การแก้กรรม ทำได้หรือไม่ 

คำว่า “แก้กรรม” ตามความเข้าใจของชาวบ้าน น่าจะหมายถึง “แก้ไขผลของกรรม” คือ แก้ผลของกรรม(การกระทำ) ให้มันเบาลง หรือไม่ให้มันส่งผล (คำว่า กรรม ในที่นี้ ก็คงหมายเอา กรรมที่เป็นบาป อกุศล) ชาวบ้าน หรือแม้แต่พระหลาย ๆ รูป เวลาพูดก็ยังสับสน “พูดกรรมเป็นวิบาก, พูดวิบากเป็นกรรม” พูดเหตุเป็นผล พูดผลเป็นเหตุ… มั่วกันไปหมด แต่บางที่ เขาพูดผิด แต่เข้าใจถูกต้องก็มี เหมือนกับคำว่า “แก้กรรม” นี่แหละ

คำพูดของมนุษย์ ว่าโดยสรูปแล้ว มี ๒ ลักษณะ คือ

๑. พูดไปตรง ๆ (มุขยนัย) ตามที่มันปรากฎเป็นจริง ทั้งโดยสมมติและปรมัตถ์ เช่นพูดว่า “ประยุทธ์ กำลังพูด” คือกำลังเห็นประยุทธ์กำลังพูดพอดี ก็พูดออกไปตรง ๆ

๒. พูดแบบอ้อม ๆ (อุปจารนัย) พูดอีกอย่างหนึ่ง แต่หมายเอาอีกอย่างหนึ่ง เช่น พูดว่า “เตะมุม” (ศัพท์การแข่งขันฟุตบอล) เวลาเตะจริง ๆ ไม่ได้เตะมุมนะ เตะลูกฟุตบอลต่างหาก ถ้าจะพูดให้ตรงจริง ๆ ต้องพูดว่า “เตะลูกฟุตบอลที่มุมสนาม” หรือคำพูดที่ว่า “ตำรวจจับน้ำมันเถื่อนกลางอ่าวไทย” เวลาตำรวจไปจับจริง ๆ ไม่ได้จับน้ำมันนะ แต่จับคนขนน้ำมันเถื่อนต่างหาก ….อย่างนี้เป็นต้น..

แก้กรรม แก้ได้ไหม ? ตามศัพท์ กรรมที่ทำไปแล้ว แก้ไม่ได้ คือจะแก้ว่า ไม่ได้ทำ มันแก้ไม่ได้หรอก. หรือกรรมชั่ว (อกุศลกรรม) จะไปแก้ว่าเป็น กรรมดี (กุศลกรรม) ก็ไม่ได้  นี่หมายถึงตามนัยะที่เป็นจริง ในทางพุทธศาสนา กรรม(การกระทำ) ที่ทำแล้ว ทางกาย วาจา และใจ ทำเสร็จแล้ว ก็ล่วงเลยไป มุ่งหมายเอาตัวเจตนา มันเกิดขึ้นแล้ว มันก็ดับไป จะทำใหม่ ก็ต้องถือว่า เป็นกรรมใหม่ เพราะเป็นเจตนาดวงใหม่ เป็นวิถีจิตอันใหม่… จะลบกรรมออก เหมือนกดปุ่ม Del เหมือนที่แป้นคีย์บอร์ด ไม่ได้…

แต่ถ้าเป็นการกระทำในทางโลก ที่มีกฎหมาย มีผู้ฟ้องร้อง มีจำเลย มีผู้ตัดสิน โดยสมมติบัญญัติตรงนี้ บางครั้งการตัดสิน แม้จำเลยกระทำ แต่อาจตัดสินว่า “ไม่ได้กระทำ” ก็ได้ หรือ จำเลยไม่ได้กระทำ แต่ตัดสินว่า “กระทำ” ก็ได้ เพราะเหตุว่า มันมีสมมติเงื่อนไขในลักษณะต่าง ๆ เข้ามาประกอบในการตัดสิน

