บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๒๖)

------------------------------

ถวายสังฆทาน (๘)

------------------------------

(ดำเนินความเรื่องถวายสังฆทานเงินต่อไป)

ชาวบ้านทุกวันนี้ ใช้วิธีเอาเงินใส่บาตรตอนที่พระออกบิณฑบาต ทำกันทั่วไปหมด น่าจะทำกันทั่วโลกไปแล้ว

ผมเชื่อว่าญาติมิตรที่กำลังอ่านเรื่องนี้ก็คงมี-ที่เคยเอาเงินใส่บาตร เมื่อเช้านี่เองก็ใส่ และพรุ่งนี้ก็จะใส่อีก (ฮ่า ฮ่า ฮ่า ใครจะทำไม)

เหตุผล-อยากทำบุญ ใส่อาหาร พระได้แต่อาหาร ใส่เงิน ท่านจะได้เอาเงินไปซื้อของที่จำเป็น ใส่เงินดีที่สุด โฮ้ย! ไวยาวัจกงวัจกรอะไรไม่รู้จัก ยุ่งยาก มากเรื่อง ไม่มีเวลาไปวัด จะรีบไปทำงาน พระก็อยู่ตรงนี้แล้ว บาตรก็ยื่นมาตรงหน้านี่แล้ว เงินก็มีพร้อมแล้ว จะต้องรอ (พระแสง) อะไรอีกล่ะ

ทุกคนคิดแบบนี้ ทำแบบนี้กันหมด

ไม่มีใครคอยร้องบอกชาวบ้านว่า อย่าทำแบบนั้น ทำบุญแบบนั้นพระมีความผิด (ต้องอาบัติ) เราคนทำก็ได้บาปติดมาด้วย เพราะทำให้พระต้องอาบัติ

ไม่มีใครคอยร้องบอกชาววัด คอยถวายกำลังใจพระ ให้ท่านมีอุตสาหะตั้งใจรักษาศีลข้อนี้ให้เคร่งครัดเถิด ชาวบ้านจะหาทางช่วยท่านเอง

กลายเป็นว่า-ร่วมมือกันปีนรั้ว อ้างว่าง่ายดี สะดวกดี ทำกันทั่วไปจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครเห็นว่าผิด-ทั้งๆ ที่ผิดโจ่งแจ้ง

ที่ยังพอละอายอยู่บ้าง ยอมรับว่าผิด แต่ก็เฉไฉไปว่า-ถึงผิดก็เป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องจำเป็น

ข้ออ้างที่อ้างตรงกันทั้งชาวบ้านและชาววัด ก็คือ รับ-จ่ายผ่านไวยาวัจกรยุ่งยาก มากเรื่อง ไม่คล่องตัว

เอาเงินใส่มือพระ-พระกำเงินไปซื้อเอง สะดวกที่ซู้ด!

ที่อ้างต่อมาก็คือ สมัยนี้จะไปหาไวยาวัจกรได้ที่ไหน ใครจะมารับใช้ให้ฟรีๆ

ชาวบ้านเหน็บเข้าให้ว่า-รู้ดีนักนี่ ช่วยมารับเงินแทนพระให้หน่อยสิ เอาอนุโมทนาบัตรมายืนยันด้วยนะ

ชาววัดแนมเข้าให้ว่า-โยมช่างคิดดีนักนี่ มาเป็นไวยาวัจกรให้อาตมาทีสิ

ล้วนแต่เป็นคำพูดที่แสดงว่า-ไม่มีฉันทะอุตสาหะที่จะเข้าออกตามประตูที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดไว้ให้ คือไม่คิดจะรักษาพระธรรมวินัยกันเลย

ผมเคยเสนอให้จัดทำ “ปวารณาบัตร” ให้พระเณรพกติดย่าม ปวารณาบัตรทำหน้าที่จ่ายเงินแทนไวยาวัจกร พกปวารณาบัตรเหมือนมีไวยาวัจกรหิ้วย่ามตามหลังไปด้วยทุกที่ พระเณรไม่ต้องจับเงินให้ผิดวินัย 

