มหาบาลีวิชชาลัย สถาบันสอนภาษาบาลีสำหรับบุคคลทั่วไป

คีรีวัน มารัญชยะ 

§ รตนตฺตย กับ รตนตฺย อย่างไหนเหมาะสมกว่า

-----------------------------------------------

§ คำว่า ตย สำเร็จมาจาก ติ + ณ ปัจจัยในอเนกตัทธิต (สมูหตัทธิต) แปลง อิ เป็น อย มีวิเคราะห์ว่า

ติณฺณํ สมูโห - ตยํ. (หมู่แห่งสาม ท. ชื่อว่า ตย)

หรือวิเคราะห์ว่า

ตโย อํสา อสฺสาติ – ตยํ. (มีส่วนสาม)¹

§ คำว่า ตย ตรงกับสันสกฤตว่า ตฺรย โดยสำเร็จมาจาก ตฺริ + ตยปฺ (ตย) ปัจจัย มีวิเคราะห์ว่า

ตฺรโย'วยวา อสฺย - ตฺริตยํ ตฺรยมฺ. (มีส่วนสาม)²

รูปหลังคือ ตฺรย ให้แปลง ตยปฺ เป็น อยจฺ (อย)³

§ คำว่า รตนตฺตย สำเร็จมาจาก รตน + ตย (ซ้อน ตฺ) มีวิเคราะห์ว่า

รตนานํ ตยํ - รตนตฺตยํ. (หมู่สาม แห่งรัตนะ ท. ชื่อว่า รตนตฺตย)

§ การซ้อน ตฺ เข้ามาในภาษาบาลีคล้อยตามนัยสันสกฤตที่มีรูปเป็นสังโยคว่า รตฺนตฺรย (รตฺน + ตฺรย) เมื่อมาสู่ภาษาบาลี ร ถูกกลืนเป็น ต ดังนี้

ตฺรย > ตฺตย > ตย เมื่อสมาสกับคำอื่นจึงต้องซ้อน ตฺ เข้ามา แต่ถ้าอยู่ลำพัง ตฺต ก็ลดเหลือเพียง ต

§ คำว่า รตนตฺตย ไม่สามารถแปลงเป็น รตนตฺย เหมือน ปฏิสนฺถารวุตฺยสฺส (ปฏิสนฺถารวุตฺติ + อสฺส) เนื่องจากไม่ได้มาจากรูปเดิมว่า รตนตฺติ เวลาเข้าสมาสและทำสนธิกับ อานุภาเวน จึงมีรูปตามปกติว่า รตนตฺตยานุภาเวน หากมีผู้แย้งว่า รตนตฺยานุภาเวน ลบ ต เพื่อรักษาฉันท์ก็ไม่มีเหตุอันควร เพราะทำให้เสียรูปศัพท์ทางภาษา ทั้งนี้บาทคาถาดังกล่าวสามารถใช้เป็นนวักขริกะได้


----------------------

¹ในสีลขันธวรรค อภินวฎีกา แสดงวิเคราะห์ไว้ว่า ติณฺณํ สมูโห,

ตีณิ วา สมาหฏานิ, ตโย วา อวยวา อสฺสาติ ตยํ.

² สํขฺยายา อวยเว ตยปฺ. (Pāṇini 5.2.42), อํเศ สํขฺยายาสฺ ตยฏฺ. (Cān. 4.2.46)

³ ทฺวิตฺริภฺยำ ตยสฺยายชฺ วา. (Pāṇini 5.2.43), ทฺวิตฺริภฺยามยฑฺ วา. (Cān. 4.2.47) 

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.