Sompob Sanguanpanich


วิมุตติปาจนียธรรม 

ธรรมเครื่องบ่มวิมุตติให้สุกงอม

...

วิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส

วิมุตติ ๒ เมื่อว่าโดยวิธีและผลแห่งการปฏิบัติ คือ เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ

      เจโตวิมุตติ เป็นความหลุดพ้นจากกิเลสแห่งใจด้วยกำลังสมาธิ และกิเลสเหล่านั้นมีราคะเป็นประธาน องค์ธรรมได้แก่ สมาธิที่สัมปยุตกับอริยผล 

      ปัญญาวิมุตติ เป็นความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยปัญญา และกิเลสเหล่านั้นมีอวิชชาเป็นประธาน องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาที่สัมปยุตกับอริยผล การจะบรรลุวิมุตติ ๒ ประการนั้น 

จะต้องผ่านขั้นตอนแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้ คือ

      - ตทังควิมุตติ, 

      - วิกขัมภนวิมุตติ, 

      - สมุจเฉทวิมุตติ, 

      - ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ, 

      - นิสสรณวิมุตติ.

      เพราะเหตุนี้ ทั้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ จึงได้แก่ โลกุตตรผล จัดเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติธรรมเป็นเหตุแห่งวิมุตติ กล่าวคือ พระกัมมัฏฐาน ที่มีวิปัสสนาปัญญาเป็นผลแม้วิปัสสนานั้นที่แก่กล้าด้วยธรรมเครื่องบ่มวิมุตติ ก็ย่อมพัฒนาเป็นวิมุตติต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสพระกัมมัฏฐานเหล่านั้นไว้ในพระสูตรมีดังนี้ (ติดตามต่อไป)ก่อนจะลงมือปฏิบัติกัมมัฏฐาน ต้องมีบุพพภาคปฏิปทา (การปฏิบัติในส่วนเบื้องต้น) ๕ ประการที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า วิมุตติปาจนียธรรม คือ ธรรมที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งวิมุตติ  มีความเป็นผู้มีกัลยาณมิตรเป็นต้นผู้ผ่านการอบรมธรรม ๕ เหล่านี้ จึงควรเจริญกัมมัฏฐานเพื่อบรรลุวิมุตติต่อไป

....

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงหัวข้อ รายละเอียดติดตามกันต่อไปครับ

#นานาสาระพระคัมภีร์

#ธรรมกถา

#พระไตรปิฏกมีอะไรให้อ่าน

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช.

๑๑/๑๑/๖๕


---------///---------


วิมุตติปาจนียธรรม (๒)

      เป้าหมายสูงสุดของผู้ปฏิบัติกิจพระศาสนา คือ การเข้าถึงความหลุดพ้นจากกิเลส ที่เรียกชื่อว่า วิมุตติ

      วิมุตติ นี้ถือเป็นรสหนึ่งเดียวแห่งพระศาสนาทั้งสิ้น ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสถึงพระธรรมวินัยว่ามีวิมุตติรสอย่างเดียว ดังมหาสมุทรมีรสเค็มอย่างเดียว 

       ‘‘เสยฺยถาปิ, ภิกฺขเว, มหาสมุทฺโท เอกรโส โลณรโส, เอวเมว โข, ภิกฺขเว, อยํ ธมฺมวินโย เอกรโส วิมุตฺติรโสฯ ยมฺปิ, ภิกฺขเว, อยํ ธมฺมวินโย เอกรโส วิมุตฺติรโส – อยํ, ภิกฺขเว, อิมสฺมิํ ธมฺมวินเย ฉฏฺโฐ อจฺฉริโย อพฺภุโต ธมฺโม, ยํ ทิสฺวา ทิสฺวา ภิกฺขู อิมสฺมิํ ธมฺมวินเย อภิรมนฺติฯ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเค็มรสเดียว ธรรมวินัยนี้ ก็เหมือนกัน มีวิมุตติรส รสเดียว ข้อที่ธรรมวินัยนี้มีวิมุตติรส รสเดียว    แม้นี้ก็เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยนี้ เป็นข้อที่ ๖ ที่ภิกษุทั้งหลายพบ  เห็นแล้ว พากันชื่นชมในธรรมวินัยนี้ ฯ  (วิ.จูฬ.๗/๔๖๒)

