อย่างไรกันแน่ “นิรโทษกรรม”

นิรโทษกรรม (นิ+ร+โทษ+กรรม) การกระทำที่ไม่มีโทษ, หรือการกระทำที่มีโทษออกแล้ว ฯ นิรโทษกรรม มักนำมาใช้เกี่ยวกับการกระทำที่มีโทษในภายหลัง หรือเป็นกรรมที่ผิด ชั่ว บาป ฯ ใชัในทางโลก ถ้าในทางธรรม เทียบเคียงกับคำว่า “อโหสิกรรม” แต่คำว่า “อโหสิกรรม” กรรมที่ไม่ส่งผลนั้น แตกต่างจากคำว่า “นิรโทษกรรม” เยอะ ไปคนละทางเลย

– นิรโทษกรรม ให้การกระทำที่ทำไปแล้ว ไม่มีผล คือไม่ต้องรับผล ใช้ไปในทางกรรมที่ชั่ว ไม่ดี บาป และใช้ไปในทางคดีโลก คือความผิดทางกฎหมายที่มีโทษปรับ หรือโทษจองจำ ฯ บางครั้งก็รับโทษคือจองจำไปแล้ว มานิรโทษคือให้พ้นโทษในภายหลังก็มี โดยส่วนมากก็จะเป็นอย่างนั้น ฯ

– อโหสิกรรม กรรมที่ไม่ให้ผล, ไม่ส่งผล  มุ่งหมายเอาทั้งกรรมดี และกรรมไม่ดี (บุญ-บาป) มีความหมายเป็นสองอย่าง คือ

๑. หมายถึงกรรมที่ส่งผลไปแล้ว กรรมนั้นเป็นอโหสิกรรม

๒. หมายถึงกรรมที่ล่วงเลยกาลเวลาให้ผล กรรมนั้นก็เป็นอโหสิกรรม

โดยปรมัตถ์ มุ่งหมายเอาผลที่เกิดจาก อกุศลกรรม และกุศลกรรม ที่อยู่ในรูปแบบของชวนะจิตทั้ง ๗ ซึ่งให้ผลแตกต่างกันตามลำดับแห่งขณะจิต

สรุป – ทั้ง นิรโทษกรรม และอโหสิกรรม ว่าโดยกรรม ก็อันเดียวกันนั่นแหละ แต่นิรโทษกรรม มุ่งหมายไปในคดีโลก และมุ่งหมายเอาความมีโทษและไม่มีโทษตามคำตัดสินของศาล…ซึ่งบางครั้งอาจไม่ตรงกับการกระทำจริง ๆ ก็ได้ เช่น ไม่ได้ทำผิด แต่ไปตัดสินว่าผิด หรือได้กระทำผิด แต่ไปตัดสินว่า ไม่ได้ทำผิด อย่างนี้ก็มี…..ฯ

ส่วน “อโหสิกรรม” มุ่งหมายเอากรรมและผลแห่งกรรมนั้น ทั้งดีและชั่ว ที่ส่งผลไปแล้ว และล่วงเลยกาลเวลาให้ผลของตน ๆ และที่สำคัญท่านหมายเอาเจตนาที่ในชวนะจิตทั้ง ๗ เป็นตัวกรรม ส่วนผลก็หมายเอา วิบากจิตและกัมมชรูปที่เป็นผลของกรรมนั้น ๆ

อนึ่ง ความเป็นกรรมดี หรือไม่ดี จะส่งผลในกาลใด อย่างไร ย่อมเป็นตามกรรมนิยาม ของกฎแห่งกรรมเท่านั้น ไม่มีใครไปบังคับหรือกำหนดได้ว่า ต้องมีโทษหรือไม่ต้องมีโทษ ….ฯ

ถามว่า “บุคคลได้ทำกรรมไปแล้ว จะไม่มีผลเกิดขึ้น หรือไม่ต้องรับผลแห่งกรรมที่ทำไปแล้วนั้น มีหรือไม่? อย่างไร ?

