บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๒๗)
------------------------------
ถวายสังฆทาน (๙)
------------------------------
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องคำถวายสังฆทาน
ผมทิ้งท้ายไว้ที่ตอน ๑๙: ถวายสังฆทาน (๑) ว่า -
.........................................................
.... ใช้คำบาลีว่า “ภัตตานิ” แต่คำแปลว่า “ซึ่งสังฆทาน” ความเลอะเทอะเริ่มขยายตัว
ความเลอะเทอะพัฒนาต่อไปอีก นั่นก็คือ เมื่อมีเสียงทักท้วงว่า ถวายหลังเที่ยงเอย ของถวายไม่ใช่ภัตตาหารเอย ไปใช้คำบาลีว่า “ภัตตานิ” (ซึ่งภัตตาหาร) เป็นการไม่ถูกต้อง
คนนำถวายก็เริ่มมองหาคำอื่นมาแทน “ภัตตานิ”
.........................................................
บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๑๙)
https://prachaniyom.blogspot.com/2022/11/blog-post_532.html
.........................................................
ขออนุญาตย้อนกลับไปที่ความเข้าใจเรื่องถวายสังฆทาน
เดิมนั้น ถวายภัตตาหารให้เป็นสังฆทาน เราก็เข้าใจกันว่า ภัตตาหารเป็นสิ่งที่ถูกถวาย อันเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง
ถวายจีวรเป็นสังฆทาน จีวรก็เป็นสิ่งที่ถูกถวาย
ถวายเสนาสนะเป็นสังฆทาน เสนาสนะก็เป็นสิ่งที่ถูกถวาย
ถวายยารักษาโรคเป็นสังฆทาน ยารักษาโรคก็เป็นสิ่งที่ถูกถวาย
แต่เมื่อเราพูดลัดตัดคำเป็น “ถวายสังฆทาน” ก็เกิดความเข้าใจไปว่า “สังฆทาน” เป็นสิ่งที่ถูกถวาย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด
ยิ่งมีผู้ผลิตของถวายพระแล้วเรียกว่า “ถังสังฆทาน” “ชุดสังฆทาน” เอาถังเอาชุดไปถวายพระ ก็เลยพาให้เข้าใจผิดลึกเข้าไปอีกว่า “สังฆทาน” เป็น “สิ่งของ” ที่เอาไปถวายพระได้
ถึงตอนนี้ ไม่มีใครนึกถึงชื่อ “ภัตตาหาร” “จีวร” “เสนาสนะ” “เภสัช” และชื่อสิ่งของต่างๆ ที่เอาไปถวายพระกันอีกแล้ว เข้าใจดิ่งไปอย่างเดียวว่า เอาอะไรไปถวายก็เรียกว่า “สังฆทาน” เหมือนกันหมด
คำที่คนนำถวายหรือมรรคนายกเริ่มเอามาแทน “ภัตตานิ” ก็คือคำว่า “สังฆทาน”
แรกเริ่มจริงๆ ใช้คำว่า “สังฆทานิ” นะครับ ไม่ใช่ “สังฆทานานิ” ผมเคยได้ยินกับหูและเคยเห็นคำที่ตั้งใจเขียนเป็น “สังฆทานิ” จริงๆ
สันนิษฐานได้ไม่ยากว่า คนที่คิดเปลี่ยนเป็นคนแรกไม่รู้หลักภาษาบาลี คิดเอาเองว่า คำไทยเรียกกันว่าถวาย “สังฆทาน” ซึ่งเป็นรูปคำบาลี และคำถวายเดิมว่า “ภัตตานิ” ลงท้ายว่า “นิ” ก็เลยเอาคำว่า “สังฆทาน” มาแต่งตัวเป็น “สังฆทานิ” ตามที่เข้าใจเอาเอง
ใช้กันอยู่พักหนึ่ง ก็ถูกท้วงอีกว่าศัพท์แบบนี้ไม่มี ไม่ถูกไวยากรณ์ คนท้วงคงเสนอแนะไปว่าถ้าจะให้ถูกไวยากรณ์ต้องเป็น “สังฆทานานิ”
หลักไวยากรณ์คือ “ทาน” (ทา-นะ) เป็นนปุงสกลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ เป็น “ทานํ” (ทา-นัง) แต่เนื่องจากคำถวายขึ้นต้นว่า “อิมานิ ...” ซึ่งเป็นทุติยาวิภัตติ พหุวจนะ เป็นคำยืนบังคับอยู่ “ทาน” ก็ต้องแจกด้วยทุติยาวิภัตติ พหุวจนะ จึงเปลี่ยนรูปเป็น “ทานานิ” เอา “สงฺฆ” มาสมาสข้างหน้าเป็น “สงฺฆทานานิ” เขียนแบบไทยเป็น “สังฆทานานิ”
“สังฆทานานิ” ถูกไวยากรณ์ แล้วพอแปลว่า...ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งสังฆทาน ... ก็ไปสอดรับกับความเข้าใจของคนถวายที่คิดว่าตนกำลัง “ถวายสังฆทาน” เข้าพอดี
เป็นอันว่า หลักไวยากรณ์ก็ไม่ผิด ใช้คำนี้แล้วคนก็เข้าใจได้ง่าย ก็เลยพากันใช้ทั่วไป
เวลานี้ ถ้าใครไปดูป้ายคำถวายสังฆทานที่วัดต่างๆ จัดทำไว้บริการญาติโยมให้อ่านเวลากล่าวคำถวาย คำถวายจะเป็นดังนี้ (ดูภาพประกอบ)
.........................................................
