บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๑๙)

------------------------------

ถวายสังฆทาน (๑)

------------------------------

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องใหญ่ นั่นคือ เรื่องถวายสังฆทาน

คำถวายทานให้เป็นของสงฆ์ที่นิยมใช้กันมาแต่เดิมคือถวายภัตตาหารในการทำบุญวันพระ เมื่อมีการถวายภัตตาหารเป็นหลัก ก็ต้องใช้คำที่ระบุถึงสิ่งที่ถวาย ซึ่งคือ “ภัตตาหาร” 

“ภัตตาหาร” คำบาลีว่า “ภตฺต” ประกอบวิภัตติปัจจัยตามหลักภาษาบาลีเป็น “ภตฺตานิ” เขียนแบบไทยเป็น “ภัตตานิ” แปลว่า “ซึ่งภัตตาหารทั้งหลาย” คำขึ้นต้นถวายทานจึงเป็น “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” 

การถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์นั้น เมื่อทำกันจนคุ้นชิน ก็จึงนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “ถวายสังฆทาน” และคำถวายที่ขึ้นต้นว่า “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” ก็เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็น “คำถวายสังฆทาน” ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเป็น “คำถวายภัตตาหาร”

และนี่คือจุดเริ่มต้นของความวิปริต

ชั้นเดิมคนทั้งหลายเข้าใจกันถูกต้องว่า คำว่า “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” เป็นคำถวายภัตตาหารเท่านั้น คำว่า “ภัตตานิ” ก็ยืนยันอยู่เต็มๆ เป็นที่เข้าใจกันดี 

และยังเป็นที่เข้าใจกันดีอีกด้วยว่า จะถวายอะไรให้เป็นของสงฆ์ เมื่อจะกล่าวคำถวายก็ต้องระบุชื่อสิ่งที่จะถวายนั้นเป็นคำบาลีลงไปให้ถูกต้อง 

จากความเข้าใจนี้ ก็จึงมีท่านผู้รู้รวบรวมคำถวายทานต่างๆ ไว้เป็นหนังสือคู่มือถวายทาน หนังสือที่มีผู้รู้จักกันแพร่หลายดีที่สุดคือ หนังสือชื่อ “สากลทาน” หนังสือเล่มนี้รวมชื่อสิ่งของที่จะถวายเป็นคำบาลีไว้เกือบ ๔๐๐ ชื่อ เป็นการยืนยันหลักการว่า จะถวายอะไรให้เป็นของสงฆ์ก็ระบุชื่อสิ่งของนั้นลงไปในคำถวาย ดังนั้น คำถวายก็จะแตกต่างกันไปตามชื่อของสิ่งของนั้นๆ

ไม่ใช่ถวายอะไรก็ “สังฆะทานานิ” คำเดียวอย่างที่กำลังวิปลาสอยู่ในเวลานี้

ย้อนกลับไปที่-อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ... คือคำถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ แล้วเรียกกันสั้นๆ ว่า “ถวายสังฆทาน” จนในที่สุดก็เป็นที่เข้าใจ (ผิดๆ) ว่า “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” เป็นคำถวายสังฆทาน ไม่ว่าจะถวายอะไร ถ้าถวายเป็นสังฆทานละก็ ใช้บท “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” เป็นบทสำเร็จรูป

ของที่ถวายไม่มี “ภัตตาหาร” เลย และไม่ใช่ “ภัตตาหาร” เลย ก็ยังกล่าวคำถวายว่า “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” อยู่นั่นแหละ (ดูภาพประกอบ)

นี่คือความไม่รู้ไม่เข้าใจเริ่มแผ่ขยายออกไป

จุดที่ความไม่รู้ไม่เข้าใจเริ่มขยับตัวก็คือ ถวายหลังเที่ยงวันไปแล้วก็ยังใช้ “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” แต่พอถึงคำแปล จะใช้ตามบทสำเร็จรูปว่า “ซึ่งภัตตาหาร” ก็ขัดข้อง เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า หลังเที่ยงวันเอาภัตตาหารไปถวายพระไม่ได้ ขืนแปลว่า “ซึ่งภัตตาหาร” ก็ผิดโจ่งแจ้ง คนกล่าวคำถวายก็มีปฏิภาณพอตัว เลี่ยงไปแปลว่า “ซึ่งสังฆทาน” อันเป็นคำพูดที่ติดปากกันอยู่แล้ว เป็นอันว่ากลมกลืนไปได้เป็นอันดี

คำบาลีว่า “ภัตตานิ”

คำแปลว่า “ซึ่งสังฆทาน”

