เรื่องราวของโหราศาสตร์ ที่เป็นไสยศาสตร์
จริง ๆ แล้ว คำว่า “ไสยศาสตร์” แปลได้หลายอย่างนะ ส่วนมากคนก็จะแปลว่า “หลับ หรือ นอน” (สี ธาตุ >ในความนอน ความหลับ หรือ อยู่ แปลง อี เป็น เอ แล้วเอา เอ เป็น เอยฺย + สฺ = เสยฺย) ไสยศาสตร์ ก็เลยแปลว่า ศาสตร์ที่หลับไหล งมงาย …ฯ
ส่วนคำแปลทางฝ่ายที่เรียนโหราศาสตร์ (ซึ่งเป็นศาสตร์หนึ่งที่ถูกเรียกว่า ไสยศาสตร์) เขาจะแปลกันว่า “ศาสตร์ที่ประเสริฐ เสยฺย = ประเสริฐ หรือศาสตร์ที่ประเสริฐกว่าศาสตร์อื่น ๆ (อุทาหรณ์ของศัพท์ เช่นคำว่า เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย, เอกสฺส จริตํ เสยฺโย … เป็นต้น) นี่ก็อาจจะแปลเพื่อให้เข้าข้างตนเองก็ได้ เพราะคำว่า “เสยฺโย” ตัวนี้ เป็นศัพท์ตัทธิตที่แปลว่า “ประเสริฐกว่า” (ส +อิย แปลง อิ เป็น เอ แล้วซ้อน ยฺ จึงเป็น เสยฺย) (เรื่องนี้ขอให้ศึกษา เพราะบางคน บางพวกก็ชอบดึงข้อความในพุทธศาสนาบางส่วน บางข้อความมาเพื่อเป็นประโยชน์ของตนเอง)
“ศัพท์ ๆ หนี่ง มีอรรถตั้งร้อย คนรู้น้อยหาว่าไอ้โตบ้า” (เขาว่าเป็นคำพูดของสมเด็จโต)
ศาสตร์บางศาสตร์อาจไม่ได้งมงาย แต่คนที่ไม่รู้ คนที่ไม่เข้าใจจุดประสงค์และความมุ่งหมาย มาทำให้เป็นของงมงาย และทำให้ผู้อื่นงมงายไปด้วย…อะไรก็แล้วแต่ที่ทำไปโดยขาดเหตุผลอันสมควร คือไม่สมเหตุไม่สมผล สิ่งนั้นเข้าข่ายของความงมงาย…ขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างที่ทำตาม ๆ กันมา โดยไม่สมเหตุสมผล สิ่งนั้น ๆ ก็งมงาย…(คงไม่ต้องให้ยกตัวอย่างนะ ว่ามีอะไรบ้าง)
ศาสตร์บางศาสตร์เจือปนด้วยหลักของจิตวิทยา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ศาสตร์แห่งโหร ศาสตร์แห่งหมอดู ผู้ที่เข้าใจหลักแห่งศาสตร์นี้ สามารถนำไปใช้เป็นจิตวิทยาในการแนะแนว หรือแนะนำไปในทางที่ถูกที่ต้อง ฯ ลองไปดูหมอสิ ถ้าหมอดูทำนายว่าจะมีเคราะห์ จะประสบอุบัติเหตุอย่างนั้นอย่างนี้…วิธีแก้ ร้อยทั้งร้อย หมอดูก็จะบอกให้ทำบุญ ทำสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา…ให้ระมัดระวังอย่าประมาท ไม่ให้ขับรถ ไม่ให้เดินทาง เป็นต้น..ซึ่งเป็นกลอุบายให้ผู้คนไม่ทำบาป ให้ทำบุญ ให้เกิดความระมัดระวังในการกระทำกิจต่าง ๆ ในสมัยโบราณ บุคคลไม่ว่าจะเป็นใหญ่เป็นโตขนาดไหน มักจะมีโหรไว้ทำนายทายทัก แม้แต่พระราชามหากษัตริย์ ก็มีพราหมณ์ปุโรหิตไว้คอยทำนายทายทักเหตุการณ์บ้านเมืองต่าง ๆ บางครั้งพระราชาเหล่านั้นก็ใช้การทำนายนั้นในทางจิตวิทยามวลชน คือใช้ปกครองผู้คนแนะนำประชาชนได้…