      ก็วิมุตติที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้นั้น โดยนัยแห่งแนวทางและผลของการปฏิบัติ แบ่งเป็น ๒ คือ เจโตวิมุตติ และ ปัญญาวิมุตติ 

      ๑) เจโตวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นแห่งจิตจากราคะ ด้วยกำลังแห่งสมาธิ  ซึ่งผู้ปฏิบัติจะเป็นสมถยานิกบุคคล เป็นผู้ได้สมาธิชั้นอัปปนาหรือฌาน ต่อมาเจริญวิปัสสนาบรรลุอริยผล.

      ๒) ปัญญาวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นแห่งจิตจากอวิชชา ด้วยปัญญาที่รู้เห็นตามเป็นจริง ซึ่งผู้ปฏิบัติจะเป็นวิปัสนายานิกบุคคล เพียงบรรลุอุปจารฌาน ก็สามารถเจริญวิปัสนาบรรลุอริยผล.

ดังพระบาฬีว่า

      อิติ  โข  ภิกฺขเว ราควิราคา เจโตวิมุตฺติ อวิชฺชาวิราคา ปญฺญาวิมุตฺตีติ

      เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้จึงชื่อว่าปัญญาวิมุติ อย่างนี้แลภิกษุทั้งหลาย(อัง.ทุก.๒๐/๒๗๖)

โดยเฉพาะเจโตวิมุตติ มีความหมายหลายนัย เช่น การหลุดพ้นกิเลสมีนิวรณ์เป็นต้นแห่งใจ บ้าง หลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจกล่าวคือสมาธิ บ้าง ธรรมที่เป็นเหตุให้จิตพ้นจากกิเลส บ้าง.  

ด้วยเหตุนี้ เจโตวิมุตตินี้ จึงหมายถึง ธรรมหลายประการ จับตั้งแต่ ความพ้นจากกามคุณแห่งจิต, เมตตา, จตุตถฌาน (รูปฌาน), อากิญจัญญายตนฌาน (อรูปฌาน), อรหัตผล, อนาคามิผล เป็นต้น (ตามที่ปทานุกรมติปิฎก.เมียนมาร์ รวบรวมจากอรรถกถาแสดงไว่้) ตามควรแก่บริบทในพระบาฬีนั้น.

... 

      แต่ในที่นี้ เจโตวิมุตติ หมายถึง สมาธิที่สัมปยุตกับอรหัตผลนั้น แม้ปัญญาวิมุตติ หมายถึง ปัญญาที่สัมปยุตกับอรหัตผลนั้น  เพราะเหตุนั้น วิมุตติทั้ง ๒ จึงจัดเป็นโลกุตรธรรม ดังมีพระบาฬีที่ตรัสเรียกบุคคลผู้บรรลุวิมุตติทั้งสองอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นว่าเป็นอริยบุคคล ดังพระบาฬีปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย ความเป็นต้นว่า

ยโต โข, ภิกฺขเว, ภิกฺขุ เจโตวิมุตฺโต จ โหติ ปญฺญาวิมุตฺโต จ โหติ – อยํ วุจฺจติ, ภิกฺขเว, ‘ภิกฺขุ อุกฺขิตฺตปลิโฆ อิติปิ, สํกิณฺณปริโข อิติปิ, อพฺพูฬฺเหสิโก อิติปิ, นิรคฺคโฬ อิติปิ, อริโย ปนฺนทฺธโช ปนฺนภาโร วิสํยุตฺโต อิติปิ’’’ฯ

      เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ เมื่อนั้น ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้ ดังนี้บ้าง ว่าเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้ ดังนี้บ้าง ว่าเป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้ ดังนี้บ้าง ว่าเป็นผู้ถอดกลอนออกได้ ดังนี้บ้าง ว่าเป็นผู้ไกลจากข้าศึกปลดธงลงได้ ปลงภาระลงได้ ไม่ประกอบด้วยวัฏฏะ ดังนี้บ้าง(อัง.ปัญจก.๒๒/๗๑)

...

