บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๒๔)
------------------------------
ถวายสังฆทาน (๖)
------------------------------
สังฆทานเวียนคือเอาของที่คนหนึ่งถวายเป็นของสงฆ์แล้วมาให้อีกคนหนึ่งถวายอีก
ทำได้หรือไม่?
จับหลักให้แม่นไว้ก่อน-อย่าเบื่อที่จะฟังซ้ำๆ
.........................................................
ของที่ถวายเป็นของสงฆ์มี ๒ อย่าง คือ -
ครุภัณฑ์ สมบัติส่วนรวมของสงฆ์ ภิกษุใช้ร่วมกัน
ลหุภัณฑ์ ของฉัน (ของกิน) ของใช้ประจำตัวของภิกษุ
ครุภัณฑ์ รับมาแล้วเก็บเข้าคลังสงฆ์ บริหารจัดการดูแลตามสภาพ
ลหุภัณฑ์ รับมาแล้วแบ่งแจกกันไปเพื่อให้ภิกษุได้ฉันได้ใช้
.........................................................
ของที่เอามาทำสังฆทานเวียน เท่าที่ตรวจดูแล้ว เป็นลหุภัณฑ์ทั้งสิ้น
ลหุภัณฑ์คือของฉันของใช้ประจำตัวของภิกษุ รับมาแล้วแบ่งแจกกันไปเพื่อให้ภิกษุได้ฉันได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ หรือตามเจตนา หรือตามสภาพของสิ่งของนั้นๆ
ของกิน ทำขึ้นมาเพื่อกิน ไม่ใช่เพื่อเก็บไว้ดูเล่น
ของใช้ ทำขึ้นมาเพื่อใช้ตามลักษณะที่ต้องการ แต่อาจมีผู้เก็บไว้เป็นของที่ระลึกได้ นั่นก็ว่ากันเป็นกรณีๆ ไป
ของถวายเป็นของสงฆ์ ก็เพื่อให้สงฆ์ได้ฉันได้ใช้ ตามหลักการเดียวกัน
ของฉันของใช้ที่ถวายเป็นของสงฆ์ ท่านกำหนดให้สงฆ์แบ่งแจกกัน
การที่เอาของสงฆ์มาหมุนเวียนให้คนถวายซ้ำอีกสามารถทำได้หรือไม่?
ปัญหานี้ เคยมีผู้ที่สนับสนุนการทำสังฆทานเวียนตอบไว้แล้วว่า สามารถทำได้ ทั้งนี้โดยอ้างอิงหลักเรื่องผาติกรรม
ถึงตรงนี้ก็มีศัพท์ทางวิชาการที่จำเป็นต้องรู้ คือคำว่า “ผาติกรรม”
“ผาติกรรม” คืออะไร?
“ผาติกรรม” บาลีเป็น “ผาติกมฺม” (ผา-ติ-กำ-มะ)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ผาติกมฺม” ว่า increase, profit, advantage (การเพิ่มพูน, กำไร, การได้เปรียบ)
“ผาติกมฺม” ถ้าเป็นคำกริยา เป็น “ผาติกโรติ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ผาติกโรติ” ว่า to make fat, to increase, to use to advantage (ทำให้อ้วน, เพิ่มขึ้น, ใช้ให้เป็นประโยชน์)
ที่ยกพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มาให้ดูก่อนก็เพราะคนสมัยนี้เห็นคำฝรั่งแล้วเข้าใจความหมายคำบาลีได้ดีกว่าอธิบายเป็นคำไทย
คราวนี้มาดูคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า -
..........................................................
ผาติกรรม : (คำนาม) การทําให้เจริญ, ใช้ในวินัยว่า การจําหน่ายครุภัณฑ์เพื่อประโยชน์สงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาของเลวแลกเปลี่ยนเอาของดีกว่าให้แก่สงฆ์ หรือเอาของของตนถวายสงฆ์เป็นการทดแทนที่ตนทําของสงฆ์ชํารุดไปบ้าง, รื้อของที่ไม่ดีออกเสียทําให้ใหม่ดีกว่าของเก่า เช่น เอาที่วัดไปทําอย่างอื่นแล้วสร้างวัดถวายใหม่เป็นการชดใช้.
