจากิเลสทั้งมวล…กล่าวโดยนัยที่สูงสุด ก็คืออรหัตตมรรค อรหัตตผลจิต นั่นเอง…
แท้จริง แล้ว คำว่า “บาป” ในทางพระพุทธศาสนานั้น…. จะมีอยู่ 2 ระดับ คือ
ระดับที่เป็นบาป หรือเป็นอกุศลทั่ว ๆ ไป…ยังไม่ถึงความเป็นกรรมบถ….ซึ่งก็ได้แก่…การกระทำทุกอย่าง..ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ…ที่ประกอบด้วย ความโลภะ โทสะ โมหะ…. หรือมีกิเลส หรืออกุศลเจตสิก เข้าประกอบ…. เช่น อยากฟังเพลง…ก็ฟังเพลง…อยากดูหนัง…ก็ไปดูหนัง…. อยากมีเงิน มีบ้าน มีรถ…. หรือ มีความยินดี พอใจ ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่าง ๆ …..จัดว่าเป็นบาป หรืออกุศลทั่ว ๆ ไป ….สาเหตุที่จัดว่าเป็น บาป เป็นอกุศล ก็เพราะจิตที่เกิดในขณะนั้น ประกอบด้วยอกุศลธรรม นั่นเอง // พระพุทธศาสนา…จัดความเป็นบาป หรือไม่เป็นบาป, ความดี – ความชั่ว…ตรงจิตนี่แหละ… เน้นตรงจิตที่แหละ…ว่าจิตในขณะนั้น..ประกอบด้วยธรรมที่เป็นกุศล หรืออกุศล….
ระดับที่เป็นบาป หรือเป็นอกุศล ที่เข้าถึงความเป็นกรรมบถ ซึ่งมี 10 ประการดังกล่าวแล้ว… การกระทำที่เข้าถึงความเป็นกรรมบถนี้…จะต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ เข้ามาตัดสิน ว่า “การกระทำนั้น ๆ เข้าถึงความเป็นกรรมบถหรือไม่???” ซึ่งมีรายละเอียดอีกมากมาย..จะกล่าวในโอกาสต่อไป…
ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อว่าโดยอันติมะ คือ จุดสูงสุด (โลกุตตระ) แล้ว…ธรรมสามประการนี้ จะประกอบร่วมกันเสมอ…ในมัคคจิต…ธรรม คือ องค์มรรค 8 จะประชุมร่วมกัน เป็น มัคคสมังคี…เพื่อทำลายอนุสัยกิเลส … นั่นก็หมายความว่า…ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดพร้อมกัน… // ส่วนในฝ่ายแห่งโลกียะ…คือ ยังไม่ถึงโลกุตตระ.. จะมีลักษณะแตกต่างกันไป ดังนี้
เมื่อกล่าวถึง ศีล…. ก็จะมี สมาธิ เข้าประกอบร่วมด้วยเสมอ…. ปัญญา จะเข้าประกอบบ้าง ไม่เข้าประกอบบ้าง…บางคนถือศีล..แต่ขาดปัญญาเข้าประกอบพิจารณาก็มี… // ส่วนตัวสมาธิ คือ เอกัคคตานั้น จะเข้าประกอบกับศีล…คือ วิรตี เสมอ… ไม่แยกจากกัน…
เมื่อกล่าวถึง สมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก) ในที่นี้..ต้องเป็นสมาธิที่ในจิตที่เป็นฝ่ายดีงาม (โสภณจิต) เท่านั้น…
เมื่อกล่าวถึง ปัญญา (ปัญญาเจตสิก) ในขณะแห่งการเกิดขึ้นของปัญญา จะมี ศีล…มีสมาธิ…ประกอบร่วมด้วยเสมอ…
แท้จริงแล้ว เมื่อกล่าวถึงสมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก) จะเป็นธรรมที่ประกอบได้ทั่วไป ทั้งที่เป็น กุศล อกุศล วิบาก กิริยา หมายความว่า ขณะทำกุศล (บุญ) ก็มีสมาธิ คือ เอกัคคตาเข้าประกอบ…ขณะที่ทำอกุศล (บาป) ก็มีเอกัคคตาเข้าประกอบ.. สมาธิที่อยู่ในฝ่ายของกุศล ก็เรียกว่า “สัมมาสมาธิ” สมาธิที่อยู่ในฝ่ายของอกุศล ก็เรียกว่า “มิจฉาสมาธิ” ได้แก่ สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิกที่ประกอบกับอกุศลจิต เพราะฉะนั้นเวลาคนทำบาปอกุศล จิตก็เป็นสมาธิได้เหมือนกัน..แต่เป็นมิจฉาสมาธิ…คนไปยิงนก ตกปลา…มีใจจดจ่ออยู่ในนกที่ตนจะยิง.. ในปลา…ที่ตนจะตก…จิตเป็นสมาธิทั้งนั้น..แต่เป็นสมาธิที่ประกอบกับอกุศลจิต..เรียกว่า “มิจฉาสมาธิ”…..
