แสดงการให้ผลของกรรม (ฉบับย่อ)
การให้ผลของกรรม จะให้ผลเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๑. ให้ผลโดยตรง (มุขยผล)
๒. ให้ผลโดยอ้อม (สามัญญผล)
๑) ให้ผลโดยตรง ก็คือ เวลาบุคคลทำกรรม ทางกาย วาจา ใจ จะดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จิตใจ และสิ่งที่แฝงอยู่ที่จิตใจ (เจตนาและเจตสิกอื่น ๆ ที่ประกอบร่วมกัน) เป็นตัวที่เรียกว่า “กรรม” โดยตรง อย่างที่ท่านกล่าวว่า “เจตนาเป็นกรรม” ร่างกาย และวาจา เป็นสิ่งประกอบที่ให้สำเร็จกรรมที่เกิดทางกาย และวาจา เท่านั้น มิใช่เป็นตัว “กรรม” (การกระทำ) อย่างแท้จริง ฯ ฉะนั้น เมื่อ “กรรม” หมายถึง จิต+เจตสิกที่ประกอบ โดยตรง ผลที่ได้ ก็ต้องเป็น จิต+เจตสิก เช่นเดียวกัน ข้อนี้ดูได้จาก (กุสลา ธมฺมา, อกุสลา ธมฺมา) ซึ่งเป็นตัวเหตุ ท่านหมายเอาธรรมที่เป็นนาม คือ จิต+เจตสิก เท่านั้น
จิต+เจตสิกเช่นเดียวกัน (นามธรรม ให้ผลเป็นนามธรรม เหตุกับผลตรงกัน) และจิตเจตสิกที่เป็นผลโดยตรงนั้น ก็ได้แก่ กรรมวิบาก ๓๒ แบ่งเป็น
– อกุศลกรรมวิบาก ๗ (ผลแห่งกรรมอันเป็นอกุศล หรือผลแห่งอกุศลกรรม)
– มหากุศลกรรมวิบาก ๑๖ แบ่งเป็น อเหตุกุศลกรรมวิบาก ๘ และ สเหตุกกุศลกรรมวิบาก ๘ (มหาวิปากจิต ๘)
– รูปาวจรวิบาก ๕
– อรูปาวจรวิบาก ๔
รวมเป็น กรรมวิบาก ๓๒ + เจตสิกที่ประกอบ ๓๖ (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โลกียวิปากจิต ๓๒)
๒) การให้ผลโดยอ้อม เนื่องจากว่า ในเวลาทำกรรมนั้น บางครั้งกรรมบางอย่างอาศัยกาย และวาจาเป็นเครื่องให้สำเร็จกรรมด้วย เช่น การฆ่าสัตว์ ต้องอาศัยการกระทำทางกายด้วย, การพูดเท็จ ก็อาศัย วจีวิญญัติด้วย ซึ่งเป็นส่วนของรูป ฉะนั้นเวลาผลที่เกิดขึ้นจึงมีส่วนที่เป็นรูปด้วย รูปที่เกิดขึ้นจากกรรม (การกระทำ) เรียกว่า “กรรมชรูป รูปที่เกิดจากกรรม” เช่น ปสาทรูปทั้ง ๕ ภาวรูป ๒ …เป็นต้น
รูปร่างสวย ๆ งาม ๆ ของมนุษย์ ในยุคสมัยปัจจุบัน ส่วนมากเกิดมาจากกรรมชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “ศัลยกรรม” ศัลยกรรม บางครั้งเกิดมาจากจิตที่เป็นกุศล บางครั้งเกิดมาจากจิตที่เป็นอกุศล คือในขณะที่ทำศัลยกรรมจิตที่เกิดในเบื้องต้นและในขณะทำเป็นอกุศลคือเกิดด้วยอำนาจแห่งโลภะ อยากสวยอยากงาม…เป็นต้น ฯ
ถามว่า “รูปที่เกิดมาจากจิตที่เป็นอกุศล เป็นรูปที่สวยงาม มีด้วยหรือ ? ก็ต้องตอบว่า มีได้ เพราะความสวยงาม บางครั้งเกิดด้วยอำนาจความละเอียดอ่อน หรือเกิดด้วยอำนาจของตัณหาที่วิจิตร เช่นรูปร่างกายของสัตว์เดรัจฉาน บางอย่าง สวยงาม งดงาม เช่น นกที่สวย ๆ แมวที่สวย ๆ หมาที่สวย ๆ ปลาที่สวย ๆ …. ทั้ง ๆ ที่ร่างกายของสัตว์เหล่านั้นเกิดมาด้วยอำนาจของวิบากที่เป็นผลของอกุศลกรรมทั้งสิ้น ฯ ดังนั้น รูปร่างสัณฐาน ร่างกายของมนุษย์ บางส่วนเป็นส่วนที่เกิดมาจาก กรรม ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน บางส่วนเกิดมาจากจิต บางส่วนเกิดมาจากอุตุ และบางส่วนเกิดมาจากอาหาร ฯ
อุปมาเหมือนกับการปลูกข้าว – ในการปลูกข้าว ผลที่ได้มีทั้งมุขยผล (ผลโดยตรง) และสามัญญผล (ผลโดยอ้อม) ผลโดยตรงนั่นก็คือ เมล็ดข้าว, ผลโดยอ้อมก็คือ ต้นข้าว ซังข้าว ใบข้าว ฯ
การให้ผลโดยตรง ที่เป็นโลกียวิปากจิต ๓๒ นั้น จะให้ผลเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๑. ให้ผลในขณะปฏิสนธิกาล (อุปปัชชเวทนียะ) คือทำหน้าที่ปฏิสนธิ (ทำหน้าที่เกิดหรือสืบต่อในภพใหม่) ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ๑๙ ซึ่งได้แก่
– อเหตุกอกุศลวิบากสันตีรณจิต ๑ ทำหน้าที่ปฏิสนธิให้กับอบายสัตว์ ๔ (สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน) (เป็นพวก ทุคติอเหตุกบุคคล)
