กรณี สุรพศ ทวีศักดิ์ วิจารณ์เกี่ยวกับกรณี ธัมมชโย
สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาปรัชญา / เขียนบทความเกี่ยวกับพุทธศาสนาในแง่มุมของปรัชญาและสิทธิเสรีภาพ หลาย ๆ บทความก็เขียนได้ดี ตรงไปตรงมา แต่ในด้านความลึกซึ้งในทางพุทธศาสนาแล้ว ยังไม่ถึงระดับ / หลาย ๆ ครั้ง มองแง่มุมพุทธศาสนาผิดไปจากความมุ่งหมายในทางด้านหลักการและเหตุผลของพุทธศาสนา …
กรณีธรรมกาย และธัมมชโย ก็วิจารณ์ได้ในระดับที่เป็นกลางพอสมควร ในทางความลึกซึ้งของศาสนธรรมที่พระธัมมชโย สอนผิดพลาด หรือเข้าใจผิด ระดับของ สุรพศ ย่อมชี้ชัดไม่ได้ว่า ผิดตรงไหน อย่างไร และมีผลเสียหายใหญ่หลวงอย่างไร
ความเป็นมาและเป็นไปของวัดธรรมกายต้องยอมรับว่า ผสมผสานกันระหว่างทางโลก และทางธรรม เข้ากันได้ดีและเป็นไปได้ดีอย่างมีนัยะสำคัญ แบ่งออกเป็น ๔ หมวดใหญ่ ๆ คือ
๑. การจัดการเกี่ยวกับสถานที่
๒. การจัดการเกี่ยวกับบุคคลากร
๓. การจัดการเกี่ยวกับศาสนธรรมคำสอน
๔. และการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินเครื่องอำนวยความสะดวก
– เริ่มต้น เกิดจากแนวคิดจัดการเกี่ยวกับเรื่องศาสนวัตถุ คือวัด เปลี่ยนแปลงไปจากวัดทั่ว ๆ ไป โดยนำวิธีการทางโลกเข้ามาผสมผสาน ทำวัดให้เป็นสถานที่รื่นรมย์ มีระเบียบ เป็นที่สบายตาสบายใจแก่ผู้ได้พบเห็น
– การจัดการเกี่ยวกับบุคลากร เป็นส่วนสำคัญมาก ทุกคน ไม่ว่านักบวช ที่เป็น พระ สามเณร ฆราวาส ผู้ถือศีล ตลอดจนบริกรต่าง ๆ ธุรการบุคคลต่าง ๆ… เป็นระบบ ระเบียบ มีแบบแผนชัดเจน
– การจัดการเกี่ยวกับศาสนธรรม คำสอน ในเรื่องของการทำสมาธิ ต้องยอมรับว่า เบื้องต้น และพื้นฐานนั้นเป็นไปได้ดีมาก เป็นการทำกรรมฐาน แบบง่ายที่สุด และมีโอกาสเห็นผลได้เร็วที่สุด พอสงเคราะห์ได้กับกายคตาสติกรรมฐาน ผสมผสานกับอาณาปานัสติ (ซึ่งเป็นสมถกรรมฐาน) ทำให้ผู้ไปฝึกฝนได้ความสงบ และเกิดความสุขอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อเกิดความสุข ทุกคนก็สบายใจเลื่อมใสศรัทธา ยิ่งสุขมากก็เลื่อมใสมากเป็นทวีคูณ ประกอบกับคำพูด และสภาพแวดล้อม บุคคลต่าง ๆ ที่หลากหลายสถานะ ส่วนมากก็ปรากฎเป็นคนชั้นกลางขึ้นไป…ซึ่งคนชั้นกลางนั้นเหน็ดเหนี่อย ฟุ้งซ่านกับการทำงานทั้งวัน พอได้ทำสมาธิ จิตสงบ ก็สบายใจมีความสุข “นัตถิ สันติ ปะรัง สุขํ สุขอื่นยิ่งไปกว่าความสงบ ไม่มี”. // แต่พอบรรยายไป ๆ เข้าสู่หมวดที่ลึก ๆ แล้ว จะมีคำพูดแปลก ๆ ทำให้เพี้ยน ๆ ออกไป เช่นคำว่า