สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ

ผู้ดูแล


ทำไมความเห็นต่างระหว่างคัมภีร์ที่แสดงไตรสิกขาด้วยกัน คือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค กับคัมภีร์วิมุตติมรรค ไม่ปรากฏความชัดเจน ยิ่งนานก็ยิ่งเป็นการเลือกข้าง มีชอบฝ่ายวิสุทธิมรรคบ้าง ฝ่ายวิมุตติมรรคบ้าง (ตอนที่ 3 )

   และขณะปฏิเสธท่านก็ให้เกียรติคู่กรณีว่าเป็นอาจารย์ระดับเดียวกันกับท่านด้วยศัพท์ว่า " เอเก " ตามมรรยาทด้วยวินยปริภาสา ถามว่า ที่ว่า อันดับก่อนหลัง ตามนัยที่วิมุตติมรรคกล่าวอ้างมีไม่ได้เลย เพราะหน้าที่สมาธิทั้ง 3 ขัดกันเป็นไฉน? ตอบว่า เพราะเป็นความจริง ขณิกสมาธิป้องกันนิวรณ์ ทั้งในสมถกรรมฐาน และทั้งในวิปัสนากรรมฐาน ในสมถะ ถ้าขณิกสมาธิป้องกันนิวรณ์ไม่ได้ อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธก็เกิดขึ้นไม่ได้ ในวิปัสสนา ถ้าขณิกสมาธิไม่ป้องกันนิวรณ์ ปัญญาก็รู้ความจริงไม่ได้ และถ้าเป็นอุปจารสมาธิและอัปยศสมาธิ การโยกย้ายอารมณ์ให้ไตรลักษณ์ปรากฏก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความเห็นต่างข้อนี้จึงขาดการให้ความสำคัญข้อที่ 4 กับข้อที่ 5

   4.ความเห็นต่างว่า มิทธะ เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม(นิวรณ์)

   คำว่า ถีนะ มีวจนัตถะว่า ถินนํ ถีนํ. อนุสฺสาหนาวสีทนวเสน สํหตภาโว ถีนํ. แปลว่า ความท้อถอย ชื่อว่า ถีนะ ความว่า ภาวะที่จิตหดหู่ โดยเกี่ยวกับความท้อถอยจากอารมณ์  เพราะหาความอุตสาหะมิได้ จึงชื่อว่า ถีนะ นั่นแหละ คือ เป็นภาวะที่จิตหดหู่ มีความเบื่อหน่าย ท้อแท้ ในการถือเอาอารมณ์ มีความถดถอย คืองอกลับจากอารมณ์ เหมือนหนังหรือขนนกใกล้กองไฟร้อนแรง ที่งอกลับ คือม้วนกลับจากกองไฟแบบนั้นนั่นแหล่ะ ได้แก่ภาวะที่เกียจคร้านในการงาน คือ ในการถือเอาเป็นอารมณ์ ในการรับรู้อารมณ์  ในการจะดำเนินไปในอารมณ์นั่นเอง ถีนะ จึงมีความไม่อุตสาหะ คือ ความเกียจคร้าน เป็น ลักษณะ และเป็นปฏิปักษ์ต่อความเพียร

   คำว่า มิทธะ มีวจนัตถะว่า มิทฺธนํ มิทฺธํ วิคตสามตฺถิยตา แปลว่า ความเชื่องซึม ชื่อว่า มิทธะ ได้แก่ ภาวะที่ปราศจากความสามารถนั่นแหละ อธิบายว่า เป็นความไม่ดำเนินไปในการงาน เพราะหมดความสามารถ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มิทธะมีความไม่ควรแก่การงาน เป็นลักษณะ เป็นความจริงว่า ธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับมิทธะนั้น ย่อมเชื่องซึม คือถูกกำจัดความสามารถ ถึงความทุพพลภาพไป ทำให้ไม่ดำเนินไปในการงาน คือการทำกิจในอารมณ์นั้นด้วยดี ก็ด้วยอำนาจแห่งมิทธะนั่นเอง

   พึงทราบความต่างกันแห่งถีนะกับมิทธะเป็นไฉน?

   เพราะเหตุที่ ถีนะ และ มิทธะ มีความเกิดร่วมกันเสมอในจิตตุปบาทเดียวกัน คือ ถีนะเกิดขึ้นในจิตดวงใด มิทธะก็ย่อมเกิดขึ้นในจิตดวงนั้น มิทธะเกิดขึ้นในจิตดวงใด

ถีนะก็ย่อมเกิดขึ้นในจิตดวงนั้น ทั้งถีนะทั้งมิทธะ ต่างก็เป็นสภาวะที่ถดถอยจากอารมณ์ด้วยกัน คือ ถีนะถดถอยจากอารมณ์ด้วยอำนาจความเกียจคร้านหรือความหมดอุตสาหะ มิทธะถดถอยจากอารมณ์ ด้วยอำนาจความไม่มีความสามารถ เพราะฉะนั้น ธรรมชาติทั้ง 2 นี้ย่อมจัดได้ว่า ล้วนเป็นธรรมชาติที่ไม่ควรแก่การงานด้วยกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นเหตุให้มองเห็นความต่างกันแห่งธรรมชาติทั้ง 2 นี้ได้ยาก พึงทราบว่า ถีนะเป็นความไม่ควรแก่การงานแห่งจิต ทำให้จิตมีสภาพที่ไม่อาจสำเร็จการงาน คือการทำกิจรับรู้อารมณ์ของตนได้ด้วยดี ส่วน มิทธะ เป็นความไม่ควรแก่การงานแห่งกาย(นามขันธ์ 3 มีเวทนาเป็นต้น หรือเจตสิกธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน) ทำให้กายมีสภาพที่ไม่อาจสำเร็จการงาน คือการทำกิจของตนในอารมณ์มีการกระทบอารมณ์เป็นต้น ได้ด้วยดี 

