ข้อแนะนำ กรณีการเก็บภาษีพระ หรือเก็บภาษีวัด


กรณีการเก็บภาษี พระ – วัด

แนะนำว่า : – เก็บภาษี วัด น่าจะมีแนวทางที่ดีกว่านี้ คือ

– ออกเป็น กฎ หรือระเบียบของมหาเถรสมาคมไปเลยว่า วัดที่มีรายได้ เท่านั้นเท่านี้ ควรแบ่งรายได้เท่านั้น เท่านี้ ไปสร้างสาธารณะประโยชน์ ต่าง ๆ เช่น

– สร้างโรงทาน ตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการแก่สังคมที่ยากไร้ อย่างใดอย่างหนึ่ง

– สร้าง โรงพยาบาล ดูแลผู้ชราภาพ ช่วยเหลือในการฌาปนกิจศพ เป็นต้น

– สร้างโรงเรียน รวมทั้งอาหารกลางวันนักเรียน หรือตั้งเป็นกองทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนยากจนในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น

– ตั้งเป็นกองกลางของสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล ไว้ใช้จ่ายแก่วัดในถิ่นทุรกันดาร เมื่อคราวประสบภัยพิบัติตามธรรมชาติในลักษณะต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว …เป็นต้น

– …ฯลฯ….


เก็บภาษีพระ เป็นรายบุคคล ที่มีรายได้สองหมื่นบาท หรือเท่าไรก็แล้วแต่ ไม่น่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม โดยประการทั้งปวง เพราะ


– ทำให้สถานะของพระ เป็นเช่นเดียวกันกับฆราวาส เพราะเงินที่พระได้มาเกือบทั้งหมด เป็นเงินที่ได้จากการถวายด้วยศรัทธา ไม่ได้เป็นเงินที่เกิดจากการการงาน หรือการทำธุรกิจใด ๆ

– ทำให้พระต้องเสี่ยงกับการต้องอาบัติหนัก (ปาราชิกข้อ อทินนาทาน) เพราะเหตุหลีกเลี่ยงภาษี (ข้อนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก) เพราะอาจจะมีความจงใจเลี่ยงภาษี เมื่อเลี่ยงภาษี ในทางฆราวาสก็มีโทษในทางกฎหมายเท่านั้น แต่ในทางบรรพชิต เมื่อออกเป็นกฎหมายแล้ว การเลี่ยงภาษี ผิดกฎหมายทางโลก แล้ว ก็ต้องผิดวินัยบัญญัติ เป็นอาบัติหนัก ถึงขั้นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระทันที (ดู อทินนาทาน ๑๓ ลักษณะ ในอรรถกถาสมันตปาสาทิกา)

– อาจจะมีข้อถกเถียงกันว่า จะเก็บภาษีเฉพาะพระในพุทธศาสนา แล้วนักบวชในศาสนาอื่นล่ะ จะเก็บด้วยไหม หรืออย่างไร ?

– ทำให้พระต้องยุ่งเกี่ยวหมกมุ่นกับเงินทองมากเกินไป ซึ่งก็ยิ่งทำให้ก่อความเสียให้ได้เพิ่มมากขึ้น ลำพังแค่มีเงินทอง หรือยินดีพอใจในเงินและทองก็เป็นอาบัติอยู่แล้ว

– ท้ายที่สุด เงินทอง เป็นวัตถุที่เป็นอสรพิษ สำหรับนักบวชจริง ๆ ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะใช้ทำอะไร ฯ


ลักษณะและอาการที่เป็นอทินนาทาน

๑. ลัก, คือเข้าไปในบ้านเรือนเขาแล้ว หยิบเอาของ ๆ เขา ไปด้วยกิริยาเป็นขโมย.

๒. ตีชิงหรือวิ่งราว, คือตีชิงเอาไปต่อหน้า และตีให้เจ้าของ เจ็บปวด วิ่งราวเอาไปต่อหน้าเจ้าของหรือลับหลัง แต่ไม่ได้ทำอะไร ให้เจ้าของเจ็บกาย ปรับเป็นปาราชิก ในเวลากระชากของหลุด.

