บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๒๕)
------------------------------
ถวายสังฆทาน (๗)
------------------------------
ถ้าอยากได้เงินเข้าวัด ขอเสนอให้ทำ “สังฆทานเงิน”
สังฆทานเงิน ก็คือถวายเงินให้เป็นของสงฆ์
ฟังเหตุผลดูก่อนว่า ทำไมจึงควรถวายเงินให้เป็นของสงฆ์
๑ ทุกวันนี้ของฉันของใช้ออกจะเหลือเฟือมากอยู่แล้ว บางทีถึงกับทิ้งขว้าง จึงควรลดการถวายของฉันของใช้ลงบ้าง
๒ การที่ทางวัดจัดเครื่องสังฆทานไว้ให้ “เปลี่ยน” นั้น ความประสงค์ก็เพื่อจะได้เงินเข้าวัดเท่านั้น มิได้หวังจะได้ของฉันของใช้เพิ่มขึ้นแต่ประการใดเลย
๓ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็น่าจะถวายสังฆทานด้วย “เงิน” โดยตรงเสียเลย ไม่ต้องถวายผ่าน “ถังสังฆทาน” เหมือนเล่นละคร หรือหลอกคนให้ทำบุญ
.........................................................
เอาของกินของใช้มาให้ญาติโยมยกประเคนพระ
บอกว่านี่คือถวายสังฆทาน ได้อานิสงส์แรง
แต่จริงๆ คือจะเอาเงิน
.........................................................
ทำไมจะต้องทำอย่างนี้
๔ การถวายเงินบำรุงวัดเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทำกันอยู่แล้วเป็นปกติ และทำกันมานานนักหนาแล้วด้วย เพียงแต่ไม่ได้ทำให้มีรูปแบบเป็น “สังฆทาน” เท่านั้น เราจึงควรมาช่วยกันทำให้การถวายเงินเข้าวัดเป็น “สังฆทาน” โดยตรงเสียเลย
ได้รูปแบบสังฆทาน-สำหรับคนที่ยังติดรูปแบบ
ได้เงินเข้าวัดโดยตรง-สมตามความประสงค์ของวัด
.........................................................
พระรับเงินไม่ได้ ผิดวินัยสงฆ์
เอาเงินถวายเป็นสังฆทานได้หรือ
ไม่ผิดวินัยวิสงฆ์หรือ
.........................................................
นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะควร “เคลียร์” กันให้กระจ่าง
ศีลของพระที่เรารู้กันดีมีจำนวน ๒๒๗ ข้อ มีอยู่ข้อหนึ่ง ที่บัญญัติไว้ว่า -
.........................................................
โย ปน ภิกฺขุ
ชาตรูปรชตํ อุคฺคเณฺหยฺย วา อุคฺคณฺหาเปยฺย วา
อุปนิกฺขิตฺตํ วา สาทิเยยฺย
นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ.
อนึ่ง ภิกษุใด
รับเองก็ดี ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองและเงิน
หรือยินดีทองและเงินอันเขาเก็บไว้ให้
ภิกษุนั้นต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์.
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ นิสสัคคียกัณฑ์ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘
พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๑๐๕ หน้า ๙๐
.........................................................
พูดสั้นๆ ก็คือ ห้ามภิกษุรับเงิน (เงิน: วัตถุที่ใช้วัดราคาในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน, วัตถุที่มีตราของรัฐ ใช้ชําระหนี้ได้ตามกฎหมาย, ได้แก่ เหรียญกระษาปณ์และธนบัตร, เงินตรา ก็เรียก; วัตถุที่กําหนดให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือชําระหนี้-พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔)
ศีลข้อนี้ เพียงแค่ “ปลงอาบัติ” ก็พ้นผิดได้ แต่มีเงื่อนไขอยู่ว่า เงินที่รับมานั้นต้องดำเนินการสละเสียก่อนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด จึงจะปลงอาบัติพ้นความผิดได้
ต้นเหตุของศีลข้อนี้มีเรื่องอยู่ว่า -
ในสมัยพุทธกาล มีโยมคนหนึ่งนิมนต์พระรูปหนึ่งไปฉันที่บ้านเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่ง เกิดเหตุจำเป็นต้องเอาอาหารที่เตรียมไว้จะถวายพระมาให้ลูกกินเสียก่อน เมื่อพระไปถึงบ้าน จึงเล่าเหตุจำเป็นนั้นให้ท่านทราบ และได้เรียนท่านด้วยว่า ได้เตรียมเงินไว้แล้วที่จะไปจัดซื้ออาหารมาถวายใหม่ ท่านอยากจะฉันอะไรก็ขอให้บอก
พระรูปนั้นจึงบอกว่า ถ้าโยมตั้งใจจะบริจาคเงินจำนวนนั้นเพื่ออาตมาอยู่แล้วละก็ ไม่ต้องไปซื้ออาหารหรอก ถวายเงินแก่อาตมาเลยก็ได้
เมื่อพระพูดเช่นนั้น โยมก็ไม่อาจจะขัดได้ จึงถวายเงินแก่พระ พระรูปนั้นก็รับเงินไป โยมผู้นั้นได้พูดแสดงความรู้สึกออกมาว่า พระภิกษุรับเงินก็ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้าน
เหตุการณ์ที่พระรับเงินนี้ทำให้เกิดเสียงตำหนิติติงกันขึ้นมา เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อนี้ขึ้น
..................
