Sompob Sanguanpanich

ธรรมกถา

อ้างตำรา

...

ประเด็นข้อความ

ในพระบาฬีเกสปุตตสูตร หรือ ที่เรารู้จักกันดีว่า กาลามสูตร ว่า "มา ปิฏกสมฺปทาเนน" ซึ่งฉบับไทยแปลว่า  "อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา" 

ข้อความนี้ อาจเข้าใจไขว้เขวไปว่า มิให้แม้แต่กระทั่งยึดถือพระไตรปิฏก ที่รวมอยู่ในคำว่า "ตำรา" ซึ่งตรงกับคำบาฬีว่า "ปิฏก" 

ในคำว่า "ปิฏกสมฺปทาเนน" ผมเห็นว่า มีบางส่วนที่น่าจะต้องอธิบายให้มากกว่านี้ คือ

     - แนวทางเทศนาในพระสูตร จะมีเนื้อหาคล้อยตามความเหมาะสม ในการเข้าถึงหรือบรรลุธรรมของผู้ฟังเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น การที่ยังไม่ให้ทรงเชื่อถือในกรณีนี้ 

จึงเป็นคำพูดเฉพาะกาลในสมัยนั้นที่เกิดเรื่องนี้ คือในเวลานั้น มีพวกสมณพราหมณ์หลายกลุ่ม ที่เข้ามาบรรยาย ป่าวประกาศ แสดงลัทธิต่างๆให้ชาวบ้านที่นี่ฟัง เมื่อพิจารณาตามบริบทในขณะนั้น จะพบว่า คำว่า ปิฎก ในพระสูตรนี้ น่าจะไม่ใช่ ปิฎกะ ที่หมายถึง พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นตำราที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใดเพราะในสมัยที่ตรัสพระสูตรนี้ ยังไม่มีการรวมพระพุทธวจนะเป็นปิฏกสามดังปัจจุบัน

     - อันที่จริงคำว่า ตำรา ซึ่งตรงกับคำบาฬีว่า ปิฏก (อ่านว่า ปิ - ตะ - กะ) มีความหมายหลายอย่างรวมไปถึงความหมายว่า ตำราที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่จะต้องเรียนแต่ในพระสูตรนั้น น่าจะเป็นตำราที่บันทึกคำสอนของสมณพราหมณ์เจ้าลัทธิภายนอกพระศาสนา. และการที่ทรงแนะนำว่า อย่าด่วนปลงใจเชื่ออย่างจริงจังต่อคำพูดเช่นนั้นของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเนื่องจากลงกันได้กับตำราที่ตนเคยเรียนรู้มา ก็เพราะคำสอนบางอย่างในลัทธิที่พวกสมณพราหมณ์สั่งสอนกันสืบมานั้น ขัดแย้งต่อความเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์อย่างชัดเจน ยังไม่ต้องพูดถึงความบริสุทธิ์หมดจดได้เลย.แต่ถ้าเป็นข้อความในพระไตรปิฎกคือพระพุทธวจนะ หาได้มีคำสอนแม้ส่วนหนึ่งที่เป็นไปขัดแย้งต่อสุคติเป็นต้นแต่อย่างใด

....

     - ประเด็นต่อไป ถ้าคำว่า "ปิฏก” นั้นรวมถึงพระไตรปิฏก จะอธิบายว่าอย่างไรตอบ ในคัมภีร์อรรถกถาและฏีกาต่างๆ เมื่อจะอธิบายคำว่า ปิฏก ที่หมายถึง ตำรา ก็จะยกข้อความในพระบาฬีนี้มาอ้างอิง และอธิบายว่า ได้แก่ ปริยัตติ ซึ่งมีความหมายว่า เนื้อหาที่ควรเล่าเรียน  (นีติ.ธาตุ.ปิฏ.สทฺเท,ภูวาทิ) บ้างและบางแห่งจะระบุว่า ได้แก่ พระบาฬี หรือปาพจน์ ดังนี้ บ้าง

(ม.อุ.อ.๔๕๓, ที.สี.ฏี.๑/นิทานวณฺณนา). 