พูดถึงเรื่องมิจฉาสมาธิ นี่ เป็นเรื่องใหญ่มากเลย…การกระทำของพระ-เณร ในสมัยทุกวันนี้…โดยเฉพาะในเรื่องการนั่งปรก ปลุกเสกวัตถุมงคล หรือพระเครื่องอะไรต่าง ๆ เหล่านี้…ส่วนมาก เป็นมิจฉาสมาธิ แทบทั้งนั้น…ไม่ว่าท่านจะเป็นเกจิอาจารย์ใหญ่น้อย มีชื่อเสียงหรือไม่มีชื่อเสียง…การปลุกเสกวัตถุมงคลต่าง ๆ จัดเป็นมิจฉาสมาธิในพระพุทธศาสนา…เพราะอะไร..?? ก็เพราะว่า สมาธิ คือ เอกัคคตาที่เกิดขึ้น…มันตั้งอยู่ในฐาน หรือในจิตที่ประกอบด้วยความงมงาย…ไม่ใช่ตั้งอยู่ในกุศลจิตที่จะพัฒนาจิต หรือขัดเกลาจิตของตนเองให้ปราศจากกิเลส ข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่…คนไทย ที่บอกว่าตนเองเป็นชาวพุทธ โดยมากงมงายในเรื่องนี้…โดยที่ไม่รู้ตามความเป็นจริง…
สมาธิ อันประกอบในกุศลจิต ที่เป็นสัมมาสมาธินั้น…จะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศีล…คือ ศีลจะเป็นบาทเบื้องต้นให้สมาธิ เมื่อบุคคลผู้จะเจริญสมาธิ ไม่มีศีลเสียแล้ว..การเจริญสมาธิจะให้ได้ฌาน สมาบัติ มีฤทธิ์มีอำนาจพิเศษ อย่าหวังเลย..// เพราะเหตุไร…ผู้ที่จะเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ท่านถึงต้องให้สมาทานศีลก่อน..หรือต้องมีกาย วาจา เรียบร้อยก่อน…??? ก็เพื่อให้มีกาย วาจา สงบก่อน…ให้จิตใจเป็นบุญกุศลก่อน.. และข้อสำคัญ ก็เพื่อไม่ให้ความเป็นผูทุศีลนั้น มาเป็นนิวรณ์ขัดขวางการบรรลุคุณธรรมต่าง ๆ // ความเป็นผู้ทุศีล..จัดเป็นอันตรายอย่างหนึ่ง..ในการการบรรลุคุณวิเศษ ท่านเรียกว่า “อาณาวีติกกมันตราย” คือ อันตรายอันเกิดมาจากการล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้… // ถ้าหากเป็นพระภิกษุ ยังมีอาบัติอยู่ ยังไม่ได้ปลงอาบัติ… ท่านจะทำสมาธิ กรรมฐาน ให้ได้สมาธิ ให้ได้คุณวิเศษนั้น เป็นไปไม่ได้เลย…(ข้อนี้เป็นไปตามพระวินัย..เป็นไปตามหลักของผู้ปฏิบัติ) และการนั่งปรกปลุกเสกนั่นแหละ คือการทำผิดพระวินัย…และถ้าหากในย่าม ของท่าน, ในธนาคาร..ท่านยังมีทรัพย์สินเงินทองอยู่…นั่นคือ การทำผิดพระวินัย..(ผิดศีล) เมื่อเป็นเช่นนี้…ท่านจะทำสมาธิ เพื่อให้ได้คุณวิเศษ อำนาจพิเศษต่าง ๆ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย…เป็นการสร้างความงมงายให้ชาวบ้านเขาเท่านั้นเอง….
สมาธิ หรือเอกัคคตานี้..เมื่อกล่าวโดยรวมทั่วไป จะมี 2 ระดับ คือ…
ระดับที่เป็นสมาธิ (เอกัคคตา) ทั่ว ๆ ไป ได้แก่ สมาธิ หรือเอกัคคตาที่ประกอบกับจิตทั่วไป.(กามาวาจิต 54) ที่ไม่ได้เป็นองค์ฌาน
สมาธิ หรือเอกัคคตา ที่เข้าถึงความเป็นองค์ฌาน…(องค์ฌาน 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) (ฌานจิต 67)
ศีล สมาธิ ปัญญา ได้ครอบคลุมหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด…ทั้งในส่วนที่เป็นหลักธรรม…บางครั้งท่านเรียกว่า…
ศีลขันธ์ = กองแห่งศีล มุ่งหมายเอาหลักคำสอนที่อยู่ในหมวดแห่งศีล วินัยบัญญัติต่าง ๆ ทั้งหมด..
