บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๓๐)
------------------------------
อนุโมทนา + กรวดน้ำ (๑)
------------------------------
ทบทวนลำดับการปฏิบัติเมื่อไปทำบุญวันพระที่วัด
(๑) บูชาพระ (๒) รับศีล (๓) พระสงฆ์สวดถวายพรพระ+ชาวบ้านตักบาตร (๔) บูชาข้าวพระ (๕) ถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ (ถวายสังฆทาน) (๖) พระสงฆ์อปโลกน์ คือประกาศแบ่งแจกภัตตาหาร (๗) อนุโมทนา + กรวดน้ำ
เรื่องพระสงฆ์อปโลกน์ ได้พูดถึงมาแล้วในตอนที่ ๒๒
....................................................
บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๒๒)
https://prachaniyom.blogspot.com/2022/11/blog-post_624.html
....................................................
ก่อนจะไปถึงอนุโมทนาและกรวดน้ำ ขออนุญาตแวะข้างทางตรงอปโลกน์นิดหน่อย
มีแง่คิดบางประการที่ขอชวนให้คิด นั่นก็คือ อปโลกน์เป็นสังฆกรรมพิเศษ ไม่ต้องทำในเขตสีมาเหมือนสังฆกรรมหลักๆ เช่นบวชพระและฟังพระปาติโมกข์เป็นต้น แต่คงต้องยึดหลักสังฆกรรมไว้เสมอ นั่นคือต้องมีภิกษุร่วมประชุมอย่างน้อย ๔ รูป น้อยกว่า ๔ รูป อปโลกน์ไม่ได้
ไปทำบุญวันพระที่วัด กล่าวคำถวายสังฆทานแล้วเราก็จะเห็นพระสงฆ์อปโลกน์เสมอ จนเป็นเรื่องคุ้นตาเจนใจ-รวมทั้งที่เข้าใจกันผิดๆ เช่น (๑) อปโลกน์เพื่อให้สำเร็จเป็นสังฆทาน ถ้ายังไม่อปโลกน์ก็ยังไม่เป็นสังฆทาน และ (๒) อปโลกน์เพื่อให้ชาวบ้านญาติโยมกินข้าววัดได้ ถ้าไม่อปโลกน์ ชาวบ้านไปกินข้าววัดเข้าถือว่ากินของสงฆ์ เป็นบาป
ความใจผิด ๒ เรื่องนี้ผมอธิบายมาแล้ว คงไม่ต้องอธิบายอีก ขอพูดสั้นๆ ว่า
(๑) สังฆทานไม่ได้สำเร็จด้วยการอปโลกน์ เมื่อตั้งจิตถวายเป็นของสงฆ์และดำเนินการถวายเสร็จก็เป็นสังฆทานทันที ของที่ถวายเป็นสังฆทานจะอปโลกน์ก็เฉพาะของฉันของใช้ประจำตัวที่แบ่งแจกกันได้เท่านั้น ของที่เป็นครุภัณฑ์คือภิกษุใช้เป็นส่วนรวมร่วมกัน ท่านไม่ให้เอามาแจกกัน นั่นก็คือไม่ต้องอปโลกน์ เป็นสังฆทานทันทีที่ถวายเสร็จ
(๒) อาหารที่เขาถวายเป็นสังฆทาน เมื่อพระฉันแล้ว กลายเป็นของเป็นเดน ชาวบ้านกินได้ ไม่เป็นการกินของสงฆ์ และอาหารที่เขาถวายเป็นสังฆทาน พระยังไม่ได้ฉัน มีสถานภาพเป็นของสงฆ์อยู่เพียงเช้าชั่วเที่ยงวัน พ้นเที่ยงวันไปแล้ว หมดสภาพ ชาวบ้านกินได้ทันที ไม่เป็นการกินของสงฆ์ ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับอปโลกน์หรือไม่อปโลกน์แต่อย่างใดทั้งสิ้น