      ด้วยเหตุนี้ จะกล่าวถึงวิมุติทั้งสองนั้น โดยชื่อว่า วิมุติ เสียอย่างเดียว เพราะเจโตวิมุติหรือปัญญาวิมุติ ก็ได้แก่ โลกุตรผล อันต่างโดยสมาธิ และปัญญา ที่เป็นสภาวะอันพ้นจากกิเลสด้วยกันทั้งสิ้น เพื่อให้สอดคล้องกับบทความว่าด้วยเรื่อง วิมุตติปาจนียธรรม นี้

... 

วิมุตติธรรม ๕

เมื่อกล่าวโดยลำดับขั้นแห่งการหลุดพ้นจากกิเลส วิมุตติ แบ่งออกเป็น ๕ คือ ตทังควิมุตติ (ธรรมเป็นคู่ปรับกับกิเลสนั้นๆ เช่น ศีล เป็นเหตุให้พ้นจากความเป็นทุศีลเป็นต้น), วิกขัมภนวิมุตติ (องค์ฌาน), สมุจเฉทวิมุตติ (อริยมรรค), ปัสสัทธิวิมุตติ (อริยผล) และนิสสรณวิมุตติ (นิพพาน)

วิมุตติ ๕ เกิดขึ้นเป็นชั้นเป็นตอนดังนี้

      ในเบื้องต้น ใจย่อมหลุดพ้นจากกิเลสด้วยตทังควิมุตติ  และวิกขัมภนวิมุตติ ภายหลังย่อมหลุดพ้นด้วยสมุจเฉทวิมุตติ และปฏิปัสสัทธิวิมุตติ. (อุทานอรรถกถา, เมฆิยสุตตวัณณนา)

ก็ธรรมที่จะอบรมวิมุตติให้เกิด หรือเป็นเหตุแห่งวิมุตติ นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสไว้หลายประการ แม้ในหลายคราว ตามควรต่ออัธยาศัยของผู้รับฟังธรรมเทศนา อาทิ

       ‘‘ปญฺจิเม, ภิกฺขเว, ธมฺมา ภาวิตา พหุลีกตา เจโตวิมุตฺติผลา จ โหนฺติ เจโตวิมุตฺติผลานิสํสา จ, ปญฺญาวิมุตฺติผลา จ โหนฺติ ปญฺญาวิมุตฺติผลานิสํสา จฯ

‘‘กตเม ปญฺจ? อิธ, ภิกฺขเว, ภิกฺขุ อสุภานุปสฺสี กาเย วิหรติ, อาหาเร ปฏิกูลสญฺญี [ปฏิกฺกูลสญฺญี (สี. สฺยา. กํ. ปี.)], สพฺพโลเก อนภิรตสญฺญี, สพฺพสงฺขาเรสุ อนิจฺจานุปสฺสี, มรณสญฺญา โข ปนสฺส อชฺฌตฺตํ สูปฏฺฐิตา โหติฯ อิเม โข, ภิกฺขเว, ปญฺจ ธมฺมา ภาวิตา พหุลีกตา เจโตวิมุตฺติผลา จ โหนฺติ เจโตวิมุตฺติผลานิสํสา จ, ปญฺญาวิมุตฺติผลา จ โหนฺติ ปญฺญาวิมุตฺติผลานิสํสา จฯ 

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีเจโตวิมุติเป็นผล และมีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ ย่อมมีปัญญาวิมุติเป็นผล และมีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉนคือ

      ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 

      ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นว่าไม่งามในกาย ๑ 

      ย่อมมีความสำคัญว่าเป็นของปฏิกูล ในอาหาร ๑ 

      ย่อมมีความสำคัญว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ๑ 

      ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ๑ 

      ย่อมเข้าไปตั้งมรณสัญญาไว้ในภายใน ๑ 

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ย่อมมีปัญญาวิมุติเป็นผล และมีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์

(อัง.ปัญจก.๒๒/๗๑)

...