ธรรมกาย, ปฐมมรรค, นิพพาน, อัตตา… / และเมื่อมีการอธิบายคำว่า “ธรรมกาย” ไปปนเปกับสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ยิ่งเละเทะไปกันใหญ่ … ไม่รู้ส่วนไหนเป็นสมถะ ส่วนไหนเป็นวิปัสสนา … อารมณ์ของกรรมฐานก็เพี้ยน ๆ ไป ไม่แน่ชัด…ฯ ถ้าเพียงแค่ทำให้จิตสงบ ถือได้ว่าทำได้ดีทีเดียว เป็นกรรมฐานที่เหมาะสมแก่คนทุกวัย พอจิตสงบ ก็ทำให้เกิดความสุข เกิดปีติ สอนอะไรเชื่อหมด ให้ทำอะไรทำได้หมด ให้บริจาคอะไร ก็บริจาคได้หมด บางคนเงินของตนเองก็ไม่ค่อยมี ไปกู้หนี้ยืมสินเขามาบริจาค ก็มี….นี่ประสบด้วยตนเอง… (เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างหนึ่งว่า ชาวพุทธน้อยคนนักที่จะมีเวลาศึกษาคำสอนของพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้งจริงจัง เป็นแบบเป็นแผน)
– การจัดองค์กรเผยแผ่ ก็เช่นเดียวกัน มีการขยายบุคลากรของตนออกไปยังต่างจังหวัด แทบทุกจังหวัด ตลอดจนถึงไปยังต่างประเทศ เป็นสำนักสงฆ์ เป็นวัด… สั่งสอนศาสนธรรมแบบเดียวกันหมด พอมีงานสำคัญ ๆ เช่น มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา ก็จะกะเกณฑ์กันมาทุกสารทิศ จากสำนัก จากสาขาที่ถูกส่งไปอยู่ยังต่างจังหวัดและต่างประเทศ มีทั้งพระ สามเณร ฆราวาส ญาติโยม…..
เมื่อมีคนมาเยอะ ๆ ค่าใช้จ่ายก็เยอะตามไปด้วย วิธีการ พิธีกรรมในการทำบุญเรียกทรัพย์สินเงินทองจากผู้ที่มาร่วมเนื่องในพิธีกรรมต่าง ๆ ก็มีตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ทำบุญอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ายานพาหนะ …ตลอดจนซื้อผ้าไตร ถวาย (พระที่ไปร่วมงานทุกองค์จะได้รับการถวายผ้าไตรใหม่ และทุกองค์จะต้องนุ่งห่มผ้าไตรใหม่นั้นให้เป็นสีเดียวกันหมด / สมมติมีพระไปในกิจกรรมนั้นหนึ่งหมื่นรูป ถวายผ้าไตร หนึ่งหมื่นไตร ผ้าไตร ๆ ละ หนึ่งพันบาทอย่างต่ำ จะเป็นเงินเท่าไร 10,000 x 1,000=10,000,000) นี่แค่ผ้าไตร, ยังมีผ้าอาบน้ำฝน, ชุดขาวของฆราวาสชาย-หญิง, ธูป เทียน ดอกไม้ ประทีป, ผ้ารองนั่ง, กลด…
“เผด็จ ทัตตะชีโว” ได้เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่ง สมัยที่ผู้เขียนบทความนี้ ไปธุดงค์ที่วัดธรรมกาย ประมาณต้นปี 2529 ช่วงเดือนมีนาคม ตรงกับกิจกรรมมาฆบูชา ไปปักกลดกลางทุ่งนาที่มีแต่ก้อนดินขรุขระเพราะเพิ่งปรับสถานที่ใหม่ ๆ กลางแสงแดดที่แผดจ้า ปฏิบัติธุดงค์ที่นั่น ๑๕ วัน… เผด็จ ทัตตะชีโว กล่าวว่า “…การบริหารจัดการวัด สถานที่ต่าง ๆ ได้อย่างนี้ เราต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก เราต้องการให้คนเข้ามายังวัดเรามาก ๆ เพราะเมื่อมีคนเข้ามามาก ๆ เราก็จะได้เงินมาก ๆ เพราะเงินมากับคน” ผู้เขียนบทความก็นึกในใจว่า ท่านพูดไม่อายเลยนะ จริง ๆ แล้ว เงินกับพระนี่คือ อสรพิษแท้ ๆ ต่อไปภายภาคหน้า พวกท่านจะเดือดร้อนเพราะเรื่องเงินแน่แท้…ฯ