– อเหตุกกุศลวิบากสันตีรณจิต ๑ ทำหน้าที่ปฏิสนธิให้กับ มนุษย์ที่ บ้า ใบ้ บอด หนวก มาตั้งแต่กำเนิด (เป็นพวก สุคติอเหตุกบุคคล)
– มหาวิบากจิต ๘ ทำหน้าที่ปฏิสนธิให้กับมนุษย์ และเทวดา (จัดเป็นพวก ทวิเหตุกบุคคล และติเหตุกบุคคล)
– รูปาวจรวิบากจิต ๕ ทำหน้าที่ปฏิสนธิให้กับพวก รูปพรหม (จัดเป็นพวก ติเหตุกบุคคล)
– อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ทำหน้าที่ปฏิสนธิให้กับพวก อรูปพรหม (จัดเป็นพวกติเหตุกบุคคล)
(หมายเหตุ ปฏิสนธิจิตทั้ง ๒๙ ดวงนั้น นอกจากทำหน้าที่ปฏิสนธิแล้ว ยังทำหน้าที่อย่างอื่นได้อีก คือ ภวังค์ จุติ สันตีรณะ และตทารัมมณะ แล้วแต่จิต กล่าวคือ รูปาวจรวิบาก๕ อรูปาวจรวิบาก ๔ ทำหน้าที่ได้ ๓ คือ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ, ส่วน มหาวิบาก ๘ และอุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ทำหน้าที่ได้ ๕ อย่าง คือ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ สันตีรณะ และ ตทารัมณะ)
๒. ให้ผลที่นอกเหนือไปจากขณะปฏิสนธิกาล คือให้ผลในกาลอื่น ๆ (ทิฏฐเวทนียะ และอปราปรเวทนียะ) ได้แก่วิบากจิตที่เหลืออีก คือ
– จักขุวิญญาณจิต ๒ ทำหน้าที่ เห็นรูปารมณ์ที่ดีและไม่ดี
– โสตวิญญาณจิต ๒ ทำหน้าที่ได้ยินเสียงที่ดี และไม่ดี
– ฆานวิญญาณจิต ๒ ทำหน้าที่รับกลิ่นที่ดี และไม่ดี
– ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ทำหน้าที่รับรสที่ดี และไม่ดี
– กายวิญญาณจิต ๒ ทำหน้าที่รับสัมผัสที่ดี และไม่ดี
– สัมปฏิจฉนจิต ๒ ทำหน้าที่รับอารมณ์ทางปัญจทวารที่ดีและไม่ดี
– โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ทำหน้าที่ สันตีรณะคือพิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวาร และทำหน้าที่ตะทารัมมณะ (รับอารมณ์ต่อจากชวนะ)
– อุเบกขาสันตีรณะจิต ๒ มหาวิปากจิต ๘ ซึ่งหลังจากทำหน้าที่ปฏิสนธิ ในขณะปฏิสนธิกาลแล้ว ยังทำหน้าที่ในภายหลังอีก คือ ภวังค์ จุติ สันตีรณะ และตทารัมมณะ อีก
นี่เป็นการให้ผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรมโดยตรง… ซึ่งเป็นส่วนของปรมัตถธรรมล้วน ๆ
กล่าวโดยปุคคลาธิษฐาน ยกเอาบุคคลเป็นที่ตั้ง เมื่อบุคคลทำอกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้น คือ ได้เห็นสิ่งที่ไม่ดีบ้าง ได้ยินเสียงไม่ดี คือเสียงที่เขากร่นด่าสาปแช่งบ้าง….ต้องเจ็บปวดทางกายเพราะถูกทุบตีบ้าง หรือถูกฆ่าล้างแค้นบ้าง..ถูกจับกุมคุมขังบ้าง กินก็กินไม่ดี นอนก็นอนไม่ดี… ได้รับความลำบากอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำมาค้าขายไม่ดี ทำอาชีพใด ๆ ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ…เป็นต้น….นั่นเป็นผลแห่งบาป อกุศลที่ตนได้กระทำไปแล้วนั่นเอง…. ซึ่งผลที่เกิดนั้น ก็คือผลที่เกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นแล…ฯ นี่คือผลที่อาจเกิดในปัจจุบันชาติ …เมื่อตายลงถ้ามีโอกาส ผลแห่งบาปอกุศลนั้นยังทำหน้าที่ปฏิสนธิในอบายภูมิทั้ง ๔ เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานบ้าง…. ในกาลภายหลัง หลังจากเกิดในภพภูมินั้น ๆ แล้ว บางครั้งเศษอกุศลกรรม ยังตามเบียดเบียดให้ต้องทนทุกข์ด้วยโรคภัยที่รักษาไม่หาย ต้องเจ็บป่วย ร่างกายพิกลพิการ ได้รับอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเกิดเป็นคนเข็ญใจ ยากจนค่นแค้น …..เป็นต้น นี่คือผลกรรมที่เกิดในภายหลัง (อปราปรเวทนียะ)
ในทางกุศล ก็ตรงกันข้ามกัน… บัณฑิตพึงรู้ตามนัยที่ตรงกันข้ามเถิด….ฯ
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