สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


ในยุคสมัยปัจจุบัน ค่านิยมและทัศนคติในการศึกษาพระสัทธรรม ต่างจากยุคพุทธกาลอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีการใส่ใจลักษณะของแต่ละคำภีร์ แต่ละนิกาย แต่ละวรรค รวมทั้งจำนวนภาณวาร เพื่อผูกโยงความเข้าใจและความทรงจำให้เนื่องกัน มิให้พระสัทธรรมขาดหายหรือตกหล่นไป ตัวอย่าง เช่น ระหว่างคัมภีร์อุทานกับคัมภีร์อิติวุตตกะ ซึ่งต่างก็เป็นโสมนัสญาณเหมือนกันจึงจัดอยู่ในหมวดขุททกนิกาย(หมวดเบ็ตเตล็ตที่มีลักษณะร่วมกัน)เช่นกัน จะมีความเหมือนกัน และความต่างกันเป็นไฉนถึงได้แยกเป็นแต่ละคัมภึร์ ?

   อาศัยการแบ่งคำสอน(พุทธพจน์)เป็นองค์ 9 (นวังคสัตถุสาสน์) ซึ่งมีลักษณะต่างกันเป็นแต่ละคัมภีร์

   ด้วยว่าคัมภีร์อุทาน(คัมภีร์ที่พระพุทธองค์ทรงเปร่งอุทานเป็นแต่ละประเด็น) มีเนื้อหาสลดใจที่ทรงเห็นเวไนยสัตว์ยังต้องตกอยู่ในวัฎฎทุกข์อยู่ ตามอัตตวิสัย(วิสัยของพระองค์เอง)ซึ่งเป็นปกติวิสัยที่เปี่ยมล้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่จะโปรดเวไนยสัตว์ ดุจสระใหญ่ที่มีน้ำเอ่อล้นสระ จึงมีการเปิดประเด็น(ปกาสนา)ด้วยความว่า วุตฺตํ เหตํ ภควา. แปลว่า ความจริงพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเอาไว้แล้ว และมีการสรุปประเด็นเป็นแต่ละอุทาหรณ์ ด้วยความว่า เอตมตฺถํ ภควา อโวจ ตตฺเถตํ อิติ วุจฺจติ. แปลว่า ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อหานี้เอาไว้แล้ว.

และเพื่อให้กรณี(เรื่อง)แต่ละประเด็นชัดเจนจึงจำต้องปรารภพาดพิง สถานที่ เวลา บุคคล และเหตุการณ์ครั้งนั้นๆกำกับประกอบด้วยเสมอ เพื่อให้สะดวกในการศึกษา โครงสร้างคัมภีร์อุทานจึงจัดวรรค(กลุ่ม) มี 8 วรรค 80 สูตร 95 คาถา 34 ภาณวาร

   ด้วยว่า คัมภีร์อิติวุตตกะ(คัมภีร์เนื้อหาที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดังนี้) มีเนื้อหาปลงใจว่าต้องเป็นเช่นนี้แน่นอน ตามสัพพัญญูวิสัยที่รอบรู้สัพพสิ่ง จึงทรงตรัสเป็นหลักการ(สังกาสนา) เพื่อเวไนยสัตว์ที่ประสงค์จะหลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์ จักนำไปปฏิบัติได้สะดวก คือ เมื่อเข้าใจหลักการดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปรารภพาดพิง สถานที่ เวลา บุคคล และเหตุการณ์ประกอบ โครงสร้างคัมภีร์อิติวุตตกะ จึงจัดเป็นนิบาต(ชุด) มี 4 นิบาต 112 สูตร คาถามีกำกับทุกสูตร 38 ภาณวาร (เกณฑ์การจำแนกพระสูตร จากขุททกนิกายไปสู่พระสูตรในสังกัดนวังคสัตถุสาสน์ จากคัมภีร์นิสสยะอักษรปัลลวะ)


[right-side]

พระสัทธรรม,ทัศนคติ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.