กรณีเรื่องนางภิกษุณี จะให้บวชในไทย ได้หรือไม่ได้ ?
กรณีเรื่องนางภิกษุณี จะให้บวชในไทย ได้หรือไม่ได้ ?
ควรจะแยกเป็น ๒ นัย นะครับ หนึ่ง ก็คือ สำหรับในประเทศไทย ถ้ายึดโดยวินัยบัญญัติ การบวชหญิงให้เป็นภิกษุณี จะต้องมีองค์ประกอบหลัก ๆ ๒ อย่าง คือ
๑.) หญิงที่จะได้บวชเป็นภิกษุณีต้องบวชเป็นสามเณรีก่อน แล้วหลังจากนั้นต้องประพฤติตนเป็นสิกขมานา(หญิงผู้กำลังศึกษาอยู่) โดยการรักษาศีล ๖ ข้อ โดยไม่ขาด (ศีล ๖ ข้อคือ ศีล ๕ + วิกาลโภชนา เวรมณี ๑) เป็นเวลา ๒ ปี ในสำนักของนางภิกษุณีสงฆ์ คืออายุครบ ๒๐ ปีพอดี (ไม่ใช่นึกอยากจะบวชก็เข้าไปบวชได้เลย)
๒.) ต้องบวชด้วยสงฆ์สองฝ่าย คือฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ และฝ่ายภิกษุสงฆ์ หมายความว่า เมื่อสามเณรีประพฤติตนเป็นสิกขมานาครบกำหนดสองปีแล้ว นางภิกษุณีสงฆ์ประชุมกัน สวดยกนางสิกขมานาให้เป็นภิกษุณี (ในส่วนตรงนี้ ในหมู่ของนางภิกษุณี ก็ต้องมีพระอุปัชฌายาที่เป็นภิกษุณี และมีภิกษุณีที่รวมกันเป็นสงฆ์ (เป็นหมู่ อย่างน้อยก็ต้อง ๕ รูป หรือ ๑๐ รูป ขึ้นไป เพื่อจะได้ประชุมสงฆ์ทำพิธีอุปสัมปทาให้กับนางสิกขมานานั้นได้) หลังจากนั้นก็ต้องนำนางภิกษุณีที่บวชใหม่นั้นไปยังสำนักพระภิกษุ แล้วหมู่ภิกษุ ก็ประชุมกัน พระกรรมวาจาจารย์สวด พระอนุสาวนาจารย์คอยทวนคำสวด (แต่สมัยนี้สวดพร้อมกัน) เพื่อทำสังฆกรรมยกนางภิกษุณีนั้นให้เป็นภิกษุณีที่สมบูรณ์ด้วยสงฆ์ทั้งสองฝ่าย ฯ (รายละเอียดตรงนี้ ต้องดูพระวินัยให้แน่ชัด เพราะในประเทศไทยไม่เคยมีการบวชนางภิกษุณี แต่ก็จะมีลักษณะเป็นไปอย่างนี้) (และต้องถือครุธรรม ๘ ประการ ตลอดชีพด้วย ต้องรักษาศีลอีก ๓๑๑ ข้อด้วย มากกว่าของภิกษุอีก ของพระภิกษุมีเพียง ๒๒๗ ข้อ ) (นี่ว่าโดยพระวินัยบัญญัติอย่างคร่าว ๆ )
หมายเหตุ : การถือพระวินัยเป็นบรรทัดฐานนั้น ก็อาจจะมีการลักลั่นกันอยู่ในแต่ละประเทศ แต่ถ้ามาในประเทศไทย ก็ต้องว่ากันไปตามนี้…
จริง ๆ แล้ว พระไทยเราก็ไม่ได้เคร่งวินัยอะไรมากนัก ยังผิดวินัยกันอยู่ตลอดเวลาก็มี เช่นข้อว่าด้วย การรับเงิน ทอง การยินดีในเงินทอง ในข้อนี้ แทบจะไม่มีพระองค์ใดในประเทศไทย รักษาศีลข้อนี้ได้…
(ถ้าจะเต็มใจให้สตรีได้บวช วินัยบางอย่างก็อาจจะอนุโลมกันไป ตามความเห็นของผม แต่ภิกษุฝ่ายเถรวาทจะไม่ทำกัน คือผิด ปฏิบัติไม่ได้ ก็ขอให้อยู่อย่างนั้น ไม่ไปลบหรือไปบัญญัติวินัยเพิ่ม…)
อีกนัยหนึ่ง ว่าโดยหลักของสิทธิมนุษย์ชนขั้นพื้นฐาน ชาย-หญิง ก็ควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน ฯ จริง ๆ ตรงนี้ก็อาจมีคนเข้าใจผิด หาว่าพุทธศาสนาไปกีดกันไม่ให้สตรีได้บวช เป็นการละเมิดสิทธิสตรี ความจริงแล้ว ไม่ใช่ไม่ให้บวช ให้บวชได้อยู่แล้ว แต่การบวชนั้นทำไม่ได้ เพราะองค์ประกอบในการบวชไม่ครบตามวินัยต่างหาก ขืนบวชให้ไป ผู้ทำการบวชก็เป็นอาบัติ กรรมที่กระทำก็เป็นโมฆะ ผู้ที่บวชก็ไม่ได้เป็นภิกษุณี เพราะทำผิดวินัย…
ถามว่า ไม่ครบอย่างไร ? ก็ดูสองข้อข้างบน (ประเทศไทยมีภิกษุณีสงฆ์ไหม ? มีนางภิกษุณีที่เป็นอุปัชฌายา ไหม? ผู้ที่จะบวชได้เป็นสามเณรีหรือยัง ได้ประพฤติเป็นนางสิกขมานา ๒ ปีหรือยัง? ) ต้องดูองค์ประกอบตรงนี้ด้วย… ความมีสิทธิ์ที่จะได้บวชนั้นมีเท่าเทียมกันอยู่แล้ว…ต่างแต่องค์ประกอบที่ท่านบัญญัติไว้ในวินัยเท่านั้นเอง
