มนุษย์ที่ถูกโปรแกรมเหมือนหุ่นยนต์


      ในโลกยุคใหม่ ยุคข้อมูลข่าวสาร ยุคดิจิตอล ยุคไซเบอร์ ยุคที่บุคคลกระทำกรรมที่มองไม่เห็น คือ ไม่แสดงออกมาทางภายนอกร่างกาย แต่ทำในใจ คือเป็นมโนกรรม บุคคลใช้ความคิดมากขึ้น ใช้สมองมากขึ้นเพื่อคิดค้นหาวิธีแปลก ๆ ใหม่ ๆ ซึ่งท้าทายความสามารถของมนุษย์ และสิ่งหนึ่งก็คงไม่หนีเรื่องหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นที่ฮือฮากันมากว่า หุ่นยนต์มีความใกล้เคียงกับความเป็นมนุษย์ คือมีความสามารถ มีการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ... และรูปร่างหน้าตาคล้ายมนุษย์เข้าไปทุกที….

      มนุษย์ได้โปรแกรมความสามารถต่าง ๆ ซึ่งเป็นความสามารถของมนุษย์ให้กับหุ่นยนต์ สั่งให้มันทำอย่างไรก็ได้ ดีก็ได้ ร้ายก็ได้ บางครั้งก็เลยเถิดด้วยอำนาจสิ่งที่สั่งสมในจิตใจของมนุษย์ถูกถ่ายทอดไปยังหุ่นยนต์ จะเห็นว่าภาพยนต์เรื่อง I-robot เป็นเครื่องแสดงออกของสิ่งที่ถูกโปรแกรมไว้แล้ว…หุ่นยนต์จึงเป็นได้ทุกอย่าง มีได้ทุกอย่าง….

แต่สิ่งหนึ่งที่หุ่นยนต์มีไม่ได้และเป็นไม่ได้นั่นก็คือ ไออุ่นแห่งร่างกาย ชีวิตรูป ชีวิตนาม การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือไม่เจตนา…ซึ่งต่างจากมนุษย์. มนุษย์มีความสามารถพิเศษหลาย ๆ อย่าง คือ

– พัฒนาตนเองได้, ฝึกฝนตนเองได้, ตักเตือนตนเองได้ (อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา, อตฺตนาโจทยตฺตานํ)

– ทำดีตั้งแต่ระดับธรรมดา ๆ จนถึงดีที่สุดได้

– ทำชั่วระดับธรรมดา ๆ จนถึงชั่วที่สุดได้

– เลือกเหตุได้ เลือกผลได้ด้วยตัวเอง

– …….ฯลฯ……..

      แต่เราจะเห็นอยู่ทั่ว ๆ ไปว่า ในโลกปัจจุบันนี้ มนุษย์บางกลุ่มบางเหล่า หรือบางคน กำลังถูกโปรแกรมด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ (ความอยาก, ความเย่อหยิ่งถือตัว, ความเห็นผิด) หลาย ๆ คน ได้ถูกวางโปรแกรมไว้แล้ว จึงทำกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางคำพูด หรือทางใจ คือการคิดนึกต่าง ๆ เป็นไปด้วยอำนาจแห่ง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ กรรมทุกอย่างที่ทำด้วยอำนาจแห่ง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เป็นต้นเหล่านั้น เป็นอกุศลกรรม เป็นความไม่ดี เป็นความชั่ว เป็นความเลว. เมื่อมนุษย์ยังถูกปกคลุมด้วยกิเลส ด้วยความมืดบอดคือโมหะ แล้วไปสร้างหุ่นยนต์ เราจะมั่นใจได้แค่ไหนว่า หุ่นยนต์นั้นจะออกมาดีเลิศ ไม่มีพฤติกรรมเลว ๆ ออกมา…

(สิ่งที่โปรแกรมมนุษย์ไว้ มันเหมือน ๆ กับอนุสัย เมื่อได้เหตุปัจจัย ก็จะแสดงตัวตน แสดงพฤติกรรมออกมา) 

      ข้อที่หุ่นยนต์จะมีความสามารถหรือวิจิตรพิสดารไปได้อย่างไรนั้น ก็เป็นไปด้วยอำนาจแห่งตัณหา คือ ความยินดีพอใจ ซึ่งอยู่ในจิตใจของบุคคล ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า…

“สิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายที่วิจิตรพิสดารนั้น ก็เพราะอำนาจแห่งจิต คือ จิตเป็นผู้ทำให้วิจิตรพิสดารขึ้น.

