ทองย้อย แสงสินชัย


ทำไมไม่คิดอย่างนี้กันบ้าง

---------------------------

วันนี้ (๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๕) ผมเดินออกกำลังตอนเช้า แวะเข้าไปไหว้พระและเก็บบุญทานมัยในวัดแห่งหนึ่ง เห็นป้ายประกาศหน้าวิหาร อ่านแล้วคิดว่าเก็บเอามาแสดงความคิดเห็น (ตามบุคลิกหรือธรรมชาติอันถาวรประจำตัว) น่าจะเป็นประโยชน์

ผมถ่ายภาพข้อความบนป้ายประกาศมาประกอบเรื่องนี้ด้วยแล้ว แต่เพื่อความสะดวกในการอ่านก็เลยคัดลอกข้อความมาไว้ ณ ที่นี้

ข้อความบนป้ายประกาศเป็นดังนี้ (สะกดและวรรคตอนตามต้นฉบับ ๑ ย่อหน้าต่อ ๑ บรรทัดต้นฉบับ)

...........................................

มส. สั่งห้ามใช้พื้นที่วัด-ธรณีสงฆ์ ปลูกกัญชา

“เข้มพระภิกษุสามเณรงดเสพ” เว้นเพื่อรักษาโรคตามแพทย์สั่ง

      การเสพกัญชา กัญชง หรือกระท่อมถึงแม้ว่าพระวินัยไม่ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการทำผิดพระวินัย แต่กัญชา กัญชง ใบกระท่อม เป็นสิ่งมึนเมา

ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อาจนำมาซึ่งการกระทำผิดพระวินัยได้ และเป็นโลกวัชชระ (โทษทางโลก, ชาวโลกติเตียน)จึงเห็นว่าไม่เหมาะกับสมณสารูป

ยิ่งเป็นสมณเพศ หรือเพศบรรพชิต อยู่ในฐานะปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธให้ความเคารพกราบไหว้ ไม่ควรมีอาจาระเยี่ยงคฤหัสถ์ มส.จึงมีแนวทางปฏิบัติที่

เหมาะสมดังนี้ 1.ห้ามวัดทุกวัดใช้พื้นที่วัด หรือธรณีสงฆ์เพาะปลูกกัญชา กัญชง ใบกระท่อม2.ห้ามพระภิกษุสามเณรเสพกัญชา กัญชง ใบกระท่อม เว้นแต่

เป็นการบำบัดรักษาโรคตามแพทย์สั่ง 3.มอบ พศ.แจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองทุกระดับกำชับให้คณะสงฆ์ในปกครองปฏิบัติตามมติ มส.ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

วัดนี้ ปลอดกัญชา สุรา ยาเสพติด บุหรี่

------------------------------------------

THIS TEMPLE, NO CANNABIS, NO ALCOHOL, NO DRUGS, NO SMOKING

...........................................

ความคิดเห็น:

๑ คำว่า “โลกวัชชระ” เป็นคำผิด คนเขียนตั้งใจเขียนแบบนี้เพราะเข้าใจว่าเป็นคำนี้ หรือเขียนอย่างนี้เพราะพลั้งเผลอก็ไมทราบ

คำที่ถูกต้องคือ “โลกวัชชะ” อ่านว่า โล-กะ-วัด-ชะ (ไม่ใช่ โลก-วัด-ชะ)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “โลกวัชชะ” ไว้ดังนี้ -

..................................................

โลกวัชชะ : อาบัติที่เป็นโทษทางโลก คือคนสามัญที่มิใช่ภิกษุทำเข้า ก็เป็นความผิดความเสียหาย เช่น โจรกรรม ฆ่ามนุษย์ ทุบตีกัน ด่ากัน เป็นต้น; บางทีว่าเป็นข้อเสียหายที่ชาวโลกเขาติเตียน ถือว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ เช่น ดื่มสุรา เป็นต้น

..................................................

๒ ข้อความว่า “ห้ามวัดทุกวัดใช้พื้นที่วัด หรือธรณีสงฆ์เพาะปลูกกัญชา กัญชง ใบกระท่อม”

ประโยคนี้พูดเต็มๆ ว่า -

..................................................

