๑๒. อนุโลมญาณ

      อนุโลมญาณ ญาณที่อนุโลมไปตามลำดับเพื่อสำเร็จกิจแห่งวิปัสสนาญาณ ๓ โดยมีรูปนามเป็นอารมณ์ หรืออนุโลมไปตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการในเบื้องสูง

      อนุโลมญาณ หรือ สัจจานุโลมิกญาณ แยกบทเป็น สัจจะ + อนุโลมิก + ญาณ มีความหมายตามรูปศัพท์ ดังนี้

      สัจจะ แปลว่า ความจริง ความจริงแห่งอริยเจ้า ได้แก่ อริยสัจทั้ง ๔ คือทุกขสัจ สมุทยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ

      ทุกขสัจ ของจริงคือ ทุกข์ ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ (เว้นโลภะ) รูป ๒๘

      สมุทยสัจ ของจริงคือ สมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ โลภเจตสิก

      นิโรธสัจ ของจริงคือ นิโรธ ดับทุกข์ได้แก่ พระนิพพาน

      มรรคสัจ ของจริงคือ มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๙ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้นย่นลงมาได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๓ นี้มีปรมัตถ์คือ นิพพานเป็นอารมณ์

      อนุโลมิกะ แปลว่า เป็นไปตามลำดับ ๒ ประการคือ อนุโลมตามญาณต่ำไปหาญาณสูงอย่างหนึ่ง อนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อย่างหนึ่ง

      ๑. อนุโลมตามญาณต่างๆ เริ่มตั้งแต่อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณเป็นต้น จนกระทั่งถึงสังขารุเปกขาญาณ รวม ๙ ญาณด้วยกัน อย่างนี้เรียกว่า อนุโลมตามญาณต่ำมาหาญาณสูง

      ๒. อนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มี สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ดังที่กล่าวแล้ว มีหลักฐานรับรองไว้ คือ ปุริมานํ อฏฺฐนฺนํ วิปสฺสนาญาณานํ ตถกิจฺจตาย จ อนุโลเมติ ฯ อนุโลมแก่วิปัสสนาญาณเบื้องต้น ๘ คือ :

      - อุทยัพพยญาณ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม

      - ภังคญาณ พิจารณาเห็นเพราะความดับไปของรูปนามอย่างเดียว

      - ภยญาณ พิจารณาเห็นรูปนามว่าเป็นของน่ากลัว

      - อาทีนวญาณ พิจารณาเห็นรูปนามว่ามีโทษมาก

      - นิพพิทาญาณ พิจารณาเห็นทุกข์โทษของรูปนามแล้วเบื่อหน่าย 

      - มุญจิตุกัมยตาญาณ พิจารณาเห็นทุกข์โทษ เบื่อหน่ายแล้วอยากหลุดพ้น

      - ปฏิสังขาญาณ พิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง

      - สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์แล้วมีใจวางเฉยอยู่กับรูปนามอย่างนี้เรียกว่า อนุโลมตามญาณต้น เพราะมีกิจพิจารณาพระไตรลักษณ์ เป็นอารมณ์เหมือนกันกับญาณ ๘ ญาณข้างต้น เทียบเคียงดังนี้

      อุปริ จ สตฺตตึสาย โพธิปกฺชิยชมฺมานํ ฯ อนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ในเบื้องสูง

      เมื่ออนุโลมตามญาณต่ำได้กำลังพอคือ อินทรีย์ ๕ แก่กล้าแล้วก็เข้าเขตอนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ


ว่าด้วยอุปมาอนุโลมญาณ ๓

      อนุโลมญาณ คือพิจารณารูปนามเป็นไปด้วยอำนาจอนิจจลักษณะ มีอุปมาดังนี้ คือ เช่น พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงธรรม ประทับนั่งในที่วินิฉัย ทรงสดับการวินิจฉัยของมหาอำมาตย์ผู้พิพากษา ๘ นายในศาล พระองค์ไม่มีความลำเอียงเลย ทรงตั้งพระทัยเป็นกลาง ทรงอนุโมทนาว่า จงตัดสินอย่างนี้แหละ ทรงอนุโลมต่อการวินิจฉัยของมหาอำมาตย์เหล่านั้นเพราะตัดสินถูกต้องตามทำนองคลองธรรมดีแล้ว และทรงอนุโลมต่อราชธรรมดั้งเดิมของพระองค์คือ ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ไม่มีโกรธ ไม่มีเบียดเบียน มีขันติ เป็นต้น ข้อนี้ฉันใด อนุโลมญาณก็ฉันนั้น