พระบาฬีอื่นอีก

      ‘‘เตน จ ปน, เมฆิย, ภิกฺขุนา อิเมสุ ปญฺจสุ ธมฺเมสุ ปติฏฺฐาย จตฺตาโร ธมฺมา อุตฺตริ ภาเวตพฺพา – อสุภา ภาเวตพฺพา ราคสฺส ปหานาย, เมตฺตา ภาเวตพฺพา พฺยาปาทสฺส ปหานาย, อานาปานสฺสติ ภาเวตพฺพา วิตกฺกุปจฺเฉทาย, อนิจฺจสญฺญา ภาเวตพฺพา อสฺมิมานสมุคฺฆาตายฯ อนิจฺจสญฺญิโน หิ, เมฆิย, อนตฺตสญฺญา สณฺฐาติ, อนตฺตสญฺญี อสฺมิมานสมุคฺฆาตํ ปาปุณาติ ทิฏฺเฐว ธมฺเม นิพฺพาน’’นฺติฯ

      ดูก่อนเมฆิยะ  ก็แลภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้วพึงเจริญธรรม  ๔  ประการให้ยิ่งขึ้นไป  คือ  พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ  พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท   พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก   พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อเพิกถอนอัสมิมานะ  ดูก่อนเมฆิยะ  อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา    ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นที่เพิกถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันเทียว.

(ขุ.อุ.๒๕/๘๙)

....

      ท่านสาธุชนจะเห็นได้ว่า ในสองพระสูตรนี้ ตรัสพระกัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นการอบรมวิปัสสนาปัญญาให้เกิดขึ้นนั้น ที่เป็นเหตุให้เกิดวิมุตตินั่นเอง

      ก็วิปัสสนานี้ เมื่อได้รับการอบรมให้สุกงอมแก่กล้าถึงที่สุดแล้วก็ย่อมเป็นวิมุตติในลำดับถัดไป เปรียบได้กับทารกผู้จับเอาครรภ์มารดา บ่มเพาะตนเองให้เติบโต รอวันที่คลอดจากครรภ์นั้น 

      วิปัสสนา ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิมุตตินั้น เปรียบได้กับสัตว์ที่เข้าถึงครรภ์มารดาอยู่ วิมุตติ เปรียบได้กับสัตว์ผู้อยู่ในครรภ์นั้นคลอดแลัว ข้อนี้สมดังที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า

ตตฺถ วิมุตฺติปริปาจนีเยหิ ธมฺเมหิ อาสเย ปริปาจิเต ปโพธิเต วิปสฺสนาย มคฺคคพฺภํ คณฺหนฺติยา ปริปากํ คจฺฉนฺติยา เจโตวิมุตฺติ ปริปกฺกา นาม โหติ, ตทภาเว อปริปกฺกาฯ

เมื่อเธออบรม ปลุกอัธยาศัย (ที่แฝงตัวอยู่ในสันดาน)ให้ตื่นแล้ว เมื่อวิปัสสนาถือเอาครรภ์คือมรรค (คือเริ่มมุ่งหน้าสู่ความเป็นมรรค)  ถึงความแก่กล้าอยู่ เจโตวิมุตติ ชื่อว่า สุกงอม, เมื่อวิปัสสนายังไม่มีภาวะเช่นนั้น ก็ชื่อว่า ไม่สุกงอม (อุทานอรรถกถา, เมฆิยสุตตวรรณนา)

      ก็การที่วิปัสสนาและวิมุตติจะเข้าถึงความสุกงอมจำต้องอาศัยธรรมหลายประการเป็นเครื่องอบรม เครื่องบ่มให้สุกเป็นบุพพภาคปฏิปทา (ข้อปฏิบัติในส่วนเบื้องต้น) ที่ตรัสเรียกว่า วิมุตติปาจนียธรรม ดังในพระบาฬีนี้ว่า

      อปริปกฺกาย, เมฆิย, เจโตวิมุตฺติยา ปญฺจ ธมฺมา ปริปากาย สํวตฺตนฺติฯ

      ดูก่อนเมฆิยะ  ธรรม  ๕ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า   ๕   ประการ (ขุ.อุ.เมฆิยสุตฺต.๒๕/๘๓) คือ (ก็ในพระสูตรนี้ ตรัสเรียกวิมุติว่า เจโตวิมุตติ เพราะเป็นใจที่หลุดพ้นจากกิเลส (เจโตวิมุตฺติยาติ กิเลเสหิ เจตโส วิมุตฺติยาฯ)

