๑๑. สังขารุเปกขาญาณ (๓)


ผลของสังขารุเปกขาญาณ

      เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นรูปนามโดยความเป็นของสูญอยู่อย่างนี้ แล้วยกขึ้นสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กำหนดพิจารณาน้ำแล้วซ้ำอีก ก็จะปรากฏดังนี้

      ๑. ละความกลัว ละความยินดีเสียได้ มีใจวางเฉยอยู่กับรูปนาม

      ๒. ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น รูปนามว่าเป็นของเรา มีอุปมาเหมือนกันกับบุรุษที่หย่าขาดจากภริยาแล้ว คือ มีบุรุษคนหนึ่ง มีภริยาเป็นที่รักใคร่พอใจมาก จนเขาไม่สามารถจะยอมจากภริยาได้เลยแม้เพียงครู่เดียว เพราะเขารักมากที่สุด ถ้าเห็นภริยายืน นั่งพูด หัวเราะกับชายอื่น เขาจะโกรธหึงหวงมากและน้อยใจมาก เสียใจมากที่สุด ครั้นต่อมาเห็นโทษของภริยานั้นเกิดความเบื่อหน่าย ต้องการจะหนีไปให้พ้นจึงหย่าขาดจากภริยานั้น ไม่ถือภริยานั้นว่าเป็นของตนจำเดิมแต่นั้นไป แม้ว่าเขาจะเห็นภริยานั้นทำอะไรกับใครที่ไหนก็ตาม เขาจะไม่โกรธ ไม่หึงหวง ไม่น้อยใจ ไม่เสียใจ มีแต่วางเฉย เป็นกลางอย่างเดียว ข้อนี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมก็ฉันนั้นต้องการจะพ้นจากรูปนามทั้งปวง จึงกำหนดสังขารด้วยปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ไม่เห็นสิ่งใดที่จะพึงถือเอาว่าเป็นของเรา จึงได้ละความกลัว ละความยินดี มีใจวางเฉยอยู่ในรูปนามทั้งปวงฉะนั้น

      ๓. เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะรู้เห็นอยู่ อย่างนี้ จิตย่อมไม่หวนกลับ ไม่วกไม่เวียน ไม่ซ่านไปในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ คงเหลืออยู่แต่ความวางเฉยในรูปนาม หรือเห็นรูปนามเป็นปฏิกูลสะอิดสะเอียน ขยะแขยงจึงถอยกลับหวนกลับจากภพชาติ เป็นต้น มีอุปมาเหมือนหยาดน้ำค้างบนใบบัว และขนปีกไก่กล่าวคือ

      อันธรรมดาของหยาดน้ำค้างบนใบบัวที่อ่อนลงไปเอียงลงไป น้ำค้างก็มีแต่จะไหลลงไปฝ่ายเดียว ไม่หวนกลับไม่วกไม่เวียน ไม่ไหลย้อนกลับมาติดอยู่บนใบบัวนั้นอีก ฉันใค ใจของผู้ปฏิบัติเมื่อถึงญาณนี้ ก็ไม่หวนกลับ ไม่วกไม่เวียนมาในภพ ๓ กำเนิด ๔ เป็นต้นอีกฉันนั้น เหมือนกัน

      ขนปีกไก่และเส้นเอ็นที่บุคคลเอาใส่เข้าไปใน ไฟย่อมหดม้วนกลับเข้ามาไม่คลี่ไม่เหยียดออกไปฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติเมื่อถึงญาณนี้แล้วก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมถอยออกไปจากภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ เป็นต้น ไม่ยอมหวนกลับ ไม่ยอมย้อนกลับมาอีก มีแต่เบื่อหน่ายอยากพ้นแล้ววางเฉยอยู่ เพราะเห็นชัดแล้วว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด ไม่น่ายินดีเพลิดเพลินฉันนั้น

