หลายคนยังสับสนกับคำว่า “อธิษฐาน” และ “ปรารถนา”

“อธิษฐาน” คือความตั้งมั่น, ความตั้งใจมั่นเพื่อผลอันยิ่งใหญ่

หากเข้าถึงความเป็นบารมี (อธิษฐานบารมี) จะเป็นอธิการเพื่อให้คุณธรรมอื่น ๆ เจริญขึ้นได้ง่าย…

“อธิษฐาน” ไม่ใช่การขอ, หรืออ้อนวอนขอร้อง แต่เป็นความตั้งใจมั่นของตนเองที่จะกระกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้…

“อธิษฐาน” กระทำก่อนที่จะทำบุญกรรมต่าง ๆ

ส่วน “ปตฺถนํ” (ความปรารถนา) หรือการตั้งความปรารถนา นั้น กระทำ ภายหลังจากกระทำบุญกรรมนั้น ๆ สำเร็จลงแล้ว… อย่างเช่นการตั้งความปรารถนาของท่านอัญญาโกณฑัญญะ (ในอดีตชาติ) หลังจากทำบุญกรรมในแต่ละครั้งแล้ว ท่านก็ตั้งความปรารถนาว่า “ขอให้ได้บรรลุธรรมเป็นคนแรกในศาสนาของพระพุทธเจ้า พระองค์ใดองค์หนึ่ง…(แล้วความปรารถนานั้น ก็สำเร็จจริง ๆ คือได้บรรลุเป็นพระโสดาบันองค์แรกในพระศาสนานี้)

หรือการตั้งความปรารถนาเป็นอัครสาวกของพระสารีบุตร,และพระมหาโมคคัลลานะ (ในอดีตชาติ) หลังจากได้กระทำบุญกรรมคือการบูชาอย่างยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี และถวายทานแก่พระภิกษุทั้งหลายแล้ว ก็ตั้งความปรารถนาเป็นพระอัครสาวก….เป็นต้น…ฯ


“อธิษฐานธรรม ๔ ประการ”

– ปัญญา มาเป็นอันดับแรก…เพื่อให้ไม่หลง ไม่งมงายในกิจที่กระทำ คือต้องถูกต้อง, ชอบธรรม, นำไปสู่โมกขธรรม หรือธรรมเป็นเครื่องสลัดดอจากทุกข์เท่านั้น

– สัจจะ ความจริงใจที่จะกระทำบุญกรรม ตามที่ตั้งใจไว้แล้ว ไม่เหลาะแหละ…

– จาคะ คือการสละมลทิน เครื่องเศร้าหมองของจิตไม่ให้เข้ามาทำลายความตั้งใจของตน…

– อุปสมะ คือ ความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หวั่นไหว อาการที่จิตตั้งมั่น ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน…

——————————–

-นิติเมธี-

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.