ธรรม ๕ ประการที่ตรัสไว้นั้นสรุปได้ว่า 

      ๑) ความมีกัลยาณมิตร, 

      ๒) ความมีศีลดี, 

      ๓) ความได้มาโดยง่ายซึ่งกถาวัตถุ มีอัปปิจฉกา เป็นต้น, 

      ๔) ความเป็นผู้ปรารภความเพียร 

      ๕) ความเป็นผู้มีปัญญา

ก็เมื่อมีธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล้ว ย่อมควรเพื่อเป็นผู้อบรมวิมุตติให้เกิดด้วยพระกัมมัฏฐานดังสาธกพระบาฬีทั้ง ๒ นั้นสืบต่อไป. 

...

ขอท่านสาธุชน จงเป็นผู้ยินดีต่อความมีกัลยาณมิตรดี เพื่อความเป็นผู้มีศีลดีเป็นต้นเถิด กระทั่งบรรลุวิมุตติให้ทันในชาตินี้เถิด.

#นานาสาระพระคัมภีร์

#ธรรมกถา

#พระไตรปิฏกมีอะไรให้อ่าน

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

๑๓ / ๑๑ /๖๕


--------------------------

 

วิมุตติปาจนิยธรรม (๓)

ธรรมเป็นเครื่องบ่มวิมุตติ

...

     พระผู้มีภาคทรงปรารภการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของพระเมฆิยเถระ ตรัสชุดธรรมฝ่ายปฏิบัติให้เข้าถึงอริยมรรคนั้น ดังนี้ว่า "อปริปกฺกาย, เมฆิย, เจโตวิมุตฺติยา ปญฺจ ธมฺมา ปริปากาย สํวตฺตนฺติฯ" ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า (เมฆิยสูตร ขุ.อุ.๒๕/๓๑)  และตรัสเรียกชุดธรรมนี้ว่า วิมุตฺติปริปาจนิยธรรม (ราหุโลวาทสูตร สัง.มหา.๑๘/๑๒๑) 

ข้อธรรม ๕ ประการนั้น คือ

      (๑) มีกัลยาณมิตร, 

      (๒) มีศีล, 

      (๓) ได้รับการอบรม คือ ศึกษาในหัวข้อเรื่องขัดเกลากิเลส ๑๐ มี อัปปิจฉกถา (เรื่องความมักน้อย) เป็นต้น,

      (๔) ปรารภความเพียร 

      (๕) มีปัญญาอันเป็นอริยะ

พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า วิมุตติปาจนิยธรรม นี้

      เป็นธรรมสำหรับบ่ม คือ ปลุกอัธยาศัยในการบรรลุอริยมรรคให้ตื่น เป็นการปฏิบัติในส่วนเบื้องต้นที่อบรมวิปัสสนา เมื่อวิปัสสนานั้นแก่กล้าสุกงอมจากการอบรมธรรม ๕ ประการนี้แล้ววิมุตติกล่าวคืออริยมรรค ก็ชื่อว่า แก่กล้าสุกงอม  ดังที่ตรัสไว้ในราหุโลวาทสูตรนั้นว่า

      “อถ โข  ภควโต  รโหคตสฺส  ปฏิสลฺลีนสฺส เอวํ เจตโส  ปริวิตกฺโก  อุทปาทิ ปริปกฺกา โข ราหุลสฺส วิมุตฺติปริปาจนิยา ธมฺมา ยนฺนูนาหํ ราหุลํ อุตฺตรึ อาสวานํ  ขเย วิเนยฺยนฺติ  ฯ

      ขณะนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงหลีกเร้นอยู่ในที่ส่วนพระองค์ ทรงมีพุทธดำรินี้ว่า "ธรรมเป็นเครื่องบ่มวิมุตติของราหุลแก่กล้าแล้ว ทางที่ดี เราพึงแนะนำราหุลในธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะให้ยิ่งขึ้นไป”  

(ม.อุ. ๑๔/๗๙๕ จูฬราหุโลวาทสูตร)

      ธรรม  ๕ ประการนี้ เป็นเพียงชุดหนึ่งในบรรดาวิมุตติปาจนิยธรรมทื่ทรงแสดงไว้ในหลายแห่งด้วยกัน และทรงเลือกแสดงธรรม ๕ นี้ไว้ในพระสูตรนี้ เพราะเห็นว่า ตรงกับอัธยาศัยของพระเถระ

