ศีลธรรม ตามความหมายทางพุทธศาสนา
คำว่า “ศีลธรรม” แม้จะมีการให้ความหมายไปหลายๆ อย่าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับบริบท สติปัญญา ประสบการณ์ และความมุ่งหมายของผู้แสดงนั้น ๆ แต่ท้ายสุด ศีลธรรม ต้องสรุปลงที่ความหมายในทางพุทธศาสนาที่ท่านประสงค์ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ท่านได้วางไว้ (คงไม่มีใครปฏิเสธนะว่า เราได้รู้จักคำว่า ศีลธรรม พร้อมกับพุทธศาสนา )
เพราะฉะนั้น ศีลธรรมในทางพุทธศาสนา ต้องยิ่งใหญ่และสำคัญ เพราะ เมื่อว่าโดย ลำดับแห่งบุญ ศีลอยู่เหนือ ทาน ( ทาน ศีล ภาวนา ) ฯ เมื่อว่าโดยสิกขา 3 (ศีล สมาธิ ปัญญา) ศีลเป็นบาทแห่งสมาธิ สมาธิเป็นบาทแห่งปัญญา…ฯ ศีล เป็นถึงองค์แห่งมรรค ๘ (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ) เพราะฉะนั้น ศีลในพุทธศาสนา ต้องมีความสำคัญ ต้องนอกเหนือไปจากศีลทัว ๆ ไป ตามลัทธิหรือศาสนาอื่นๆ ที่เขากล่าวกัน
คำว่า “ศีล” ว่าตามความมุ่งหมายทางพุทธศาสนา คือ กิริยาที่งดเว้นจากวิรมิตัพพวัตถุ คือวัตถุที่จะพึงก้าวล่วง ชื่อว่า “ศีล” มุ่งหมายเอาวิรตีเจตสิกที่ประกอบกับกุศลจิต ในขณะที่มีการงดเว้นจากการประพฤติผิดทางกาย ๓ อย่าง, ทางวาจา ๔ อย่าง ฯ ทางกาย ๓ อย่าง คือ ฆ่า, ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้, ล่วงละเมิดทางเพศ ฯ คือในขณะที่เจอกับสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ตนจะฆ่าได้ แต่งดเว้นไม่ฆ่า, เจอทรัพย์ของผู้อื่น ที่ตนละลักหรือถือเอามาเป็นของตนได้ แต่งดเว้นไม่ทำ, เจอหญิงอื่นที่นอกจากภรรยาของตน ที่ตนละล่วงละเมิดทางเพศได้ แต่งดเว้นไม่กระทำ ฯ อาการที่งดเว้นทางกายทั้ง ๓ อย่างนั้น ท่านเรียกว่า ศีล, กายเป็นปกติ (ศีล) ก็เพราะไม่กระทำกรรมนั้น ๆ ลงไป (ในทางวจี ๔ อย่างก็ทำนองเดียวกัน) แต่กายที่ไม่กระทำผิดก็เพราะจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นมีการงดเว้น (วิรตี) เกิดขึ้นในขณะนั้นด้วย กายกับจิตต้องคู่กัน คือกายจะงดเว้นได้ ก็ต่อเมื่อมีจิตคิดงดเว้น แต่เวลาพูดถึงศีล ท่านก็มุ่งหมายเฉพาะอาการสงบระงับทางกาย-ทางวาจา หรือความเป็นปกติทางกาย-วาจา ไม่ลงลึกถึงจิตใจ ในข้อนี้ก็เพื่อเป็นการแบ่งขอบเขตของศีลในการกำจัดกิเลส ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ
๑. วีติกกมกิเลส ระงับได้ด้วยการมีศีล (วีติกกมะ คือก้าวล่วงออกมาทางกาย วาจาา)
๒. ปริยุฏฐานกิเลส ระงับได้ด้วยการมี สมาธิ (ปริยุฏฐานะ คือกลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ)
๓. อนุสัยกิเลส ระงับได้ด้วยปัญญาในมรรค (นอนเนื่องอยู่ในความสืบต่อแห่งนามรูป)
อย่างที่กล่าวมา กาย-วาจาที่สงบ งดเว้นทุจริตได้ ก็ด้วยจิตที่มีวิรตีประกอบ มีเจตนา มีความจงใจ มีความรู้ตัวทั่วพร้อมที่จะงดเว้น ต่อวิรมิตัพพวัตถุตรงหน้า เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นกุศลจิตตุปบาท ฯ มิใช่ว่า “เพราะถูกมัดไว้ ถูกปิดปากไว้ เลยทำกาย-วาจาทุจริตไม่ได้ จะได้ชื่อว่า มีศีล ตามความมุ่งหมายทางพุทธศาสนานี้ ก็หาไม่” ฯ
เพราะฉะนั้น เจตนาที่ประกอบกับวิรตีที่เกิดในขณะการงดเว้นวิรมิตัพพวัตถุ ก็ชื่อว่าศีล
อีกอย่างหนึ่ง ทาน คือ การให้ ก็ชื่อว่าศีล โดยเฉพาะ อภัยทาน คือให้ความไม่มีเวร ให้ความไม่มีภัยแก่ผู้อื่นสัตว์อื่น การมีศีลนั่นเอง ได้ชื่อว่า เป็นการให้อภัยแก่ผู้อื่น เพราะฉะนั้น อภัยทาน ก็สงเคราะห์เข้าในศีลได้เช่นเดียวกัน //
