คำว่า “ขันธสันดาน” (ขนฺธสนฺตาน) ตามรูปศัพท์แปลว่า “ความสืบต่อแห่งขันธ์”
คำว่า “ขันธ์” แปลว่า “กอง” ในที่นี้หมายเอา ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์,และวิญญาณขันธ์
คำว่า “สันดาน” (สนฺตาน) แปลว่า “ความสืบต่อ”
ขันธ์ทั้ง ๕ รวมกันอยู่ ก็ถูกบัญญัติเรียกว่า “สัตว์นรก,เปรต,อสุรกาย, สัตว์เดรัจฉาน, มนุษย์, เทวดา, พรหม…”
การที่บุคคล เกิด-ตาย, เกิด-ตาย, เกิด-ตาย… ในภพภูมิต่าง ๆ จนนับไม่ถ้วน โดยปรมัตถ์ ชื่อว่า “ขันธสันดาน” คือขันธ์ ๕ นั่นเอง เกิดสืบต่อกันไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด …
ผู้ที่กำจัด โลภะ โทสะ โมหะ ได้ทั้งหมด คือได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เมื่อสิ้นชีวิต ก็เรียกว่า “ดับขันธปรินิพพาน” โดยปรมัตถ์ ก็คือ ขันธ์ ๕ นั้น ดับสนิทไม่เกิดสืบต่อไปอีก เรียกว่า “ไม่มีขันธสันตาน” ต่อไปอีก ฯ
ขันธ์ ๕ ที่ยังเกิดติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ก็เป็นไปด้วยอำนาจของ กิเลสและกรรม (อวิชชา,ตัณหา,อุปาทาน…, สังขาร, กัมมภว)
คำว่า “ขันธ์สันดาน” ในคาถานี้ มุ่งหมายเอาพฤติกรรมของบุคคลที่เป็นไปในทางไม่ดี เป็นอกุศล ซึ่งถูกสั่งสมมาด้วยกิเลส มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เป็นทั้งวีติกกมกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส และอนุสัยกิเลส ที่นอนเนื่องอยู่ในความสืบต่อแห่งขันธ์ (ขันธสันตาน)
การเกิดขึ้นของกิเลส ก็ชื่อว่า “ขันธสันดาน” ได้ เพราะกิเลสทั้งหลาย ก็จัดเป็นขันธ์อย่างหนึ่ง คือ สังขารขันธ์ ซึ่งประกอบอยู่ในจิต (วิญญาณขันธ์)
การจะชำระขันธสันดาน คือ คือกิเลสซึ่งเป็นสังขารขันธ์นี้ ก็ต้องอาศัยคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จึงจะกำจัดสังขารขันธ์ คือกิเลสทั้ง ๓ อย่าง ได้ คือ
๑. กิเลสอย่างหยาบ (วีติกกมกิเลส) ก็กำจัดได้ด้วยศีล
๒. กิเลสอย่างกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) ก็กำจัดได้ด้วย สมาธิ
๓. กิเลสอย่างละเอียด (อนุสัยกิเลส) ต้องกำจัดด้วยปัญญาในมรรค
———–
นิติเมธี
๑๔ มีนาคม ๒๕๖๕
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