“เราแก้กรรมไม่ได้” แต่จะแก้ผลกรรม (ผลที่เกิดจากการกระทำ) ได้ไหม ? ตามหลักของพุทธศาสนา ต้องทำความเข้าใจคำว่า “แก้” เสียก่อนว่า มุ่งหมายเอาขอบเขตขนาดไหน ? กรรมที่บุคคลกระทำลงไปแล้วนั้น ย่อมแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. กรรมมีผล กรรม ๒๙ (อกุศลกรรม ๑๒, มหากุศลกรรม ๘, มหัคคตกุศลกรรม ๙) รวม ๒๙

๒. กรรมไม่มีผล กรรมที่ไม่ส่งผล (อโหสิกรรม) เพราะให้ผลไปแล้ว – เพราะล่วงเลยกาลเวลาให้ผล (คือกรรม ๒๙ นั่นแหละ แต่เป็นอโหสิกรรม เพราะ-ให้ผลไปแล้ว และเพราะล่วงเลยการเวลาให้ผล)

*คำว่า “กรรมที่ให้ผลไปแล้ว กรรมนั้น เป็นอโหสิกรรมนั้น” ยกตัวอย่างเช่น กรรมที่ส่งผลให้เกิดเป็นมนุษย์ (วิบากจิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิในมนุษย์โลก) หลังจากที่บุคคลนั้นปฏิสนธิด้วยจิตที่ถือกำเนิดเป็นมนุษย์แล้ว ปฏิสนธิจิตดวงนั้นก็ถือว่าเป็นผลกรรมที่ให้ผลแล้ว เมื่อให้ผลแล้ว ก็ต้องถือว่าหมดหน้าที่ คือไม่ส่งผลอีกต่อไป จึงเรียกโดยอนุโลมว่า “อโหสิกรรม” …. หรือเหมือนตัวอย่างในทางโลก “บุคคลทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง และถูกศาลตัดสินลงโทษติดคุก ๕ ปี เมื่อเขาถูกจำคุกครบ ๕ ปีแล้ว เขาก็พ้นโทษ ฯ กรรมที่ส่งผลให้รับโทษติดคุก ๕ ปีนั้นก็สิ้นสุดลง กลายเป็นอโหสิกรรมไปทันที ฯ

* คำว่า “เพราะล่วงเลยกาลเวลาให้ผล จึงเป็นอโหสิกรรม” นั้น หมายความว่า โดยปกติแล้ว เมื่อเราทำกรรมขึ้น (ทางกาย วาจา ใจ) จะเป็นบุญ หรือเป็นบาปก็ตาม จะมีชวนะจิต (กุศล-อกุศลชนวะ) ซึ่งทำหน้าที่เสพคุ้นอารมณ์ เกิดขึ้น ๗ ขณะ และชวนะจิตทั้ง ๗ ดวงนี่เอง จะกำหนดเวลาแห่งการให้ผลไว้เป็น ๓ ระยะ คือ

– ชวนะดวงที่ ๑ จะให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ (ทิฏฐธัมมะเวทนียะ) ถ้าเลยจากชาตินี้ไป มันจะไม่ส่งผล มันจะเป็นอโหสิกรรมทันที อุปมาเหมือน คนทำผิดในทางโลก เขาจะต้องถูกจับกุมและถูกตัดสินลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ไม่ถูกจับกุม และไม่ถูกตัดสินลงโทษ เมื่อเสียชีวิตลง โทษที่จะต้องได้รับเพราะทำผิดกฎหมายในปัจจุบันชาตินี้ ก็ต้องถือว่า สิ้นลง คือไม่มีผลอีกต่อไป .. หรืออีกอย่างหนึ่ง โทษที่มีอัตรากำหนดเวลาไว้ ๒๐ ปี เมื่อพ้นเวลา ๒๐ ปีไป ก็ต้องถือว่า โทษนั้นได้หมดสิ้นไป แม้ไม่ได้ถูกลงโทษเพราะหนีไปอยู่ต่างประเทศ เป็นต้น…. อย่างนี้ก็เรียกว่า อโหสิกรรม (ไม่มีผล)