      ๔. ปฏิสฺสติ มีสติตั้งมั่น องค์ธรรมได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เพราะเมื่อสติมีกำลังแก่กล้าปรากฎแล้ว ความโลภ ความโกร ๙ ความหลงก็ไม่มี อุปมาเหมือนทุกข์เกิด กับไฟฟ้าที่มีแรงเทียนสูง ย่อมให้แสงสว่างมาก ดูอะไร ๆ ก็เห็นได้ชัดเจน ไม่มีความมืดฉันนั้น ดังนั้นใจจึงมีแต่ความวางเฉย

      ๕. วิรตฺตจิตฺตํ ใจไม่ยึดมั่นไม่ถือมั่น ไม่ผูกพันไม่เกาะเกี่ยว ไม่กำหนัดพอใจในรูปเสียง กลิ่น รส เป็นต้นจึงปรากฎแต่ความวางเฉย

      ๖. นชฺโฌสติฏฺฐนํ ไม่รับบัญญัติไว้เป็นอารมณ์คือ ไม่รับว่าเบญจขันธ์เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน เพราะมีสติปัญญาพิจารณาเห็นแน่ชัดแล้วว่า เบญจขันธ์ เป็นอสุภะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สัญญาวิปัลลาสจึงหายไปไม่เข้าใจผิด และไม่หลงติดอยู่ ใจจึงมีแต่ความวางเฉยในรูปนาม

      ๗. ทุกฺขอปจินํ ไม่สั่งสมทุกข์ไว้ มีแต่ความพยายามตัดรากของทุกข์ให้หมดไปให้สลายไป ใจก็วางเฉยในรูปนาม

      ๘. นิพฺพานเมว ปกฺขนฺทติ เมื่อเห็นรูปนามว่าเป็นภัยเป็นทุกข์ เป็นโทษ เบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น ใจเข้มแข็งแล้ววางเฉย จิตก็จะแล่นไปสู่สันติบท คือความสงบ ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานก็ย่อมกลับไปยึดรูปนามมาเป็นอารมณ์ซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้นอีก มีอุปมาเหมือนกับนกกาของพวกพ่อค้าชาวทะเล คือ

      ในสมัยก่อนเมื่อมนุษย์ยังไม่มีเข็มทิศ พวกพ่อค้าชาวทะเล เวลาจะออกเรือ ย่อมจับเอานกกาไปด้วยเพื่อจะได้ปล่อยดูทิศ เมื่อใดเรือต้องลมแล่นไปผิดทาง มองไม่เห็นฝั่ง เมื่อนั้นเขาย่อมปล่อยนกกาดูทิศ นกกาก็บินจากปลายเสากระโดงเรือสู่กลางหาว แล้วบินไปตามทิศน้อยทิศใหญ่ ถ้าเห็นฝั่งก็บินบ่ายหน้าตรงไปยังทิศนั้นเลย ถ้ายังไม่เห็นก็จะต้องบินย้อนกลับมาเกาะอยู่ที่ปลายเสากระโดงนั้นอีกบ่อยๆ ข้อนี้ฉันใดสังขารุเปกขาญาณ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน หากเห็นสันติบทคือพระนิพพานว่าสงบแล้ว ก็สละรูปนามที่กำลังเกิดดับอยู่นั้นแล้วแล่นตรงไปสู่พระนิพพานเลยทีเดียว ถ้าไม่เห็นก็ต้องย้อนกลับมามนสิการรูปนามเป็นอารมณ์ต่อไปอีก จะต้องมนสิการกลับไปกลับมาเป็นอนุโลมปฏิโลมอยู่อย่างนี้บ่อยๆ

      ๙. ติวิธานุปสฺสนาวเสน ติฏฺฐติ สังขารุเปกขาญาณนี้ยิ่งนานก็ยิ่งละเอียดสุขุม ประณีต ดุจบุคคลเอาตะแกรงร่อนแป้ง และดุจรีฝ้ายที่หีบแล้วด้วยไน ( ไน คือ เครื่องสำหรับกรอฝ้าย) ฉะนั้น ครั้นพิจารณารูปนามโดยประการต่างๆ อย่างนี้แล้ว ละความกลัว ละความยินดี มีใจวางเฉย 

