เรื่องของการนับถือหรือไม่นับถือศาสนา

เรื่องของการนับถือศาสนา…

ได้ยินได้ฟังหลายคนพูดว่า “ผม / ฉัน ไม่มีศาสนา หรือไม่ได้นับถือศาสนาอะไรเลย”

ฟังดูแล้วอาจจะดูดี เป็นอิสระดี ไม่ยึดมั่น หรือยึดติดในศาสนาใด ศาสนาหนึ่ง จิตใจเป็นอิสระ ไม่มีข้อผูกมัด หรือกฎเกณฑ์อะไร ๆ กับชีวิตประจำวัน… จะ ยืน เดิน นั่ง นอน เที่ยว กิน ดื่ม ทำ พูดคิด… ก็เป็นไปได้อย่างมีอิสระเสรี…ฯ

โดยนิตินัย ก็น่าจะเป็นไปได้ แต่โดยพฤตินัย…ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย…  ถ้าจะเปรียบเทียบกับกฎหมายบ้านเมือง บุคคลย่อมไม่สามารถที่จะกล่าวว่า “ไม่ยอมรับกฎหมาย หรือไม่ยอมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมายไปได้…” ถึงจะพูดหรือแสดงออกอย่างไร เราก็ยังอยู่ในกฎเกณฑ์ของกฎหมาย  อยู่ในกฎเกณฑ์ของการทำถูก หรือทำผิดกฎหมายบ้านเมืองอยู่นั่นเอง… คือมันก็จะหนีไม่พ้นกฎเกณฑ์สองอย่างนี้ คือผิด หรือถูก กฎหมายอยู่วันยังค่ำ ถึงจะอ้างว่ารู้ หรือไม่รู้ จะยอมรับ หรือไม่ยอมรับกฎหมาย กฎเกณฑ์ของสังคมนั้น ๆ ก็ตาม…..

ในทางศาสนาก็เช่นเดียวกัน (มุ่งหมายเอาพุทธศาสนา) เรามีอิสระเสรีภาพเต็มที่ ที่จะ ยืน เดิน นั่ง นอน เที่ยว กิน ดื่ม ทำ พูดคิด… แต่ก็ต้องถือว่า อยู่ในกฎเกณฑ์ของพุทธศาสนา นั่นคือ ทำถูก ทำผิด ทำแบบไม่ผิดไม่ถูก… คือไม่ว่าบุคคลจะปฏิบัติหรือปฏิบัติทางกาย วาจา ใจ อย่างไร ก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ที่พุทธศาสนากล่าวไว้ทุกประการ…. ลองคิด ลองพูด ลองกระทำมาสักอย่างสิ …. อะไรก็ได้ แล้วมาลองดูว่า สิ่งที่เราคิด พูด กระทำนั้น หนีหรือพ้นไปจากคำสอนในพุทธศาสนา หรือไม่ ?

ถ้าได้เรียนรู้พุทธศาสนา อย่างถึงกึ๋น เราจะเห็นได้ทันทีว่า ไม่มีอะไรที่นอกเหนือไปจากคำสอนในพุทธศาสนา ตั้งแต่เกิด (ปฏิสนธิ)แรก ไปจนถึงลมหายใจสุดท้าย ตาย (จุติ) มีคำสอนพุทธศาสนากำกับไว้หมดทุกอย่าง มันไม่เกี่ยวกับว่า เรารู้ หรือไม่รู้ เรายอมรับ หรือไม่ยอมรับ เรานับถือ หรือไม่นับถือ….

โดยสรุป ทั้งตัวตนของสัตว์ นั่นแหละ คือพุทธศาสนา เพราะคำสอนของพุทธศาสนาแทบทั้งหมด ทั้งส่วนที่เป็นปรมัตถธรรม คือรูปนาม, กาย-ใจ  และส่วนที่เป็นบัญญัติธรรม ก็อยู่ที่ตัวตนของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง พฤติกรรม การกระทำ ความเป็นไปต่าง ๆ ของสัตว์ ก็ได้ถูกกล่าวไว้ในหลักคำสอนของพุทธศาสนาทั้งหมด…และมีธรรมะส่วนที่นอกเหนือไปจากกาย – ใจ ของสัตว์ที่ถูกกล่าวไว้ด้วย นั่นก็คือ  นิพพาน ….ฯ  

– ทำถูก พูดถูก คิดถูก ก็เรียกว่า กุศลบ้าง ความดีบ้าง สุจริตบ้าง…. (กุสลา ธัมมา)

– ทำผิด พูดผิด คิดผิด ก็เรียกว่า อกุศลบ้าง ความชั่วบ้าง ทุริตบ้าง….(อกุสลา ธัมมา)

– ทำที่นอกเหนือจากถูก หรือผิด หรือสรรพสิ่งทั้งมวลที่นอกเหนือไปจากความเป็นกุศล หรืออกุศล ก็เรียกว่า เป็นอัพยากฤต คือ ไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่ถูก ไม่ผิด …..(อัพยากตา ธัมมา)