คำถามนี้เป็นสองตอน คือ ถ้าเป็นคดีความทางโลกหรือทางธรรมก็แล้วแต่ จริง ๆ แล้ว ผลมันมี มันได้เกิดขึ้นแล้วหลังจากที่กระทำกรรมนั้น ๆ เสร็จ… แต่จะให้ผลนั้นมันส่งผลจริง ๆ แก่ผู้กระทำกรรมนั้น ในทางโลกอาจสลับซับซ้อน อาจเกี่ยวข้องกับบุคคล สถานการณ์……อาจต้องมีบุคคลมาตัดสินเพื่อให้ผลนั้นมันปรากฎแก่ผู้กระทำจริง ๆ คือมีบัญญัติในทางโลกเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมีลักษณะกว้างขวาง อาจมีบุคคล มีสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าทำกรรมใด ๆ ลงไปแล้วกรรมนั้นไปกระทบกับผู้อื่น กรรมนั้นจะส่งผลไปในทิศทางใด ก็แล้วแต่เทศบัญญัติในที่นั้น ๆ เช่น ทำกรรมอย่างนี้ ในประเทศนี้ อาจมีโทษ แต่ไปทำกรรมแบบนี้ในประเทศอื่น อาจไม่มีโทษ…หรือ บุคคลผู้นี้ทำกรรมอย่างนี้แล้ว ไม่มีโทษ …แต่พอคนอีกผู้หนึ่งทำกรรมแบบเดียวกัน กับมีโทษ อย่างนี้เป็นต้น…(ดูคดีเสื้อเหลือง เสื้อแดงเป็นอุทาหรณ์ หรือดูคดี 112 เป็นอุทาหรณ์)

ในทางธรรมล้วน ๆ นั้น เมื่อกระทำกรรมลงไปแล้ว จะต้องมีผลแน่นอน โดยไม่ต้องมีบุคคล สถานที่ บัญญัติใด ๆ มาเกี่ยวข้อง… แต่ผล หรือวิบาก นั้น มีกาลเวลาในการให้ผล (สกาลิโก) เพราะการกระทำกรรมแต่ละครั้งไม่ว่าดีหรือเลว จะมีชวนะจิตตุปบาท ซึ่งมีเจตนาเป็นตัวกรรมผสมอยู่ในชวนจิตตุปบาทนั้นด้วย ซึ่งมีถึง ๗ ขณะ (๗ ดวง) แต่ละดวงนั้น มีช่วงเวลาในการให้ผลนั้นต่างกัน (วิถีจิตในขณะทำกรรม กับวิถีจิตที่เป็นวิบาก เป็นคนละวิถีกัน ยกเว้นวิถีจิตแห่งมรรคลและผล จะเป็นวิถีเดียวกัน มรรคและผลเป็นอกาลิโก) อุปมา เหมือนกับการที่คนเราทำงาน บางคนทำงานเป็นวัน ได้รับผลคือค่าจ้างเป็นวัน…บางคนทำงานเป็นรายสัปดาห์ ต้องครบสัปดาห์ถึงได้รับค่าจ้าง….บางคนทำงานเป็นเดือน ต้องครบเดือนถึงจะได้ค่าจ้าง…. แต่ทุก ๆ ขณะที่เขาลงมือทำงาน แม้ยังไม่ครบวัน -สัปดาห์ -เดือน ก็ต้องถือว่าผลคือค่าจ้างได้เกิดขึ้นแล้ว แต่จะได้รับผลคือค่าจ้างจริง ๆ ก็ต่อเมื่อครบ วัน สัปดาห์ เดือน …ฉันใด นัยะแห่งกรรมและการให้ผลก็ทำนองเดียวกัน ฯ

เรื่อง กรรมและการให้ผลของกรรม หรือการไม่ให้ผลแห่งกรรมนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องพูดกันในห้องเรียน ต้องมีการศึกษาพอสมควรถึงจะพอเข้าใจได้….และบางครั้งจะให้รู้ได้อย่างถ่องแท้ด้วยการคิดนึกเอาก็ไม่ได้… (อจินไตย) ต้องอาศัยการศึกษา ปฏิบัติ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ถึงจะเข้าใจได้ ฯ (ควรศึกษา กรรม ๑๒ ในพระสูตร และกรรม ๑๖ ในอภิธรรม ประกอบ)

---------------------

VeeZa


[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.