      ในการพิจารณารูปนาม จิตย่อมตั้งมั่นอยู่ด้วยอำนาจของอนุปัสสนาทั้ง ๓ เมื่อตั้งอยู่โดยอาการอย่างนี้ ย่อมถึงความเป็นวิโมกขมุข ๓ อย่าง และเป็นปัจจัยแก่การจำแนกพระอริยบุคคลออกเป็น ๗ จำพวก


อนุปัสสนา ๓

อนุปัสสนา ๓ อย่าง คือ อนิจจานุปัสสนา - ทุกขานุปัสสนา ๑ อนัตตานุปัสสนา ๑

      อนิจจานุปัสสนา ได้แก่ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามว่าไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดที่ไหนก็ดับไปที่นั่น ใจจึงแล่นไปในธาตุที่ไม่มีนิมิต รูปนามก็ปรากฏว่า มีแต่ความเสื่อมไปสิ้นไป แล้วมีใจวางเฉย มีสติกำหนดรู้อยู่

      ทุกขานุปัสสนา ได้แก่ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามว่า เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ใจก็เกิดความสังเวชสลดในรูปนามแล้วแล่นไปในธาตุซึ่งไม่มีที่ตั้ง รูปนามก็ปรากฎว่าเป็นภัย คือเป็นของน่ากลัวแล้วมีใจวางเฉย มีสติกำหนดรู้อยู่

      อนัตตานุปัสสนา ได้แก่ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามว่า ไม่ใช่ตัวตนเป็นของสูญ ว่างเปล่า ใจก็แล่นไปในธาตุว่าง รูปนามก็จะปรากฎโดยความเป็นของสูญฝ่ายเดียวแล้วมีใจวางเฉย มีสติกำหนดรู้อยู่


วิโมกขมุข ๓

      วิโมกขมุข แปลว่าหนทางแห่งความหลุดพ้นโดยวิเศษจากกิเลสทั้งปวง โดยใจความก็ได้แก่อนุปัสสนาทั้ง ๓ ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น เพราะเป็นหนทางนำออกไปจากโลกนำไปเหนือโลกคือ โลกุตตระ ได้แก่หนทางไปสู่พระนิพพานวิโมกข์ มี ๓ คือ อนิมิตตวิโมกข์ , อัปปณิหิตวิโมกข์ ๑ สุญญตวิโมกข์ ๑

      ๑. ถ้าผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ชื่อว่า เป็นผู้มากด้วยศรัทธา เพราะเบื้องแรกมีศรัทธาพอประมาณ ครั้นเข้ามาปฏิบัติ ได้เห็นอนิจจังประจักษ์ชัด ด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณของตนเองที่ได้พิสูจน์ดูมาแล้วนั้น จึงมีศรัทธามากเลื่อมใสมาก สัทธินทรีย์มีกำลังในพระบรมศาสดาอย่างแก่กล้ามาก จึงมีศรัทธามาก

      ๒. ถ้าผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาเห็นรูปนามเป็นทุกข์ชื่อว่ามากด้วยปัสสัทธิ คือความสงบ เพราะพิจารณาเห็นเป็นทุกข์ ใจก็น้อมไปสู่พระนิพพาน อันเป็นสุขที่สงบประณีต โดยพิจารณาเห็นว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์แท้ ถ้าตรงกันข้ามไม่มีสังขารคงเป็นสุข เป็นนิพพาน ใจก็เบิกบานแจ่มใส เต็มไปด้วยปีติปราโมทย์สมาธินทรีย์มีกำลังกล้าย่อมได้อัปปณิหิตวิโมกข์

      ๓. ถ้าผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน พิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนัตตา ชื่อว่าเป็นผู้มากด้วยปัญญา มีปัญญาละเอียดสุขุมกัมภีรภาพมาก เป็นผู้ห่างไกลจากโมหะย่อมได้สุญญตวิโมกข์