สมาธิขันธ์ = กองแห่งสมาธิ…มุ่งหมายเอาหมวดธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งสมาธิทั้งหมด
ปัญญาขันธ์ = กองแห่งปัญญา มุงหมายเอาหมวดธรรมที่สงเคราะห์เข้าในส่วนของปัญญาทั้งหมด..
ศีล สมาธิ ปัญญา ในส่วนของการศึกษา มุ่งหมายถึงการปฏิบัติเลย…ท่านจะเรียกว่า
ศีลสิกขา หรือ อธิศีลสิกขา… การปฏิบัติในเรื่องศีล
จิตตสิกขา หรือ อธิจิตตสิกขา…การฝึกฝนอบรมจิต..(สมถกรรมฐาน)
ปัญญาสิกขา หรือ อธิปัญญาสิกขา…การฝึกฝนอบรมปัญญา (วิปัสสนากรรมฐาน)
พระพุทธพจน์ จะยาว จะสั้น…จะอยู่ในหมวดหมู่ใด ปิฎก ใดก็ตาม ย่อมหนีไม่พ้น ความเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา …แม้ในปฐมเทศนาธรรมจักรกัปวัตนสูตร… เทศนากัณฑ์แรกที่ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ก็หนีไม่พ้นเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา // ในธรรมจักรกัปวัตนสูตร…สรุปใจความสำคัญได้ว่า..
พระพุทธองค์ทรงแสดงทางสองแพร่ง อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ กามสุขัลลิกานุโยค = ประกอบตนให้หมกมุ่นในกาม, และ อัตตกิลมถานุโยค ประกอบตนให้ลำบาก..ด้วยอำนาจความเข้าใจผิด
ทรงแสดง ทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา…คือ องค์มรรค 8
ทรงแสดงอริยสัจจ์ 4
องค์มรรค 8 ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังได้กล่าวมาแล้ว…แม้ในอริยสัจจ์ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ในส่วนของมรรค ก็คือ องค์มรรค 8 เช่นเดียวกัน…// อนึ่ง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น…เมื่อว่าตามหลักของ อริยสัจจ์ 4 แล้ว…จะมีลักษณะเป็นไป 4 หมวด คือ
เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ หรือพิจารณาตามความเป็นจริง หมวดหนึ่ง
เป็นธรรมที่ควร ละ ควรประหาณ หมวดหนึ่ง
เป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง..หมวดหนึ่ง
เป็นข้อปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุธรรมที่ควรทำให้แจ้ง หมวดหนึ่ง
ธรรมทั้งสี่หมวดที่ว่านี้..ก็คือ ทุกข์ สมุทัย นิโร มรรค นั่นเอง…. แล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร กับธรรมสี่หมวดนี้….??? ตอบว่า…ศีล สมาธิ ปัญญา ซี่งรวมกันเป็นมรรค นั้น ได้ร่วมกันปฏิบัติภาระกิจ คือ…
– ปัญญา เป็นธรรมที่เข้าไปกำหนดรู้ในธรรมหมวดที่หนึ่ง (ทุกข์),
– ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา เป็นตัวที่เข้าไปประหาณธรรม ในหมวดที่สอง (สมุทัย),
– ทั้งศีล สมาธิ ปั้ญญา นั่นเองเป็นตัวที่ทำให้บุคคลบรรลุธรรมหมวดที่สาม คือ นิโรธ
หรือเมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา รวมพลังกันกำจัดกิเลสได้หมดแล้ว…ภาวะที่กิเลสถูกประหาณไปแล้วไม่สามารถเกิดได้อีกนั่นแหละ ท่านเรียกว่า นิโรธ คือ นิพพาน // ศีล สมาธิ ปัญญา จึงอยู่ในกระบวนการ ของปฏิปทา คือ เป็นข้อปฏิบัติในทางพุทธศาสนา…ถ้าหากว่าเราจะประพฤติอะไร ? ปฏิบัติอะไร ? เว้นไปเสียจาก ศีล สมาธิ ปัญญา… การประพฤติ ปฏิบัตินั้น ๆ ไม่จัดว่าเป็นปฏิปทาในทางพุทธศาสนา… เป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักการทางพระพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง….
-------------------
veeza
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