..........................................................
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -
..........................................................
ผาติกรรม : “การทำให้เจริญ” หมายถึงการจำหน่ายครุภัณฑ์ เพื่อประโยชน์สงฆ์อย่างหนึ่งอย่างใด โดยเอาของเลวแลกเปลี่ยนเอาของดีกว่าให้แก่สงฆ์ หรือเอาของของตนถวายสงฆ์เป็นการทดแทนที่ตนทำของสงฆ์ชำรุดไป, รื้อของที่ไม่ดีออกทำให้ใหม่ดีกว่าของเก่า เช่น เอาที่วัดไปทำอย่างอื่นแล้วสร้างวัดถวายให้ใหม่; การชดใช้, การทดแทน
..........................................................
ขอให้สังเกตคำจำกัดความที่ตรงกันอยู่ตอนหนึ่ง นั่นคือ “การจําหน่ายครุภัณฑ์เพื่อประโยชน์สงฆ์”
เพราะฉะนั้น ก็ได้หลักว่า ของสงฆ์ที่อนุญาตให้ทำผาติกรรมได้ต้องเป็น “ครุภัณฑ์”
ครุภัณฑ์ : ของส่วนกลางหรือของสงฆ์ที่ภิกษุใช้ร่วมกัน
ลหุภัณฑ์ : ของฉันของใช้ประจำตัวของภิกษุ
เมื่อมีผู้ถวายครุภัณฑ์ลหุภัณฑ์ให้เป็นของสงฆ์ สงฆ์จะต้องทำอย่างไรกับของนั้น ได้เคยยกพระพุทธพจน์มาให้ดูแล้ว ยกมาทบทวนกันอีกที -
.........................................................
ยํ ตตฺถ ลหุภณฺฑํ ลหุปริกฺขารํ ตํ สมฺมุขีภูเตน สงฺเฆน ภาเชตุํ
บรรดาสิ่งของเหล่านั้น สิ่งใดเป็นลหุภัณฑ์ลหุบริขาร สิ่งนั้นเราอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันแบ่ง
ยํ ตตฺถ ครุภณฺฑํ ครุปริกฺขารํ ตํ อาคตานาคตสฺส จาตุทฺทิสสฺส สงฺฆสฺส อวิสฺสชฺชิกํ อเวภงฺคิกนฺติ ฯ
บรรดาสิ่งของเหล่านั้น สิ่งใดเป็นครุภัณฑ์ครุบริขาร สิ่งนั้นเป็นของสงฆ์ผู้อยู่ในจตุรทิศทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา ไม่ควรแบ่งไม่ควรแจก.
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๖๗
.........................................................
ขอสรุปเพื่อเข้าใจสั้นๆ อีกที (ขอความกรุณาอย่าเบื่อที่จะฟังซ้ำๆ) ดังนี้ -
ครุภัณฑ์: ของอันไม่ใช่สำหรับใช้สิ้นไป เป็นของควรรักษาไว้ได้นาน เช่นเครื่องใช้ในเสนาสนะหรือตัวเสนาสนะเอง ตลอดถึงกุฏิและที่ดิน จัดเป็นครุภัณฑ์ เป็นของที่แจกกันไม่ได้ ให้เก็บรักษาไว้ เป็นของสาธารณะแก่สงฆ์
ลหุภัณฑ์: ของอันจะพึงบริโภคสิ้นไป เช่น บิณฑบาต เภสัช กับบริขารประจำตัว (ของใช้ส่วนตัว) เช่น บาตร จีวร และของเล็กน้อย เช่นเข็มเย็บผ้า มีดโกน เป็นลหุภัณฑ์ เป็นของแจกกันได้
ครุภัณฑ์ ท่านไม่อนุญาตให้เอามาแจกกัน เพราะเป็นของที่ภิกษุทั้งปวงสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
แต่ในกรณีที่ครุภัณฑ์นั้นเกิดไม่อำนวยประโยชน์จะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ถ้าปล่อยไปตามนั้นก็จะไม่มีใครได้ประโยชน์ ท่านจึงอนุญาตให้บริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ด้วยวิธี “ผาติกรรม”
ส่วนลหุภัณฑ์นั้น เมื่อได้มาก็สามารถบริโภคใช้สอยได้ทันที แต่ละคนได้ประโยชน์ทันที ทั้งสามารถแจกจ่ายให้ผู้ที่ขาดแคลนต่อไปได้อีก เป็นของที่หมดไปด้วยการกินการใช้ จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องเอามาทำผาติกรรมอะไรอีก
หลักการของ “ผาติกรรม” เป็นดังที่ว่ามานี้
..................