– สัตว์ทั้งหลายที่วิจิตรพิสดารนั้น ก็เพราะ กำเนิดวิจิตร.

– กำเนิดวิจิตร ก็เพราะการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ วิจิตร.

– การกระทำทางกาย วาจา ใจ วิจิตร ก็เพราะตัณหา คือ ความอยาก ความพอใจ วิจิตร.

– ตัณหาวิจิตร ก็เพราะ สัญญา คือความทรงจำเรื่องราวต่าง ๆ วิจิตร.

– สัญญาวิจิตร ก็เพราะ จิต วิจิตร

ดังมีบาลีท่านกล่าวไว้ในปรมัตถทีปนี ว่า.. ” จิตฺตวิจิตฺตตาย สญฺญาวิจิตฺตา, สญฺญาวิจิตฺตตาย ตณฺหาวิจิตฺตา, ตณฺหาวิจิตฺตตาย กมฺมานิ วิจิตฺตานิ, กมฺมวิจิตฺตตาย โยนิโย วิจิตฺตา, โยนิวิจิตฺตตาย เตสํ ติรจฺฉานคตานํ วิจิตฺตตา เวทิตพฺพา “.

อนึ่ง จิตเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้เกิดขึ้น ทำให้เป็นไปได้ คือทำให้วิจิตรได้ถึง ๖ ประการ

๑. วิจิตรในการกระทำ คือทำให้งดงาม แปลก น่าพิศวง พิลึกกึกกือ เช่น สิ่งของต่างๆที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น ย่อมมีทั้งที่งดงาม แปลกตาน่าพิศวง ตลอดจนน่าเกลียด น่าสยดสยองสะพรึงกลัว

๒. วิจิตรด้วยตนเอง คือ ตัวจิตเองก็แปลก น่าพิศวง มีประการต่างๆ นานา เช่น จิตดีก็มี ชั่วก็มี จิตที่ฟุ้งซ่าน จิตที่สงบ จิตเบาปัญญา จิตที่มากด้วยปัญญา จิตที่มีความจำเลอะเลือน จิตที่มีความจำเป็นเลิศ สุดที่จะพรรณนา

๓. วิจิตรในการสั่งสมกรรมและกิเลส ก็น่าแปลกที่จิตนั่นแหละเป็นตัวที่ก่อกรรมทำเข็ญ และก็จิตนั่นแหละเป็นตัวสะสมกรรมและกิเลสที่ตัวนั้นทำไว้เอง น่าแปลก น่าพิศวงยิ่งขึ้น ก็ตรงที่ว่า กรรมอะไรที่ไม่ดีที่ตัวทำ เอง ก็ไม่น่าจะเก็บสิ่งที่ไม่ดีนั้นไว้ แต่ก็จำต้องเก็บต้องสั่งสมไว้

๔. วิจิตรในการรักษาไว้ ซึ่งวิบากที่กรรมและกิเลสได้สั่งสมไว้ หมายความว่ากรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่จิตเป็นตัวการก่อให้เกิดขึ้นนั้น จะไม่สูญหายไปไหนเลย แม้จะช้านานปานใด ก็ไม่มีการเสื่อมคลายไป เมื่อได้ช่องสบโอกาสเหมาะเมื่อใด เป็นต้องได้รับผลของกรรมเมื่อนั้นจนได้

๕. วิจิตรในการสั่งสมสันดานของตนเอง หมายถึงว่าการกระทำกรรมอย่างใดๆ ก็ตาม ถ้ากระทำอยู่บ่อยๆ ทำอยู่เสมอๆ เป็นเนืองนิจ ก็ติดฝังในนิสสัยสันดานให้ชอบกระทำ ชอบพฤติกรรมอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ไป

๖. วิจิตรด้วยอารมณ์ต่างๆ หมายถึงว่าจิตนี้รับอารมณ์ได้ต่างๆ นานาไม่มีที่จำกัดแต่น่าแปลก น่าพิศวงที่มักจะรับอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ชั่วได้ง่ายดาย