ข้อที่ควรศึกษาในคำว่า ศีล-ธรรม ก็ตรงคำว่า “กาย-วาจาสงบด้วยอำนาจแห่งวิรตี ที่เกิดพร้อมกับกุศลจิตตุปบาท” นี่แหละ เป็นตัวแบ่งความเป็น ศีล และ ธรรม ภาวะคือความสงบแห่งกาย วาจา (ไม่ทำทุจริตทางกาย วาจา) นั้น ชื่อว่า “ศีล” (ความสงบทางกาย-วาจา) จิตตุปบาทที่เกิดขึ้นในขณะนั้น มี วิรตี, เจตนา, ฉันทะ, วิริยะ, กรุณา สติ อโลภะ อโทสะ หิริ โอตตัปปะ… เป็นต้น ได้ชื่อว่า “ธรรม”
การแบ่งในลักษณะนี้ ก็น่าจะเป็นการกำหนดขอบเขตของคำว่า ศีล และ คำว่า ธรรม ที่มาคู่กันให้ชัดเจน ดังกล่าวมาแล้วนั้นฯ
(โดยปรมัตถ์แล้ว วิรตีเจตสิกเท่านั้น ชื่อว่า ศีล แต่ เจตนา ก็ชื่อว่า ศีล…เพราะทำให้สำเร็จกิจ ฯ จริง ๆ แล้วจิตตุปบาททั้งหมดที่เกิดขึ้นพร้อมกันโดยมีวิรตีเป็นประธาน ชื่อว่า ศีล เพราะเป็นเหตุเป็นปัจจัยอุปการะซึ่งกันและกัน)
โดยปกติ คำว่า ธรรม ที่มาพร้อมกับศีล เราก็จะเข้าใจว่า
ศีล คืองดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ส่วน ธรรม ก็คือ เมตตา กรุณา
ศีล คืองดเว้นจากการลักทรัพย์ ส่วนธรรม ก็คือ สัมมาอาชีวะ หรือ อโลภะ ความไม่โลภ หรือ ทาน การให้…
ศีล คือ งดเว้นจากการผิดลูกเมียผู้อื่น ส่วนธรรม ก็คือ สทารสันโดษ ยินดีพอใจในภรรยาของตนเอง
ศีล คือ งดเว้นจากการพูดเท็จ ส่วนธรรม ก็คือ พูดคำจริง ซื่อสัตย์…
ศีล คือ งดเว้นจากคำหยาบ ส่วนธรรม ก็คือ พูดวาจาอ่อนหวาน วาจาอันเป็นสุภาษิต
ศีล คือ งดเว้นจากการพูดคำส่อเสียด ส่วนธรรม ก็คือ พูดวาจาอันเป็นที่รัก อันก่อให้เกิดความสามัคคี เป็นต้น
ศีล คือ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ส่วนธรรม ก็คือ พูดถ้อยคำที่ก่อให้เกิดประโยชน์
สรุปสั้น ๆ ว่า ถ้างดเว้นทางกาย-วาจา ที่แสดงออกชัดเจน ก็ได้ชื่อว่า “ศีล”
ส่วนนามธรรมที่อยู่ในใจ หรือที่เกิดพร้อมกับใจ ได้ชื่อว่า “ธรรม”
ข้อที่น่าศึกษา ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ศีล ที่บ่งบอกถึงความสำคัญทางพุทธศาสนา…
ศีลที่ว่าโดยความเป็นบุญกุศล ก็มีผลมากกว่าทาน (ทาน ศีล ภาวนา)
ศีลที่เป็นไปโดยนัยของการปฏิบัติ ก็บาทฐานของ สมาธิ (ศีล สมาธิ ปัญญา)
และศีล เป็นองค์ประกอบของมรรค (สัมมาวาจา-กัมมันตะ-อาชีวะ) ที่ทำให้เกิดความสมบูรณ์ในการประหารกิเลสขั้น อนุสัยกิเลส
ศีลธรรมในทางพุทธศาสนา มีความแตกต่างจากลัทธิศาสนาอื่น อย่างชัดเจน และอย่างมีนัยสำคัญ เวลาอธิบายศีลธรรมในพุทธศาสนา ถ้ายังไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาดีพอ อย่าพยายามนำไปเปรียบเทียบกับลัทธิศาสนาอื่น ในทำนองที่เหมือนกัน เพราะแค่คำว่า “วิรตีเจตสิก หรือจิตตุปบาท” นี่ ก็ไม่มีลัทธิไหน ศาสนาไหน ได้กล่าวไว้เหมือนพุทธศาสนาอีกแล้ว… ฯ ยังไม่จำต้องกล่าวถึงศีลที่เป็น จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล หรือศีลที่เป็นองค์ของมรรค ที่ทำให้บรรลุนิพพาน…ฯ
(ผมจะไม่กล่าวว่า ศีลธรรม นับเป็นศาสนา หรือไม่เป็นศาสนา เพราะการตั้งข้อวิจารณ์อย่างนี้ แสดงว่าคนตั้งก็ไม่เข้าใจทั้งคำว่า ศีลธรรม และคำว่า ศาสนา )
(ส่วนอะไรจะเป็นศีล อะไรจะเป็นธรรม นั้น ก็ดูได้จากที่กล่าวมาแล้ว)
--------------------
VeeZa
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