การ “ฆ่าตัวตาย” เป็น “บาป” หรือเป็น “สิทธิ์”


แนวคิดเรื่อง “การมีสิทธิที่จะฆ่าตัวตาย” อาจจะมีหลายมุมมองที่หลายมิติ ในทางพุทธศาสนาไม่ได้เน้นการมีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์… แท้จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวโยงเกี่ยวเนื่องกัน เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้กัน ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นมาเป็นเอกเทศ โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยมาก่อน… ชีวิตของมนุษย์ก็เช่นกัน รูป-นาม ที่ถูกบัญญัติเรียกว่า “คน” นั้น  อาศัยเหตุปัจจัยทั้งที่เป็นภายใน และภายนอก ที่เป็นภายนอก เห็นได้ง่าย ๆ ที่สุดเลยก็คือ พ่อแม่ (มุ่งหมายถึงเจ้าของเชื้ออสุจิ – รังไข่มารดา) เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุตรได้เกิดมา,  นอกจากนั้น ปัจจัยต่าง ๆ ที่ให้ชีวิตมนุษย์เป็นอยู่ได้  ก็คือ อาหาร อากาศ ที่อยู่ เสื้อผ้า ยารักษาโรค ตลอดจนสภาวะแวดล้อมทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต …มันเกี่ยวข้องโยงใยเต็มไปหมด…


ปัจจัยภายในที่เป็นนามธรรม  ในทางพุทธศาสนา ปัจจัยหลัก ๆ ของการเกิดเป็นมนุษย์ก็คือ กิเลส (อวิชชา, ตัณหา, อุปาทาน), กรรม (สังขาร, กัมมภวะ), วิบาก (วิญญาณ นาม รูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา อุปปัตติภวะ) ตามสายเกิดแห่งปฏิจจสมุปบาท ทั้งหมดทุกขั้นตอน มีปัจจัย 24 หรือ 47 เข้าไปสนับสนุน…โยงใยเกี่ยวเนื่องกัน ไม่มีจุดหนึ่งจุดใดเป็นเอกเทศที่ปราศจากเหตุปัจจัย…ฯ


แท้จริงแล้ว สิทธิขั้นสุดท้ายของการฆ่าตัวตายนั้นเป็นของแต่ละคนจริง ๆ คือขั้นตอนสุดท้าย ตนเองจะตัดสินว่า “ฆ่า หรือ ไม่ฆ่าตัวตาย” ผู้อื่นมีสิทธิ์ห้าม หรือส่งเสริมได้หรือไม่ ? ตรงนี้ขึ้นอยู่กับสถานะ และสภาวะจิตใจของบุคคลนั้น ๆ โดยมีความเกี่ยวพันกับตัวของผู้ที่จะฆ่าตัวตายเป็นตัวแปร หมายความว่า คนที่มีพันธะทางสังคม คือเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นญาติ เป็นคนรัก…ก็มีสิทธิ์ที่จะห้ามปรามได้… ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นศัตรูกัน หรือจงเกลียดจงชังกัน ก็อาจจะส่งเสริมให้ฆ่าตัวตายได้เช่นกัน ฯ ข้อนี้ไม่ใช่นัยะที่สำคัญอะไร ฯ


ข้อสำคัญ มันอยู่ที่ว่า “การฆ่าตัวตายเป็นบาปหรือไม่ ? และถ้าเป็นบาป…เป็นถึงขนาดไหน บาปธรรมดา หรือบาปที่เข้าถึงความเป็นอกุศลกรรมบถ…ตรงนี้ต่างหากที่มีนัยะสำคัญในทางศาสนา และเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดที่จะต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้…


คำว่า “ฆ่า” ในพุทธทางศาสนา มีความมุ่งหมาย ๒ อย่าง คือ ฆ่าที่เป็นรูปธรรม เช่น ฆ่าสัตว์ ฆ่าโจร… เป็นต้น และ ฆ่า ในความหมายของนามธรรม เช่น ฆ่ากิเลส ฆ่าความโกรธ เป็นต้น


ฆ่าตัวเอง ต้องจัดว่าฆ่าในความหมายถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรม ฯ  ฆ่าสัตว์ หรือ ฆ่ามนุษย์ อมนุษย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง นิยามความหมายตรงนี้ ก็คือ “การทำให้ ชีวิตรูป ชีวิตนาม ของสัตว์หรือมนุษย์นั้น ขาดสะบั้นลง ให้สืบต่อไม่ได้”


โดยมีองค์ประกอบในการฆ่า ๕ ประการ ดังนี้ คือ


๑. ปาโณ สัตว์นั้นเป็นสัตว์ที่มีชีวิต

๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าเป็นสัตว์มีชีวิต

๓. วะธะกะจิตตัง มีจิตคิดจะฆ่า (มีเจตนา อันประกอบด้วยอกุศลจิต)

๔. ปะโยโค มีความพยายามในการฆ่า ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง

๕. เตนะ มะระณัง สัตว์นั้นตายลงด้วยความพยายามนั้น


เมื่อครบองค์ทั้ง ๕ ประการนี้ การกระทำนั้นจัดว่าสำเร็จในการฆ่า ซึ่งเข้าถึงความเป็นอกุศลกรรมบถ คือเป็นทางนำให้เกิดในอบายภูมิได้ ในขณะแห่งปฏิสนธิกาลในภพที่สอง คือหลังจากผู้ฆ่าสิ้นชีวิตลง


ถ้าไม่ครบองค์ทั้ง ๕ ประการนี้ ข้อใดข้อหนึ่งขาดตกบกพร่องไป กรรมนั้นก็ไม่จัดว่าถึงความเป็นอกุศลกรรมบถ แต่ก็ถือว่าเป็นบาป เพราะกระทำกรรมอันประกอบด้วยอกุศลจิต ฯ โดยหลักของปรมัตถ์ “การฆ่าสัตว์ หรือทำปาณาติบาตนั้น เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งจิตที่เป็น โทสะ ซึ่งเป็นอกุศลจิต”  อกุศล ก็คือภาวะที่เป็นบาป เพราะให้ผลเป็นความทุกข์ ฯ การกำหนดว่า “การกระทำใด เป็นบาป หรือไม่เป็นบาปนั้น ท่านกำหนดได้ด้วยอำนาจแห่งจิตที่เกิดขึ้นในขณะกระทำกรรมนั้น ๆ” คือ ถ้าประกอบด้วยอกุศลเจตสิกอย่างใดอย่างหนึ่ง มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น…การกระทำนั้น จัดว่าเป็นบาป …(ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด)


การฆ่าตัวตาย ได้ชื่อว่า เป็นบาป เพราะ “บุคคลที่ทำการฆ่าตัวตาย จิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นจิตที่ประกอบด้วยโทสะ ซึ่งเป็นอกุศล จึงจัดว่า เป็นบาป” ส่วนการฆ่าตัวตาย จะเข้าถึงความเป็นอกุศลกรรมบถหรือไม่นั้น ยังมีความเห็นเป็นไปใน ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะหนึ่งบอกว่า “เป็นอกุศลกรรมบถด้วย” อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า “ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ” เพราะอะไร ? ก็เพราะว่า “องค์ประกอบในข้อที่ ๒ ที่บอกว่า (ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต) นั้น ท่านมุ่งหมายเอาสัตว์อื่น ที่ไม่ใช่ตนเอง เพราะฉะนั้น องค์ประกอบในข้อที่สอง จึงบกพร่องไป (ข้อนี้ให้บัณฑิต พิจารณาเอาเองเถิด)


ในข้อนี้ ผู้เขียนเห็นว่า “การฆ่าตัวตาย ไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม” น่าจะเข้าข่ายเป็น อกุศลกรรมบถ โดยแท้ เพราะกระทำลงไปด้วยโทสะจิตที่รุนแรง ถึงพร้อมด้วยเจตนาอย่างชัดเจน” …การรู้ว่าสัตว์มีชีวิตนั้น ก็ต้องรู้ถึงตนเองด้วย ฯ


ผู้ที่ฆาตัวตายนั้น ต้องถือว่า จิตใจเศร้าหมองอย่างสุด ๆ จิตใจแห้งผาก ปราศจากยางเหนียวที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป… ท่านอุปมาเหมือนชิ้นเนื้อที่เขาทอดในน้ำมันที่เดือดพล่าน ความทุกข์ทางใจของมนุษย์จะเป็นไปตามลำดับดังนี้คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ฯ โสกะ เท่ากับน้ำมันที่เริ่มเดือด, ปริเทวะ เหมือนน้ำมันที่เดือดพล่าน, ทุกขะ-โทมนัส เหมือนน้ำมันที่เดือดพล่านเต็มที่แล้วค่อยๆ งวดลงไป, อุปายาส เป็นดุจน้ำมันที่แห้งขอดในกะทะที่ร้อนจัด ชิ้นเนื้อเริ่มใหม้กรอบเป็นสีดำ ควันเหม็นไหม้พวยพุ่ง ในขณะนั้น ชิ้นเนื้อจะกรอบเป็นผง ไม่มียางเหนียวอะไรหลงเหลืออีกแล้ว….เช่นเดียวกับจิตใจของผู้ที่จะฆ่าตัวตาย ถ้าปล่อยให้ความทุกข์ครอบงำถึงขั้นอุปายาสแล้วละก็ ความอาลัยในชีวิตจะหมดสิ้นลง มีหนทางเดียวคือ “ฆ่าตัวตาย”


คำเตือน – อย่าให้ความทุกข์ทางใจ เข้าถึงความเป็นอุปายาส อย่าบ่มเพาะความทุกข์ทางใจบ่อย ๆ เพราะมันจะแผดเผาจิตใจให้ไหม้เกรียม…และเมื่อเข้าถึงความเป็นอุปายาส ขาดยางเหนียว บุคคลจะหมดความอาลัยในชีวิตทันที …ฯ


-----------------

VeeZa

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.