สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
มานะ 7
ในปกรณ์วิภังค์ ทรงตรัสมานะไว้ 7 อาการ คือ
มานะ 1 อติมานะ 1 มานาติมานะ 1 โอมานะ 1 อธิมานะ 1 อัสมิมานะ 1 มิจฉามานะ 1
ในบรรดามานะ 7 อาการนั้น มีสภาพเป็นดังนี้ :-
1. มานะ ก็คือการถือตัว โดยอาการลำพองที่เกี่ยวกับชาติตระกูลเท่านั้น ไม่มีการเปรียบเทียบกับบุคคลอื่น จึงสักแต่ลำพองว่า "เราเป็นพระราชานะ" "เราเป็นผู้คงแก่เรียนนะ" เป็นต้นเท่านั้น
2. อติมานะ คือการถือตัวโดยอาการหยิ่งยโส ที่ทับถมผู้อื่นด้วยชาติตระกูลเป็นต้น เช่น "เราเป็นพระราชา เราประเสริฐกว่า ผู้นี้เป็นเพียงไพร่กฎุมพี ในแผ่นดินนี้คนผู้เป็นเช่นเราหามีไม่" เป็นต้น แม้นในบุคคลที่เหลือก็มีนัยเช่นเดียวกัน
3. มานาติมานะ ก็คือการถือตัว โดยอาการโอหัง ที่แข่งดีเพื่อเทียบโอ้อวดความโดดเด่นกับคนอื่นเป็นต้น เช่น "คนผู้นี้ เมื่อก่อนก็เสมอเหมือนเรา แต่มาบัดนี้เราดีกว่า เขาเลวกว่า" เป็นต้น
4. โอมานะ คือการถือตัวโดยอาการทรนง ที่ไม่ยอมอ่อนข้้อให้กับคนอื่น เช่น "ถึงเราจะยากจน แต่เราก็ไม่ย่อมขอมันกินเด็ดขาด" เป็นต้น
5. อธิมานะ คือการถือตัว โดยอาการหยิ่งผยอง ที่เกิดจากความหลงผิดไปว่า ตนเป็นผู้บรรลุสัจจธรรม ดังนั้นจึงเกิดได้เฉพาะกับปุถุชนผู้มีศีลบริสุทธื์ ไม่ประมาทในกรรมฐาน ปรารภวิปัสสนา ได้นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ และสัมมสนญาณแล้ว ขณะบรรลุอุทยัพพยญาณใหม่ๆ ซี่งญาณนี้ยังอ่อนกำลังอยู่ ก็ถูกวิปัสสนูปกิเลสทั้งหลายมีแสงสว่างเป็นต้นครอบงำทำให้หลงผิดไปว่า "เราเป็นผู้บรรลุสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคลแล้ว ส่วนผู้นี้ยังเป็นปุถุชนอยู่"
6. อัสมิมานะ ก็คือการถือตัว โดยอาการจองหอง ที่สำคัญตนว่า "เรามีอยู่ในขันธ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น" เหตุที่อัสมิมานะ มี สภาพคล้ายคลึงกับ กับสักกายทิฏฐิ ก็ เพราะมีอาหารอันเป็นมูล เหตุให้เกิดขึ้น คือ ฆนสัญญา (ความเป็นกลุ่มก้อน) เหมือนกัน มีกิจทำให้สัตว์ยึดติดว่าเป็นตัวตนเหมือนกัน มีผลทำให้สัตว์เนิ่นช้า (เป็นปปัญจธรรม) ในวัฏฏทุกข์เหมือนกัน ต่างกันแต่เพียงว่าเป็นความเห็นผิด กับ ความถือตัว
7. มิจฉามานะ ก็คือการถือตัว โดยอาการบ้าบิ่น ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุ ที่มีการงานอันเป็นบาปเป็นต้น เป็นความจริงว่า พวกคนพาล เมื่อทำบาปได้มาก หรือทำบาปที่คนทั้งหลายไม่กล้าทำ หรือไม่สามารถทำได้ ก็ย่อมคึกคะนองตัวเองว่า "เราเก่งกว่า เราแน่กว่า เราเหนือกว่า" เป็นต้น
มานะเมื่อว่าด้วยอาการที่เป็นไป จึงมี 7 อาการด้วยประการดังกล่าวแล
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