คนส่วนมากไม่รู้บาลีอยู่แล้ว ลอยตามน้ำสบายไป

นี่คือที่ผมว่า-ความไม่รู้ไม่เข้าใจเริ่มขยับตัว

ขั้นที่ ๑ เข้าใจว่า “ถวายภัตตาหารคือถวายสังฆทาน” ขั้นนี้ยังพอแก้ได้ คืออธิบายว่า ถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน ไม่ผิดหลัก

ขั้นที่ ๒ เข้าใจว่า “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” เป็นคำถวายสังฆทาน ขั้นนี้เริ่มเสียหลักแล้ว ความวิปริตมาเยือน

ขั้นที่ ๓ ถวายอะไรๆ เป็นสังฆทาน ก็ “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ...” ทุกทีไป ขั้นนี้เริ่มเลอะเทอะ

ขั้นที่ ๔ ใช้คำบาลีว่า “ภัตตานิ” แต่คำแปลว่า “ซึ่งสังฆทาน” ความเลอะเทอะเริ่มขยายตัว

ความเลอะเทอะพัฒนาต่อไปอีก นั่นก็คือ เมื่อมีเสียงทักท้วงว่า ถวายหลังเที่ยงเอย ของถวายไม่ใช่ภัตตาหารเอย ไปใช้คำบาลีว่า “ภัตตานิ” (ซึ่งภัตตาหาร) เป็นการไม่ถูกต้อง 

คนนำถวายก็เริ่มมองหาคำอื่นมาแทน “ภัตตานิ”

..................

พักเรื่องการใช้ถ้อยคำในการกล่าวคำถวายไว้ก่อน ขอนำท่านไปดูความเข้าใจวิปริตของผู้คนที่พัฒนาควบคู่กันมา

ขอปูพื้นให้เข้าใจเรื่อง “สังฆทาน” ที่ถูกต้องก่อน

โดยภาพกว้างๆ “ทาน” ท่านแบ่งไว้เป็น ๒ อย่าง คือ

๑ อามิสทาน ให้สิ่งของ 

๒ ธรรมทาน ให้ธรรม ให้ความรู้

เฉพาะให้สิ่งของ ท่านแบ่งตามเจตนาเป็น ๒ อย่าง คือ -

๑ ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นของเฉพาะตัว เรียก “บุคลิกทาน” (คำเต็มว่า ปาฏิบุคลิกทาน)

๒ ให้แก่สงฆ์ หรือให้เป็นของส่วนรวม เรียกว่า “สังฆทาน”

“บุคลิกทาน” มีอานิสงส์น้อย เพราะได้ประโยชน์เป็นส่วนตัวแก่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น “สังฆทาน” มีอานิสงส์มาก เพราะเกิดประโยชน์แก่คนหมู่มาก

จากหลักนี้ คนก็จึงนิยมถวายให้เป็นของสงฆ์กันมาก และเรียกกันสั้นๆ ติดปากว่า “ถวายสังฆทาน”

จากคำว่า “ถวายสังฆทาน” นั่นเอง ความรู้สึกหรือความเข้าใจของผู้คนก็เริ่มเบี่ยงเบนเห็นไปว่า “สังฆทาน” เป็นสิ่งของชนิดหนึ่ง

“ถวายสังฆทาน” ความหมายเดิมที่ถูกต้องคือ-ตั้งเจตนาถวายให้เป็นของสงฆ์

“ถวายสังฆทาน” ความหมายที่เบี่ยงเบนคือ-ถวายสิ่งของชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “สังฆทาน”

ตัวเร่งที่ทำให้คนเข้าใจเบี่ยงเบนหนักขึ้นจนกลายเป็นความเข้าใจวิปริตก็คือ-ในวงการค้าขายของทำบุญที่นิยมเรียกกันว่าร้านเครื่องสังฆภัณฑ์ ได้มีการจัดแจงแบ่งของถวายพระเป็น ๒ ประเภท คือ -

๑ สิ่งของสำหรับถวายสังฆทาน (ตามความหมายที่เบี่ยงเบน) จัดใส่ถังใส่กล่องเป็นชุดสวยงาม เรียกว่า “สังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน”

๒ สิ่งของสำหรับถวายพระทั่วไป จัดเป็นห่อย่อมๆ มักห่อด้วยกระดาษแก้วสีเหลือง ผูกริบบิ้น เรียกว่า “ไทยทาน”

เรื่องนี้ผมเจอมากับตัวเอง สมัยที่ยังรับราชการอยู่ คราวหนึ่งไปซื้อของถวายพระในงานทำบุญวันสถาปนาหน่วย โผล่เข้าในร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์แถวแยกศิริราช บอกว่าจะมาซื้อของถวายพระ คนขายพูดไทยสำเนียงจีนถามว่า ลื้อจะเอาสังฆทานหรือไทยทาน สังฆทานก็ถังนี่ ไทยทานก็ห่อโน่น 