ปวารณาบัตรไม่ใช่เงิน กดออกมาเป็นเงินไม่ได้ อะไรรูดได้ อะไรรูดไม่ได้ เขียนโปรแกรมรัดกุม รูดของที่ไม่สมควรแก่สมณวิสัยก็รูดไม่ออก ขืนรูดผิดระเบียบเกิน ๑ ครั้ง เครื่องยึดบัตร ทีนี้รู้เลยว่าพระเณรรูปไหนทำผิดวินัยการเงิน จัดการลงโทษทางวินัยได้สะดวก 

ปวารณาบัตรเท่ากับตัวช่วยควบคุมให้พระเณรรู้จักสำรวมระวัง จะฉันจะใช้อะไรทำได้เฉพาะของที่สมควรแก่สมณบริโภค ซึ่งมีโปรแกรมกำหนดไว้ชัดเจนโดยความเห็นชอบร่วมกันของคณะสงฆ์

พรรคพวกฟังแล้วลากภูเขามาปิดทางทุกทาง โอย! ทำไม่ได้หร็อก ทำแบบนั้นเดี๋ยวก็จะเป็นแบบนี้ ทำแบบนี้เดี๋ยวก็จะเป็นแบบโน้น-สารพัดจะทำไม่ได้-เอาเงินใส่มือพระ-พระกำเงินไปซื้อเอง สะดวกที่ซู้ด!

..................

ใครที่เกิดทันได้ยินคำว่า “ของญี่ปุ่น” นึกออกไหมครับ สินค้าญี่ปุ่นเมื่อเกือบ ๑๐๐ ปีที่แล้ว พอพูดว่า “ของญี่ปุ่น” เป็นอันรู้กันว่าคุณภาพ “ห่วยแตก” ของใช้ ใช่ไม่กี่ที พัง

แต่เดี๋ยวนี้ “ของญี่ปุ่น” คุณภาพนำหน้าของฝรั่งไปไกลแล้ว 

เพราะอะไร? เพราะญี่ปุ่นมองเห็นปัญหา แล้วหาทางแก้ไข แล้วหาทางพัฒนา ไม่ได้ลากภูเขามาขวางหน้าเหมือนวิธีคิดของพี่ไทย

ถ้าเราช่วยกันหาทางหาวิธีถวายเงินให้พระอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย หาทางหาวิธีให้พระใช้เงินอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย ช่วยกันคิดหาวิธีตั้งแต่เดี๋ยวนี้ สักวันหนึ่ง --

ชาวบ้านก็จะสามารถถวายเงินได้อย่างสะดวกด้วย ถูกต้องตามพระธรรมวินัยด้วย

ชาววัด-คือพระเณร-ก็จะสามารถใช้เงินได้อย่างสะดวกด้วย และถูกต้องตามพระธรรมวินัยด้วย

แต่ถ้าเราชวนกันปีนรั้วอยู่อย่างนี้ ศีลข้อนี้ก็จะถูกเหยียบย่ำจมธรณีลึกลงไปเรื่อยๆ แล้วก็จะลามไปถึงข้ออื่นๆ ด้วย ในที่สุด ๒๒๗ ข้อก็จะเหลือไม่เกิน ๔ ข้อ

ถวายสังฆทานเงินจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง อย่างน้อยๆ ในเบื้องต้นจะช่วยจูงใจ --

จูงใจชาวบ้านให้เลิกเอาสตางค์ใส่บาตรกันเสียที

จูงใจชาววัดให้เลิกบิณฑบาตเอาสตางค์กันเสียที

จะได้เลิกเหยียบย่ำพระธรรมวินัยแล้วช่วยกันเฉไฉว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยกันเสียที

..................

วิธีถวาย “สังฆทานเงิน” หรือถวายเงินให้เป็นของสงฆ์อย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย ทำดังนี้ครับ -

๑ เปิดบัญชีเงินฝากของวัด วัดส่วนมากจะมีบัญชีเงินฝากของวัดอยู่แล้ว ก็ยิ่งสะดวกมาก

๒ จัดคนที่ไว้วางใจได้ในความซื่อสัตย์เป็นเจ้าหน้าที่รับเงินสังฆทาน โดยตำแหน่งตรงตัวก็คือ มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของไวยาวัจกร

๓ ผู้มีศรัทธาจะถวาย “สังฆทานเงิน” แจ้งความประสงค์ว่าจะถวายเป็นจำนวนเท่าไร-บาทเดียวก็ถวายได้ 

