พรหม ในทางพระพุทธศาสนา มี ๓ นัย คือ
๑. นัยที่เป็นปุคคลาธิษฐาน ซึ่งก็ได้แก่บุคคลผู้เจริญสมถกรรมฐานแล้วได้บรรลุรูปฌาน (ปฐมฌาน-ปัญจมฌาน) หรือบรรลุ อรูปฌาน (อา. วิญ. กิญ. เน) แล้วไปเกิดในรูปภูมิ และอรูปภูมิ ฯ บุคคลผู้ไปอุบัติใน รูปภูมิ ๑๖ อรูปภูมิ ๔ ดังกล่าวมานี้ เรียกว่า “พรหม”
๒. นัยที่เป็นธรรมาธิษฐาน “พรหม” เป็นการเรียกขั้นแห่งจิตคือ รูปาวจรจิต และ อรูปาวจรจิต เพราะจิตเหล่านี้เข้าถึงความเป็นจิตที่ประเสริฐ (พรหม แปลว่า ประเสริฐ) หรือเรียกอย่างหนึ่งว่า “มหัคคต” (เข้าถึงความเป็นใหญ่และประเสริฐ)
๓. นัยที่เป็นไปในเชิงสำนวนเทศนาโวหาร ตามความหมายของพระพุทธเจ้า ใช้ในลักษณะคุณนาม หรือวิเสสนะ เช่น คำว่า “พรหมวิหาร ธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งบุคคลผู้ประเสริฐ, พรหมจรรย์ การประพฤติที่ประเสริฐ, พรหมจารี ประพฤติประเสริฐ คือวัตรปฏิบัติที่เว้นการมีเพศสัมพันธ์ อย่างเช่น ศีลข้อที่ว่าด้วย อพรหมจริยา เวรมณี, ถ้าเป็นคำนาม ใช้กับหญิงที่เป็นโสด ไม่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับชาย…)
พุทธศาสนา แบ่งลำดับขั้นของจิตไว้ ๔ อย่าง คือ
๑. กามาวจรจิต คือจิตที่รับหรือเสพกามคุณอารมณ์เป็นส่วนใหญ่
๒. รูปาวจรจิต คือ จิตที่รับหรือเสพอารมณ์กรรมฐานที่เข้าถึงความเป็นฌาน อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ
๓. อรูปาวจรจิต คือ จิตที่รับหรือเสพอารมณ์ที่ปราศจากรูป (ไม่ยินดีพอใจในรูปอารมณ์)
๔. โลกุตตรจิต คือ จิตที่รับนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียว
รูปาวจรกุศลจิต ก่อให้เกิดวิบาก คือ รูปาวจรวิบาก และทำหน้าที่ปฏิสนธิ เป็นรูปพรหม ๑๕, ส่วนอสัญญสัตตภูมิ ปฏิสนธิด้วย รูปชีวิตินทรีย์
อรูปาวจรกุศลจิต ก่อให้เกิดวิบาก คือ อรูปาวจรวิบาก และทำหน้าที่ปฏิสนธิในอรูปภูมิ เป็นอรูปพรหม ๔ จำพวก
เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวคำว่า “พรหม” ในพระพุทธศาสนา จะต้องกล่าวถึงธรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน อย่างน้อย ๆ ๔ อย่าง คือ
– กรรม การกระทำ ที่ทำให้บุคคลสามารถเป็น “พรหม” ได้แก่ การเจริญสมถกรรมฐาน
– จิต คือจิตที่เข้าถึงความเป็นฌานจิต (รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต) ที่ก่อให้เกิดวิบาก คือปฏิสนธิจิต ที่เป็นตัวเกิดเป็นพรหม (ในข้อนี้ต้องรวมถึง รูปชีวิตินทรีย์ด้วย ที่นำให้เกิดเป็นอสัญญสัตตพรหม)
– บุคคล คือตัวตนของพระพรหม ประกอบด้วยขันธ์เดียวบ้าง (อสัญญสัตตพรหม), ประกอบด้วยขันธ์ ๔ บ้าง (อรูปพรหม ๔) และประกอบด้วยขันธ์ ๕ บ้าง (ได้แก่ รูปพรหม ๑๕ ชั้น)
– ภูมิ หมายถึง สถานที่เกิดหรือสถานที่อุบัติของพระพรหม มีพรหมปาริสัชชาภูมิ เป็นต้น จนถึง อกนิฎฐาภูมิ เป็นที่สุด ฯ
คุณลักษณะของพรหม ในทางพุทธศาสนา (เอาที่เด่น ๆ )
– ไม่มีภาวเพศ (ภาวรูป ไม่มี) เพราะไม่มีความยินดีพอใจในกามคุณอารมณ์
– มีเพียง จักขุปสาท และโสตปสาท (เห็นได้ ฟังเสียงได้) แต่ไม่มี ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท (ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่มีสัมผัส เย็น-ร้อน-อ่อน-แข็ง-หย่อน-ตึง)
(ถ้าเป็นอสัญญสัตตพรหม ไม่มีปสาทรูปทั้งหมด และไม่มีจิตวิญญาณ มีเพียงรูปขันธ์เท่านั้น และดำรงอยู่ได้ด้วยชีวิตรูป
– ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยนามอาหาร ๓ คือ ผัสสะ, เจตนา, และจิต (ไม่มีกพฬีการาหาร)
– ระงับกามจิต และโทสจิตได้ด้วยอำนาจแห่งองค์ฌาน (วิกขัมภนปหาณ) (พรหมไม่มีความโกรธ ไม่มีความต้องการด้วยกามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ)
* อรูปฌาน ที่ทำให้เกิดเป็นอรูปพรหม มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา และเอกัคคตา อนุโลมเข้าในปัญจมฌาน
-------------------
VeeZa
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