ทองย้อย แสงสินชัย
บาลีวันละคำ (454)
ศัพท์ว่า “แม่” ในทางพุทธศาสนา
คำต่อไปนี้ ในภาษาบาลีหมายถึง “แม่”
บางคำเราคุ้น แต่บางคำก็ไม่ได้นำมาใช้ในภาษาไทย
อมฺพา, อมฺมา, (อัม-พา, อัม-มา)
ชนนี, ชนิกา, ชเนตฺตี, (ชะนะนี, ชะนิกา, ชะเนตตี)
โทหฬินี, (โทหะฬินี)
มาตุ, มาตา, มารดา,
สุหทา, (สุหะทา)
โตเสนฺตี, โปเสนฺตี (โต-เสน-ตี, โป-เสน-ตี)
โคตฺตี (โคต-ตี)
อุตุนี (อุ-ตุ-นี)
– “อมฺพา” แปลว่า “ผู้รักษาบุตรธิดา” “ผู้อันบุตรธิดาเข้าไปหาด้วยความรัก” “ผู้อันบุตรธิดาเข้าไปหา คือเข้ามาคลอเคลีย” “ผู้อันบุตรธิดาบูชา”
– “อมฺมา” แปลว่า “ผู้อันบุตรธิดาเข้าไปหา คือเข้ามาคลอเคลีย” “ผู้อันบุตรธิดาบูชา”
– “ชนนี” “ชนิกา” “ชเนตฺตี” แปลว่า “ผู้ยังบุตรให้เกิด” หรือ “ผู้ให้กำเนิด”
– “โทหฬินี” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความปรารถนาสอง” “หญิงผู้มีใจสอง” = คนแพ้ท้อง
– “มาตุ” “มาตา” “มารดา” แปลว่า “ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ” “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม” “ผู้ยอมรับนับถือว่า ผู้นี้เป็นบุตร” “ผู้รักบุตรโดยธรรม”
– “สุหทา” แปลว่า “ผู้มีใจดี”
– “โตเสนฺตี” แปลว่า “ผู้ปลอบโยน”
– “โปเสนฺตี” แปลว่า “ผู้เลี้ยงดู”
– “โคตฺตี” แปลว่า ผู้คุ้มครอง” ผู้คุ้มครองบุตร และคุ้มครองทรัพย์ไว้เพื่อบุตร
– “อุตุนี” แปลว่า หญิงมีระดู (เริ่มต้นของคนจะเป็นแม่)
** นอกจากนี้ยังมีคำเปรียบ ความหมายของคำว่า “แม่” ไปในลักษณะต่าง ๆ อีกมากมาย คือ
ปุพพาจริยา แปลว่า เป็นอาจารย์คนแรก สอนให้บุตรรู้จักสิ่งต่าง ๆ
ปุพพเทวา แปลว่า เป็นประดุจดังเทพ คือ ไม่ถือโทษ หรือเอาเรื่องราวต่อบุตร แม้บุตรจะทำผิดพลาดในตน
พรหม แปลว่า เพราะมีความ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต่อบุตร
อรหันต์ หมายความว่า มารดาเป็นดุจอรหันต์ คือเป็นผู้ควรที่จะได้รับการบูชา นับถือ ดูแล ให้ข้าวน้ำ… เป็นอันดับแรก ๆ (อรหันต์ แปลว่า “ควร”)
ใน โสณนันทชาดก สัตตตินิบาต ท่านพรรณนาหัวอกคนเป็นแม่ไว้น่าฟัง
ขอถอดความนำมาเสนอพร้อมทั้งต้นฉบับภาษาบาลี เพื่อบูชาพระคุณแม่ –