ในข้อนี้ถ้าจะแก้ปัญหาก็ไม่น่าจะแก้ยาก ก็คือเพียงนำนางภิกษุณีมาจากต่างประเทศที่เขามีนางภิกษุณี มาให้ครบเป็นองค์สงฆ์ บวชสตรีให้เป็นสามเณรีแล้ว ให้ประพฤติวัตรเป็นสิกขมานาอีกสองปี แล้วทำการบวช ก็น่าจะบวชได้ ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าจะมีปัญหาที่ มส. ก็ต้องเชิญ นิมนต์ มส.มาคุย ก็เท่านั้นเอง….ฯ
ว่าโดยลักษณะทั่ว ๆ ความมีสิทธิ์เท่าเทียมกับบุรุษของสตรีนั้นจริง ๆ ก็ไม่ได้เท่าเทียมสักเท่าไร ยังมีความยิ่งหย่อนกว่ากันอีกหลายอย่าง…เช่น แม้ในทางรับราชการเป็นทหารหรือในทางตำรวจ สตรีก็ยังไม่สามารถมีชั้นยศถึงพลเอก (เข้าใจอย่างนั้นไม่รู้ถูกหรือเปล่า) แม้ในระบอบของกษัตริย์ สตรีก็ยังไม่มีสิทธิ์เป็นกษัตริย์… ไม่เห็นมีองคมนตรีเป็นสตรีเลย… นี่เป็นข้อที่สตรีไม่ค่อยเรียกร้องกัน หรือในทางการทำงานอาชีพ อาชีพนักบินหญิง ไม่ทราบมีหรือเปล่า? ผมว่ายังมีอีกหลาย ๆ อย่างที่มันไม่ได้เท่าเทียมกันตามภาวะ… ถามว่าตรงนั้นเป็นความเสียสิทธิ์ของสตรีหรือไม่ เป็นความไม่เท่าเทียมหรือไม่ ขอย้ำอีกครั้งว่า “พุทธศาสนาไม่ได้ห้ามการบวชของสตรี” แต่การบวชนั้นต้องมีองค์ประกอบของการบวช ฯ เหมือนหญิงจะเป็นกษัตริย์ ก็ต้องมีองค์ประกอบของการจะเป็น….ฯ
อีกประการหนึ่ง การที่ชาย ได้บวชเป็นพระ ก็ไม่ได้มุ่งหมายว่าชายมีสิทธิเหนือสตรี หรือสตรีด้อยกว่าชาย… ถ้ามุ่งมองถึงประโยชน์ในทางพุทธศาสนา จะอยู่ในเพศ หรือสถานะใด ก็สามารถทำประโยชน์ตนให้ถึงพร้อมได้ ฯ ไม่ใช่คนที่บวชเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีเท่านั้น จึงจะเป็นผู้ที่ได้บรรลุคุณวิเศษ คือ ฌาน อภิญญา มรรค ผล ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้บวช …. แท้จริงแล้วคนที่เป็นฆราวาสนี่แหละ ได้บรรลุคุณวิเศษมากกว่าคนที่ได้บวช…ดูตัวอย่างในสมัยพุทธกาล… นี่ผมไม่ได้พูดเพราะตอนนี้ผมเป็นฆราวาส ไม่ใช่อย่างนั้น … คิดดูง่าย ๆ ศีล ๕ ข้อ ท่านว่ารักษาได้ง่ายหรือได้ยาก… ถ้าท่านคิดว่าศีล ๕ ข้อรักษาได้ยากมาก แล้วศีล ๓๑๑ ข้อนี่ มันจะยากขนาดไหน ? รักษาศีล ๕ข้อ ก็สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ (ถ้าปัจจัยถึงพร้อม)… อย่าลืมว่าปัจจัยของการได้บรรลุ ฌาน อภิญญา มรรค ผล นิพพาน ในทางพุทธศาสนานั้น ศีลต้องบริสุทธิ์ก่อน ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ ไม่จำเป็นต้องพูดถึง สมาธิ และปัญญา (วิปัสสนา) มันเป็นไปไม่ได้…
ร้อยละ ๙๙.๙๙ ของชาวพุทธ เข้าใจว่า คำว่า “สาวะกะสังโฆ” ที่เราสวดสรรเสริญพระสังฆคุณ นั้น หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ (เท่านั้น) จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่ ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง… คำว่า “สาวะกะสังโฆ หมู่แห่งพระสาวกนั้น ท่านหมายเอาพุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ (สามเณร) ภิกษุณี (สามเณรี) อุบาสก อุบาสิกา ที่ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคล ๔ จำพวก ๘ บุคคล (จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา) สรุปว่า ท่านไม่ได้หมายเอาเฉพาะผู้ที่เป็นนักบวช คนที่เป็นฆราวาส เป็นคฤหัสถ์ ก็จัดเป็นหมู่แห่งพระสาวก (สาวะกะสังโฆ) ได้ ขอให้ได้เป็นพระอริบุคคลจำพวกใดจำพวกหนึง (โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์) ก็พอ…ฯ
--------------------
VeeZa
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