ใช้พื้นที่วัด หรือธรณีสงฆ์เพาะปลูกกัญชา

ใช้พื้นที่วัด หรือธรณีสงฆ์เพาะปลูกกัญชง

ใช้พื้นที่วัด หรือธรณีสงฆ์เพาะปลูกใบกระท่อม

..................................................

ผมเข้าใจว่า ใบกระท่อมเพราะปลูกไม่ได้ ต้นกระท่อมใช้ส่วนไหนขยายพันธุ์ก็เอาส่วนนั้นมาเพาะปลูก เอาใบกระท่อมปักดิน ให้มันขึ้นมาเป็นต้นกระท่อมไม่ได้ (ถ้าผมเข้าใจผิด กรุณาแย้ง) เพราะฉะนั้น ต้องพูดว่า-เพาะปลูกกระท่อม ไม่ใช่-เพาะปลูกใบกระท่อม

........................

ข้อความบนป้ายประกาศ เมื่อปรับแก้ให้ถูกต้อง ทั้งการใช้ถ้อยคำและวรรคตอน น่าจะเป็นดังนี้ -

...........................................

มส. สั่งห้ามใช้พื้นที่วัด-ธรณีสงฆ์ ปลูกกัญชา

“เข้มพระภิกษุสามเณรงดเสพ” เว้นเพื่อรักษาโรคตามแพทย์สั่ง

      การเสพกัญชา กัญชง หรือกระท่อม ถึงแม้ว่าพระวินัยไม่ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการทำผิดพระวินัย แต่กัญชา กัญชง ใบกระท่อม เป็นสิ่งมึนเมา ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อาจนำมาซึ่งการกระทำผิดพระวินัยได้ และเป็นโลกวัชชะ (โทษทางโลก, ชาวโลกติเตียน) จึงเห็นว่าไม่เหมาะกับสมณสารูป ยิ่งเป็นสมณเพศ หรือเพศบรรพชิต อยู่ในฐานะปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธให้ความเคารพกราบไหว้ ไม่ควรมีอาจาระเยี่ยงคฤหัสถ์ มส.จึงมีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมดังนี้ 1.ห้ามวัดทุกวัดใช้พื้นที่วัดหรือธรณีสงฆ์เพาะปลูกกัญชา กัญชง กระท่อม 2.ห้ามพระภิกษุสามเณรเสพกัญชา กัญชง ใบกระท่อม เว้นแต่เป็นการบำบัดรักษาโรคตามแพทย์สั่ง 3.มอบ พศ. แจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองทุกระดับกำชับให้คณะสงฆ์ในปกครองปฏิบัติตามมติ มส.ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

วัดนี้ ปลอดกัญชา สุรา ยาเสพติด บุหรี่

------------------------------------------

THIS TEMPLE, NO CANNABIS, NO ALCOHOL, NO DRUGS, NO SMOKING

...........................................

จุดสังเกต: 

๑ แก้คำว่า “โลกวัชชระ” เป็น “โลกวัชชะ”

๒ แก้วรรคตอนจาก “ชาวโลกติเตียน)จึงเห็นว่า” เป็น “ชาวโลกติเตียน) จึงเห็นว่า” (เว้นวรรคระหว่าง ) กับ จึง)

๓ แก้คำว่า “ใบกระท่อม” (แห่งที่ ๑) เป็น “กระท่อม” (คำว่า “ใบกระท่อม” มี ๒ แห่ง แห่งที่ ๑ แก้ แห่งที่ ๒ คงเดิม)

๔ แก้วรรคตอนจาก “กระท่อม2.ห้ามพระภิกษุสามเณร” เป็น “กระท่อม 2.ห้ามพระภิกษุสามเณร” (เว้นวรรคระหว่าง กระท่อม กับ 2.)

