อุปมาสังขารุเปกขาญาณ ๖ ข้อ  (๖)

๑. อุปมาด้วยค้างคาว

      ยังมีค้างคาวตัวหนึ่งจับแอบอยู่ที่ต้นมะซางที่มีกิ่ง ๕ กิ่ง โดยตั้งใจว่าจะได้ดอก ผลในต้นไม้นั้น ครั้นไปจับที่กิ่งที่ ๑ - ๒ - ๓ - ๔ - ๕ ก็ไม่มีอะไร ไม่พบอะไรอีกเช่นกัน จึงได้ทอดอาลัยในต้นไม้นั้นว่า ต้นไม้นี้ไม่มีดอกไม่มีผลอะไรที่ควรถือเอาได้เลย แล้วบินขึ้นไปเกาะที่กิ่งตรงยอดโผล่ศีรษะตรงระหว่างคาคบ แหงนดูข้างบนแล้วบินไปในอากาศ ไปแอบอยู่ที่ต้นมีผลอื่นๆ พึงเปรียบเทียบกับการปฏิบัติดังนี้

      ๑. ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา เปรียบเหมือนค้างคาว

      ๒. อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เหมือนต้นมะซางมี ๕ กิ่ง

      ๓. การยึดมั่นขันธ์ ๕ เหมือนกับการไปแอบจับอยู่ที่กิ่งทั้ง ๕ ของค้างคาว

      ๔. ผู้ปฏิบัติพิจารณาขันธ์ที่ ๑ ไม่เห็นมีอะไรที่ควรยึคมั่นจึงพิจารณาขันธ์ที่ ๒ - ๓ - ๕ - ๕ ก็ไม่พบอะไรอีก เปรียบเหมือนค้างคาวนั้นไปจับกิ่งที่ ๑ ไม่เห็นมีอะไรจึงบินไปจับกิ่งที่ ๒ - ๓ - ๔ - ๕ ก็ไม่เห็นมีอะไรอีก ฉะนั้น

      ๕. การที่ผู้ปฏิบัติเบื่อหน่าย เพราะเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วเกิดญาณทั้ง ๓ คือ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ และสังขารุเปกขาญาณ เปรียบเหมือนค้างคาวนั้นสละความอาลัยทอดอาลัยในต้นไม้นั้นว่า ต้นไม้นี้ไม่มีดอกผลอะไรเลย

      ๖. อนุโลมญาณของผู้ปฏิบัติ เปรียบเหมือนการบินขึ้นข้างบนเกาะที่กึ่งตรงยอดของค้างคาว

      ๗. โคตรภูญาณ เปรียบเหมือนการชะโงกศีรษะแลดูเบื้องบนของค้างคาว

      ๘. มรรคญาณ เปรียบเหมือนการบินไปในอากาศของค้างคาว

      ๙. ผลญาณ เปรียบเหมือนการบินไปจับอยู่ที่ต้นไม้มีผลต้นอื่นของค้างคาว

      ๑๐. ปัจจเวกขณญาณ เปรียบเหมือนการแลดูทางมาของค้างคาว


๒. อุปมาด้วยงูเห่า (กณฺหสปฺโป)

      มีบุรุษคนหนึ่งอยากจะได้ปลามาเป็นอาหาร จึงเอาสุ่ม ๆ ลงไปในน้ำแล้วงมตามไป เผอิญไปถูกงูเห่าเข้าจึงจับที่คองูภายในน้ำไว้ได้ นึกกระหยิ่มอยู่ในใจว่า เราจับปลาใหญ่ได้ ครั้นยกขึ้นมาดูจริงๆ จึงรู้ว่าเป็นงูเห่าเพราะเห็นดอกจัน เขาหวาดกลัวมากเห็นโทษในการจับ เพราะเกรงจะถูกงูกัดตายต้องการปล่อยให้พ้นไปจากตัวโดยเร็ว จึงหาอุบายปล่อย คือจับหางงูคลายขนดจากแขนตนแล้วยกงูขึ้นแกว่งไปวนมาอยู่ ๒ - ๓ ครั้ง ทำให้งูอิดโรยอ่อนกำลังก่อนแล้วจึงโยนไป ตัวเองก็รีบขึ้นมาสู่ขอบบึง ยืนดูทางมาโดยหมายใจว่า เราพ้นจากปากงูเห่าแล้ว

