คำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” แยกออกเป็น 2 คำ คือ มัชฌิมา+ปฏิปทา, “มัชฌิมา” แปลว่า กลาง, สายกลาง, ระหว่างกลาง ไม่ตกไปข้างใดข้างหนึ่ง, คำว่า “ปฏิปทา” แปลว่า ทางเดิน ทางดำเนิน หรือ ข้อปฏิบัติ. เมื่อรวมกันจึงได้ความหมายว่า “ทางสายกลาง หรือ ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง” ฯ

      คำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” นี้ เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมกัณฑ์แรก คือ ธรรมจักรกัปวัตนสูตร ซึ่งแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ซึ่งเราทราบกันดีว่าวันนั้น เป็นวันอาสาฬหบูชา. คำว่า เป็นกลาง หรือสายกลางในที่นี้ เป็นความเป็นกลางระหว่างข้อปฏิบัติที่เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค” คำว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” แปลว่า การประกอบตนให้หมกมุ่นอยู่ในกาม ด้วยการคิดว่าจะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความหลุดพ้นได้ (ตามแนวคิดของนักปฏิบัติในขณะนั้น). คำว่า “อัตตกิลมถานุโยค” แปลว่า การประกอบตนให้ไดรับความลำบาก ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น นอนบนหนาม, นอนในน้ำ เป็นต้น ด้วยคิดว่าเป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้หลุดพ้นได้…ข้อความตรงนี้ต้องจดจำและทำความเข้าใจให้ดี (ข้อปฏิบัติในการทำตนให้ลำบาก และข้อปฏิบัติอันหย่อนยานสุดโต่ง ทั้งสองอย่างนี้ จะเจือด้วยมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด เข้าใจผิดว่าเป็นแนวทางของความหลุดพ้น ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่า “สีลัพตปรามาส” ยึดมั่นถือมั่นในศีลวัตร เพราะฉะนั้นในมรรคมีองค์ ๘ พระพุทธเจ้าจึงทรงยกเอาสัมมาทิฏฐิ ขึ้นมาแสดงเป็นอันดับแรก และผู้ที่จะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันซึ่งเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นนั้น จะต้องมีสัมมาทิฏฐิและกำจัดสีลัพตปราสได้เสียก่อน…ฯ)  แนวทางในการปฏิบัติสองอย่างนี้ มีมาก่อนสมัยพุทธกาล และเป็นที่แพร่หลายในหมู่นักแสวงหาความจริงของชีวิตทั้งหลาย…แม้พระพุทธเจ้าครั้งที่ผนวชใหม่ ๆ ก็เคยปฏิบัติมาแล้ว อย่างเช่น การอดอาหาร กลั้นลมหายใจ เป็นต้น ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ที่เคยปฏิบัติร่วมกับพระองค์ก่อนที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ก็เคยปฏิบัติเช่นเดียวกัน และก็ยึดติดในแนวความคิดนั้นว่า จะเป็นทางหลุดพ้นได้ หรือจะเป็นทางให้บรรลุโมกขธรรมได้. พระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ก็ทรงปรับเปลี่ยนทำความเห็นของปัญจวัคคีย์ให้ถูกต้อง เมื่อปัญจวัคคีย์มีสัมมาทิฏฐิ ก็ละความยึดมั่นถือมั่นในศีลัพตปรามาสของตนออกไป ในที่สุดท่านพระโกณฑัญญะ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาปัตติมรรค ฯ

      ความเป็นกลางที่ไม่ตกไปในฝ่ายของ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสเรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” นี้ ประกอบด้วยองค์ 8 ประการ ที่เราเรียกว่า มรรค ประกอบด้วยองค์ 8 คือ

1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ

3. สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ

4. สัมมาวาจายะ การพูดชอบ

5. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ

6. สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ

7. สัมมาสติ ความระลึกชอบ

8. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ


องค์มรรคทั้ง 8 ประการนี้ ท่านจัดเป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 เรียกว่า ศีล ได้แก่

1. สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ (กายสุจริต 3)

2. สัมมาวาจา การพูดชอบ (วจีสุจริต 4)

3. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ (คือ ทำอาชีพโดยไม่เป็นกายทุจริต 3 และไม่เป็น วจีทุจริต 4)

กลุ่มที่ 2 เรียกว่า สมาธิ ได้แก่

6. สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ

7. สัมมาสติ ความระลึกชอบ

8. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ

กลุ่มที่ 3 เรียกว่า ปัญญา ได้แก่

1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ

      สรูปว่า ความเป็นกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทานี้ จะต้องประกอบด้วยองค์มรรคทั้ง 8 หรือต้องเป็น ศีล สมาธิ และปัญญา. ถ้าความเป็นกลางใด หรือทางสายกลางใด ไม่สรูปลงในองค์มรรค 8 หรือไม่เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ความเป็นกลางนั้น ทางสายกลางนั้น ไม่จัดเข้าในหลักของพระพุทธศาสนา ไม่เป็นพุทธศาสนา ไม่ใช่คำสอนในทางพระพุทธศาสนา….ฯ