เงิน ทอง แม้ว่าจะได้มาอย่างถูกต้องบริสุทธิ์ สำหรับพระภิกษุแล้ว ย่อมถือว่าเป็นอาบัติ (นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์, จำต้องสละคืนจึงแสดงอาบัติตก) เมื่อรับด้วยมือของตน หรือเก็บไว้เป็นสมบัติของตน หรือถึงแม้ให้ผู้อื่นเก็บไว้เพื่อตน และตนยินดีในเงินและทองนั้น ก็ถือว่า เป็นอาบัติเช่นเดียวกัน ไม่จำต้องกล่าวในส่วนที่ได้มาอย่างไม่บริสุทธิ์ มีโอกาสก่อให้เกิดอาบัติได้สูงสุดคือ ปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที…แม้จะห่มผ้าเหลืองอยู่ต่อไป ก็ไม่จัดว่าเป็นอุปสัมบัน ไม่มีฐานะเป็นพระได้ ประดุจเอาผาเหลืองไปห่มตอไม้ ฉะนั้นฯ
ในทางพุทธศาสนา ประชาชน จะมีความเลื่อมใสศรัทธาไม่เหมือนกัน ท่านแบ่งออกเป็น ๔ จำพวก คือ
๑. รูปัปปมาณิกา เกิดความเลื่อมใส่ เพราะถือรูปร่างกายเป็นประมาณ (ทำนองว่า พระรูปนี้หล่อ หน้าตาดี ผิวพรรณดี ก็เลยเลื่อมใส)
๒. โฆสัปปมาณิกา เกิดความเลื่อมใส เพราะถือเอาเสียงการแสดงธรรมเป็นประมาณ (พระเสียงดี พูดไพเราะ มีจ๊ะ มีจ๋า ..ทำนองนั้น)
๓. ลูขัปปมาณิกา เกิดความเลื่อมใส เพราะถือเอาความเศร้าหมองเป็นประมาณ (คือเห็นพระนุ่งห่มผ้าสีเก่า ๆ สีกรัก สีแก่นขนุน ผ้าคล้ำ ๆ ดำ ๆ ก็เกิดความเลื่อมใส)
๔. ธัมมัปปมาณิกา เกิดความเลื่อมใส เพราะถือเอาธรรมะที่ท่านแสดงเป็นประมาณ (คือท่านแสดงธรรมได้ดี มีหลักมีฐาน มีเหตุ มีผล แสดงได้ลึกซื้ง…. เป็นต้น)
ธรรมกาย อาจจะมีเพรียบพร้อม ทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งสถานที่ วิธีการ และธรรมะ… ทั้งบุคคล บางคนเห็นคนไปกันมาก ๆ ก็ตามเขาไป บางคนก็ถูกชักชวนไป….// การเข้าวัด ฟังธรรม ย่อมเป็นสิ่งที่ดี อย่างน้อยก็เป็นอุปนิสัย ถ้าถือบวช ไม่ว่าจะเป็นเพียงแค่บวชนุ่งขาวห่มขาว ถือศีล ๘ ก็จัดได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นของ เนกขัมมบารมี … ถ้าให้ทาน ก็เป็นทานบารมี รักษาศีล ก็ศีลบารมี… เป็นต้น
หลักการสำคัญของการนับถือ หรือเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