– ชวนะดวงที่ ๗ จะส่งผลในขณะปฏิสนธิกาล คือกำลังเกิดในภพภูมิต่าง ๆ (อุปปัชชะเวทนียะ) ถ้าหากว่ากรรมใด ๆ ที่ทำไปแล้ว และมีวิบากที่ต้องปฏิสนธิในภพที่สองหลังจากตายไปแล้ว ไม่ส่งผลในขณะปฏิสนธิกาลนั้น ล่วงเลยปฏิสนธิกาลนั้นไป กรรมนั้น ๆ ย่อมเป็นอโหสิกรรมทันที คือหมดโอกาสให้ผลในขณะปฏิสนธิกาล

– ชวนะดวงที่ ๒-๖ รวม ๕ ดวง จะส่งผลในภพต่อ ๆ ไปหลังจากเกิดในภพภูมิต่าง ๆ แล้ว (อปราปรเวทนียะ) ถ้าล่วงเลยกาลเวลาให้ผลไป ก็จะเป็นอโหสิกรรม ซึ่งการเป็นอโหสิกรรมของชวนะดวงที่ ๒-๖ นี้ จะเกิดแก่พระอรหันต์ เท่านั้น คือ หมายความว่า อดีตกรรมต่าง ๆ ของผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ที่เคยทำกรรมไว้ในตอนที่ท่านเองยังเป็นปุถุชน ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติมาแล้ว ที่ยังติดตามท่านอยู่ เมื่อท่านดับขันธปรินิพพานลง (ตาย) อปราปรเวทนียกรรมทั้งหมดนั้น ย่อมถือว่า สิ้นสุดลง เป็นอโหสิกรรม เพราะมันไม่อาจจะตามไปให้ผลแก่พระอรหันต์ที่ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เพราะว่าท่านไม่มีขันธ์ ๕ ที่จะไปเกิดในภพใหม่ ที่จะตามส่งผลได้อีกแล้ว (อนุปาทิเสสนิพพาน)

* ผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และยังมีชีวิตอยู่ กระทำสิ่งใด ๆ ลงไป ไม่จัดว่าเป็น “กรรม” แต่ให้เรียกว่า “กิริยา” เพราะการกระทำนั้น ไม่ส่งผลให้เกิดปฏิสนธิวิบากในภพต่อ ๆ ไป*

สำหรับปุถุชน และผลเสกขบุคคล ๓ (เว้นพระอรหันต์) เมื่อทำกรรมใด ๆ ลงไปแล้ว ย่อมมีผลคือ ปฏิสนธิวิบาก ฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า เป็นกรรม

พระอริยบุคคล ๓ (เว้นพระอรหันต์) เมื่อทำกุศลกรรมในลักษณะต่างๆ กุศลกรรมนั้นจะก่อให้เกิดวิบาก (ปฏิสนธิวิบาก) นำไปเกิดในสุคติภูมิต่าง ๆ ได้ เช่นมนุษย์ เทวดา, ถ้าได้รูปฌาน อรูปฌาน ก็ไปเกิดในรูปพรหม อรูปพรหม

* สำหรับผล (ผลจิต) ที่เกิดแก่พระอริยบุคคลทั้ง ๔ (โสดา-สกทาคา-อนาคา-อรหันตะ) นั้น แม้เป็นผล หรือเป็นวิบาก แต่ไม่เป็นตัวที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิวิบากในภพต่อ ๆ ไป

ว่าโดยหลักของการให้ผลของกรรม (การกระทำ) ในทางพุทธศาสนาแล้ว จะมีการให้ผลตามทวารทั้ง ๖ คือ

ทางตา  (จักขุวิญญาณ)  เห็นสิ่งที่ดี  หรือ ไม่ดี (จักขุวิญญาณนั่นแหละเป็นผลของกรรมที่เป็นบุญและบาป)

ทางหู  (โสตวิญญาณ) ฟังเสียงที่ดี และไม่ดี (โสตวิญญาณนั่นแหละเป็นผลของกรรมที่เป็นบุญและบาป)

ทางมูก (ฆานวิญญาณ) ได้กินที่ดี และไม่ดี (ฆานวิญญาณนั่นแหละเป็นผลของกรรมที่เป็นบุญและบาป)

ทางลิ้น (ชิวหาวิญญาณ) รับรสที่ดีและไม่ดี (ชิวหาวิญญาณนั่นแหละเป็นผลของกรรมที่เป็นบุญและบาป)