อิมานิ มะยัง ภันเต สังฆะทานานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ สังฆะทานานิ สะปะริวารานิ ...
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งสังฆทาน กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งสังฆทาน กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ...
.........................................................
ก็คือเปลี่ยนจาก “ภัตตานิ” มาเป็น “สังฆะทานานิ” และใช้แบบนี้กันทั่วไป
คำว่า “สังฆทาน” ก็ยิ่งถูกทำให้เข้าใจผิดกันไปทั่วโลกว่า เป็นสิ่งของชนิดหนึ่งที่ร้านค้าจัดเตรียมไว้ให้ และตั้งชื่อว่า “ชุดสังฆทาน” เอาชุดสังฆทานนั้นไปถวายพระ นั่นแหละคือ “ถวายสังฆทาน”
ทั้งร้านค้า ทั้งวัด ทั้งพระ ต่างก็ตักตวงผลประโยชน์บนความเขลาของผู้คนกันอย่างเพลิดเพลิน-แม้จนทุกวันนี้
พอไปใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” แล้วแปลว่า “ซึ่งสังฆทาน” ซึ่งหมายถึง “สิ่งของ” คือชุดสังฆทาน คนก็ยิ่งเข้าใจผิดว่าเป็นถูกลึกเข้าไปอีก
และที่เจ็บปวดกระดองใจเป็นที่สุดก็คือ นักเรียนบาลีของเรานี่เองก็เข้ามาอธิบายรับรองว่า ใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” ถูกต้องแล้ว ใช้ได้ เพราะ “สงฺฆทาน” แปลว่า “สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์”
สงฺฆ = สงฆ์
ทาน = สิ่งของอันพึงถวาย
สงฺฆทาน = สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์
สงฺฆทาน > สงฺฆทานานิ > สังฆะทานานิ จึงแปลได้ว่า “ซึ่งสิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์”
แปลอย่างนี้ก็เท่ากับรับรองความเข้าใจผิดของผู้คนว่าเป็นความเข้าใจถูกได้อย่างสนิท
เมื่อมีผู้รับรองแบบนี้ ก็กู่ไม่กลับสิขอรับ
..................
แต่อย่างไรก็ตาม ผมจะพยายามกู่ไปเรื่อยๆ หวังว่าจะมีใครสักคนได้ยิน แล้วชวนกันกลับมาให้ถูกทาง
ถ้า-สิ่งของที่เราถวายแก่สงฆ์ เราใช้คำ “สังฆะทานานิ” และแปลว่า “สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์”
ถามว่า สิ่งของชนิดเดียวกันนั่นแหละเราเอาไปถวายพระ ก พระ ข ให้เป็นของส่วนตัวของท่าน ได้หรือไม่?
เช่นไตรจีวร เอาไปถวายเป็นของสงฆ์ เราพูดว่า “สังฆะทานานิ”
จีวรชนิดเดียวกันนั่นแหละ-หรืออาจจะเป็นผืนเดียวกันนั่นเลย เราเอาไปถวายพระ ก พระ ข ให้เป็นของส่วนตัวของท่านได้หรือไม่?
คำตอบคือ ได้อย่างยิ่ง ไม่มีข้อห้ามไว้ที่ไหนเลยว่า ชุดสังฆทาน (สังฆะทานานิ) ห้ามเอาไปถวายเป็นของส่วนตัว ต้องถวายเป็นของสงฆ์เท่านั้น
จำได้ไหม-ที่ผมเล่าเรื่องสุภาพสตรี ๒ คนเอาถังสังฆทานมาถวายหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่อยู่ หิ้วถังกลับ
ถ้าเราเรียกชุดสังฆทานเป็นคำบาลีว่า “สังฆะทานานิ” เมื่อเอาชุดสังฆทานไปถวายให้เป็นของส่วนตัว เราก็ต้องใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งของชนิดเดียวกัน ใช่หรือไม่?