      อนิมิตตวิโมกข์ แยกเป็น อนิมิตต + วิโมกข์, 

      อนิมิตต - ไม่มีเครื่องหมาย

      วิโมกข์ = พ้นวิเศษจากกิเลสทั้งหลาย อนิมิตตวิโมกข์ องค์ธรรมได้แก่อริยมรรด ซึ่งทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วเป็นไปโดยอาการไม่มีนิมิตคือ ไม่มีนิจจนิมิต ไม่มีธุวนิมิต และไม่มีอัตตนิมิต

      อัปปณิหิตวิโมกข์ แยกเป็น อัปปนิหิต + วิโมกข์, อัปปณิหิต = ไม่มีที่ตั้ง 

      วิโมกข์ - พ้นวิเศษจากกิเลสทั้งหลาย อัปปณิหิตวิโมกข์ องค์ธรรมได้แก่อริยมรรค ซึ่งทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ โดยอาการ ไม่มีที่ตั้งแห่งกิเลสตัณหา ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น

      สุญญวิโมกข์ แยกเป็น สุญญต - วิโมกข์ สูญญต = ว่างเปล่า วิโมกข์ = พ้นวิเศษจากกิเลสทั้งหลาย สุญญตวิโมกข์ องค์ธรรมได้แก่ อริยมรรค ซึ่งทำพระ นิพพานให้เป็นอารมณ์ โดยอาการว่างเปล่า คือ ว่างเปล่าจาก ราคะ โทสะ โมหะ 


พระอริยบุคคล ๘

      พระอริยสาวกทุกๆ รูป ต้องผ่านพระไตรลักษณ์และวิโมกข์ ๓ ด้วยกันทุกๆ รูป พระอริยบุคคล แปลว่า ท่านผู้ประเสริฐคือ มีความประพฤติทาง กาย วาจาใจ ดีงาม ด้วยอำนาจแห่งศีล สมาธิ ปัญญา อีกอย่างหนึ่งพระอริยบุคคลแปลว่า ท่านผู้ไกลจากข้าศึก คือ ไกลจากกิเลส มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น 

พระอริยบุคคล กล่าวโดยผลแห่งการปฏิบัติมีอยู่ ๘ คือ :-

      ๑. พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค

      ๒. พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

      ๓. พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค

      ๔. พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล

      ๕. พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค

      ๖. พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล

      ๗. พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค

      ๘. พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผลท่านที่จะได้เป็นพระอริยบุคคลเหล่านี้ต้องลงมือเจริญวิปัสสนากรรมฐานผ่านญาณต่างๆ ถึง ๑๖ ญาณ สำหรับโสดาปัตติมรรคอันเป็นมรรคที่ ๑ ส่วนมรรคที่ ๒, ๓, ๔, ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานผ่านญาณต่างๆ เพียง ๑๓ ญาณ คือตั้งแต่พลวอุทยัพพยญาณ จนถึงปัจจเวกขณญาณและต้องผ่านอีก ๓ ครั้ง ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ โดยชอบได้ โดยเสร็จกิจพรหมจรรย์แล้ว


พระอริยบุคคล ๗

      พระอริยบุคคลที่จะบรรยายต่อไปนี้มี ๓ จำพวก ก็อยู่ในจำพวกที่บรรยายมาแล้ว ทั้งนั้นจะต่างกันก็แต่เพียงว่าบางองค์มากด้วยศรัทธา บางองค์มากด้วยความสงบ ในเวลาปฏิบัติเท่านั้น

พระอริยบุคคล ๗ จำพวกนั้น คือ

      ๑. สัทธานุสารี (โสดาปัตติมรรค)

      ๒. สัทธาวิมุต (โสดาปัตติผล - อรหัตตผล)