ทางกาย (กายวิญญาณ) รับโผฏฐัพพารมณ์ที่ดี และไม่ดี (กายวิญญาณนั่นแหละเป็นผลของกรรมที่เป็นบุญและบาป)

ทางใจ มีการรับอารมณ์ พิจารณาอารมณ์ ใคร่ครวญอารมณ์ และทำหน้าที่ปฏิสนธิ (สัมปฏิจฉนะ, มโนทวาราวัชนะ, ตทารัมมณะ, และปฏิสนธิจิต ๑๙  นั่นแหละ เป็นผลของกุศล อกุศลกรรม)

สรูปว่า แท้จริงแล้ว เราสามารถแก้ไขผลของกรรมนั้น ๆ ได้ด้วย การทำให้ผลกรรมนั้น…

อ่อนกำลังลง โดยการไม่ทำอกุศลกรรมนั้นบ่อย ๆ เพราะถ้าทำบ่อย ๆ บาปอกุศลกรรมนั้นมันจะเพิ่มพลังขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนอย่างที่บุคคลจะตัดความโกรธ อันดับแรก อย่าพยายามนึกถึงวัตถุ หรือบุคคลที่ทำให้เกิดความโกรธ อย่าไปพบเห็น หรือได้ยินได้ฟังสิ่ง หรือบุคคลที่เราไม่ชอบ…. บางคน พอเห็นหน้าไอ้เทือก ก็โกรธ ได้ฟังมันพูดก็โกรธ …เรียกว่าสั่งสมความโกรธไว้เยอะ บางที ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินมันพูด เห็นเงามันยังโกรธ เห็นนกหวีด ยังโกรธ …. หนัก ๆ เข้า แค่นึกถึงมัน ก็โกรธแล้ว… นี่เรียกว่าไปเพิ่มพลังความโกรธ (อกุศลกรรม) ไว้

ให้ผลกรรมนั้น ๆ ตามไม่ทัน ส่งผลไม่ได้ ด้วยการกระทำกุศลกรรม แล้วให้ผลของกุศลกรรมนั้นขัดขวางไว้ ไม่ให้ผลแห่งอกุศลกรรมมีโอกาสส่งผลได้ อย่างที่ท่านอุปมาไว้ว่า “ผลแห่งบาปอกุศลนั้น เป็นประดุจดังสุนัขล่ากวาง หรือเก้ง เมื่อกวาง หรือเก้งยังมีกำลังวิ่งไปอยู่ สุนัขล่าเนื้อก็ตามไม่ทัน ยิ่งถ้าสุนัขนั้นอ่อนล้า วิ่งช้าลง กวางหรือเก้งกลับมีกำลัง ย่อมวิ่งทิ้งห่างสุนัขนั้นและหนีรอดไปได้ฉันใด เมื่อบุคคลสร้างสมบุญกรรมไว้บ่อย ๆ ย่อมปิดโอกาสไม่ให้บาปอกุศลส่งผลได้ ย่อมทิ้งห่างอกุศล(บาปเคราะห์)นั้นไป ฉันนั้น การแก้กรรม (ผลของกรรม) จึงสามารถทำได้ โดยลักษณะดังที่กล่าวมานี้ ฯ 

เหมือนกับการที่บุคคลไปหาหมอดู แล้วหมอดูได้ทำนายทายทักว่า กำลังประสบเคราะห์ ให้ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ในลักษณะต่าง ๆ เช่น  ให้ทำสังฆทานบ้าง. ให้ปล่อยนกปล่อยปลา บ้าง.  ให้บวชชีพราหมณ์ ถือศีลกินเจบ้าง…เป็นต้น  ถามว่า เขาแนะนำอย่างนั้น เพื่ออะไร ? ตอบว่า – ก็เพื่อเป็นการสร้างบุญกุศล และให้ผลของบุญกุศลนั้น ปิดกั้นไม่ให้บาปอกุศล (เคราะห์) นั้นส่งผลได้  นี่แหละเป็นการแก้กรรม (ผลของกรรม)


———————

VeeZa

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.