เทียบให้เห็นอีกที่-เผื่อจะยังงงอยู่
เราถวายภัตตาหาร ใช้คำบาลีว่า “ภัตตานิ”
ถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ ใช้คำว่าอะไร
ใช้ว่า “ภัตตานิ”
ถวายภัตตาหารให้พระ ก พระ ข เป็นส่วนตัว ใช้คำว่าอะไร
ก็ใช้ “ภัตตานิ” เหมือนกัน เพราะของที่ถวายคือภัตตาหารเหมือนกัน จะไปใช้คำอื่นได้อย่างไร
เราถวายภัตตาหาร ไม่ว่าจะถวายเป็นของสงฆ์หรือถวายเป็นของส่วนตัว ก็ต้องใช้ “ภัตตานิ” ทั้งนั้น เพราะของที่ถวายคือภัตตาหารเหมือนกัน
เข้าใจนะครับ
ทีนี้มาดู “สังฆะทานานิ” แล้วคิดเทียบกัน
เราถวายชุดสังฆทานให้เป็นของสงฆ์ ใช้คำว่าอะไร
ใช้ว่า “สังฆะทานานิ” และแปลว่า “ซึ่งสังฆทาน” - ก็คือคำที่กู่ไม่กลับอยู่ทุกวันนี้
ถวายชุดสังฆทานให้พระ ก พระ ข เป็นส่วนตัว จะใช้คำว่าอะไร
ก็ต้องใช้ “สังฆะทานานิ” และแปลว่า “ซึ่งสังฆทาน” เหมือนกัน เพราะของที่ถวายคือชุดสังฆทานเหมือนกัน จะไปใช้คำอื่นได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น เราถวายชุดสังฆทาน ไม่ว่าจะถวายเป็นของสงฆ์หรือถวายเป็นของส่วนตัว ก็ต้องใช้ “สังฆะทานานิ” คำเดียวกัน เพราะของที่ถวายคือชุดสังฆทานชนิดเดียวกัน
ใช้หลักการเดียวกับ “ภัตตานิ” นั่นเอง ใช่หรือไม่
ทีนี้ก็ลองหวนคิด - ถวายของให้เป็นของส่วนตัว (เหลือบไปดูข้อความที่ผ่านมา) ใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” แปลว่า “ซึ่งสังฆทาน” ถูกต้องตามหลักการถวายทานหรือไม่
หลักการของการถวายสังฆทานคือ
ถวายให้เป็นของสงฆ์คือเป็นของส่วนรวม จึงจะพูดว่า “ถวายสังฆทาน”
นี่ถวายให้เป็นของส่วนตัวแท้ๆ ก็ยังพูดว่า “ถวายสังฆทาน” อยู่นั่นเอง
แบบนี้ ใช่สังฆทานของพระพุทธเจ้าหรือ?
หรือว่าจะต้องดิ้นต้องแถต่อไปอีก
ถวายให้เป็นของสงฆ์ ใช้คำว่า “สังฆะทานานิ”
ถวายให้เป็นของส่วนตัว ต้องเปลี่ยนเป็นคำอื่น
ต้องคิดหาคำใหม่มาเปลี่ยนกันอีก
อย่าลืมนะครับ ของเดิมท่านถวายภัตตาหาร ใช้คำว่า “ภัตตานิ”
ไม่ว่าจะถวายเป็นของสงฆ์หรือถวายเป็นของส่วนตัว ก็ใช้ “ภัตตานิ” เหมือนกัน ไม่ต้องเปลี่ยน เพราะของที่ถวายคือภัตตาหารเหมือนกัน
แล้วนี่ของที่ถวายก็คือชุดสังฆทานเหมือนกัน ถวายเป็นของสงฆ์ใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” แต่ถ้าถวายเป็นของส่วนตัว ใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” ไม่ได้ เพราะไม่ได้ถวายเป็นของสงฆ์
ทำไมจะต้องยุ่งแบบนี้?
ที่ต้องยุ่งแบบนี้ก็เพราะไปอุตริใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” เข้ามาแทนชื่อสิ่งของที่ถวายนั่นเอง
ที่ประหลาดมากก็คือ สิ่งของที่เอามาถวายสังฆทานกันนั้น ถวายเป็นของสงฆ์ก็ได้ ถวายเป็นของส่วนตัวก็ได้ แต่แทนที่จะใช้คำกลางๆ กลับไปใช้คำเรียกว่า “สังฆะทานานิ” ซึ่งแปลว่า “สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์” เท่ากับบังคับว่า ของชนิดนั้นต้องถวายแก่สงฆ์เท่านั้น เอาไปให้ใครอื่นไม่ได้
“สังฆะทานานิ” ยังมีปัญหาอีกครับ ตอนหน้าจะชี้ให้ดู
-------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
๑๓:๓๖
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