แล้วลองตรวจดูเถิดว่า สิ่งของที่เรียกว่า “สังฆทานเวียน” นั้นคืออะไร
สิ่งของที่เอามาทำสังฆทานเวียนเป็นจำพวกที่เรียกว่า ของกินของใช้หมดเปลืองทั้งนั้น เป็นของกินของใช้ส่วนตัวที่ต้องกินต้องใช้และหมดเปลืองไปตามลักษณะการกินการใช้ ถ้ามีมาก ก็สามารถแจกจ่ายให้ทั่วถึงกัน หรือแจกไปยังผู้ที่ขาดแคลนต่อไปได้ คือเกิดประโยชน์โดยตรงอยู่แล้วในตัว จึงไม่ต้องเอามาทำผาติกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์อะไรอีก
สรุปว่า ของที่อยู่ในถังสังฆทานนั้นจัดอยู่ในประเภท “ลหุภัณฑ์”
เพราะฉะนั้น ถังสังฆทานจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเอามาทำผาติกรรมได้
ขอให้คิดถึงข้อเท็จจริง
ของกินของใช้ที่มีผู้ถวายแก่สงฆ์ก็เพื่อให้ภิกษุได้ฉันได้ใช้
ถ้าเอามาทำเป็นสังฆทานเวียนอยู่ตรงนั้น ถามว่าเมื่อไรพระจึงจะได้ฉันได้ใช้ของนั้น?
ยกตัวอย่างตลกๆ ให้ฟังหน่อยก็ได้
มีคนถวายก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งเป็นสังฆทาน (ถวายอาหารเป็นสังฆทานได้ คำถวายที่ว่า อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ... เป็นข้อยืนยันอยู่แล้ว)
สงฆ์เอาก๋วยเตี๋ยวชามนั้นมาทำผาติกรรม เพื่อหาเงินเข้าวัดตามเหตุผลที่อ้าง
ผู้มีศรัทธาอยากถวายสังฆทานก็มาผาติกรรมก๋วยเตี๋ยวชามนั้น แล้วก็ถวายเป็นสังทานกลับไปอีก
วนเวียนอยู่อย่างนั้น = สังฆทานเวียน ที่กำลังพูดกันอยู่นี้
ถามว่า พระท่านจะได้ฉันก๋วยเตี๋ยวชามนั้นหรือไม่
สังฆทานเวียนก็เหมือนก๋วยเตี๋ยวชามนั้นนั่นเอง
..................