ตรงนี้ขอแทรก-ขอเสนอแนะไปถึงท่านที่ชอบเอาสตางค์ใส่บาตร 

ขอให้ท่านเลิกเอาสตางค์ใส่บาตรตั้งแต่บัดนี้ แล้วทำตามที่ผมบอกดังนี้ -

(๑) หาซองหรือกล่องอะไรก็ได้ที่มีอยู่ในบ้าน เก็บไว้ในที่เหมาะๆ ใครขับรถ เอาเก็บไว้ในรถก็ได้

(๒) พอถึงเวลามีศรัทธาจะเอาสตางค์ใส่บาตร (อย่างที่เคยประพฤติผิดๆ) ก็ควักสตางค์ออกมาจบ ทำแบบเดียวกับกำลังจะใส่บาตรนั่นแหละ

“จบ” หมายถึงตั้งจิตให้เป็นกุศล ใครจะตั้งจิตอธิษฐานด้วยคาถาพระอนุรุทธก็ยิ่งดี ใครไม่เคยรู้โปรดรับรู้ไว้ จำเอาไปใช้ได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์

คาถาพระอนุรุทธว่าดังนี้ -

.........................................................

อิมินา ปะนะ ทาเนนะ

มา เม ทาลิททิยัง อะหุ

นัตถีติ วะจะนัง นามะ

มา อะโหสิ ภะวาภะเว.

ด้วยอำนาจแห่งทานนี้

ขอความยากจนเข็ญใจจงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า

ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้ยินได้ฟังคำว่า “ไม่มี”

ทุกภพทุกชาติ เทอญ

.........................................................

ต่อจากนั้น จะแถมด้วยอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บิดามารดาปู่ยาตายายหรือใครอีก ก็ว่าไป

จบแล้ว ตัดใจบริจาคให้เป็นของสงฆ์ แล้วเอาสตางค์ใส่ซองหรือกล่องที่เตรียมไว้

ง่ายๆ แค่นี้ นั่นคือท่านได้ทำบุญใส่บาตรเรียบร้อยแล้ว ง่ายกว่าเอาสตางค์ใส่บาตรพระเป็นไหนๆ

ไม่ต้องรอให้เจอพระ ไม่ต้องเอาสตางค์ใส่บาตรให้พระเป็นอาบัติ ไม่ต้องส่งเสริมกิเลสพระให้อยากบิณฑบาตเอาเงิน และที่สำคัญ-เป็นการถวายกำลังใจให้พระมีฉันทะอุตสาหะรักษาศีลข้อนี้ให้ได้อีกโสดหนึ่ง

เงินที่ท่านจบใส่ซองใส่กล่องนั้น บัดนี้เป็นของสงฆ์ไปแล้ว ท่านอย่าได้เผลอเอาไปใช้เป็นเด็ดขาด บาปเท่ากับกินของสงฆ์นั่นทีเดียว ถ้าไม่ฉุกเฉินถึงเป็นถึงตายจริงๆ ขอแนะนำว่า-อย่าแตะต้อง

มีศรัทธาจะใส่บาตรทีไร ก็ทำแบบนี้ทุกครั้งไป

ครั้นพอมีเวลาที่จะไปวัดได้ (ชาตินี้ทั้งชาติท่านไม่มีโอกาสจะไปวัดบ้างเลยเชียวหรือ) ก็ชวนลูกชวนเมียชวนผัวชวนพ่อชวนแม่ไปวัดกัน เอาซองหรือกล่องที่ใส่สตางค์ทุกวันนั้นไปถวายสังฆทานเงินกัน

๔ ทำพิธีถวายเงิน ขั้นตอนก็คือ แจ้งพระ แจ้งไวยาวัจกร เมื่อพระพร้อม ไวยาวัจกรพร้อม ก็เอาเงินใส่พานตั้งไว้ตรงหน้าพระ แล้วจุดธูปเทียนบูชาพระ รับศีล กล่าวคำถวายเงิน ดังนี้ -

.........................................................