      ๓. กายสักขี (โสดาปัตติมรรค - อรหัตตผล) (อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค กล่าวว่าบุคคลชื่อว่ากายสักขี เพราะทำให้แจ้งนิพพาน เพราะเป็นผู้ถูกต้อง ผลของรูปฌานและอรูปฌาน)

      ๔. อุภโตภาควิมุต (พระอรหันต์)

      ๕. ธัมมานุสารี (โสดาปัตติมรรค)

      ๖. ทิฏฐิปัตตะ (โสดาปัตติผล อรหัตตมรรค)

      ๗. ปัญญาวิมุต (พระอรหันต์)


------------------

      สัทธัมมปกาสินีอรรถกถา ขุ. ปฏิ กล่าวว่าใน ขุ. ปฏิ. ชี้แจงถึงอริยบุคคล ๕ ไว้ ไม่ชี้แจงถึงอริยบุดคล ๒ คืออุภโตภาควิมุต และปัญญาวิมุต แต่ในที่อื่นท่านกล่าวไว้ว่า บุคคลใดมนสิการโดยความเป็นทุกข์ มากด้วยปัสสัทธิ ย่อมได้สมาธินทรีย์ บุคคลนั้นชื่อว่า กายสักขีในที่ทั้งปวง ส่วนบุคคลบรรลุอรูปฌานแล้วบรรลุผลอันเลิศ ชื่อว่า อุภโตภาควิมุต 

      อนึ่ง บุคคลใดมนสิการโดยความเป็นอนัตตา มากด้วยความรู้ ย่อมได้ปัญญินทรีย์ บุคคลนั้นชื่อว่า ธัมมานุสารีในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค ชื่อว่า ทิฏฐิปัตตะ ในฐาน ๖ ชื่อว่า ปัญญาวิมุตในผลอันเลิศ (อรรถกถาวิโมกข์นิทเทศ หน้า ๓๙๓)

------------------

ความหมายอริยบุคคล ๗

      ๑. สัทธานุสารี พระอริยบุคคลผู้พิจารณารูปนามเห็นเป็นอนิจจัง สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือ ศรัทธา มีประมาณยิ่ง เพราะสัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง มีประมาณมากจึงได้บรรลุโสดาปัตติมรรค หมายเอาเฉพาะขณะแห่งโสดาปัตติมรรค เพราะเหตุนั้นจึงได้เรียกว่า สัทธานุสารี แปลว่า ผู้มากด้วยศรัทธาบ้าง ผู้มีศรัทธามากบ้าง ผู้ระลึกตามศรัทธาบ้าง

      ๒. สัทธาวิมุต พระอริบุคคลผู้พิจารณารูปนามเห็นเป็นอนิจจัง สัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะสัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะเชื่ออยู่น้อมใจไปในขณะแห่งสกทาคามีมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค และเพราะเชื่ออยู่น้อมใจไปในขณะแม้แห่งผล ๔ หมายเอาโสดาปัตติผล - อรหัตตผล เพราะเหตุนั้นจึงได้เรียกว่าสัทธาวิมุต แปลว่าพ้นจากกิเลสเพราะมีศรัทธายิ่ง

      ๓. กายสักขี พระอริยบุคคลผู้พิจารณาเห็นรูปนามเป็นทุกขัง มากด้วยความสงบ ย่อมได้สมาธินทรีย์ ทำสมถกรรมฐานได้รูปฌาน อรูปฌาน ภายหลังเจริญวิปัสสนาแล้วได้บรรลุมรรค ผล นิพพานชื่อว่า กายสักขี แปลว่ามีนามกายเป็นพยานหมายเอาในขณะแห่งโสดาปัตติมรรคถึงอรหัตตผล

      ๔. อุภโตภาควิมุต พระอริยบุคคล ผู้เจริญสมถกรรมฐานจนได้อรูปฌานมาก่อนแล้ว จึงเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนได้บรรลุอรหัตตผล นิพพานชื่อว่าอุภโตภาควิมุต แปลว่า ผู้หลุดพ้นด้วยส่วนทั้ง ๒ คือด้วยอรูปฌานและด้วยอริยมรรค