อุปมานี้ มีการเปรียบเทียบกับญาณดังนี้คือ

      ๑. เวลาผู้ปฏิบัติได้อัตภาพมาเป็นคนตั้งแต่ต้น รู้สึกว่ามีความยินดี เปรียบเหมือนกับตอนที่บุรุษนั้นจับงูเห่าได้เข้าใจว่าเป็นปลาแล้วดีใจมาก

      ๒. เวลาที่ผู้ปฏิบัติแยกรูปนามได้เห็นเหตุปัจจัยของรูปนาม เห็นอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ เห็นความเกิดดับของรูปนาม เห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม รูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว ตอนนี้จัดเป็น นามรูปปริจเฉทญาณปัจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ เปรียบเหมือนกับบุรุษนั้นดึงงูออกมาจากสุ่ม แลเห็นรู้ว่าเป็นงูแล้วกลัว

      ๓. เวลาที่ผู้ปฏิบัติตามพิจารณาเห็นโทษของรูปนาม ได้แก่ อาทีนวญาณเปรียบเหมือนบุรุษคนนั้นตามเห็นโทษของงูว่าถ้าถูกงูตัวนั้นกัดก็จะต้องมีอันตรายแก่ชีวิต

      ๔. เวลาผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นรูปนามเป็นทุกข์โทษแล้วเบื่อหน่ายได้แก่นิพพิทาญาณ เปรียบเหมือนกับบุรุษนั้นเห็นทุกข์โทษ อันจะเกิดขึ้นเพราะถูกงูกัคแล้วเบื่อหน่าย ไม่อยากให้งูอยู่ในมือของตนอีก

      ๕. เวลาผู้ปฏิบัติอยากพ้นไปจากรูปนามและสังสารวัฏ ได้แก่ มุญจิตุกัมยตาญาณ เปรียบเหมือนกับบุรุษนั้น อยากจะปล่อยงูให้หลุดพ้นไปจากตัว

      ๖. เวลาผู้ปฏิบัติยกรูปนามขึ้นสู่พระไตรลักษณ์โดยอุบาย ๔๐ อย่างได้แก่ ปฏิสังขาญาณ เปรียบเหมือนบุรุษนั้นทำอุบายเพื่อปล่อยงู

      ๗. เวลาผู้ปฏิบัติพิจารณารูปนามยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์บ่อยๆ วนไปเวียนมาอยู่กับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้กิเลสอ่อนกำลังลงจนถอนอนิจจสัญญาความสำคัญผิดคิดว่า เที่ยง สุขสัญญา ความสำคัญผิดคิดว่าเป็นสุข สุภสัญญา ความสำคัญผิดคิดว่าเป็นของสวยงาม อัตตสัญญา ความสำคัญผิดคิดว่าเป็นตัวตนเสียได้ มีใจวางเฉยอยู่กับรูปนาม ได้แก่ สังขารุเปกขาญาณ เปรียบเหมือนกับบุรุษนั้น จับงูแกว่งทำให้หมดกำลังลง จนไม่สามารถจะเอี้ยวมากัดเขาได้ ใจก็วางเฉยอยู่

      ๘. เวลาผู้ปฏิบัติเห็นพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดเจนแจ่มแจ้ง เห็นอริยสัจ ๔ ได้แก่ อนุโลมญาณ เปรียบเหมือนกับบุรุษนั้นกำลังจะปล่อยงูและแน่ใจมั่นใจว่า ตนต้องพ้นอันตรายโดยอุบายอย่างนี้

