ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,736)


ธรรมเภรี

รอคนมีบารมีรื้อฟื้นขึ้นมา

อ่านว่า ทำ-มะ-เพ-รี

ประกอบด้วย ธรรม + เภรี

(๑) “ธรรม” 

บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”

“ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ -

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ -

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ธรรม” ความหมายเน้นหนักตามข้อ (2) 

(๒) “เภรี”

บาลีเป็น “เภริ” อ่านว่า เพ-ริ รากศัพท์มาจาก ภี (ธาตุ = กลัว) + ริ ปัจจัย, แผลง อี ที่ ภี เป็น เอ, (ภี > เภ) 

: ภี + ริ = ภีริ > เภริ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุกลัวแห่งศัตรู” (คือทำให้ศัตรูกลัวได้) หมายถึง กลอง (the drum) 

บาลี “เภริ” ภาษาไทยใช้ทั้ง “เภริ” และ “เภรี” แต่เสียง “-รี” ฟังดูนุ่มนวลกว่า เราจึงมักได้ยินพูดกันทั่วไปว่า เพ-รี คือสะกดเป็น “เภรี” มากกว่า “เภริ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“เภริ, เภรี : (คำนาม) กลอง เช่น อินทเภรี ชัยเภรี, บางทีใช้เป็น ไภรี หรือ ไภริน ก็มี. (ป.).”

ธรรม + เภรี = ธรรมเภรี (ทำ-มะ-เพ-รี) แปลว่า “กลองประกาศธรรม” 

“ธรรมเภรี” แปลงกลับเป็นบาลีเป็น “ธมฺมเภริ” (ทำ-มะ-เพ-ริ) ศัพท์นี้มีใช้ทั่วไปในคัมภีร์บาลี

ขยายความ :

สมัยโบราณ เมื่อผู้ปกครองบ้านเมืองจะประกาศข่าวสารใดๆ ให้พลเมืองรู้ทั่วกัน ย่อมใช้วิธีที่เรียกกันว่า “ตีกลองร้องประกาศ” คือเอากลองใส่รถม้าขับไปตามถนน หรือบรรทุกพาหนะอื่นๆ ที่สามารถลากเข็นไปได้ ถ้าเป็นกลองชนิดที่สะพายไปได้ก็ให้คนสะพายเดินไปตามตรอกซอกซอย ในระหว่างเคลื่อนที่ไปนั้นก็ตีกลองสลับไปกับร้องประกาศเรื่องราวที่ต้องการแจ้งให้ทราบไปด้วย เสียงกลองทำให้ผู้คนสนใจฟังคำประกาศ

กิริยาที่ “ตีกลองร้องประกาศ” นี้ สำนวนบาลีใช้คำว่า “เภริญฺจาราเปสิ” แปลตามศัพท์ว่า “ยังกลองให้เที่ยวไป”

ถ้าเรื่องที่ประกาศเป็นเรื่องเกี่ยวการบุญ เช่น ประกาศเชิญชวนให้ไปฟังธรรมหรือรักษาศีล ก็จะเรียกกลองที่ตีเพื่อการนี้ว่า “ธมฺมเภริ” เช่น -

..............

อิโต  ปฏฺฐาย  สกลรฏฺฐวาสิโน  ปญฺจ  สีลานิ  รกฺขนฺตูติ  ธมฺมเภรึ  จาราเปสิ ฯ

พระราชารับสั่งให้ตีกลองร้องประกาศว่า ตั้งแต่นี้ไปขอให้ชาวเมืองรักษาเบญจศีลจงทั่วกัน

ที่มา: ชาตกัฏฐกถา ภาค 6 (สรภชาดก เตรสนิบาต) หน้า 261

..............

เมื่อประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนบาลีวันละคำยังทันได้เห็นอุบาสกคนหนึ่ง พอถึงวันโกนก็จะถือฆ้องกระแตตระเวนไปตามถนนต่างๆ ในตัวเมืองราชบุรี ตีฆ้องไปพลางร้องประกาศซ้ำๆ ว่า “พรุ่งนี้วันพระ เจ้าข้า”

นี่ก็อนุโลมเรียกได้ว่า “ธมฺมเภริญฺจาราเปสิ” เพียงแต่อุปกรณ์ส่งสัญญาณเป็นฆ้อง ไม่ใช่กลอง

ปัจจุบัน ทางหน้าเฟซบุ๊ก เมื่อถึงวันโกนก็ยังมีอุบาสกอุบาสิกาโพสต์ภาพและข้อความบอกให้รู้ว่า “พรุ่งนี้วันพระ” กันอยู่ กล่าวได้ว่าท่านเหล่านั้นอาศัยช่องทางสื่อสารไฮเทคทำหน้าที่ย่ำ “ธรรมเภรี” ตามแบบแผนที่เคยทำกันมาแต่โบราณกาล

กล่าวเฉพาะในรั้ววัด แต่เดิมกลองและระฆังเป็นอุปกรณ์ใช้ส่งสัญญาณบอกเหตุหรือบอกเวลา เป็นสิ่งที่มีใช้อยู่ในวัดและใช้กันมานานนักหนาจนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างสำคัญที่บอกถึงวิถีชีวิตของชาววัด 

ปัจจุบันแม้เราจะมีอุปกรณ์อย่างอื่นที่อาจใช้ได้ดีกว่า เร็วกว่า หรือทันสมัยกว่า แต่เสียงกลองเสียงระฆังที่ดังออกมาจากวัดก็ยังเป็นสิ่งบอกเหตุให้รู้ได้เป็นอย่างดีว่า วิถีชีวิตของชาววัดหรือวิถีชีวิตสงฆ์ยังคงดำรงอยู่และดำเนินไปเป็นปกติในแผ่นดินนี้ 

กลองและระฆังจึงมีความหมายและมีคุณค่ายิ่งกว่าเป็นอุปกรณ์บอกเหตุหรือบอกเวลาธรรมดาทั่วไป 

โดยเฉพาะกลองประกาศธรรม หรือ “ธรรมเภรี” ถ้าผู้มีบารมีจะลองคิดรื้อฟื้นขึ้นมาทำกันอีก นอกจากจะเป็นการส่งเสริมพระศาสนาแล้ว ยังน่าจะเป็นสีสันอีกอย่างหนึ่งของสังคมไทย ให้เขาพูดกันไปทั่วโลกว่า อยากดูการย่ำธรรมเภรี ต้องไปดูที่ประเทศไทย ในโลกนี้มีที่นี่แห่งเดียว!

..............

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าผู้ตีกลองธรรมยอมจำนน

: เสียงสวดมนต์ก็คงม้วยด้วยเสียงมาร 

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.