หลักสำคัญอย่างหนึ่งของผาติกรรมก็คือ ต้องเปลี่ยนกับของที่มีราคาสูงกว่าหรืออย่างน้อยก็ราคาเท่ากัน
สมมุติว่าถังสังฆทานถังหนึ่งราคา ๓๐๐ บาท
ผู้ที่จะมาเปลี่ยนถังนั้นถวายเป็นสังฆทานก็ต้องจ่ายให้วัดไม่น้อยกว่า ๓๐๐ บาท
แล้วถ้าสมมุติว่าถังราคา ๓๐๐ บาทนั้นเกิดมีผู้ศรัทธามาเปลี่ยนค่าถัง ๑,๐๐๐ บาท
ผู้มีศรัทธารายต่อไปที่จะมาเปลี่ยนถังนั้นก็จะต้องจ่ายไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ บาท ต่ำกว่านี้ไม่ได้
เพราะถึงขั้นนี้ ถังสังฆทานใบนั้นไม่ใช่ราคา ๓๐๐ บาทแล้ว
แต่ราคาเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๐๐ บาท
ปัญหาก็จะเกิดตามมาว่า พระหรือเจ้าหน้าที่ของวัดที่จัดการเรื่องนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าถังใบไหนถึงตอนนั้นราคาเพิ่มขึ้นไปเท่าไร
ถ้าเอาถังราคา ๑,๐๐๐ บาท ไปให้ญาติโยมเปลี่ยนเป็นราคา ๓๐๐ บาท จะเกิดอะไรขึ้น
เห็นความสับสนปนเปหรือยังครับ
คราวนี้ก็ต้องจัดหาถังสังฆทานราคาต่างๆ เตรียมไว้ให้พอเหมาะกับกำลังทรัพย์ของผู้ที่จะถวาย
ถังนั้น ๓๐๐
ถังนี้ ๒๕๐
ถังโน้น ๒๐๐
เลยกลายเป็นธุรกิจซื้อ-ขายเต็มตัว ไม่ใช่ทำบุญตามกำลังศรัทธาอีกแล้ว
ผาติกรรมคือเปลี่ยนของอื่นมาให้สงฆ์ หรือจ่ายทรัพย์ให้สงฆ์ แล้วเอาของสงฆ์ไปทำประโยชน์ตามประสงค์
แต่สังฆทานเวียนจ่ายทรัพย์แล้วก็เอาของนั้นถวายสงฆ์อีกอย่างเดิม
แล้วสงฆ์ก็เอาของนั้นมาเวียนให้โยมจ่ายทรัพย์อีก
เป็นผาติกรรมชนิดไหนกัน
ของที่เอามาผาติกรรมไม่ใช่ครุภัณฑ์ ก็ไม่เข้าเกณฑ์ชั้นหนึ่งแล้ว
เมื่อทำผาติกรรม (ที่ไม่ถูกต้องตามเกณฑ์) แล้วของนั้นก็ยังวนกลับมาที่เดิม ผิดเจตนารมณ์ของผาติกรรมซ้ำเข้าอีกชั้นหนึ่ง
แบบนี้ไม่ใช่ผาติกรรมชนิดที่ท่านอนุญาตไว้ในพระวินัยเป็นแน่นอน
พูดอย่างไม่เกรงใจ สังฆทานเวียนก็คือการเล่นละคร
เหมือนเด็กเล่นขายของ
เหมือนเล่นหม้อข้าวหม้อแกง
แทนที่จะสอนชาวบ้านให้เกิดแสงสว่างในการทำบุญ
กลับซ้ำทำให้มืดหนักเข้าไปอีก
ถ้าชาวบ้านไม่เข้าใจ นั่นคือหน้าที่โดยตรงของชาววัดที่ต้องทำให้เข้าใจ
ควรช่วยกันอธิบายให้ญาติโยมเกิดปัญญาในวิธีทำบุญ
ไม่ใช่คอยสนองความอยากของญาติโยมด้วยการคิดค้นกลวิธีแปลกๆ มาล่อให้ทำบุญเหมือนผู้ใหญ่หลอกเด็ก
..................
ถ้าอยากได้เงินเข้าวัดเพื่อชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก่อสร้าง ฯลฯ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาต่อไปดังที่อ้าง วิธีที่ถูกต้องก็คือ เลิกสังฆทานเวียน แล้วเชิญชวนให้ญาติโยมทำ “สังฆทานเงิน”
สังฆทานเงินคืออะไร ตอนหน้าจะอธิบายให้ฟังครับ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
๑๐:๒๙
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