– อย่ายึดติดในศาสนบุคคล พระภิกษุ สามเณร หลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อ หลวงพี่….. เป็นศาสนบุคคล ถ้าเป็นปุถุชน ย่อมมีคติที่ไม่แน่นอน … เราอาจมองเห็นผิด เป็นถูก มองถูกเป็นผิดได้…
– ให้ยึดเอาพระรัตนตรัย เป็นสิ่งสำคัญ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (พระพุทธเจ้า แม้ปรินิพพานไปแล้ว แต่ก็นับถือเป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึกได้ อนึ่ง พระพุทธเจ้า ก็คือพระธรรม พระธรรม ก็คือ พระพุทธเจ้านั่นแหละ อย่างที่ท่านตรัสไว้ว่า “โย ธมฺมํ ปสฺสติ, โส มํ ปสฺสติ, โย มํ ปสฺสติ, โส ธมฺมํ ปสฺสติ” ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา, ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นก็ชื่อว่าเห็นธรรม / ในส่วนของพระสงฆ์นั้น ตามหลักที่ท่านกล่าวไว้ในบทสวดสังฆคุณ พระสงฆ์ หรือสังฆรัตนะนั้น ได้แก่ พระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ จำพวก คือ พระโสดาบัน, สกทาคามี, อนาคามี, อรหันต์ นับเป็น ๘ โดยแยกเป็น มรรคบุคคล ๔ ผลบุคคล ๔ ฯ ข้อที่ควรทำความเข้าใจก็คือว่า สังฆรัตนะนั้น มิได้หมายเอาเฉพาะพระภิกษุ แต่หมายเอาพุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันบุคคลขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์ ข้อนี้ยังมีชาวพุทธ ๙๙.๙๙% ไม่เข้าใจ ยังเข้าใจว่า “สังฆรัตนะ” คือพระสงฆ์คนที่โกนผมห่มเหลือง ทั่ว ๆ ไป นั่นเป็นความเข้าใจผิด ภิกษุแม้ปลงผม ห่มเหลือง ได้อุปสมบทแล้ว ถ้ายังไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ไม่จัดว่าเป็น สังฆรัตนะ ก็เป็นพระภิกษุธรรมดา ถ้ารวมกันเป็น ๔ รูป เรียกว่า สงฆ์ ที่แปลว่า หมู่ มิใช่สงฆ์ที่เป็นสังฆรัตนะ ตามที่สวดกันในบทสวดสังฆคุณ (ในพระวินัย ภิกษุ ๑-๒ รูป เรียกว่า บุคคล, ภิกษุ ๓ รูปเรียกว่า คณะ, ภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป เรียกว่า สงฆ์ ที่แปลว่า หมู่))
ในส่วนคดี ของพระธัมมชโย แยกออกตามความเห็นได้ดังนี้
– ความผิดในพระธรรมวินัย ก็อาจมีอยู่ แต่ความผิดในพระธัมมวินัย ก็ต้องแก้ด้วยสงฆ์ หากเป็นอธิกรณ์ มีการฟ้องขึ้นด้วยภิกษุด้วยกัน ก็ต้องมีการสอบสวนสืบสวน ทำเป็นมติของสงฆ์ ใช้ อธิกรณสมถะ ๗ ประการ เข้ามาแก้ไข ฆราวาสทั้งหลาย ก็ไม่ควรเข้ามายุ่ง
– ความผิดบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องด้วยทางโลก เกี่ยวข้องกับกฎหมายทางโลก ว่าโดยรวมภิกษุทั่ว ๆ ไป ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายและกระบวนการตามกฎหมายของทางโลก เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะจัดการ คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็อย่านำตนเองเข้ามายุ่ง
– ความผิดของพระภิกษุ หลัก ๆ ๒ อย่างคือ บางอย่างผิดทางวินัยพุทธอาณาอย่างเดียว เช่น ฉันอาหารในยามวิกาล.. เป็นต้น ฯ บางอย่าง ผิดทางทางวินัยพุทธอาณาด้วยและผิดทั้งทางโลก คือผิดกฎหมายทางโลกด้วย เช่น ฆ่าคน ลักทรัพย์…เสพยาบ้า … เป็นต้น
ลักษณะความผิดในทางวินัยนั้น บางครั้งแม้ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้เป็นสิกขาบท แต่ก็สามารถเป็นอาบัติ หรือเป็นความผิดด้วยเหมือนกัน ถ้าการกระทำนั้น ๆ ไปเข้ากับบทบัญญัติ หรือเป็นไปในทำนองเดียวกันกับสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้วว่าสิ่งนั้นไม่ควร เช่น เสพยาบ้า, รับซื้อรถโบราณ ด้วยเงินของตนเอง … ไม่ได้มีบัญญัติไว้ในสิกขาบท 227 ข้อ แต่ยาบ้าเทียบเคียงได้กับของมึนเมา ทำให้ขาดสติ , ซื้อรถโบราณ ซื้อด้วยเงินตนเอง ก็ผิดอยู่แล้ว เพราะทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะ ของที่ใช้แทนเงินหรือทอง
แท้จริงแล้ว ภิกษุ จะรับสิ่งของได้ ก็ตามพระวินัย คือ ปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร, เสนาสนะ, ไตรจีวร, และยารักษาโรค ตามสมควรแก่สมณะ , สมบัติของภิกษุ จึงมีเพียง ๘ อย่าง (บริขาร ๘ ) คือ
1. อันตรวาสก (ผ้านุ่ง)
2. อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม)
3. สังฆาฏิ (ผ้าห่มซ้อน)
4. ประคตเอว
5. บาตร
6. เข็มเย็บผ้า
7. มีดโกน
8. ธัมกรก (กระบวยกรองน้ำ)
(ผ้า ๔, เหล็ก ๓, น้ำ ๑)
ข้อปลีกย่อย จากนี้ไป ก็จะอยู่ในหมวดของ อาหาร, ยารักษาโรค, เสนาสนะ ที่จะมีรายละเอียดปลีกย่อยตามมา… ทั้งหมด จะไม่มีสิ่งที่ภิกษุต้องไปซื้อ หรือแลกมาด้วยเงินหรือทอง …
*** วัตถุสิ่งของที่นอกจาก ปัจจัย ๔ และบริขาร ๘ นั้น ภิกษุ ปฏิเสธไม่รับก็ได้ หรือแม้เป็นปัจจัย ๔ ภิกษุผู้ถือธุดงค์ ก็สามารถปฏิเสธไม่รับได้เช่นกัน… เช่น ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถ้ามีใครเอามาถวายในวัด ก็ปฏิเสธได้ คือให้ไปถวายแก่ภิกษุรูปอื่น ๆ เป็นต้น ….
พวกที่บอกว่า พระปฏิเสธของที่ญาติโยมนำมาถวายไม่ได้ นั้น คือพวกที่ไม่ได้เรียนธรรมวินัยในพุทธศาสนาอย่างดีพอ… สักแต่พูด
สาธุชน หรือพระภิกษุ จะเลือกเอาอย่างไร ? จะทำถูกตามธรรมวินัย หรือจะทำผิดบ้าง….
