แสดงวิโมกขสังคหะ

วจนัตถะวิโมกข์ ๓


วิโมกข์ ตามวจนัตถะ วิเคราะห์ศัพท์ว่า :- 

      ปฏิปกฺขโต วิโมกฺขตีติ วิโมกฺโข ฯ สภาวะใดข้ามพ้นจากกิเลสโดยความเป็นปฏิปักษ์ ฉะนั้น สภาวะนั้นจึงชื่อว่า วิโมกข์ ได้แก่วิโมกข์ ๓ คือ :-

      ๑. สุญญตวิโมกข์ เป็นอริยมรรคที่ได้รับโดยการกำหนดเห็นชัดเจนในอนัตตา

      ๒. อนิมิตตวิโมกข์ เป็นอริยมรรคที่ได้รับโดยการกำหนดเห็นชัดเจนในอนิจจัง

      ๓. อัปปณิหิตวิโมกข์ เป็นอริยมรรที่ได้รับโดยการกำหนดเห็นชัดเจนในทุกขัง

      สรุปว่า วิโมกข์เป็นชื่อของอริยมรรคทั้ง ๔ อย่างเรียกชื่อตามพระไตรลักษณ์ หมายความว่า สำหรับผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญวิปัสสนาภาวนาที่มี ปัญญินทรีย์ แก่กล้ามีปัญญาเป็นปุพพาธิการอันตนเคยสร้างสมมาแต่ชาติก่อนเป็นกำลังแรงส่งให้ ในขณะที่ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาอยู่นั้น ท่านย่อมจะเห็นชัดเจนในอนัตตลักษณะมากที่สุด เห็นอนัตตลักษณะแจ่มใสชัดเจนกว่าพระไตรลักษณ์อื่นๆ เพราะอนัตตลักษณะมีกำลังมากกว่า ฉะนั้น เมื่อวุฎฐานคามินีวิปัสสนา กำลังเป็นไป รูปนามแสดงความเป็นอนัตตาให้ปรากฎอย่างชัดเจน เมื่อเห็นอนัตตาอย่างชัดเจนแล้ว วุฏฐานคามินีวิปัสสนาก็จะเข้าสู่มรรคในทันใด ลักษณะอย่างนี้ชื่อว่า สุญญตวิโมกข์ คือหลุดพ้นด้วยอนัตตา หรือ เข้าสู่มรรคด้วยอนัตตลักษณะ

      ส่วนผู้บำเพ็ญเพียร เจริญวิปัสสนาภาวนาที่มี สัทธินทรีย์ แก่กล้า มีศรัทธาเป็นปุพพาธิการสูงคือ ได้สร้างสมมาแต่ชาติก่อนเป็นกำลังส่ง ขณะที่ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาอยู่นั้น ท่านย่อมจะเห็นแจ้งชัดในอนิจจลักษณะมากที่สุด เหตุใดจึงเห็นแจ้งชัดแต่อนิจจลักษณะเท่านั้น พระไตรลักษณ์อื่นๆ ไม่เห็นหรือ ตอบว่าเห็นทุกข้อแต่ว่าพระไตรลักษณ์ข้ออื่นๆ ไม่ชัดเท่าอนิจจลักษณะ เพราะอนิจจลักษณะมีกำลังแรงกล้า ฉะนั้น เมื่อ วุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือ ตัววิปัสสนาที่จะเข้าไปสู่มรรคกำลังเป็นไปนั้น ย่อมจะทำให้เห็นรูปนามแสดงความไม่เที่ยงแล้วก็เข้าสู่มรรคลักษณะอย่างนี้ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข์ คือ หลุดพ้นด้วยอนิจจัง หรือเข้าสู่มรรคด้วยอนิจจลักษณะ

      สำหรับผู้บำเพ็ญความเพียร เจริญวิปัสสนาภาวนาที่มี สมาธินทรีย์ แก่กล้า มีสมาธิเป็นปุพพาธิการ อันตนเคยสั่งสมมาแล้วแต่ชาติก่อนเป็นกำลังแรงส่งให้ ในขณะที่ปฏิบัติวิปีสสนาอยู่นั้น ย่อมจะเห็นอย่างแจ้งชัดในทุกขลักษณะมากที่สุด เห็นทุกขลักษณะมากกว่าพระไตรลักษณ์อื่นๆ เพราะทุกขลักษณะมีกำลังแรงกล้า ฉะนั้นเมื่อ วุฏฐานดามินีวิปัสสนา กำลังดำเนินไปอยู่นั้น ย่อมจะเห็นรูปนามแสดงความทุกข์ ให้ปรากฎชัดเจนแล้วก็เข้าสู่มรรค ลักษณะอย่างนี้ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ คือ หลุดพันด้วยทุกขัง หรือเข้าสู่มรรคด้วยทุกขลักษณะ

จบ วิโมกขสังคหะ


แสดงวิโมกขมุขสังคหะ

วจนัตถะและคำอธิบาย


      "วิโมกขมุข" แยกเป็น ๒ บทคือ วิโมกข + มุข "วิโมกข" แปลว่า การข้ามพ้นจากกิเลส "มุข" แปลว่า เป็นประตูหรือเป็นปาก 

อนุปัสสนา ๓ ชื่อว่า วิโมกขมุข เพราะเป็นประตูเข้าสู่อริยมรรค คือ :

      ๑. สุญญตานุปัสสนา

      ๒. อนิมิตตานุปัสสนา

      ๓. อัปปณิหิตานุปัสสนา

      สุญญตานุปัสสนา หมายความว่าขณะที่ วุฏฐานคามินีวิปัสสนา กำลังดำเนินไปนั้น รูปนามมีอาการสุขุมละเอียดเป็นอย่างยิ่งแล้วก็ค่อยๆ น้อยลงๆ เหมือน เส้นด้ายที่เล็กที่สุดแล้วขาดหายไปดับไป ลักษณะอาการอย่างนี้ชื่อว่า สุญญตวิโมกขมุข คือหลุดพ้นด้วยอนัตตาหรือเข้าสู่มรรคด้วยอนัตตา

      อนิมิตตานุปัสสนา หมายความว่าขณะที่ วุกฐานคามินีวิปัสสนา กำลังดำเนินไปนั้น รูปนามมีอาการสุขุมละเอียดอย่างยิ่งแล้วค่อยๆ น้อยลงๆ ในที่สุดก็ดับไปเลย ลักษณะอาการอย่างนี้ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกขมุข คือ หลุดพ้นด้วยอนิจจัง หรือเข้าสู่มรรคด้วยอนิจจัง

      อัปปณิหิตานุปัสสนา หมายความว่าขณะที่ วุฎฐานคามินีวิปัสสนา กำลังดำเนินไปนั้น รูปนามมีอาการสุขุมละเอียดอย่างยิ่งแล้วลคลงน้อยลงในที่สุดก็ดับไปลักษณะอาการอย่างนี้ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกขมุข คือหลุดพ้นด้วยทุกขังหรือเข้าสู่มรรคด้วยทุกข์


จบ วิโมกขมุขสังคหะ

-----------///------------


[right-side]

ปริจเฉทที่๙,วิปัสสนากรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,วิโมกขสังคหะ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.