ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,819)
ธนู - ศร
คนละอย่างเดียวกัน?
“ธนู” อ่านว่า ทะ-นู
“ศร” อ่านว่า สอน
“ธนู” บาลีเป็น “ธนุ” อ่านว่า ทะ-นุ รากศัพท์มาจาก -
(1) ธนฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อุ ปัจจัย
: ธนฺ + อุ = ธนุ แปลตามศัพท์ว่า “อาวุธที่ทำเสียงได้”
(2) หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อุ ปัจจัย, แปลง ห เป็น ธ
: หนฺ + อุ = หนุ > ธนุ แปลตามศัพท์ว่า “อาวุธที่เบียดเบียนสัตว์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธนุ” (นปุงสกลิงค์) เป็นอังกฤษว่า a bow
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล bow เป็นไทยดังนี้ -
1. ผ้าที่ผูกเป็นหูกระต่าย ถ้าผูกชั้นเดียว เรียกว่า single bow ผ้าผูกสองชั้นเรียกว่า double bow
2. คันเกาทัณฑ์, คันศร, คันธนู, คันชักซอ, หน้าไม้
บาลี “ธนุ” สันสกฤตเป็น “ธนุ” และ “ธนุสฺ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ -
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ธนุ, ธนุส : (คำนาม) ‘ธนู’ คันศร; ธนุราศิ, ราศีธนู; พิกัดสี่สอก; a bow; the sign, Sagittarius, or the Archer.”
“ธนุ” เราใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยเป็น “ธนู”
โปรดสังเกต บาลีเป็น “ธนุ” สระ อุ แต่ไทยเราใช้เป็น “ธนู” สระ อู
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ธนู : (คำนาม) ชื่ออาวุธชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยคันธนูซึ่งมีสายขึงอยู่ระหว่างปลายคันธนูทั้ง ๒ ข้าง สำหรับน้าวยิง และลูกธนูที่มีปลายแหลม; ชื่อกลุ่มดาวรูปธนู เรียกว่า ราศีธนู เป็นราศีที่ ๘ ในจักรราศี; ชื่อดาวฤกษ์อนุราธา. (ป. ธนุ).”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ธนูศิลป์” ไว้อีกคำหนึ่ง บอกไว้ว่า -
“ธนูศิลป์ : (คำนาม) ศิลปะในการยิงธนู, ฝีมือยิงธนู, การฝึกหัดยิงธนู. (ส.).”
ในภาษาไทย มีอีกคำหนึ่งที่มักสับสนกัน คือคำว่า “ศร” บาลีเป็น “สร” (สันสกฤต ศ ศาลา บาลี ส เสือ) อ่านว่า สะ-ระ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน; ยิง, ซัด) + อ (อะ) ปัจจัย
: สรฺ + อ = สร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” (2) “สิ่งอันเขายิงไป”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สร” เป็นอังกฤษว่า an arrow
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล arrow เป็นไทยว่า ลูกศร, ลูกธนู, เกาทัณฑ์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สร” ไว้ เป็น “สร ๑” บอกไว้ว่า “ศร” หมายความว่า ถ้าเขียนเป็น “สร” (รูปคำบาลี) ก็หมายถึง “ศร” (รูปคำสันสกฤต)
ที่คำว่า “ศร” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ -
“ศร : (คำนาม) อาวุธชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยคันสำหรับยิง เรียกว่า คันศร กับลูกที่มีปลายแหลม เรียกว่า ลูกศร, เรียกสายคันศรว่า สายศร, เรียกอาการที่ยิงลูกศรออกไปว่า แผลงศร หรือ ยิงศร; (โบ) ปืน. (ส.).”
สรุปความ :
ดูตามคำจำกัดความต่างๆ ได้ความว่า -
“ธนุ” หรือ “ธนู” หมายถึง คันธนูหรือตัวธนู ไม่รวมลูกธนู
“สร” หรือ “ศร” หมายถึง ลูกธนู คือลูกศร ไม่รวมคันธนู
โปรดสังเกตคำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ -
“ธนุ” แปลว่า a bow (คันเกาทัณฑ์, คันศร, คันธนู)
“สร” แปลว่า an arrow (ลูกศร, ลูกธนู, เกาทัณฑ์)
แต่ในภาษาไทย เรามักใช้แทนกันหรือสลับกัน คือบางทีเรียกคันธนูว่า “ศร” เรียกลูกศรว่า “ธนู” หรือพูดควบกันเป็น “ธนูศร”
รู้ความหมายเดิมในบาลี จะช่วยให้ใช้คำได้ถูกต้องไม่สับสน
..............
ดูก่อนภราดา!
: ความเพี้ยน
: เกิดจากการไม่เรียนของเดิม
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