แม้แต่ในทางพุทธศาสนา ก็มีการทำนายทายทักมากมาย เริ่มตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติเลยทีเดียว…หรือแม้แต่พระโพธิสัตว์ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็มักจะได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ในอดีตกาลนานไกลทั้งนั้น ในทางพุทธศาสนาท่านใช้ศัพท์แบบสวยหรูว่า “พยากรณ์” คำว่า พยากรณ์ นั้น แปลว่า “กระทำให้แจ้ง หรือเป็นเครื่องกระทำให้แจ้ง” (วิ + อา + กรณ แปลง อิ ที่ วิ เป็น ยฺ แล้วแปลง วฺ ให้เป็น พฺ + ย + อา + กรณ สำเร็จรูปเป็น พยากรณ หรือพยากรณ์)
ศาสตร์ บางศาสตร์ ก็อาจเข้าข่ายงมงาย หลงไหลจริง ๆ ถ้าศาสตร์นั้นเกิดขึ้นด้วยความโง่ ความไม่รู้ ความเข้าใจผิด เกิดจากความอยาก ต้องการ หรือเกิดจากความโกรธ…ศาสตร์นั้น ๆ ก็จะเข้าข่ายความงมงาย เพราะฉะนั้น ความงมงายในศาสตร์ จึงพอแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ อย่างนี้ คือ
๑. ศาสตร์นั้น มีความงมงายมาแต่เดิม เพราะความโง่ ความไม่รู้ ความเข้าใจผิด เกิดจากความอยาก ต้องการ หรือเกิดจากความโกรธ เกลียด เคียดแค้น
๒. ศาสตร์นั้น ถูกกระทำให้งมงาย คือศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์ที่ดี แต่ถูกความไม่รู้ไม่เข้าใจของผู้คน กระทำให้กลายเป็นความงมงาย คือความงมงายเกิดที่คน ไม่ได้เกิดที่ศาสตร์
ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเช่นพุทธศาสนา กับความเชื่อความเลื่อมใสของบุคคล หลายคนเชื่อในพระพุทธศาสนาในลักษณะงมงาย เชื่อไปในทางที่ผิด เชื่อในความขลังในความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุ ของพระเครื่อง… จนละเลยหลักแห่งกรรมและผลของกรรม…ในทางพุทธศาสนา ไม่มีวัตถุอะไรเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีวัตถุอะไรเป็นมงคล เทียบในมงคล 38 ประการ ฯ
อันที่จริง คำทำนายของโหราจารย์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ก็เป็นการแสดงถึงผลแห่งกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่บุคคลนั้น ๆ ได้กระทำไว้แล้วนั่นเอง เพราะคำว่า โชคร้าย โชคดี เคราะห์ร้าย เคราะห์ดี… ก็เป็นผลมาจากกรรมชั่ว กรรมดีของบุคคล เวลาประสบกับโชคร้ายหรือเคราะห์ร้าย ก็ให้แก้ด้วยการทำดีในรูปแบบต่าง ๆ…บางคนอินทรีย์อ่อน ความรู้น้อย ด้อยปัญญา เชื่อหมอดูมากกว่าเชื่อพระ หรือเพราะเห็นข่าวพระทำไม่ดี หมดศรัทธา ก็เลยเข้าหาหมอดู พอหมอดูทำนายว่า โชคไม่ดี กำลังมีเคราะห์ ให้ไปทำสังฆทาน ก็วิ่งเข้าไปหาพระอีก….บางทีก็เป็นเรื่องตลก…
-----------------
VeeZa
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