อปโลกน์เป็นสังฆกรรม ต้องมีพระอยู่ในที่นั้นไม่น้อยกว่า ๔ รูป จึงจะอปโลกน์ได้ ข้อชวนคิดก็คือ วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึง ๔ รูป ชาวบ้านไปทำบุญ ถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน อปโลกน์ไม่ได้เพราะมีพระไม่ถึง ๔ รูป แปลว่า ภัตตาหารที่เขาถวายเป็นของสงฆ์ ยังไม่ได้แบ่งแจกกัน-คือยังไม่ได้ทำอปโลกนกรรม-ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ของฉันของใช้ที่เขาถวายเป็นของสงฆ์ (ถวายสังฆทาน) ถ้าสงฆ์ยังไม่ได้แบ่งแจก (ยังไม่ได้อปโลกน์) พระก็ยังฉันยังใช้ไม่ได้-หลักมีอยู่เช่นนี้
ถามว่า-วัดที่มีพระไม่ถึง ๔ รูป พระจะฉันภัตตาหารที่เขาถวายเป็นของสงฆ์นั้นได้หรือไม่-เพราะยังไม่ได้แบ่งแจกกัน
อ้าว ก็แบ่งแจกกันเสียสิ รออะไรอยู่ล่ะ
แบ่งไม่ได้ เพราะมีพระไม่ถึง ๔ รูป ทำอปโลกนกรรมไม่ได้ พูดไม่เข้าใจรึไง
ไม่เข้าใจ
อปโลกน์คือการแบ่งแจกภัตตาหารเอาไปฉัน ถ้ามีพระไม่ถึง ๔ รูป แบ่งแจกไม่ได้ พระไม่ครบองค์ประชุม-กรณีนี้ควรเข้าใจ
พระที่มีอยู่ไม่ถึง ๔ รูปจะฉันภัตตาหารที่เป็นของสงฆ์นั้นได้หรือไม่ เพราะยังไม่ได้แบ่งแจก-กรณีนี้ต่างหากที่ควรจะไม่เข้าใจ
ถามผม ผมก็ต้องบอกว่า-ผมก็ไม่เข้าใจ ยังไม่ได้สืบค้นในคัมภีร์ว่ากรณีอย่างนี้พระวินัยให้ปฏิบัติอย่างไร
นึกออกไหมครับ กรณีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป จะรับกฐินได้หรือไม่ มีผู้แสดงความเห็นว่า นิมนต์มาจากที่อื่นมาให้ครบ ๕ รูป ก็รับได้
หลักก็คือ จำนวนพระต้องครบตามเกณฑ์
สถานการณ์แบบเดียวกัน
เปลี่ยนจากกรณีรับกฐินมาเป็นกรณีถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน พระไม่ครบองค์สงฆ์จะทำอย่างไร คำตอบก็จะเป็นทำนองเดียวกัน คือ นิมนต์มาจากที่อื่นมาให้ครบองค์สงฆ์คือ ๔ รูป ก็อปโลกน์ได้ อปโลกน์แล้วก็สามารถฉันภัตตาหารที่เขาถวายเป็นของสงฆ์ได้
จะต่างจากกรณีรับกฐินก็ตรงที่-รับกฐินมีเงื่อนไขว่า ต้องจำพรรษาในวัดเดียวกันทั้ง ๕ รูป ซึ่งเงื่อนไขนี้ยังถกเถียงกันอยู่ว่าต้องจำพรรษาวัดเดียวกันหรือจำพรรษาต่างวัดกันก็ได้
แต่กรณีถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน ไม่มีเงื่อนไขเรื่องจำพรรษาวัดเดียวกัน แปลว่า นิมนต์มาจากวัดอื่นให้ครบองค์สงฆ์ก็สามารถอปโลกน์ได้
ถ้ามีพระวัดอื่นให้นิมนต์มาได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ที่มีปัญหาก็คือ จะไปหาพระที่วัดไหนได้-ถ้าละแวกนั้นไม่มีวัดอื่น จะทำอย่างไรพระจึงได้ฉันภัตตาหารนั้นได้
เรื่องก็จะกลายเป็นว่า เพราะไปถวายภัตตาหารเป็นสังฆทานจึงเกิดเหตุ นี่ถ้าถวายเป็นบุคลิกทานคือถวายเป็นของส่วนตัวเสียก็หมดเรื่อง ถวายพระ ก พระ ข ท่านก็สามารถฉันได้ทันที ไม่ต้องอปโลกน์ (แบ่งแจก) กับใคร นี่เกิดนิยมถวายเป็นสังฆทาน แล้วพระมีไม่ครบองค์สงฆ์ก็เลยเกิดปัญหา