คำถวายสังฆทานเงิน

นะโม  ตัสสะ / ภะคะวะโต / อะระหะโต / สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

ยัคเฆ  ภันเต / สังโฆ / ปะฏิชานาตุ / อิมัง  ธะนัง / สังฆัสสะ / นิยยาเทมะ / สัพพะ/หิตูปะกะระณัตถายะ / พุทธะสาสะเน / อิมัสสะ / ธะนัสสะ / ทานัสสะ / อานิสังโส / สังวัตตะตุ / อัมหากัญเจวะ / มาตาปิตุ/อาทีนัญจะ / ญาตะกานัง / ทีฆะรัตตัง / หิตายะ / สุขายะ.

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ / ขอพระสงฆ์โปรดรับทราบ / ข้าพเจ้าทั้งหลาย / ขอมอบถวาย / ซึ่งทรัพย์นี้ / แก่สงฆ์ / เพื่อใช้ทำประโยชน์ทั้งปวง / ในพระพุทธศาสนา / ขออานิสงส์/ แห่งการถวายทรัพย์นี้ / จงเป็นไป / เพื่อประโยชน์ / เพื่อความสุข / แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย / และแก่ญาติทั้งหลาย / มีมารดาบิดาเป็นต้น / ตลอดกาลนาน เทอญ.

.........................................................

กล่าวจบ ไม่ต้องประเคนเงิน-ย้ำ! ไม่ต้องประเคนเงินให้พระ- พระอนุโมทนา ผู้ถวายรับพร เป็นอันเสร็จพิธี 

- มอบเงินให้แก่ไวยาวัจกรหรือเจ้าหน้าที่ของวัด

- เจ้าหน้าที่ออกใบรับหรืออนุโมทนาบัตรให้เป็นหลักฐาน

๕ เมื่อหมดเวลาในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่นำเงินสังฆทานฝากเข้าบัญชีวัด หรือกี่วันจึงจะนำฝากก็แล้วแต่จะกำหนด แต่ต้องทำให้บริสุทธิ์จริงๆ 

.........................................................

โปรดจำไว้ให้จรดเยื่อในกระดูกว่า - การเอาเงินสังฆทานไปใช้ส่วนตัวเป็นมหันตบาป วิบัติทุกราย ไม่เชื่อก็เชิญลอง จะได้เจอของจริงกับตัวเอง

.........................................................

เงินสังฆทานนี้ก็จะไปเป็นค่าน้ำค่าไฟของวัด บำรุงการศึกษาของภิกษุสามเณร ค่าภัตตาหาร ค่ำน้ำปานะตอนบ่าย ค่ายารักษาโรค ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกสารพัดอย่าง อันเป็นประโยชน์แก่สงฆ์ คือพระพุทธศาสนาโดยตรง สมตามความมุ่งหมายของการถวายสังฆทานที่ถูกต้องทุกประการ (ถ้าคณะสงฆ์จะกรุณาวางกรอบการบริหารเงินสังฆทานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก็จะเป็นการดี จะได้ไม่จ่ายสะเปะสะปะ หรือ-เจ้าอาวาสอ้วน แต่ลูกวัดและเด็กวัดผอม)

ท่านที่มีศรัทธาอยากจะถวายของฉันของใช้ ก็ยังคงถวายได้เหมือนเดิม แต่โปรดใช้วิธีเลือกเป็นชิ้นๆ และให้แน่ใจว่าถวายแล้วไปถึงปากถึงมือพระจริงๆ ไม่ใช่ตั้งหมุนอยู่ตรงนั้นเป็นเดือนเป็นปี-เหมือนที่กำลังเป็นอยู่

ผู้ผลิตชุดสังฆทาน ท่านก็ยังคงผลิตได้และขายได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องผลิตของที่-ถวายแล้วพระได้ฉันได้ใช้คุ้มค่าสินค้าจริงๆ ประเภท-ไม่สนว่าใครจะซื้อเอาไปกอง ขอให้ข้าขายของได้มากๆ ท่าเดียว กรุณาเลิกกันที

ถวายสังฆทานในส่วนชาวบ้านและชาววัด น่าจะสิ้นกระแสความได้แล้ว แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับมรรคนายก ยังมีเรื่องจะต้องปรับความเข้าใจกันอีกเล็กน้อย

-------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

๑๖:๐๗ 

[right-side]

ทำบุญวันพระ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.