      ๕. ธัมมานุสารี พระอริยบุคคลผู้พิจารณารูปนามเห็นเป็นอนัตตา มากด้วยปัญญา ได้ปัญญินทรีย์เป็นธัมมานุสารีในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค

      ๖. ทิฏฐิปัตตะ พระอริยบุคคลผู้มีญาณอันตนได้ทราบได้เห็นได้รู้ได้ทำให้แจ้งได้ถูกต้องด้วยปัญญาว่า รูปนามเป็นทุกข์ พระนิพพานเป็นสุข ใส่ใจอนัตตาปัญญินทรีย์มาก เพราะปัญญามากจึงได้ชื่อว่า ทิฏฐิปัตตะ      

      ๗. ปัญญาวิมุต แปลว่า ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ได้แก่พระอริยบุคคลผู้เจริญวิปัสสนาล้วน จนได้เป็นพระอรหันต์


พระอริยะกับไตรลักษณ์

พระอริยบุคคลเหล่านี้ก็ต้องผ่านพระไตรลักษณ์มาด้วยกันทั้งนั้น

      ๑. อนิจจานุปัสสนาสังขารุเปกขาญาณ ได้แก่พระอริยบุคคล ๒ ประเภท สัทธานุสารี ๑ สัทธาวิมุต ๑

      ๒. ทุกขานุปัสสนาสังขารุเปกขาญาณ ได้แก่พระอริยบุคคล ๒ จำพวก กายสักขี ๑ อุภโตภาควิมุต ๑

      ๓. อนัตตานุปัสสนาสังขารุเปกขาญาณ ได้แก่พระอริยบุคคล ๓ จำพวก คือ ธัมมานุสารี ๑ ทิฏฐิปัตตะ ๑ ปัญญาวิมุต ๑

          ๑) ถ้าเห็นอนิจจัง มีสัทธินทรีย์มากได้บรรสุโสดาปัตติมรรค ฯลฯ อรหัตตผลเพราะมีศรัทธามากเรียกว่า สัทธานุสารี (ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค) สัทธาวิมุต(ในขณะแห่งโสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค ถึง อรหัตตผล) ส่วนอินทรีย์อีก ๔ อย่าง คือ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ เป็นไปตามสัทธินทรีย์ คือ เป็นสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย

          ๒) ถ้าเห็นทุกข์ มีสมาธินทรีย์มาก ได้บรรลุโสดาปัตติมรรค ฯลฯ อรหัตตผล เพราะมีสมาธินทรีย์มาก เรียกว่า กายสักขี (ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรคถึงอรหัตตผล) ถ้าได้อรูปฌานแล้วจึงบรรลุอรหัตตผลเรียกว่า อุกโตภาควิมุต อินทรีย์อีก ๔ อย่าง ก็เป็นไปตามสมาธินทรีย์ คือ เป็นสหชาติปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย

          ๓) ถ้าเห็นอนัตตา มีปัญญินทรีย์ได้บรรลุโสดาปัตติมรรค ฯลฯ อรหัตตผล เพราะมีปัญญินทรีย์มากเรียกว่า ธัมมานุสารี (ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค) ทิฏฐิปัตตะ (ในขณะแห่งโสดาปัตติผลถึงอรหัตตมรรค) ปัญญาวิมุต (ในขณะแห่งอรหัตตผล) อินทรีย์อีก ๔ อย่าง ก็เป็นไปตามปัญญินทรีย์นั้น คือ เป็นสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย

      พระอริยสาวกทุกๆ รูป ต้องปฏิบัติวิปัสสนาผ่านสภาวะต่างๆ ดังกล่าวมานี้ด้วยกันทั้งนั้น


[full-post]

ปริจเฉทที่๙,อภิธัมมัตถสังคหะ,วิปัสสนากรรมฐาน,สังขารุเปกขาญาณ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.