ในที่นั้นท่านประสงค์จะอธิบายว่า 

      คำว่า "ปิฏก" หมายถึง ตำราบันทึกสาระที่ต้องเรียนรู้ ซึ่งเป็นศัพท์เดียวกับคำว่า ปิฏก ที่หมายถึง ตระกร้า หรือ กระบุงเป็นต้น.

      ดังนั้น ในพระพุทธศาสนา คำว่า "ปิฏก" ใที่ช้หมายถึงตำรา โดยมากแล้วจะหมายถึง พระไตรปิฏกอันเป็นพุทธวจนะ. แม้การเชื่อถือต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นผลดีอย่างแน่นอน เพราะคำสอนในพระไตรปิฎกล้วนแต่ให้เว้นเหตุแห่งความทุกข์ และสร้างเหตุแห่งความสุข.ผู้แสดงเนื้อความในพระไตรปิฎกนั้น คือ พระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นครูของเทวดามนุษย์ทั้งหลายอีกทั้งเป็นคำสอนของพระอริยสาวกทั้งหลายเป็นต้นด้วย พระโบราณาจารย์นักปราชญ์บัณฑิต  ย่อมพิสูจน์กันอย่างมากแล้วว่าเป็นธรรมอันมีจริงด้วยเหตุนี้ จึงรักษา สืบทอดกันมาเนิ่นนาน กว่าจะมาถึงรุ่นพวกเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ พระไตรปิฏกน่าเชื่อถือหรือไม่ โปรดพิจารณา 

...

     - ยังมีประเด็นที่น่าคิดต่อไปอีก คือ คำว่า "สมฺปทาน" ในคำว่า ปิฏกสมฺปทาเนน ในพระไตรปิฏกฉบับแปล มีคำแปลว่า  อ้างถึง (อย่าปลงใจเชื่อโดยอ้างตำรา) คำว่า อ้าง นี้ก็คือ สมกัน หรือสอดคล้องกับตำรา ดังคำอธิบายในอรรถกถาพระสูตรนี้ว่า สมกับตันติคือตำราของเรา .

ส่วนฏีกาของพระสูตรนี้ อธิบายเพิ่มอีกว่า 

      คำว่า "สมฺปทาน" นี้ ได้แก่ บุคคลผู้มีความเจนจัดในตำรา พวกเขาถือเอาตำราที่ลงกันได้กับที่เคยรู้มาว่า “ลงกันได้ ฉะนั้น ที่ว่าไว้อย่างนี้เป็นความจริง".

      ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะแปลคำว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน ให้ชัดเจนตามที่พระอรรถกถาจารย์และพระฏีกาจารย์อธิบายไว้ ก็จะได้ว่า อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญในตำรา  เพราะความเป็นเชี่ยวชาญนั้น อาจเป็นเหตุแห่งความผลีผลามด่วนเชื่อไปในทันทีโดยขาดการไตร่ตรอง 

      อย่างไรก็ตาม มิได้ทรงห้ามว่า อย่าเชื่อตำราหรือแม้แต่พระไตรปิฎกไปแบบสุดขั้ว. และที่สำคัญในตอนท้าย พระพุทธเจ้าสอบสวนความคิดเห็นของชาวกาลามะเหล่านั้นด้วยข้อธรรมที่ทรงพร่ำสอน และทรงสรุปให้ไว้เป็นแนวทางเรื่องนี้ว่า 

     “เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์, เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย. เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า 

     - อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา  ฯลฯ 

     - อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา 

      เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้  ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่. 

(เกสปุตตสูตร อัง.ติก.๒๐/๕๐๖)

...

ดังนั้น ผมจึงยืนยันว่า "ตำราคือพระไตรปิฏก น่าเชื่อถือ แต่อย่าด่วนเชื่อถือ เพราะตนเป็นผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎก" ด้วยประการฉะนี้

--------------

สมภพ สงวนพานิช

๒๕  มีนาคม ๒๕๖๕

--------///---------


[full-post]

ปกิณกธรรม,อ้างตำรา,เกสปุตตสูตร,กาลามสูตร

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.