(๑)
อากงฺขมานา ปุตฺตผลํ เทวตาย นมสฺสติ
นกฺขตฺตานิ จ ปุจฺฉติ อุตุสํวจฺฉรานิ จ ฯ
แม่อยากมีลูกไหนจะปาน
ถึงกับบนบานศาลกล่าว
เฝ้าดูฤกษ์ยาม
ถามวันเดือนปี
(เช่นว่าถ้าลูกเกิดปีนี้จะเป็นเด็กแบบไหน
แล้วเกิดเดือนไหนจะเป็นเด็กแบบนี้)
(๒)
ตสฺสา อุตุสิ นหาตาย โหติ คพฺภสฺสวกฺกโม
เตน โทหฬินี โหติ สุหทา เตน วุจฺจติ ฯ
บำรุงรักษาตัวตามวิธี
จนพอรู้ว่ามีครรภ์ ก็อยากนั่นโน่นนี่
ท่านจึงเรียกแม่ว่า “โทหฬินี” = คนแพ้ท้อง
และเรียกว่า “สุหทา” = คนใจดี-เพราะดีใจ (ที่จะได้ลูก)
(๓)
สํวจฺฉรํ วา อูนํ วา ปริหริตฺวา วิชายติ
เตน สา ชนยนฺตีติ ชเนตฺตี เตน วุจฺจติ ฯ
นับเป็นปี หรือจะน้อยกว่านี้ก็น้องๆ
ที่แม่คอยประคับประคองกว่าจะคลอดเจ้าโฉมงาม
แม่จึงได้นามว่า “ชนยนฺตี” –
และ “ชเนตฺตี” = ผู้ให้กำเนิด
(๔)
ถนกฺขีเรน คีเตน องฺคปาวุรเณน จ
โรทนฺตํ ปุตฺตํ โตเสติ โตเสนฺตี เตน วุจฺจติ ฯ
ด้วยน้ำนม เพลงกล่อม และอ้อมกอด
ลูกร้อง แม่ก็พร่ำพลอดปลอบโยนให้ยิ้มได้
แม่จึงได้นามว่า “โตเสนฺตี” = ผู้ปลอบโยน
(๕)
ตโต วาตาตเป โฆเร มมฺมํ กตฺวา อุทิกฺขติ
ทารกํ อปฺปชานนฺตํ โปเสนฺตี เตน วุจฺจติ ฯ
ยามที่ลมแรงและแดดกล้า
แม่ก็ผวาหาลูกด้วยหัวใจที่ไหวหวั่น
ลูกแม่ยังเล็กไม่เดียงสากระนั้น ดังฤๅจะดูแลตัวเองได้
แม่จึงได้นามว่า “โปเสนฺตี” = ผู้เลี้ยงดู
(๖)
ยญฺจ มาตุ ธนํ โหติ ยญฺจ โหติ ปิตุทฺธนํ
อุภยมฺเปตสฺส โคเปติ อปิ ปุตฺตสฺส เม สิยา ฯ
ทรัพย์ใดของพ่อแม่
ก็เฝ้าแต่ดูแลรักษา
คิดถึงวันข้างหน้า –
“..เก็บไว้ให้ลูกแม่ ..”
(๗)
เอวํ ปุตฺต อทุ ปุตฺต อิติ มาตา วิหญฺญติ
ครั้นถึงวัยเรียน แม่ก็เวียนแต่ทุกข์
“เรียนนี่ไหมลูก, นั่นล่ะลูกเรียนไหม”
ลำบากอย่างไร –
แม่ก็ยอม
(๘)
ปมตฺตํ ปรทาเรสุ นิสฺสิเว ปตฺตโยพฺพเน
สายํ ปุตฺตํ อนายนฺตํ อิติ มาตา วิหญฺญตีติ ฯ
ครั้นถึงวัยหนุ่มสาว
แม่ก็เกรงลูกจะอื้อฉาวในเชิงชู้
เย็นย่ำค่ำคืนก็เฝ้าแต่คอยดูว่าป่านฉะนี้ไฉนยังไม่กลับ –
ดวงแดแม่จะพลอยดับไปด้วย ฉะนี้แล.
: บูชาพระคุณแม่ ตามประสายาก – นะแม่นะ
=============
ขอขอบพระคุณ อ.ทองย้อย แสงสินชัย ป.ธ.๙
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