      ในขณะที่มนุษย์ได้โปรแกรมสิ่งต่าง ๆ ไว้ในหุ่นยนต์ ให้มีควาสามารถต่าง ๆ ได้นั้น มนุษย์เองโดยส่วนมาก กลับถูกโปรแกรมด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เหมือนกับ The Matirx เมื่อเราถูกโปรแกรมด้วยสิ่งใดมาก ๆ เราก็จะทำกรรมตามอำนาจหรือตามคำสั่งของสิ่งนั้น ทำบ่อย ๆ ทำเรื่อย ๆ กลายเป็น อาจิณกรรม (กรรมที่ทำบ่อย ๆ), กลายเป็นจริต (สิ่งที่เราประพฤติอยู่เนือง ๆ กลายเป็นความถนัด…สิ่งที่ดี เรียกว่า พรสวรรค์. สิ่งที่เลว กลายเป็นสันดาน) . สิ่งที่ทำให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมานั้น มีสาเหตุหลัก ๆ 2 อย่าง ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ในเรื่องหัวข้อว่า “เบื้องต้นแห่งการศึกษาพระพุทธศาสนา” อันประกอบด้วย สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของมนุษย์เราเอง, และสิ่งที่เป็นภายนอก คืออารมณ์ต่าง ๆ ที่จิตใจเราเข้าไปสัมผัสรับรู้.

      สิ่งที่โปรแกรมมนุษย์ไว้ที่น่ากลัวที่สุด คือ สิ่งที่แฝงอยู่ในจิตใจของคนเรา ได้แก่ ทิฏฐิ ความเห็นผิด. แท้จริงแล้ว คำว่า “ทิฏฐิ” แปลว่า “ความเห็น” เหมือนกับคำว่า “ทรรศนะ” แต่ในทางพระพุทธศาสนา ถ้ากล่าวว่า ทิฏฐิ ก็มุ่งหมายเอามิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด บางครั้งถ้ามาเป็นคู่กับความเห็นที่ถูกต้อง จะเห็นรูปศัพท์เป็น มิจฉาทิฏฐิบ้าง, สัมมาทิฏฐิบ้าง (มิจฉาทิฏฐิ=เห็นผิด, สัมมาทิฏฐิ=เห็นถูก,เห็นชอบ หมายถึงปัญญา). มิจฉาทิฏฐิ เป็นสิงที่น่ากลัวที่สุด โดยเฉพาะความเห็นผิดที่เป็นนิยต คือเที่ยงแท้แน่นอน คือ เห็นบาปเป็นบุญ, เห็นบุญเป็นบาป, ทำบุญไม่ได้บุญ, ทำบาปไม่ได้บาป หรือ ทำบาปกลับได้บุญ ทำบุญกลับได้เป็นบาป ปฏิเสธทั้งเหตุทั้งผล….เหล่านี้เป็นต้น ความเห็นผิดอย่างนี้ ถ้าบุคคลยึดถืออย่างมั่นคง จัดว่าเป็นความชัวหรือเป็นความเลวอย่างสุด ๆ ท่านเรียกว่า เป็นตอในวัฏฏะ คือจะเจริญงอกงามในวัฏฏะ คือการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆ ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด. ทางพุทธศาสนากล่าวว่า ผู้ทีมีความเห็นผิดอย่างนี้ จัดได้ว่ามีความเลวทรามยิ่งกว่าการทำอนันตริยกรรม มีฆ่าบิดามารดา เป็นต้นเสียอีก พูดง่าย คนทีฆ่าพ่อฆ่าแม่ของตัวเอง จัดว่าเลวทรามแล้ว แต่ยังไม่เลวทรามเท่ากับคนที่มีความเห็นผิดอย่างนี. เพราะเหตุใด ? ก็เพราะเหตุว่า คนที่ฆ่าพ่อแม่ตาย ยังอาจมีวันพ้นจากโทษนั้นได้ (คือโทษแห่งการฆ่าพ่อแม่นั้นยังมีกำหนดอยู่) แต่คนที่เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ โทษไม่มีกำหนด โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นผิดของตนได้นั้น มีน้อยมาก…

      แต่สิ่งที่ถูกโปรมในทางอกุศล มี ตัณหา มานะ เป็นต้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะละได้ง่าย ๆ เช่นกัน ผู้ที่จะละ ตัณหา มานะ ได้เด็ดขาดนั้น จะต้องระดับพระอรหันต์เลยทีเดียว. เรื่องของหุ่นยนต์ เป็นเรื่องของการสนองตัณหาความต้องการ และความพอใจของบุคคลเท่านั้น สิ่งที่น่าสร้าง น่าประดิษฐ์ให้มีความสามารถให้มีการพัฒนา ให้มีศักยภาพนั้น ควรจะเป็นมนุษย์เราเองต่างหาก ทำไมเราจึงจะโปรแกรมสิ่งที่ดี ๆ ให้เราไม่ได้ ทำไมเราต้องให้สิ่งเลว ๆ มาโปรแกรมเรา ??????????????.

------------------------

veeza

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.