ภาษาบาลีอย่างเดียว ช่วยให้พุทธศาสนายั้งยืนได้จริงหรือ?

(มงฺคลตฺถทีปนี ปฐโม ภาโค)

“….อาการตฺเถน เหเตน เถโร นานานยปริปุณฺณํ ธมมตฺถเทสนาปฏิเวธคมฺภีรํ สพฺพสตฺเตหิ สกสกภาสานุรูปมุปลกฺขณียสภาวํ สตฺถุ วจนํ ตํ สพพปฺปกาเรน โก สมตฺโถ วิญฺญาตุํ อถโข มยาปิ เอเกนากาเรน สุตํ โสตวิญฺญาณปุพฺพงฺคมาย โสตวิญฺญาณวีถิยา อุปธาริตนฺติ ทีเปติ” ฯ

(ด้วย เอวํ ศัพท์ อันมีอาการเป็นอรรถนี้, พระเถระ (อานนท์) ย่อมแสดงว่า พระดำรัสของพระศาสดาเต็มไปด้วยนัยหลายหลาก ลึกโดย เหตุ,ผล,เทศนา,และการบรรลุ มีสภาพที่สรรพสัตว์จะพึงกำหนดรู็ได้ตามสมควรแก่ภาษาของตน ๆ, ที่แท้ แม้ข้าพเจ้าก็ฟังมาโดยอาการอย่างหนึ่ง คือ ทรงจำไว้ได้ ด้วยโสตวิญญาณวิถี ซึ่งมีโสตวิญญาณจิตเป็นหัวหน้า (โสตวิญญาณวิถี ตามด้วยตทนุวัตติกมโนทวารวิถี ๔ วิถี นับจำนวนวิถีไม่ได้, และมโนทวารวิถีล้วน ๆ ซึ่งเกิดในภายหลังที่ท่านคิดนึก และนำมาแสดง)


คำว่า “มีสภาพที่สรรพสัตว์จะพึงกำหนดได้ตามสมควรแก่ภาษาของตน ๆ” นั้น หมายความว่า เสียงที่ท่านพระอานนท์กล่าวออกมานั้นเป็น มาคธีภาษา หรือเรียกว่า “บาฬี” ในกาลต่อมา เมื่อถูกถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร (อกฺขร) ใช้อักษรไปแทนเสียง (สทฺท), อักษรของชนชาติใด ก็เป็นอักษรหรือภาษาของชนชาตินั้น แต่ภาษาที่เปล่งออกมา ก็ยังเป็นภาษามาคธีหรือบาฬีอย่างเดิม

เช่น

– ใช้อักษรสีหล ไปแทนเสียงมาคธีหรือบาฬีภาษา ก็เรียกว่า “บาลีอักษรสีหล” (ถ้าคำว่า “พระบาลี” หมายถึงพระไตรปิฎก”  คำว่า “บาลีอักษรสีหล” ก็หมายความว่า “พระบาลี คือพระไตรปิฎกนั้น ถูกจารึก และถ่ายทอดให้คนที่รู้อักษรสีหล อ่านได้,รู้ได้,เข้าใจได้ เขียนได้ เปล่งวาจาสาธยายได้…”

– ใช้อักษรพม่า ไปแทนเสียงมาคธีหรือบาฬีภาษา ก็เรียกว่า “บาลีอักษรพม่า”….ฯลฯ…

– ใช้อักษรขอม ไปแทนเสียงมาคธีหรือบาฬีภาษา ก็เรียกว่า “บาลีอักษรขอม” …ฯลฯ…

– ใช้อักษรล้านนา ไปแทนเสียงมาคธีหรือบาฬีภาษา ก็เรียกว่า “บาลีอักษรล้านนา” …ฯลฯ…

– ใช้อักษรไทย ไปแทนเสียงมาคธีหรือบาฬีภาษา ก็เรียกว่า “บาลีอักษรไทย” …ฯลฯ…

– ใช้อักษรโรมัน ไปแทนเสียงมาคธีหรือบาฬีภาษา ก็เรียกว่า “บาลีอักษรโรมัน” …ฯลฯ…

…….เมื่อใช้อักษรของชนชาติใด ๆ ไปแทนเสียงที่เป็นมาคธีหรือบาฬีภาษา นั้น เรียกว่า “อันสรรพสัตว์จะพึงเข้าไปกำหนดได้ตามสมควรแก่ภาษาของตน ๆ”

…….นอกจากนั้น เมื่อใช้อักษรแทนเสียงที่เปล่งออกมาแล้ว ยังต้องแปลความหมายของสัททะ (ศัพท์) นั้น ๆ ออกมาเป็นภาษาที่ชนชาตินั้น ๆ จะพึงเข้าใจได้อีกด้วย ฯ ไม่ใช่เปล่งคำว่า “นโม” ออกมาแล้ว ใช้อักษรไทยไปแทนเสียงเขียนเป็น “นะโม” คนฟัง คนอ่าน จะรู้เรื่อง เข้าใจทันทีเลยก็ยังไม่ได้ ต้องแปล หรือต้องให้ความหมาย คำนิยาม ความประสงค์ ของคำว่า “นโม” นั้นออกมาอีกครั้ง อาจต้องอธิบายยืดยาวออกไปอีก ว่า คำว่า “นโม” ในความหมายของทางพุทธศาสนาหมายถึงอะไร มุ่งหมายถึงใคร อย่างไรจึงจะเรียกว่า “นโม”… //


“มาคธีหรือบาฬี” อย่างเดียว ไม่อาจจะดำรงพุทธศาสนาไว้ได้ (ไม่งั้น พุทธศาสนาคงไม่หายไปจากอินเดีย นานถึง ๘๐๐ ปี)

ต้องถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาท้องถิ่นนั้น ๆ ได้โดยถูกต้อง ความหมายถูกต้องตามพุทธประสงค์ ทุกคนเข้าใจ และปฏิบัติได้ …จึงจะช่วยจรรโลงพุทธศาสนาเอาไว้ได้…ฯ


แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.