เราท่านที่เห็นภาพพระอปโลกน์เวลาทำบุญวันพระจนเคยชิน คงจะไม่เคยคิดว่าจะเกิดปัญหาแบบนี้ เพราะเท่าที่ผ่านมาวัดต่างๆ มีพระอยู่จำพรรษาเกิน ๔ รูปทั้งนั้น ลงศาลาทำบุญวันพระก็มีพระลงเกิน ๔ รูป ครบองค์สงฆ์ ทำอปโลกนกรรมได้ทันที
แต่-ต่อไปนี้คงจะต้องเริ่มคิดกันแล้วนะครับ
วัดที่มีพระไม่ถึง ๔ รูป-ซึ่งมีแนวโน้มว่าวัดเช่นนี้จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ-ชาวบ้านมาทำบุญวันพระ พระลงศาลาไม่ถึง ๔ รูป มรรคนายกก็ยังคงกล่าวนำถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ (ถวายสังฆทาน) ตามความนิยมอยู่นั่นเอง
พระที่รู้หลักอปโลกนกรรมท่านก็คงไม่อปโลกน์ แต่พระที่ไม่รู้หลักพระธรรมวินัย-ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าพระเช่นนี้จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน-ก็จะอปโลกน์หน้าตาเฉย
แล้วจะทำอย่างไรกัน?
พระไม่ครบ ๔ รูป อปโลกน์ไม่ได้ ขืนอปโลกน์ก็ผิดเห็นๆ
จะไปหาพระมาเพิ่มก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีพระ
ปัญหาที่จะต้องหาคำตอบก็คือ แล้วภัตตาหารที่เขาถวายเป็นของสงฆ์ จะให้ปฏิบัติอย่างไร
ถึงไม่ได้อปโลกน์ (คือแบ่งแจก) พระที่มีอยู่นั้นก็ฉันได้เลย ไม่ผิดพระวินัยฐานฉันของสงฆ์ที่ยังไม่ได้แบ่งแจก – คิดเอาเองแบบนี้ใช้ได้หรือไม่?
กรณีเช่นนี้ มีหลักพระวินัยกำหนดไว้ให้ปฏิบัติอย่างไรบ้างหรือไม่ มีอยู่ในพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติเล่มไหนตรงไหนส่วนไหน ยกมาให้ดูได้หรือไม่
นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาตรวจสอบค้นคว้าหลักพระธรรมวินัยเป็นงานสำคัญอย่างยิ่งที่รอให้มีผู้ลงมือทำ ในขณะที่เราก็มีผู้เรียนบาลีจบแล้วอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ท่านเหล่านั้นล้วนแต่มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะทำงานศึกษาตรวจสอบค้นคว้าหลักพระธรรมวินัยได้เป็นอย่างดียิ่ง
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ มีผู้ลงมือทำงานศึกษาตรวจสอบค้นคว้าหลักพระธรรมวินัยน้อยเป็นอย่างยิ่ง-จนพูดได้ว่า-แทบไม่มี
ท่านที่เรียนจบบาลีแล้ว มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะทำงานศึกษาตรวจสอบค้นคว้าหลักพระธรรมวินัยได้เป็นอย่างดียิ่ง ท่านไปทำอะไรกันอยู่?
ขอความกรุณาช่วยตอบปัญหานี้ --
วัดที่มีพระไม่ถึง ๔ รูป ชาวบ้านมาทำบุญวันพระ ถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ พระจะฉันภัตตาหารของสงฆ์นั้นได้หรือไม่ หรือจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ขอความกรุณาตอบอ้างอิงหลักพระธรรมวินัย
กรุณาอย่าใช้ verb to เดา!
-------------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
๑๘:๕๙
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