ที่ผมว่าควรพูดให้เคลียร์ก็คือ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลห้ามพระรับเงินก็จริง แต่ท่านไม่ได้ห้ามใช้เงิน
พระใช้เงินได้นะครับ ไม่ได้ห้าม แต่ต้องใช้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
เพราะฉะนั้น ชาวบ้านจึงสามารถถวายเงินให้พระได้ แต่ก็ต้องถวายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดเช่นกัน
นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านสมัยนี้ไม่เข้าใจและไม่เรียนรู้
พระพุทธเจ้าไม่ใช่คนโง่นะครับ พระก็ต้องกินต้องใช้ ของกินของใช้ก็ต้องมาจากเงิน ทำไมพระพุทธเจ้าท่านจะไม่รู้
เมื่อห้ามรับห้ามจับห้ามหยิบ แต่เมื่อยังจำเป็นต้องใช้ ท่านก็ต้องมีทางออกไว้ให้
.........................................................
ทางออกที่ถวายเงินให้พระได้ ก็คือถวายด้วยวิธีปวารณา
ทางออกที่ให้พระใช้เงินได้ ก็คือใช้เงินผ่านไวยาวัจกร
.........................................................
นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านสมัยนี้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่คิดจะศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ
“ปวารณา” คือแจ้งให้พระทราบ จะโดยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ ใจความว่า-ข้าพเจ้าขอถวายจตุปัจจัยแก่พระคุณท่านเป็นมูลค่าเท่ากับเงิน-เท่านั้นเท่านี้-บาท ตัวเงินมอบไว้กับไวยาวัจกรแล้ว พระคุณเจ้าประสงค์จะใช้จ่ายเป็นค่าอะไร-ที่สมควรแก่สมณบริโภค-ขอได้โปรดเรียกร้องจากไวยาวัจกรนั้นเทอญ
นี่คือการถวายเงินให้พระอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ครั้นถึงเวลาที่จะใช้เงิน พระก็แจ้งแก่ไวยาวัจกรว่าต้องการจะใช้อะไร (ที่สมควรแก่สมณบริโภค) ไวยาวัจกรจะเป็นผู้ไปจัดหาสิ่งนั้นมาถวายตามจำนวนเงินที่มีผู้ถวายไว้ โดยที่พระไม่ต้องกำเงินไปซื้อเอง
นี่คือการที่พระใช้เงินอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย
“ไวยาวัจกร” คือใคร? ก็คือชาวบ้านที่วัดไว้วางใจมอบหมายให้รับเงิน ถือเงิน ดูแลเงิน และจ่ายเงินแทนพระ
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้ (มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาเป็นลำดับ) มาตรา ๒๓ ระบุถึง “ไวยาวัจกร” ไว้ด้วย ข้อความเป็นดังนี้ -
.........................................................
มาตรา ๒๓ การแต่งตั้ง ถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ และไวยาวัจกร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
.........................................................
กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ.๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๔ : ๒๘ เมษายน ๒๕๓๖) ข้อ ๗ กำหนดไว้ว่า -
.........................................................
ข้อ ๗ ในการแต่งตั้งไวยาวัจกรของวัดใด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสวัดนั้นปรึกษาสงฆ์ในวัดพิจารณาคัดเลือกคฤหัสถ์ผู้มีคุณสมบัติตามความในข้อ ๖ เมื่อมีมติ เห็นชอบในคฤหัสถ์ผู้ใด ก็ให้เจ้าอาวาสแต่งตั้งคฤหัสถ์ผู้นั้นเป็นไวยาวัจกรโดยอนุมัติของเจ้าคณะอำเภอ
ในการแต่งตั้งไวยาวัจกรตามความในวรรคต้น เพื่อความเหมาะสมจะแต่งตั้งไวยาวัจกรคนเดียวหรือหลายคนก็ได้
.........................................................
เป็นอันว่า กฎหมายก็เปิดทางให้วัดต่างๆ มีไวยาวัจกรทำหน้าที่รับ-จ่ายเงินแทนพระ
หน่วยราชการที่ควรรับผิดชอบได้ตรงตัวที่สุดในการจัดหาไวยาวัจกรให้วัดต่างๆ ก็คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งกระจายอยู่แล้วทุกจังหวัด
ผู้มีศรัทธาจึงสามารถถวายเงินให้พระได้ และพระจึงสามารถใช้เงินผ่านทางไวยาวัจกร โดยไม่ต้องรับ-จับ-จ่ายด้วยตัวเองให้ผิดศีล
แต่เชื่อหรือไม่ ทั้งชาวบ้านและชาววัดสมัยนี้ ไม่ชอบออกทางประตูที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดไว้ให้นี้ อ้างว่ายุ่งยาก มากเรื่อง ไม่สะดวก ไม่คล่องตัว ปีนรั้วสบายกว่า
เรื่องถวายสังฆทานเงิน ยังไม่จบครับ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
๑๑:๓๒
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