ธรรมที่ธรรมดา ๆ แต่คนอย่างพระโพธิสัตว์ มองไม่ธรรมดา


เรื่อง “ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส”…..ที่พอนึกภาพออก ก็คือ…

– นี่คือจุดเริ่มต้นของ พุทธะ ….

– จุดเริ่มต้นของวิถีชีวิตครั้งสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ …ก่อนที่จะออกผนวช..

– จุดเริ่มต้นของการมองเห็นหลักของปฏิจสมุปบาทจากเบื้องปลาย…. แล้วสาวไปหาเบื้องต้น ปริโยสาน >> อาทิ (เป็นการแสดงนัยหนึ่งในบรรดาการแสดงปฏิจจสมุปบาท ๔ นัย)

– ข้อสังเกตที่สำคัญ คือ พระโพธิสัตว์ ทรงเห็นปฏิจจสมุปบาท (ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส) ตั้งแต่สมัยที่ยังเสด็จประพาสอุทยานที่เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนเศร้าโศก

– สมัยที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกจากพระราชวัง หลังจากที่ถูกกักขังให้อยู่ในวังตลอดเวลา พระองค์ได้เห็น คนแก่ คนเจ็บ คนเศร้าโศก คนตาย…ซึ่งมีเกลื่อนกล่นในสังคมอินเดียในสมัยนั้น

– พระองค์ดำริในใจว่า “คนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนเศร้าโศก” เหล่านั้น มีอะไรเป็นสาเหตุ…..(มีบางตำราบันทึกว่า ทุกครั้งที่เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนเศร้าโศกแล้ว พระองค์จะสอบถามนายฉันนะซึ่งเป็นสารถี เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ประสบ)

– ขณะที่เสด็จเข้าพระราชวัง หลังจากประพาสสถานที่ต่าง ๆ แล้ว มหาดเล็กได้เข้ามากราบทูลว่า ขณะนี้พระนางยโสธราพิมพา ได้ประสูติพระโอรสแล้ว ในตำราส่วนมาก บอกว่า พระโพธิสัตว์ทรงพระรำพึงว่า “บ่วงเกิดขึ้นแล้ว” และคำนั้นเอง ได้เป็นพระนามของพระโอรสว่า “ราหุล”

– หลายคนและตำราก็คิดและเขียนไว้แค่นั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว พระโพธิสัตว์ทรงดำริเกี่ยวโยงไปถึง “คนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนเศร้าโศก” ที่พบในขณะเสด็จประพาส และทรงทราบได้ทันทีว่า สิ่งเหล่านั้นเกี่ยวเนื้องกันกับ ความเกิด (ชาติ) และชาติ คือความเกิดนี่เอง เป็นสาเหตุของความ แก่ เจ็บ เศร้าโศก และความตาย (ราหุล เกิด คือ ชาติ)

– องค์ของปฏิจสมุปบาทคือ ชาติ นี้ ทำให้พระโพธิสัตว์คิดต่อไปอีกว่า แล้วอะไร “เป็นสาเหตุของ ชาติ คือความเกิด เล่า ?” (ปฏิจจสมุปบาท ย้อนขี้นไป) ชาติ เป็นองค์หนึ่ง, (ส่วน ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งหมด ไม่ถึงการนับว่าเป็นองค์หนึ่ง)

– เมื่อคิดไม่ออก ว่าอะไรเป็นสาเหตุของชาติ ก็เหลือวิธีอย่างเดียว คือ ออกผนวช เพื่อหาสาเหตุของ ชาติ ให้เจอ….. (ข้อยืนยันความเห็นตรงนี้ คือ พุทธอุทาน “อเนกชาติ สํสารํ สนธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ คหการํ คเวสนฺโต ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุน…” ภายหลังที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว…ฯ

– และเมื่อออกผนวช ๖ ปี พระองค์ก็ได้บรรลุ ทรงได้พบสาเหตุของ ชาติ ความเกิด ว่า เพราะมี ปฏิสนธิวิญญาณ (อุปปัติภวะ) ซึ่งปฏิสนธิวิญญาณ ก็เป็นผลที่มาจาก กัมมภวะในอดีตภพ พร้อมกับสาเหตุอันสำคัญ คือ ตัณหา อุปาทาน (อวิชชา) ซึ่งเป็นกลุ่มของ กิเลสวัฏฏ์