อนึ่ง นอกจากที่ตรัสไว้ในพระบาฬีเมฆิยสูตรนี้ยังมีชุดธรรมที่เรียกว่า วิมุตติปาจนิยธรรม นี้อีกหลายประการ และเมื่อรวมกับที่มาในอรรถกถานี้แล้ว จึงเป็น ๘ หัวข้อใหญ่ ดังนี้

      ๑. การทำอินทรีย์มีสัทธินทรีย์เป็นต้นให้หมดจด

      ๒. อินทรีย์ ๕ 

      ๓. นิพเพธภาคิยสัญญา สัญญาอันเป็นส่วนแห่งการตรัสรู้ ๕ คือ อนิจจสัญญา, ทุกขสัญญา, อนัตตสัญญา, ปหานสัญญา, วิราคสัญญา 


[หมายเหตุ] 

      ในสังคีติสูตรเรียกนิพเพธภาคิยสัญญานี้ว่า "วิมุตติปริปาจนิยสัญญา = สัญญาเครื่องบ่มวิมุตติ" โดยมี ๕ เช่นกัน ดังนี้ 

      ปญฺจ วิมุตฺติปริปาจนิยา สญฺญา,   

      อนิจฺจสญฺญา  

      อนิจฺเจ ทุกฺขสญฺญ,    

      ทุกฺเข อนตฺตสญฺญา,   

      ปหานสญฺญา,

      วิราคสญฺญาฯ

ซึ่งมีคำอธิบายเช่นเดียวกับอรรถกถา ต่างกันเพียงชื่อ, 

      แต่ในหมวด ๖ แห่งสังคีติสูตรนี้ เรียกว่า นิพเพธภาคิยสัญญา โดยเพิ่มนิโรธานุปัสสนาสัญญาอีก ๑ เป็น ๖ ประการ ส่วน ๕ ประการข้างต้นเหมือนกันกับอรรถกถาอุทานนี้  ดูหมวด ๕ แห่งสังคีติสูตร ข้อ ๓๐๓ และ ข้อ ๓๒๕ ที.ปา. ๑๑/๓๐๓,๓๒๕ ]

      ๔. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร

      ๕. ความเป็นผู้มีศีล

      ๖. ความเป็นผู้ขัดเกลาอย่างยิ่ง

      ๗. ความปรารภความเพียร

      ๘. นิพเพธิกปัญญา 

      อินทรีย์ ๕ เป็นธรรมที่ควรบ่มเพาะเป็นลำดับแรก เพราะเป็นธรรมภายในที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมีเป็นอัธยาศัยส่วนตัวให้มาก และต้องอาศัยธรรมชุดอื่นๆ เป็นองค์ประกอบร่วมกันไปการปฏิบัติจึงสำเร็จผล แนวปฏิบัติอันเป็นหลักพระศาสนา เป็นหลักการที่ไม่ตายตัวสำหรับทุกคน กล่าวคือ สำหรับคนหนึ่งๆ มีความเหมาะสมกับแนวปฏิบัติอย่างหนึ่ง 

      นอกจากนี้ การปฏิบัติมิใช่อาศัยคุณภายในตนอย่างเดียว ต้องอาศัยองค์ประกอบอย่างอื่นๆ จากภายนอกที่ช่วยส่งเสริมให้วิปัสนาแข็งแรงขึ้น เราเห็นว่า เนื้อความในอรรถกถาน่าสนใจ โดยเฉพาะที่พระผู้มีพระภาคทรงนำมาเป็นแนวทางสำหรับท่านพระเมฆิยเถระ เพราะเห็นว่า เป็นพื้นฐานที่ควรรู้ ส่วนข้อธรรมในชุดอื่นๆ ก็ควรเรียนรู้ไว้ เพื่อความยิ่งขึ้นไปแห่งสุตมยปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ จะนำหัวข้อธรรมในชุดนี้ มาสนทนากับท่านสาธุชนเป็นลำดับไปอย่างสังเขป

---------------

ขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

---------///---------


[full-post]

วิมุตติปาจนียธรรม

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.