      ๑. ญาณทั้ง ๘ เปรียบเหมือนมหาอำมาตย์ ๘ คน

      ๒. โพธิปักขิยธรรม ๓๗ เปรียบเหมือนทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ โพธิปักขิยธรรม ๓๓ เป็นฝ่ายพุทธจักร ส่วนทศพิธราชธรรม ๑๐ เป็นของฝ่ายอาณาจักร

      ๓. พระราชาตรัสว่า จงตัดสินอย่างนี้แหละชื่อว่าทรงอนุโลมตามผู้พิพากษา เปรียบเหมือนอนุโลมญาณ ก็ต้องพิจารณารูปนามเหมือนกับญาณทั้ง ๘ ฉะนั้น

      เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า สัจจานุโลมิกญาณ เพราะอนุโลมคือคล้อยตามมัคคสัจ 

      อนุโลมญาณ ว่าโดยอารมณ์มีพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์เท่านั้น


กิจของอนุโลมญาณ

อนุโลมญาณ ว่าโดยกิจมี ๒ คือ

      ๑. ลักขณัตตยสัมมสนกิจ อนุโลมญาณมีหน้าที่พิจารณาลักษณะทั้ง ๓ คือลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา 

----------------

เพื่อจดจำได้ง่ายๆ โดยเป็นคาถาดังนี้

      ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ     อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ

      อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ      ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ

------------------

      ๒. สัมโมสาทิปฏิปักขวิธมนกิจ นุโลมญาณมีหน้าที่กำจัดปฏิปักษ์คือ ข้าศึกทั้งหลายมี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น, กิเลสตมวิโนทนกิจ มีหน้าที่กำจัดความมืด คือกิเลสนั้นเองเพราะโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มาประชุมพร้อมกันเพื่อทำงานละกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน


ผลของอนุโลมญาณ

อนุโลมํ สจฺจปฏิจฺฉาทกํ กิเลสตมํ วิโนเทตุํ สกฺโกติ อนุโลมญาณ ย่อมสามารถกำจัดความมืด คือ กิเลสอันปกปิดอริยสัจ ๔ เสียได้


ผลของญาณทั้ง ๘

      อิมานิ นว ญาณานิ ญาณทสฺสนวิสุทฺธิยา ปฏิปทาภาวโต ติลกฺขณชานํ นตฺเถน ปจฺจกฺขโต ทสฺสนตฺเถน ปฏิปกฺขโต วิสุทฺธตฺตา จ ปฏิปทาญาณทสฺสนวิสุทฺธิ นาม ฯ (วิภาววินีฎีกา)

      ญาณทั้ง ๘ คือ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ ชื่อว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะเหตุ ๖ ประการ