      ๙. โคตรภูญาณ เปรียบเหมือนการปล่อยงูให้พ้นจากมือของบุรุษนั้นแล้วรีบไปยืนอยู่ขอบบึง

      ๑๐. มรรดญาณ เปรียบเหมือนการยืนอยู่บนขอบบึงของบุรุษนั้น

      ๑๑. ผลญาณ เปรียบเหมือนการไปยืนอยู่ในที่ไม่มีภัย ยืนอยู่ในที่ปลอดภัย

ยืนอยู่ในที่ไม่มีอันตรายแล้ว

      ๑๒. ปัจจเวกขณญาณ เปรียบเหมือนการแลดูทางมาของบุรุษ ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาทุกๆ ท่านทั้งที่ล่วงมาแล้ว กำลังเป็นไปอยู่ และจะมีมาในอนาคต ก็ต้องผ่านลักษณะการของวิปัสสนาญาณต่างๆ ไปเหมือนกัน

๓. อุปมาด้วยเรือนไฟไหม้

      เมื่อเจ้าของเรือนรับประทานอาหารอิ่มหนำสำราญแล้ว ก็พากันขึ้นสู่ที่นอนแล้วนอนหลับไปอย่างสบาย แต่เรือนถูกไฟไหม้ พอตื่นขึ้นมาเห็นไฟแล้วหวาดกลัวคิดหาทางออกว่า ถ้าออกไปไม่ให้ถูกไฟไหม้เป็นความดีของเราจึงพิจารณาตรวจตราดูเมื่อเห็นหนทางแล้วก็ออกไปยืนอยู่ในที่เกษมโดยเร็วพลัน ข้อนี้มีอุปมาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติธรรม คือ

      ๑. การยึดถือขันธ์ ๕ ว่าของเราของบุคคลผู้โง่เขลาเบาปัญญาเปรียบเหมือนการรับประทานอาหารแล้วขึ้นสู่ที่นอนแล้วนอนหลับไป

      ๒. การเจริญวิปัสสนา จนเห็นพระไตรลักษณ์ เห็นรูปนามปรากฎเป็นของน่ากลัว มีโทษเบื่อหน่าย ได้แก่ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ เปรียบเหมือนเจ้าของเรือนตื่นขึ้นเห็นไฟแล้วกลัว

      ๓. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ เปรียบเหมือนการอยากพ้นจากไฟแล้วรีบหาทางออกไปจนเห็นลู่ทางวางใจได้ ว่าจะต้องปลอดภัยโดยอุบายนี้แน่ จึงเบาใจไม่ร้อนใจเหมือนก่อน

      ๔. อนุโลมญาณ เปรียบเหมือนการแลเห็นทางและแน่ใจแล้วว่า ทางนี้ปลอดภัยแน่นอน

      ๕. โคตรภูญาณ เปรียบเหมือนการออกจากเรือน

      ๖. มรรคญาณ เปรียบเหมือนการวิ่งไปโดยเร็ว

      ๗. ผลญาณ เปรียบเหมือนการยืนอยู่ในที่ปลอดภัย

      ๘. ปัจจเวกขณญาณ เปรียบเหมือนการแลดูทางมาของตน ฉะนั้น

๔. อุปมาด้วยโค

      โคของชาวนาคนหนึ่ง เมื่อเจ้าของนอนหลับไปในเวลากลางคืนทำลายดอกหนีไป พอตอนใกล้สว่างเจ้าของโคไปที่คอกและดูไม่เห็นรู้ว่าโคหนีไป ออกติดตามรอยเท้าโค ไปพบโคของหลวง เข้าใจว่าเป็นโคของตัวจึงจับจูงมา พอเวลาสว่างจำได้ว่าโคนี้มิใช่ของตัวเป็น โคของหลวงรู้สึกว่า คิดว่าถ้าพวกราชบุรุษยังไม่ได้จับเราว่าเป็นโจร ยังไม่ให้เราถึงความฉิบหายเพียงใด เราจักหนีไปเพียงนั้น จึงทิ้งโคแล้วหนีไปโดยเร็ว หยุดอยู่ในที่ฟันภัย ในข้อนั้นมีอุปมาเปรียบกับข้อปฏิบัติ ดังนี้