คำที่ควรเว้นวรรค แต่ไปเขียนติดกันเช่นนี้ เข้าใจว่าเป็นเพราะคนจัดหน้าของร้านรับทำป้ายพยายามจะปรับข้อความให้อยู่ในกรอบที่กำหนด ถ้าเว้นวรรค ข้อความก็จะล้นกรอบ จึงต้องขยับให้ติดกัน แต่จุดผิดพลาดคือไปติดกันตรงที่ไม่ควรจะติดกัน 

ผมว่าตรงนี้แหละที่จะวัด “กึ๋น” ของร้านทำป้าย วัดกึ๋นของคนตรวจ และวัดกึ๋นของเจ้าภาพผู้สั่งทำด้วย ว่าพิถีพิถันมากน้อยแค่ไหน

........................


ญาติมิตรบางท่านอาจจะเห็นว่าหยุมหยิมไร้สาระ (ว่างมากนักรึไง ไม่มีอะไรจะทำเรอะจึงมาเที่ยวจับผิดชาวบ้าน เอาเวลาไปอ่านพระไตรปิฎกดีกว่ามั้งลุง) 

...........................................

ขอตอบตรงนี้เลยว่า

- ข้อความใดๆ ที่เขียนแล้วเก็บใส่สมุดไว้อ่านคนเดียว ผมไม่มีสิทธิ์ไปยุ่งเกี่ยวด้วย

- ข้อความใดๆ ที่เขียนแล้วเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ ทุกคนมีสิทธิ์แตะต้องได้-โดยรู้จักกาลเทศะ

...........................................

ก็เพราะเวลานี้เราพากันปล่อยปละละเลยโดยคิดว่าเรื่องแค่นี้หยุมหยิมไร้สาระ-นี่แหละครับ การเขียนคำผิด ใช้ภาษาพลาด จึงระบาดดาษดื่นไปหมด 

คนเขียนก็ไม่รู้ว่าตนเขียนผิดใช้ภาษาผิด 

คนอ่านก็ไม่สนใจเรื่องผิดถูก อ่านแล้วรู้ว่าพูดอะไร-แค่นี้พอ 

คนอื่นๆ พอจะเขียนคำนั้นบ้าง ก็จับเอาคำผิดนั้นไปใช้ต่อ อ้างว่า-ก็เขาเขียนกันอย่างนี้ 

ภาษาของเราจึงเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ อย่างน่าสลดใจ

ผมอยากจะบอกว่า เฟซบุ๊กนี่แหละเป็นสนามส่งเสริมคนไทยให้ใช้ภาษาเลอะเทอะมากที่สุด เขียนได้อย่างอิสระเสรี ผิดถูกไม่มีใครสนใจใคร 

อันที่จริง จะโทษเฟซบุ๊กข้างเดียวก็คงไม่ยุติธรรม ต้องโทษคนเขียนข้อความต่างๆ ด้วย คนเขียนมีจิตสำนึก รับผิดชอบต่อคำที่เขียนหรือเปล่า

เหตุผลข้อสำคัญที่ยกขึ้นมาอ้างกันก็คือ ภาษาที่ยังมีชีวิต คือมีคนพูดเขียนอ่านกันอยู่ ย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เป็นกฎธรรมชาติ (เหน็บเข้าให้ด้วยว่า-ไม่ใช่ภาษาบาลีที่ตายแล้วนี่จึงแข็งมะลื่อทื่อ!) จึงไม่จำเป็นต้องไปเดือดร้อนอะไร

นักภาษานักวิชาการก็มักจะเห็นด้วยกับข้ออ้างนี้

...........................................


ลืมคิดไปว่า ภาษามันเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ คนที่ใช้ภาษานั้นต่างหากที่เป็นตัวการทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลง

ถ้าคนพิถีพิถันละเอียดอ่อนจิตใจงาม ก็ทำให้ภาษาเปลี่ยนไปในทางงาม

ถ้าคนมักง่ายใจหยาบใจทราม ก็ทำให้ภาษาเปลี่ยนไปในทางทราม

คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถพัฒนาจิตใจให้สูงให้งามได้

และจิตของคนนั้นถ้าไม่ฝึกหัดพัฒนา ก็มีแนวโน้มที่จะตกต่ำเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ

...........................................

ทำไมไม่คิดอย่างนี้กันบ้าง?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๕

๑๘:๐๓

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.