      ๑. เพราะเป็นข้อปฏิบัติเพื่อญาณทัสสนวิสุทธิคือ มรรค

      ๒. เพราะรู้พระไตรลักษณ์

      ๓. เพราะปรากฎชัด

      ๔. เพราะเป็นเครื่องเห็นพระไตรลักษณ์และอริยสัจ ๔

      ๕. เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมที่ผิด

      ๖. เพราะบริสุทธิวิเศษ

      ตัวอย่างคือ พระมหาสิวเถรเจ้า เล่าไว้ว่า แรกเริ่มเดิมทีพระเถระนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกมาดี ได้เป็นอาจารย์สอนปริยัติธรรมถึง ๑๘ แห่งในวันหนึ่งๆ จะหาเวลาว่างมิได้เลย เพราะท่านเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรดี ทั้งเป็นผู้ปราดเปรื่องในพระไตรปีถูกมีศิษย์เป็นจำนวนมาก ศิษย์คนหนึ่งได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้คำนึงถึงอาจารย์ของตน ทราบชัดด้วยปัญญาว่ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ จึงมุ่งหน้าไปหาอาจารย์ เพื่อจะได้แสดงธรรมวิเศษให้แก่อาจารย์ฟัง เมื่อไปถึงที่อยู่แล้วก็ได้กล่าวทักทายปราศัยกันตามฉันศิษย์กับอาจารย์แล้วบอกความประสงค์ของตนให้แก่อาจารย์ฟัง อาจารย์ก็ตอบว่า ไม่มีเวลาว่างพอ แม้ขณะนี้ก็จะไปสอนธรรมในสถานที่ต่างๆ  หลายแห่งกลับมาก็มืคค่ำแล้ว ถึงศิษย์จะอ้อนวอนอย่างไรๆ ก็ไม่สำเร็จ อาจารย์ก็ยืนยันว่าไม่มีเวลาอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่อศิษย์เห็นว่าอาจารย์จะไม่ได้ปฏิบัติธรรมตามที่ตนจะแนะนำถวาย จึงเหาะไปต่อหน้าอาจารย์ เมื่ออาจารย์ได้เห็นศิษย์ของตนเหาะไปต่อหน้าเช่นนั้น ได้สติรู้สึกตนขึ้นมาว่าการที่ดิษย์มาหา ครั้งนี้ก็เพื่อจะแนะนำให้เราได้เข้าถึงธรรมวิเศษ โดยปฏิเวธญาณอย่างแท้จริงแต่เราก็กลับมีความประมาทเสีย และเราเองก็ไม่ได้มีธรรมวิเศษเหมือนเขาเลย เมื่อมีสติระลึกได้เช่นนี้ จึงตั้งสัจจาธิษฐานขึ้นว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะต้องเจริญวิปัสสนาตั้งหน้าปฏิบัติอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งธรรมวิเศษนั้น ตราบใดเรายังไม่ได้ธรรมวิเศษนั้น ตราบนั้นเราจะไม่ยอมละทิ้งความเพียรเป็นอันขาด จะยอมทุ่มเทกำลังกายกำลังใจทุกอย่าง เพื่อแลกเอาธรรมวิเศษนั้นให้ได้

      ครั้นท่านได้ตั้งสัจจาธิษฐานอย่างนี้แล้ว ก็เริ่มลงมือปฏิบัติกรรมฐานต่อไปปฏิบัติไปวันหนึ่งก็แล้ว สองวันก็แล้ว สามวันก็แล้ว สามเดือนก็แล้ว สามปีก็แล้ว เจ็ดปี สิบปี สิบห้าปี ยี่สิบปีก็แล้ว ยังไม่ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน เลย ถึงอย่างนั้นท่านก็ไม่เคยละทิ้งความเพียรยิ่งพยายามทำอย่างสุดความสามารถ ผลที่สุดเมื่อถึง ๓๐ ปี ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์สมความปรารถนา

      โลกมนุษย์เต็มไปด้วยภัยนานาประการ เช่น ชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย อัตตานุวาทภัย ทัณฑภัย ทุคติภัย อัคคีภัย อุทกภัย ทุพภิกขภัย โจรภัย อูมิภัย กุมภีลภัย อาวาฏภัย สุสุกาภัย ภัยเหล่านี้ย่อมนำมาแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อนร้อยแปดพันประการ ท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารจงรีบพยายามต่อไป และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเตือนไว้ว่า - อุฏฺฐหถ นิสีทถ โก อตฺโถ สุปีเตน โว ฯ ลุกขึ้นเถิดท่านทั้งหลาย เชิญท่านทั้งหลายนั่งเถิด ท่านทั้งหลายจะมัวหลับไหลเอาประโยชน์อะไร (ในเมื่อชาวโลกถูกภัยต่างๆ คุกคามอยู่อย่างนี้ เชิญท่านทั้งหลายศึกษาเพื่อสันติเถิดนอกจากนี้ พระอรรถกถาจารย์ยังได้กล่าวเตือนและชักชวนไว้อีก ว่า :-

      อิติเนเกหิ นาเมหิ       กิตฺติกา ยา มเหสินา

      วุฏฺฐานคามินี สนฺตา    ปริสุทฺธา วิปสฺสนา

      วุฏฺฐาตุกาโม สสาร-    ทุกฺขปงฺกา มหพฺภยา

      กเรยฺย สตตํ ตตฺถ      โยคํ ปณฺฑิตชาติโก" ฯ

      วุฏฐานคามินีวิปัสสนาใด สงบ บริสุทธิ์ อันพระมหาฤาษีตรัสไว้ โดยชื่อหลายอย่าง ดังกล่าวมานี้ บุคคลผู้มีชาติบัณฑิต ผู้ปรารถนาจะออกจากเปือกตม คือสังสารทุกข์มีภัยใหญ่ พึงทำความเพียรเนือง ๆ ในวุฎฐานคามินีวิปัสสนานั้นแล

จบ อนุโลมญาณ


[full-post]

ปริจเฉทที่๙,อภิธัมมัตถสังคหะ,วิปัสสนากรรมฐาน,อนุโลมญาณ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.