“ไม่มีใครอยู่เหนือกฎแห่งกรรม” คำนี้ต้องอธิบาย
แท้จริงแล้ว คำพูดแบบนี้ “ไม่มีใครอยู่เหนือกฎแห่งกรรม” เป็นคำพูดที่ยังไม่ถูกต้องนัก (ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง) ต้องแยกแยะตอบ (วิภัชชพยากรณ์)
เพราะพูดว่า “ไม่มีใคร” ก็ย่อมรวมหมายเอาบุคคลทั้งหมด ได้แก่ บุคคล ๘ จำพวก หรือ ๑๒ จำพวก คือ
๑. ทุคคติอเหตุกบุคคล (สัตว์ที่เกิดในอบายภูมิ ๔)
๒. สุคติอเหตุกบุคคล (บุคคลผู้เป็นบ้า ใบ้ บอด หนวก มาแต่กำเนิด)
๓. ทวิเหตุกบุคคล ได้แก่บุคคลที่ปฏิสนธิมาด้วยเหตุ ๒ (อโลภเหตุ, อโทสเหตุ)
๔. ติเหตุกบุคคล (ปุถุชน) ได้แก่บุคคลที่ปฏิสนธิมาด้วยเหตุ ๓ (อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ)
๕. โสดาบันน์บุคคล
๖. สกทาคามีบุคคล
๗. อนาคามีบุคคล
๘. อรหันต์บุคคล
** ถ้านับเป็น ๑๒ จำพวก ให้แยก พระอริยบุคคลเป็น มรรคบุคคล ๔ ผลบุคคล ๔ รวมเป็น ๘ บุคคล
ปุถุชน ๔ จำพวก (๑-๔) ไม่มีใครอยู่เหนือกฎแห่งกรรม คือ ต้องได้รับผลแห่งการกระทำนั้น ๆ แต่ก็ยังไม่แน่นอน แล้วแต่จังหวะ โอกาส และกาลเวลา ข้อนี้ต้องเอาชวนะจิตทั้ง ๗ ของการทำกรรมนั้น ๆ มาเป็นตัวกำหนด….. บางครั้ง ก็อาจจะไม่ต้องรับผลแห่งกรรมนั้น ๆ ก็ได้ เนื่องจากผลแห่งกรรมบางอย่างนั้น เป็นอโหสิกรรมไป เช่น กรรมบางอย่างที่ให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ แต่ก็ไม่ให้ผล เหตุขัดข้องบางอย่าง จนบุคคลผู้นั้นตายลง…. บางกรรมต้องให้ผลในภพที่สองหลังจากตายไปแล้ว แต่กรรมนั้นถูกตัดตอนไป เพราะผลแห่งกรรมอื่นชิงให้ผลก่อน กรรมนั้น ก็ถือว่าไม่ให้ผล กลายเป็นอโหสิกรรมไป…. เป็นต้น
พระอริยบุคคลเบื้องต่ำ ๓ (เว้นพระอรหันต์) ท่านอยู่เหนือกฎแห่งกรรมบางอย่าง เช่น อกุศลกรรมบางอย่างที่ท่านทำก่อนเป็นพระอริยบุคคล และกรรมนั้น ๆ จะต้องส่งผลในปฏิสนธิกาลคือต้องเกิดในอบายภูมิ แต่เพราะความที่ท่านเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นผู้ปิดประตูอบายได้แล้ว จึงไม่ไปเกิดในอบายภูมิ…นี่เรียกว่า ท่านอยู่เหนือกฎแห่งอกุศลกรรมบางอย่างได้แล้ว….ฯ
พระอรหันต์ จัดได้ว่าท่านอยู่เหนือกฎแห่งกรรมที่เป็นอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดในภพภูมิต่าง ๆ ได้อย่างสิ้นเชิง
(ส่วนผลของกุศสลกรรม หรืออกุศลกรรม ที่เป็นอปราปรเวทนีย ที่เคยทำในอดีตชาตินั้น ท่านยังต้องได้รับผลอยู่ (ในขณะที่ยังมีชีวิต) แม้จะเป็นพระอริยบุคคลแล้วก็ตาม)
อนึ่ง แม้ครุกรรมบางอย่าง ทั้งฝ่ายอกุศล และฝ่ายกุศล ก็สามารถตัดรอนให้ผลกรรมอื่น ๆ ไม่ส่งผลได้ในขณะแห่งปฏิสนธิกาล บุคคลจึงได้ชื่อว่าอยู่เหนือกฎแห่งกรรมนั้น แต่ก็ด้วยการตัดรอนแห่งอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมที่รุนแรงกว่าตนนั่นเอง… (มุ่งหมายเอา อนันตริยกรรมฝ่ายอกุศล คือปัญจานันตริยกรรม ๕, และนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม ๓, และครุกรรมฝ่ายกุศล คือ การได้ฌานสมาบัติ)
ฌานลาภีบุคคล (บุคคลผู้ได้ฌาน) จะเป็นรูปฌาน หรืออรูปฌานก็ตามที่เป็นปุถุชน เมื่อสิ้นชีวิตลง รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก ย่อมส่งผลให้ไปเกิดเป็นรูปพรหม อรูปพรหม ทันที ข้ามผลแห่งอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมที่เป็นกามาวจร ทันที … จึงจัดได้ว่า ฌานลาภีบุคคล ก็ข้ามกฎแห่งการให้ผลของ กุศลหรืออกุศลที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิในภพที่สองได้ทันที….ฯ
(นี่เป็นความสลับซับซ้อนของ กรรม และการให้ผลของกรรม)
-----------------
VeeZa
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