๓. ลักต้อน, คือต้องสัตว์พาหนะ เช่นวัวควายเป็นต้น ให้ เคลื่อนจากที่ ปรับเป็นปาราชิก ในขณะเท้าที่ ๒-๔ ของสัตว์ เคลื่อนจากที่.

๔. ลักแย่ง, คือเข้าแย่งเอาซึ่ง ๆ หน้า และได้ของนั้นไปจากเจ้าของ หรือแย่งเอาของ ๆ เขาซึ่งกำลังเรี่ยรายอยู่.

๕. ลักสับ, คือสับหรือเปลี่ยนสิ่ง ๆ เขา โดยเอาของอื่นไปเปลี่ยน.

๖. ตู่, คือไม่ใช่ของ ๆ ตัวร้องเอาว่าของ ๆ ตัว เช่น ตู่ที่ดินของเขา เมื่อเจ้าของเขาปล่อยกรรมสิทธิ์ก็ดี หรือถึงกับฟ้องศาล ๆ ตัดสินให้ผู้จำเลยชนะก็ดี ภิกษุเป็นปาราชิก.

๗. ฉ้อ, ได้แก่รับของฝากของเขาไว้ เขามาทวงเอาคืน ไม่ ยอมคืนให้ ปฏิเสธเสียว่าไม่ได้รับฝาก เมื่อเจ้าของทอดกรรมสิทธิ์ ก็ดี หรือฟ้องศาล ๆ ตัดสินให้โจทก์ขาดกรรมสิทธิ์ก็ดี ภิกษุเป็น ปาราชิก.

๘. ยักยอก, เช่นภิกษุรักษาเรือนคลังของสงฆ์ [ ภัณฑาคาริก ] เอาของสงฆ์ซึ่งอยู่ในความรักษาของตน ยักยอกเอาไปไว้ในที่อื่น เพื่อถือเอาเองหรือยักยอกให้ผู้อื่น เป็นโจรต่อเมื่อเอาของออกพ้นเขตที่รักษา ภิกษุเป็นปาราชิก.

๙. ตระบัด, เช่นนำของหนีภาษี ไม่เสียภาษี ซึ่งเป็นการยุบอำนาจอันชอบธรรมของกฎหมายบ้านเมือง ได้ราคาตามกำหนด ภิกษุเป็นปาราชิก.

๑๐. หลอกลวง, เช่นเอาของปลอมของไม่แท้ ไปหลอกขายให้แก่ผู้อื่น บอกเขาว่าเป็นของแท้ ได้ราคาตามกำหนด ภิกษุเป็น ปาราชิก.

๑๑. กดขี่กรรโชก, เช่นบังคับเก็บเงินแก่ราษฏรในทางผิดกฎหมายบ้านเมืองโดยใช้กำลังกายและอำนาจ เรียกกดขี่ พยายามจะเข้าไปปล้น ทรมานเจ้าของด้วยอาการต่าง ๆ ใช้วาจาตะคอกขู่ให้กลัวเพื่อจะให้บอกทรัพย์ที่เขามีอยู่ เรียกกรรโชก.

๑๒. ลักซ่อน,ของ ๆ เขาอยู่ในที่แห่งหนึ่ง คือตกอยู่หรือวางไว้โดยเผลอ เอาไปซ่อนเสียที่อื่นโดยสัญเจตนา จะถือเอาเป็นประโยชน์ในภายหลัง.

๑๓. ลักปล้น, คือเป็นโจรหลาย ๆ คน คุมพวกเข้าปล้นทรัพย์สมบัติของเขา แต่ของที่ได้มา ราคาไม่ถึงบาท ๑ แต่เมื่อรวมกันเข้าแล้ว ได้ราคาบาท ๑ ขึ้นไป เช่นนี้ ปรับเป็นปาราชิกทุก ๆ องค์.

----------------

VeeZa

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.