เมื่อเลือกที่จะทำผิด ล่วงละเมิดบ้าง … ท่านก็ต้องคิดอยุ่เสมอว่า ผลแห่งบาปอกุศลนั้น มันมีจริง ๆ และมันกำลังทำหน้าที่ของมัน ไม่ว่าเราจะยินดีหรือไม่ยินดี พอใจหรือไม่พอใจ ผลแห่งการกระทำนั้น ก็ย่อมมีมา และบางครั้งมันก็เป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป…
ผลแห่งการกระทำผิดสำหรับพระภิกษุ หรืออุปสัมบัน จะมีลักษณะ ๒ อย่างคือ
๑. ผลแห่งการกระทำนั้น ไปขัดขวางหรือเป็นอันตราย (อาณาวีติกกมันตราย) แก่คุณธรรมที่ตนจะพึงได้พึงถึง คือ ฌาน อภิญญา มรรค ผล นิพพาน หมายความว่า เมื่อมีความผิด เป็นอาบัติอยู่และไม่กระทำคืนอาบัตินั้น ๆ อาบัตินั้น ๆ ก็จะเป็นอันตราย แก่ สมาธิ ปัญญา ขัดขวางการบรรลุคุณวิเศษดังกล่าวแล้ว
๒. ผลแห่งกรรมบางอย่างที่เป็นอาบัติแล้วยังเข้าถึงความเป็นกรรมบถ เช่น ฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์…เป็นต้น ย่อมก่อให้เกิดอกุศลปฏิสนธิวิบากในภพที่สองได้ หรือให้ผลในปวัตติกาลได้
๓. ผลแห่งการกระทำถ้าไปผิดกฎหมายในทางโลก ก็จะได้รับโทษตามกฎหมายในทางบ้านเมืองด้วย…
๔. ได้รับคำติฉินนินทา เสียเกียรติยศ กิตติศัพท์ในปัจจุบันชาตินี้…
ว่าโดยต้นสายปลายเหตุแห่งวัดธรรมกายแล้ว น่าจะค่อย ๆ เกิดมีมาเรื่อย ๆ ผู้เขียนบทความเองได้ทราบความเป็นมาเป็นไปและได้ประสบเหตุการณ์กับตนเอง ก็เมื่อได้บวชเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ พอจะได้ยินชื่อวัดธรรมกายอยู่บ้าง ก็ประมาณปี ๒๕๒๘ และได้ไปสัมผัสถึงสถานที่จริง ๆ ก็ปี ๒๕๒๙ และเรื่อย ๆ มาตลอดเวลาที่ยังบวชอยู่ ได้รู้ ได้ทราบความเคลื่อนไหวของวัดธรรมกาย และสาขาของวัดธรรมกายนี่ตลอด สาขาบางสาขาของวัดธรรมกาย ได้ไปประสบด้วยตนเอง… เรื่องราวต่าง ๆ นอกเหนือจากนั้น ก็มีเพื่อนสหธรรมิก ญาติโยมต่าง ๆ บ้าง เล่าให้ฟัง ในสมัยนั้น….
เรื่องค่อนข้างจะยาว แต่จับเอาความได้ว่า สมัยที่บวชใหม่ ๆ สอง – สามพรรษานั้น มีเหตุการณ์เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก เผยแผ่แบบเป็นอันตรายต่อพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก มีการลอกเลียนแบบพิธีกรรมพุทธศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทอดผ้าป่า มีโต๊ะหมู่บูชาวางไม้กางเขน ทำนองเดียวกับโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป … ทำสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ ธรรมะบางอย่างก็เอาไปจากพุทธศาสนา มีการบรรยาย เรื่องสติ เรื่องสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นหลักธรรมทางพุทธศาสนา ทำนองว่าในศาสนาคริสต์ก็มีเหมือนกัน เรียกผู้นำในศาสนาของตนว่า อภิสังฆราช สูงกว่าสังฆราชของชาวพุทธอีก หวังกลืนพุทธศาสนาให้ได้ ทั้งศาสนธรรม ศาสนบุคคล และศาสนพิธีกรรม …พระภิกษุที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อสู้ปะทะปรัปวาทกับลัทธิศาสนาคริสต์ในยุคนั้น มีหลายรูป และรูปที่สำคัญก็คือ เจ้าคุณระแบบ ฐิตญาโณ (พระพี่ชายต่างมารดาคุณจตุพร) วัดบวรนิเวศวิหาร ท่านเดินสายแสดงธรรม ตามงานปริวาสกรรมในสถานที่ต่าง ๆ ให้รู้เท่าทันศาสนาคริสต์ ให้พระทุกรูปในยุคนั้นตื่นตัว ช่วยกันต่อต้านลัทธิศาสนาคริสต์…และในขณะเดียวกัน ก็พูดพาดพิงถึงวัดพระธรรมกาย พูดถึงธัมมชโยด้วย ในทำนองว่าสอนผิดหลักการ และกำลังทำลายหลักการพุทธศาสนา เรื่องคำสอนว่า นิพพาน เป็นอัตตา สมัยนั้นถกเถียงกันมาก… ท่านเจ้าคุณระแบบ ไม่ได้โจมตีธรรมกายอย่างเดียวนะ สมัยนั้น สันติอโศก ก็เป็นปัญหา ก็ถูกโจมตีด้วยเรื่องไม่กินเนื้อกินสัตว์ พวกมังสวิรัติ… แม้แต่พุทธทาส สวนโมกข์ ก็ถูกเจ้าคุณระแบบโจมตีด้วย แต่ไม่รุนแรงเท่า สันติอโศก และธรรมกาย คือท่านเจ้าคุณระแบบโจมตีพุทธทาสว่า สอนหลักธรรมที่สูงเกินไป เรื่องอนัตตา เรื่องไม่มีตัวกูของกู เรื่องจิตว่าง … ชาวบ้านฟังแล้วอ้าปากค้าง..ตามไม่ทัน ธรรมะมันสูงเกินไป…จะบอกว่า ไม่มีตัวกูของกู ชาวบ้านยังมีลูกมีเมียมีสมบัติอยู่ มันก็ปฏิบัติไม่ได้… สมัยนั้น มีการเปรียบเทียบสามสำนักเหล่านี้ว่า สันติอโศก เน้นเรื่องศีล, ธรรมกายเน้นเรื่องสมาธิ, สวนโมกข์พุทธทาส เน้นเรื่องปัญญา สอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น สอนเรื่องจิตว่าง พอนักอภิธรรมไปไล่เลียงว่า จิตว่างคือจิตอะไร และว่างจากอารมณ์อะไร? พุทธทาสตอบไม่ได้ โกรธพวกเรียนอภิธรรม โจมตีว่า อภิธรรมไม่ใช่พุทธพจน์…. พวกลูกศิษย์ก็ถือหางกัน อุตลุต ในยุคนั้น … แต่ละสำนักสอนกันไปคนละทิศละทาง สุดโต่งไปคนละแบบ…
ความระหองระแหง ไม่ลงรอยกันของวัดบวรกับธรรมกาย มีเรื่อยมา ผสมปนเป เรื่องของธรรมยุต และมหานิกายด้วย ยิ่งช่วยเสริมความไม่ลงรอยกันไปใหญ่ …รวบรัดตัดใจความจนมาถึงทุกวันนี้ เมื่อมีคุณทักษิณ มีหลวงตามหาบัว เรื่องเงินเรื่องทองกู้ชาติ มี กปปส. มีเสื้อเหลือง เสื้อแดง มีสลิ่ม มีโล้นอิสระ มีไพบูลย์ มีหมอมโน.. มีรัฐบาลผีบ้า, DSI, ไพบูลย์ คุ้มฉายา.และ พวกรักเจ้า พวกล้มเจ้า ….การเมืองล้วน ๆ เลยผสมปนเป ยำใหญ่… ทำให้วัดธรรมกาย ธัมมชโย เป็นเรื่องเป็นราว ยิ่งพอมีช่อง เงินบริจาค สหกรณ์คลองจั่น…โยงเรื่องแต่งตั้งสังฆราช สมเด็จช่วง วัดปากน้ำ ถล่มกันด้วยรถหรู… เข้าผสมโรงด้วย … ยิ่งลามปาม เละตุ้มเป๊ะ หาจุดหมายปลายทาง หาจุดลงตัวไม่เจอ … ทั้งพระ ฆราวาส ญาติโยม ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ มั่วกันไปหมด….
สรูปสุดท้าย ตามความเห็นของผู้เขียน… คดีความ อธิกรณ์ ทั้งหมด ควรจบลงด้วย ติณณวัตถารกะ 5555
------------------
ผู้เขียน – VeeZa
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