      ๑. การยึดมั่นขันธ์ ๕ ว่า เรา ของเรา ของปุถุชน เปรียบเหมือนกับการจับโคของหลวงโดยเข้าใจผิดคิดว่าโคของตน

      ๒. การรู้ขันธ์ ๕ ว่า มีแต่มีรูปนามเกิดมาเพราะเหตุปัจจัย เป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีแต่ความเกิดดับและมีแต่ความดับไปฝ่ายเดียว ได้แก่นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ซึ่งเปรียบเหมือนกับการจำได้ว่า เป็นโคของหลวง

      ๓. ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ เปรียบเหมือนเวลากลัวเห็นโทษ และเกิดความเบื่อของชายคนนั้น

      ๔. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ เปรียบเหมือนความอยากหนีของชายนั้นหาทางหนีแล้วเดินจากไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

      ๕. อนุโลมญาณ เปรียบเหมือนการเตรียมเดินตรงไปตามทางของชายนั้น เพราะรู้แน่แล้วว่าต้องไปทางนี้

      ๖. โคตรภูญาณ เปรียบเหมือนการสละโค

      ๗. มรรคญาณ เปรียบเหมือนการหนีไป

      ๘. ผลญาณ เปรียบเหมือนการหนีไปยืนอยู่ในที่ปลอดภัย

      ๙. ปัจจเวกขณญาณ เปรียบเหมือนการดูทางมาของตน

๕. อุปมาด้วยยักษิณี

      บุรุษคนหนึ่งได้อยู่ร่วมกันกับนางขักษิณี นางยักษิณีนั้นครั้นเวลากลางคืนพอรู้ว่าผัวหลับแล้วก็ไปสู่ป่าช้าผีดิบกินเนื้อมนุษย์อยู่ ชายผู้เป็นผัวตื่นขึ้นคิดว่านางนี้ไปไหน จึงออกติดตามไป พบนางกำลังกินเนื้อมนุษย์อยู่รู้ว่าเป็นอมนุษย์จึงกลัว แล้วรีบหนีไปโดยเร็ว หยุดยืนในที่เกษมปลอดภัย ในข้อนั้น มีการเปรียบเทียบกับญาณในการปฏิบัติ ดังนี้

      ๑. การยึดมั่นขันธ์ ๕ ว่า เรา ของเรา เปรียบเหมือนบุรุษนั้นได้อยู่ร่วมกันกับนางยักษิณี

      ๒. การเห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ รู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นของไม่เที่ยงได้แก่นามรูปนามปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ เปรียบเหมือนการเห็นนางยักษิณีเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์อยู่ในป่าช้า จึงรู้ว่านี้เป็นนางยักษิณี

      ๓. ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ เปรียบเหมือนเวลากลัวนางยักษิณี เห็นโทษและเบื่อนางยักษิณี

      ๔. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ เปรียบเหมือนเวลาต้องการหนีหาทางหนีแล้วทำใจเฉยอยู่

      ๕. อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ เปรียบเหมือนการละนางยักษิณี

      ๖. มรรคญาณ เปรียบเหมือนการหนีไปโดยเร็ว

      ๗. ผลญาณ เปรียบเหมือนการหยุดยืนในที่พ้นภัย

      ๘. ปัจจเวกขณญาณ เปรียบเหมือนการยืนแลดูทางมาของตน

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,อภิธัมมัตถสังคหะ,วิปัสสนากรรมฐาน,สังขารุเปกขาญาณ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.