      มีข้อถกเถียงกันข้อหนึ่งว่า การปฏิบัติโดยเคร่งครัด เช่นอาจจะอดอาหารบ้าง ทานอาหารมื้อเดียวบ้าง ปฏิบัติทั้งคืนทั้งวัน ไม่นอนบ้าง เป็นอัตตกิลมถานุโยค หรือไม่ ? อย่างไร ? ในข้อนี้ การที่จะบอกว่าเป็น อัตตกิลมถานุโยคหรือไม่ จะต้องมีเกณฑ์ตัดสิน ถามว่า จะยึดอะไรเป็นเครื่องตัดสิน ตอบว่า ก็มรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ไง ! ถ้าเข้าข่ายของมรรคมีองค์ 8 หรือประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญาแล้วละก็ ข้อปฏิบัติทุกอย่าง ไม่ว่าจะเคร่งครัดปานใด ก็จัดได้ว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่จัดว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพราะการปฏิบัติแบบอัตตกิลมถานุโยค เป็นการปฏิบัติของเหล่าบุคคลที่อยู่นอกพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิบัติที่ไม่เข้าในหลักขององค์มรรค 8 แต่ถ้าเข้าในหลักขององค์มรรค 8 แล้วละก็ เป็นมัชฌิมปฏิปทาทั้งสิ้น ข้อนี้ต้องดูประวัติของพระสาวกหลายรูปประกอบ เช่น ท่านพระจักขุบาลเป็นต้น ท่านถือธุดงค์ ไม่นอน…ฯ บางองค์บางท่านยึดศีลเป็นหลัก แม้จะอดตาย ใส้จะขาด แต่ถ้าจะได้กินอาหารโดยการผิดศีลแล้วละก็ ท่านไม่ทำเด็ดขาด, ข้อปฏิบัติในการถือธุดงค์หลาย ๆ ข้อ ล้วนแต่เป็นข้อที่ปฏิบัติที่ทำได้ยากลำบากทั้งนั้น เช่น อยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร, อยู่ในป่าช้าเป็นวัตร อย่างนี้เป็นต้น ฯ เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติในทางพุทธศาสนา อันประกอบด้วยองค์มรรค ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แม้จะมีความเคร่งครัดปานใด ถ้าไม่เจือด้วยวัตรอันประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิแล้ว ล้วนเป็น “มัชฌิมาปฏิปทา” ทั้งสิ้น ฯ

      การอดอาหารประท้วงรัฐบาล เป็นมัชฌิมาปฏิปทา หรือไม่ ? หรือ เป็นการทำตนให้ลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค) ? ตอบว่า ไม่จัดเข้าทั้งสองอย่าง จัดเข้าในอะไรก็ไม่รู้ คิดเอาเอง…ฮ่า.ฮ่า…ฮ่า ฯ การอดอาหารประท้วงรัฐบาลด้วยสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นข้อปฏิบัติให้เกิดการพ้นทุกข์ หรือไม่เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้บรรลุธรรมอะไรเลย จะประกอบด้วยองค์มรรค 8 หรือประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่ใช่ฯ

อนึ่งคำว่า มรรค นั้น ตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา มี 12 องค์ คือ เป็นสัมมามรรค 8 และ มิจฉามรรค 4 มิจฉามรรคได้แก่

1. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่ในโลภทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต 4.

2. มิจฉาสังกัปปะ ความดำริผิด ได้แก่ วิตกเจตสิกที่ในอกุศลจิต 12.

3. มิจฉาวายามะ ความเพียรผิด ได้แก่ วิริยะที่ในอกุศลจิต 12.

4. มิจฉาสมาธิ ความตั้งใจมั่นผิด ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่ใน อกุศลจิ 11 (เว้น เอกัคคตาที่ในวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต)

 

     นี่เป็นการนับเป็นองค์จัดเป็นมิจฉามรรค 4 แต่เมื่อว่าโดยทั่วไปแล้ว มิจฉามรรค ก็มี 8 เหมือนสัมมามรรคแต่ครงกันข้ามกัน คือที่เหลืออีก 4 อย่าง ได้แก่ มิจฉากัมมันตะ, มิจฉาวาจา, มิจฉาอาชีวะ และมิจฉาสติ ไม่มีองค์ธรรมโดยเฉพาะ ท่านนับเอาอกุศลจิตตุปบาทเป็นมิจฉามรรคนั้น ๆ เช่น เมื่อใดที่ทำกายทุจริต 3 อย่าง มีฆ่าสัตว์เป็นต้น เมื่อนั้น ก็จัดเป็นมิจฉากัมมันตะมรรคได้ เพราะการกระทำนั้น เป็นหนทางนำไปสู่อบายและทุคคติได้. จิตและเจตสิกที่ประกอบกันทำให้การฆ่าสัตว์เป็นต้นสำเร็จลงได้นั้น เรียกว่า อกุศลจิตตุปบาทซึ่งมีโทสะเป็นประธาน….อย่างนี้เป็นต้น


[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.