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมนิยาม จะมีพุทธเจ้าหรือไม่มีพุทธเจ้า …พุทธเจ้าจะมาตรัส หรือไม่มาตรัส… สิ่งนั้น ๆ คือ ความถูก ผิด กุศล อกุศล อัพยากฤต…  มันก็มี ก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้วโดยธรรมชาติ (ธัมมฐีติ) พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบ แล้วนำมาบัญญัติเป็นเสียง สำเนียง คำพูด เป็นอักษร ภาษา หนังสือ…ให้ผู้คนได้รู้ได้เข้าใจเท่านั้น (อักขาตาโร ตถาคตา – ตถาคตทั้งหลายเป็นเพียงผู้บอกเท่านั้น…)

อนึ่ง แม้การกระทำ แอคชั่นต่าง ๆ ของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นไปใน ๓ ทาง คือ ทางกาย วาจา และทางใจ หนีไม่พ้นไปจาก ๓ ทางนี้ได้ หรือสิ่งที่จะให้รับรู้ในแสดงแอคชั่นต่าง ๆ ก็ไม่พ้นไปจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ …

ข้อสำคัญคือ เราไม่ได้เรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราก็เลยปฏิเสธในสิ่งนั้น ว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรา แท้จริงแล้ว ทุกสิ่งทุอย่างในโลกนี้ ในจักรวาลนี้ ในระบบสุริยะจักรวาลนี้ เกี่ยวข้องกับเราหมด ลองเรียนมหาปัฏฐานดูสิ… อย่างน้อยก็โดยความเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย ฯ

จริง ๆ แล้ว ในตัวของเราทั้งหมด ที่เราสมมติว่า เป็นเรา เป็นของเรา… นับตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง…. อาการ ๓๒ / ขันธ์ ๕/ อายตนะ ๑๒ / ธาตุ ๑๘/ อินทรีย์ ๒๒…. เป็นสิ่งที่ประชุมอยู่ในร่างกายตัวตนของมนุษย์ สัตว์ทั้งหมด….พระพุทธศาสนา สอนทั้งหมด ทั้งที่มา ที่ไป ทั้งสาเหตุ ทั้งปัจจัย ทั้งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป….

ไม่มีอะไรเลย ที่นอกเหนือไปจากคำสอนของพุทธศาสนา….

ถ้าจะอ้างว่า ฉันไม่มีกฎเกณฑ์อะไร ไม่นับถือะไร ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอะไร ๆ เลย ….. อารยชนก็อาจจะรู้ได้ว่า “คุณเป็น คนป่า คนเถื่อน” ไม่ยอมรับนับถือกฎหมายหรือกฏระเบียบข้อบังคับของสังคมอะไร ๆ เลย…ก็อาจจะพอเป็นไปได้…แต่ ถ้าจะบอกว่า “ฉันอยู่เหนือกฎเกณฑ์ทางพุทธศาสนา อยู่เหนือกฎเกณฑ์ความเป็นไปตามธรรมชาติแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสิ่งที่สัตว์ทั้งหลายยึดถือเอาว่า เป็นตัวตนของเรา เป็นสังขาร ร่างกาย จิตใจ…. ความยึดถือว่าเรา ว่าของเรา…นั่นแหละคือหลักธรรมอย่างหนึ่งที่มีสอนในพุทธศาสนา… แม้เมื่อแสดงแอคชั่นออกมา ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา หรือทางใจ ก็ไม่หนีไปจากกฎเกณฑ์ กล่าวคือความเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง อัพยากฤตบ้าง…

การบัญญัติว่า ดีบ้าง ชั่วบ้าง เป็นกลาง ๆ บ้าง (กุศล อกุศล อัพยากฤต) ในทางพุทธศาสนานั้น มิได้บัญญัติตามอำเภอใจ มิได้บัญญัติเพราะความชอบใจ ไม่ชอบใจ มิได้บัญญัติตามอำนาจของสิ่งลึกลับ ตามอำนาจของใครที่จะดลบันดาล..หรือด้วยอำนาจความเป็นพุทธเจ้า…แต่บัญญัติขึ้นตามสภาพความเป็นจริง ๆ ของสภาพธรรมนั้น ๆ

สภาวะที่บอกว่า ฉันไม่ยอมรับนับถือ ไม่มีศาสนา ที่อยู่ในใจ หรือแสดงออกมาทางคำพูดนั่นแหละ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นจริง ๆ เป็นแอคชั่นที่เกิดทางใจ (มโนกรรม) ถ้าเกิดทางวาจา ก็เรียกว่า วจีกรรม ….แค่นี้ก็ไม่พ้นไปจากคำสอนในพุทธศาสนาแล้ว…. นี่ยังไม่จำต้องกล่าวถึงว่า สภาวะที่เกิดขึ้นในใจนั้น เป็นภาวะที่เกิดจากความรู้ (ปัญญา) หรือความไม่รู้(อวิชชา) เป็นภาวะที่เกิดจากจิตที่ประกอบด้วยโทสะ หรือประกอบด้วยโมหะ หรือเป็นภาวะที่จิตประกอบด้วย สติ ปัญญา…. ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากหลักคำสอนในพุทธศาสนาอยู่ดี…..

-----------------------

VeeZa

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.