ชี้นำให้เสร็จสรรพ สุดยอดไปเลย

ถึงตอนนี้ “ถวายสังฆทาน” กลายเป็นถวายสิ่งของชนิดหนึ่งไปโดยสมบูรณ์ ถึงขนาดที่ว่า ช่วงเวลาหนึ่งคนเป็นอันมากเชื่อกันชนิดหัวปักหัวปำว่า ถวายสังฆทานต้องมีถังสังฆทานหรือชุดสังฆทาน ถ้าไม่มี ถือว่าไม่ใช่สังฆทาน ฝังหัวกันถึงขนาดนี้

เข้าใจว่า-แม้ตอนนี้ก็ยังมีคนเชื่อฝังหัวแบบนี้อยู่

จากเข้าใจไปว่า “สังฆทาน” คือสิ่งของชนิดหนึ่ง และฝ่ายผู้ประกอบการก็ตอกย้ำลงไปว่า สังฆทานคือ “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” มีขายตามร้านเครื่องสังฆภัณฑ์ทั่วไป ในห้างสรรพสินค้าก็มีมุมเครื่องสังฆภัณฑ์ และที่เป็นจุดเด่นคือมี “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” ไว้สนองความต้องการของลูกค้าผู้มีศรัทธา --

จากตรงนั้น ความเข้าใจของผู้คนก็วิปลาสคลาดเคลื่อนต่อไปอีกว่า เอา “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” ไปถวายพระ นั่นแหละคือ “ถวายสังฆทาน” 

หลักการที่ถูกต้อง: ถวายสิ่งของอันสมควรแก่สมณบริโภคให้เป็นของสงฆ์ ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง คือ “ถวายสังฆทาน” 

ความเข้าใจวิปลาสคลาดเคลื่อนของผู้คน: เอา “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” ไปถวายพระ คือ “ถวายสังฆทาน” 

เรื่องนี้ก็เจอมากับตัวเอง เพราะผมอยู่ในที่เกิดเหตุ

วันพระหนึ่ง ที่วัดมหาธาตุราชบุรี ชาวบ้านมาทำบุญ ปฏิบัติกิจต่างๆ เสร็จ ทำวัตรเช้าเสร็จ ฟังเทศน์กัณฑ์เช้าเสร็จ ก็นั่งพักผ่อนเปลี่ยนอิริยาบถกันอยู่นอกศาลาทำบุญ ภายในศาลามีพระที่ลงฟังเทศน์ยังไม่ได้กลับกุฏินั่งอยู่รูปหนึ่งหรือสองรูป

ขณะนั้นเอง สุภาพสตรี ๒ คนขี่รถเครื่องเข้ามาจอดใกล้ๆ กับที่พวกเรานั่งอยู่ คนหนึ่งขี่ คนหนึ่งนั่งซ้อน คนที่นั่งซ้อนหิ้วถังสังฆทาน พอจอดรถ คนขี่ยังนั่งคร่อมรถอยู่ คนหิ้วถังเดินมาหาพวกเรา ถามว่า หลวงพ่ออยู่ไหม

วันพระนั้นหลวงพ่อมีกิจนิมนต์จำเป็น พวกเราซักกันแล้วได้ความว่า หลวงพ่อน่าจะกลับตอนบ่าย ก็บอกไปตามนั้น 

ผมเป็นคนถามว่า มีอะไรจะให้ช่วยครับ

สุภาพสตรีทั้งสองตอบพร้อมกัน ฟังได้ความว่า อ๋อ จะมาถวายสังฆทานให้หลวงพ่อ ไม่เป็นไร เดี๋ยวตอนบ่ายค่อยมาใหม่ 

ตอบเสร็จ คนหิ้วถังก็หิ้วกลับไปนั่งซ้อนรถเครื่อง แล้วทั้งสองคนก็กลับไป

ตั้งใจเอาถังมาถวายเจาะจงแก่หลวงพ่อแท้ๆ ก็ยังเข้าใจว่า-จะมาถวายสังฆทาน 

เพียงเพราะไปช่วยกันเรียกถังชนิดนั้นว่า “ถังสังฆทาน” ถวายสังฆทานคือตั้งเจตนาอย่างไร ไม่รับรู้ทั้งสิ้น 

รู้แต่ว่าเอาถังสังฆทานไปถวายพระ นั่นแหละคือถวายสังฆทานแล้ว 

ความเข้าใจวิปลาสคลาดเคลื่อนแบบนี้ยังมีอยู่ทั่วไปในหมู่คนไทย - นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผมบอกว่า-เป็นความเลอะเทอะในเรื่องสังฆทาน 

เรื่องถวายสังฆทานยังไม่จบครับ

----------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

๑๑:๓๘

[full-post]

ทำบุญวันพระ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.