   จริงอย่างนั้น ในพระบาลีธัมมสังคณี มีคำแสดงไขธรรมเหล่านี้ อย่างนี้ว่า

" ในถีนะและมิทธะเหล่านั้น ชื่อว่า ถีนะ เป็นไฉน? ได้แก่ ความไม่สามารถที่ไม่ควรแก่การงานแห่งจิต, ชื่อว่า มิทธะ เป็นไฉน? ได้แก่ ความไม่สามารถที่ไม่ควรแก่การงานแห่งกาย " นั่นแหละ

   อาจมีคำทักท้วงว่า " ตรัสว่า ความไม่ควรแก่การงานแห่งกาย ไว้เช่นนี้ มิใช่หรือ? ก็แต่ว่า กายมี 2 อย่าง คือ นามกาย อันได้แก่ นามขันธ์ 3 มีเวทนาเป็นต้นหรือเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมกัน และรูปกาย เมื่อเป็นเช่นนี้ มิทธะ ย่อมมี 2 อย่าง คือ มิทธะที่เป็นนาม อันเป็นความไม่ควรแก่การงานแห่งนามกาย คือ เจตสิก และมิทธะที่เป็นรูป อันเป็นความไม่ควรแก่การงานแห่งรูปกาย คือ ความโงกง่วงนั้นเอง อย่างนั้นมิใช่หรือ? "

   เฉลยว่า มิทธะที่เป็นรูปไม่มีหรอก ก็อาจารย์ทั้งหลายได้ปฏิเสธความที่มิทธะเป็นรูปนั้นไว้ในปกรณ์นั้น ๆ ด้วยเหตุผลสรุปย่อ ๆ อย่างนี้ว่า :-

   พระผู้มีพระภาค ตรัสมิทธะไว้ในหมวดอกุศลธรรมที่พึงละ คือ หมวดนิวรณ์ เช่นเดียวกับกามฉันทะเป็นต้น แต่รูปมิได้ตรัสไว้เลยว่า เป็นธรรมที่ควรละ แม้จะมีคำตรัสถึงรูปราวกะว่าเป็นธรรมที่ควรละอยู่ก็ตาม เช่นอย่างนึ้ว่า " รูปํ ภิกฺขเว น ตุมฺหากํ ตํ ปชหถ " (สํ.ขนฺธ.17/41) แปลว่า  " ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย รูป ไม่ใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละรูปนั้น " เช่นนี้เป็นต้น คำนั้นมิได้หมายความ รูปก็เป็นธรรมที่ควรละ เหมือนเช่นอกุศลธรรมทั้งหลายนั่นเอง ความหมายในพระบาลีนี้ มีอยู่อย่างนี้ว่า :- " พวกเธอจงละฉันทราคะในรูป คือจงละฉันทราคะที่อาศัยรูปเกิดขึ้น หรือมีรูปอาศัยเป็นอารมณ์ " เช่นนี้เท่านั้น ไม่ใช่ละรูป สำนวนการพูดแบบนี้ ท่านเรียกว่า " นิสสยโวหาร " เช่นสำนวนไทยที่นิยมพูดที่อาศัยแต่หมายถึงสิ่งที่อาศัย เช่นพูดว่า " โรงเรียนสั่งปิดเรียน " ก็หมายถึงครูที่อยู่ในโรงเรียนนั่นเองที่สั่งปิดเรียน

   เพราะเหตุที่มิทธะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีผลสืบเนื่องมาถึงรูปได้นั่นแหละ คือ ปรากฏผลเป็นความโงกง่วงขึ้น ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า " มิทธะ มีความหลับ เพราะมีความโงกง่วงเป็นผลปรากฏ ก็เพราะมีผลปรากฎอย่างนี้นี่เอง พวกมิทธวาทีจึงสำคัญว่า มิทธเป็นรูป บัณฑิตพึงทราบว่า มิทธะเป็นรูปไม่มีเลย เพราะตรัสมิทธะไว้ในหมวดนิวรณ์ ซึ่งล้วนเป็นนามอย่างเดียว นิวรณ์ที่เป็นรูปไม่มี

   อีกอย่างหนึ่ง ตรัสมิทธะไว้ในฐานะเป็นธรรมที่ประกอบร่วมกันในจิตตุปบาทนั้นๆ รูปหาเป็นอย่างนั้นไม่ เพราะรูปเป็นธรรมดาที่แยกกันกับจิต ดังนั้นบัณฑิตจึงพึงปลงใจว่า มิทธะเป็นนามอย่างเดียว มิทธะเป็นรูปไม่มีแน่นอน ก็ด้วยเหตุผลและหลักฐานดังกล่าวนั่นแล.

(โปรดติดตามตอนที่ 4 )

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.