ทองย้อย แสงสินชัย 

#บาลีวันละคำ (3,811)


สาระ - อสาระ

สิ่งที่เป็นสาระและสิ่งที่ไร้สาระ

“สาระ” อ่านว่า สา-ระ

“อสาระ” อ่านว่า อะ-สา-ระ

คำหลักคือ “สาระ” มี “อ-” นำหน้า

(๑) “สาระ” 

เป็นคำบาลี เขียนแบบบาลีเป็น “สาร” อ่านว่า สา-ระ รากศัพท์มาจาก -

(1) สรฺ (ธาตุ = ขยาย, พิสดาร) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ส-(รฺ) เป็น อา (สรฺ > สาร)

: สรฺ + ณ = สรณ > สร > สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายออก”

(2) สา (ธาตุ = มีกำลัง, สามารถ) + ร ปัจจัย

: สา + ร = สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีกำลัง”

“สาร” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ -

     (1) สำคัญ, ประเสริฐยิ่ง, แข็งแรง (essential, most excellent, strong)

     (2) ชั้นในที่สุด และส่วนที่แข็งที่สุดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, แก่นหรือแกนของไม้ (the innermost, hardest part of anything, the heart or pith of a tree)

     (3) แก่นสาร, ส่วนสำคัญ, ส่วนที่ดีที่สุด (substance, essence, choicest part)

     (4) คุณค่า (value)

บาลี “สาร” ในที่นี้คำไทยสะกดเป็น “สาระ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ -

“สาระ : (คำนาม) ส่วนสำคัญ, ข้อใหญ่ใจความ, เช่น เขียนมายืดยาวแต่มีสาระน้อย ทำดีย่อมได้ดีเป็นสาระสำคัญของเรื่องนี้; ประโยชน์ เช่น เรื่องไม่เป็นสาระ ไร้สาระ.”

(๒) “อ-” นำหน้า

“อ-” ในที่นี้แปลงมาจาก “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not) 

“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ - 

(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ) 

(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)

ในที่นี้ “สาร” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ส จึงแปลง น เป็น อ 

: น + สาร = นสาร > อสาร แปลว่า “สิ่งที่ไม่มีสาระ”

“อสาร” ในที่นี้คำไทยสะกดเป็น “อสาระ”

คำว่า “อสาระ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

เป็นอันว่าได้รู้ที่มาของคำว่า “สาระ” และ “อสาระ” 

อภิปรายขยายความ :

เราท่านทั้งหลายที่พูดได้ คงจะเคยพูดคำว่า “สาระ” กันมาแล้ว แต่คำว่า “อสาระ” (อะ-สา-ระ) น่าจะไม่มีใครพูด แม้จะเขียนเป็นคำไทย แต่คนไทยก็ไม่ได้พูดคำนี้ในชีวิตประจำวันเหมือนคำว่า “สาระ” ที่ยังพอมีคนพูดกันอยู่บ้าง

แต่ถ้าบอกว่า “อสาระ” มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “ไร้สาระ” คราวนี้คงมีคนร้องอ๋อ และยอมรับว่าได้เคยพูดคำนี้กันมาบ้างแล้ว

ที่ควรรู้เพิ่มเติมคือ “สาระ” กับ “อสาระ” ในบาลีมักพูดควบคู่กันในกรณีที่ถกเถียงกันว่า อะไรอย่างไรคือ “สาระ” และอะไรอย่างไรคือ “อสาระ” (ไร้สาระ)

บางทัศนะบอกว่า ไม่มีอะไรที่เป็นสาระแท้จริง เพราะสาระขึ้นอยู่กับวัยของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ดังคำที่ว่า -

..............

ทารกว่าวิ่งเล่นเป็นสาระ

หนุ่มสาวสะว่ากินเที่ยวเล่นเป็นแก่นสาร

ผู้ใหญ่ว่าสาระคือทำงาน

ผู้เฒ่าว่าศีลทานคือสาระ

..............

แต่คำที่ว่านี้ก็ยังมีนัยเยื้องแย้งอยู่ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวถึงเด็กอายุ 7 ขวบเป็นจำนวนมากบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ คือพบสาระของชีวิตแล้ว ในขณะที่ผู้เฒ่าอายุ 70-80 ยังหมกมุ่นอยู่ในโลกียสุขไม่สร่างซา

ในทางธรรม คัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย (พระไตรปิฎกเล่ม 21 ข้อ 150) แสดงธรรมที่เป็น “สาระ” ว่ามี 4 อย่าง คือ คือ - 

     (1) ศีล: ควบคุมพฤติกรรมทางการกระทำและคำพูดให้อยู่กรอบที่ดีงาม

     (2) สมาธิ: ฝึกจิตให้ดิ่งนิ่งหนักแน่นมั่นคงในทางที่ดีงาม

     (3) ปัญญา: พัฒนาความรู้ความเข้าใจให้รู้เท่าทันถูกต้องตามความเป็นจริง

     (4) วิมุตติ: จิตหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง อันเป็นผลมาจากความสมบูรณ์แห่งศีล สมาธิ และปัญญา

มีพุทธภาษิตที่แสดงทัศนะเกี่ยวกับ “สาระ - อสาระ” ที่น่าศึกษา ขอยกมาเสนอดังนี้ -

..............

อสาเร สารมติโน       สาเร จ อสารททสฺสิโน 

เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ    มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา ฯ

ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่เป็นสาระ ว่าไร้สาระ 

ผู้นั้นมีความคิดผิดเสียแล้ว ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ 

In the unessential they imagine the essential, 

In the essential they see the unessential; 

They who feed on wrong thoughts as such 

Never achieve the essential. 

สารญฺจ สารโต ญตฺวา    อสารญฺจ อสารโต 

เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ       สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา ฯ

ผู้ที่เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ และสิ่งที่ไร้สาระว่าไร้สาระ 

มีความคิดเห็นชอบ ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ 

Knowing the essential as the essential, 

And the unessential as the unessential, 

They who feed on right thoughts as such 

Achieve the essential.

ที่มา: ยมกวรรค ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 11

คำแปลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ:

หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

..............

ดูก่อนภราดา!

ถ้าท่านอ่านคำประพันธ์นี้แล้วเข้าใจความหมาย

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านพบสิ่งที่เป็นสาระเข้าแล้ว

: อสารพาลว่าสารเพ็ญ

: สารเห็นเป็นอสารผิด

: คิดพลาดเพราะขาดพิศ

: จึงไป่พบประสบสาร

[right-side]

ภาษาธรรม,สาระ,อสาระ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.