– ในข้อนี้ให้ดูธัมมจักรกัปวัตนสูตร ซึ่งเป็นปฐมเทศนากัณฑ์แรกอย่างเป็นทางการ ….เวลาที่พระพุทธองค์ตรัสถึงทุกขอริยสัจจ์ พระองค์ยกเอา ชาติ ขึ้นก่อน (ชาติปิ ทุกฺขา) และพอตรัสถึง สมุทยสัจจ์ ทรงยกเอาตัณหา ๓ ขึ้นแสดง ว่าเป็นเหตุของทุกข์

– พุทธอุทาน “อเนกชาติ สํสารํ สนธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ คหการํ คเวสนฺโต ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุน… ก็แสดงถึงว่า “เมื่อพระองค์ยังไม่พบญาณ ได้ท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ การเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์ร่ำไป (ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ) ตรงนี้ ก็พูดถึง ชาติ โดยตรงแล้ว

– คำแปลชอง อุทานคาถาทั้งหมด “เมื่อพระองค์ยังไม่พบญาณ ได้ท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ การเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์ร่ำไป นี่แน่ะ นายช่างปลูกเรือน เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป โครงเรือนของเจ้า เราก็รื้อเสียแล้ว ยอดเรือนของเจ้าเราก็หักเสียแล้ว จิตของเราถึงสภาพที่อะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้ ได้ถึงความสิ้นตัณหาแล้ว (คือบรรลุนิพพานแล้ว) ฯ

– นอกจากนี้ อุทานคาถาที่ว่า “ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา …. สพฺพา ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ ฯ …. เพราะมารู้ธรรมอันเป็นไปพร้อมกับเหตุ ฯ ตรงนี้หมายถึงปัจจยุปบันธรรม ธรรมที่เป็นผล ซึ่งหมายถึง สังขาร วิญญาณ นามรูป…… ชรา มรณะ โสก ประเทววะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส

(ท่อนที่สอง)… สพฺพา ยโต ขยํ ปจฺจายนํ อเวทิ ฯ …เพราะได้รู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย ฯ ตรงนี้ หมายเอาส่วนธรรมที่เป็นเหตุ ซึ่งได้แก่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ……. ภวะ ชาติ ฯ

– แม้คาถาที่พระอัสสชิเถระ กล่าวแก่อุปติสสปริพพาชก(สารีบุตร) ที่ว่า “เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต (อาห) …. เอวํ วาที มหาสมโณ ฯ ก็เป็นการแสดงหลักของปฏิจจสมุปบาท ทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ…. ฯ

– เย ธมฺมา …หมายเอาธรรมที่เป็นผล คือ นับตั้งแต่ สังขาร วิญญาณ นามรูป………… ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ฯ คำว่า “เตสํ เหตุํ” ทรงแสดงธรรมที่เป็นฝ่ายเหตุ ก็คือ นับเอาตั้งแต่ อวิชา สังขาร วิญญาณ………..ภวะ ชาติ ฯ

(องค์ของปฏิจจสมุปบาท มีทั้งส่วนที่เป็นเหตุของผลอีกอันหนึ่ง…และส่วนที่เป็นผลของเหตุอีกอันหนึ่ง… )


– จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ เสด็จประพาสพระนคร พระองค์ทรงเห็น ปฏิจจสมุปบาท และเกี่ยวข้องกับหลักของปฏิจจสมุปบาทตลอด…แม้ในการแสดงพระอุทาน และแสดงธรรมในส่วนเบื้องต้นปฐมโพธิกาล ก็ทรงแสดงหลักของปฏิจจสมุปบาทเป็นส่วนมาก… ดังนั้นพระอัสสชิเถระ จึงกล่าวว่า “…เอวํ วาที มหาสมโณ พระมหาสมณะทรงตรัสธรรมะในทำนองนี้เป็นปกติ ฯ


*** เรื่องราวของปฏิจจสมุปบาท ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก…จะได้แสดงในโอกาสต่อไป…ฯ

-------------------

VeeZa

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.