"วิชชาและวิมุตติมีอาหาร" ในอังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต (ตัดตอนจากอวิชชาสูตร)

(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ ภาษาบาลี อักษรไทย  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ สุตฺต. องฺ.)

--------------------

   {๖๑.๓}   ภิกษุทั้งหลาย แม้วิชชาและวิมุตติ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรตอบว่า ‘โพชฌงค์ ๗’

             แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรตอบว่า ‘สติปัฏฐาน ๔’

             แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรตอบว่า ‘สุจริต ๓’

             แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรตอบว่า ‘ความสำรวมอินทรีย์’

             แม้ความสำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหารของความสำรวมอินทรีย์ ควรตอบว่า ‘สติสัมปชัญญะ’

             แม้สติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรตอบว่า ‘การมนสิการโดยแยบคาย’

             แม้การมนสิการโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหารของการมนสิการโดยแยบคาย ควรตอบว่า ‘ศรัทธา’

             แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหารของศรัทธา ควรตอบว่า ‘การฟังสัทธรรม’

             แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรตอบว่า ‘การคบสัตบุรุษ’

    {๖๑.๔} การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การฟังสัทธรรมบริบูรณ์

             การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ศรัทธาบริบูรณ์

             ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การมนสิการโดยแยบคายบริบูรณ์

             การมนสิการโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์

             สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ความสำรวมอินทรีย์บริบูรณ์

             ความสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้สุจริต ๓ บริบูรณ์

             สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์

             สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์

             โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์

             วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ

     {๖๑.๕} ภิกษุทั้งหลาย การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การฟังสัทธรรมบริบูรณ์ ฯลฯ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงบนยอดเขา เมื่อฝนตกลงหนักๆ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่มทำให้ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มเปี่ยม ซอกเขา ลำธารและห้วยเต็มเปี่ยมแล้วทำให้หนองเต็ม หนองเต็มแล้วทำให้บึงเต็ม บึงเต็มแล้วทำให้แม่น้ำน้อยเต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้วทำให้แม่น้ำใหญ่เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้วทำให้มหาสมุทรสาครเต็ม มหาสมุทรสาครนี้มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยม อย่างนี้

---------------จบ อวิชชาสูตร-------------

อธิบายความเพิ่ม-

ในอวิชชาสูตร (ตัดตอนกล่าวเฉพาะในส่วนที่เป็นวิชชา) นี้ 


      คำว่า "การคบสัตบุรุษ ก็ดี, การได้ฟังพระสัทธรรมของสัตบุรุษ ก็ดี" สืบเนื่องมาแต่การได้อยู่ในประเทศอันสมควร (ปฏิรูปเทสวาสะ) ทั้งหมดเป็นปัจจัยสืบ ๆ กันมา จนถึง "การมีศรัทธา" การมีศรัทธานั่นแล คือ "อัตตสัมมาปณิธิ" (การตั้งตนไว้ชอบ)  

 - การมีศรัทธาในพระรัตนตรัย เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิสัทธา) เป็นปัจจัยแก่ กัมมสัทธา (เชื่อในกรรม),วิปากสัทธา (เชื่อในผลของกรรม), กัมมัสกตาสัทธา (เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของๆ ตน)... นั่นคือความเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล ... ผู้นั้นนับว่า "เป็นผู้ตั้งตนไว้ชอบ"  

      และการที่บุคคล จะได้อยู่ในปฏิรูปเทส, ได้คบสัตบุรุษ, ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ และได้ตั้งตนไว้ชอบ ...จะต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนแต่อดีต คือกุศลที่ดับไปแล้วก่อน ๆ ซึ่งท่านเรียกว่า "ปุพเพกตปุญญตา" และธรรมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นธรรมที่เกื้อหนุนหรือเป็นปัจจัย โดยถูกเรียกว่า "โยนิโส" (ถูกทาง,ถูกต้อง,โดยชอบ  คือธรรมที่เป็นดุจช่องทางก่อกำเนิดชาติของธรรมที่เกิดต่อมา คือกุศลชาติ ได้แก่กุศลชวนะ) 

      "โยนิโส" นี้ กระตุ้นเตือน โดยความเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้แก่มโนทวาราวัชชนจิต, มโนทวาราวัชชนจิตนั้น ชื่อว่าเป็น "มนสิการ" (ชวนปฏิปาทกมนสิการ คือมนสิการที่เป็นบาทหรือตระเตรียมให้ชวนะเกิดขึ้น) เปิดทางให้ธรรมที่เกิดต่อมา มีชาติเป็นกุศล (กุศลชวนะ และกริยาชาติของพระอรหันต์) เกิดขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นชวนะ...ฯ 

      "โวฏฐัพพนะ ซึ่งก็คือมโนทวาราวัชชนะจิตนั้นแล" (ในปัญจทวารวิถี) ทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์เพื่อให้ชวนะเกิดขึ้น ชวนะจะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็ตรงมโนทวาราวัชชนะซึ่งทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์นี่เอง (มโนทวาราวัชชนจิต จึงเป็นปัจจัยแก่กุศชวนะหรืออกุศลชวนะ แต่ก็ต้องได้รับเหตุปัจจัยจากธรรมที่เรียกว่า "โยนิโส"), มโนทวาราวัชชนจิตนี้ เป็นมนสิการดังได้กล่าวแล้ว ถ้าได้รับแรงกระตุ้นเตือนจากฝ่ายดี (โยนิโส) ก็ตัดสินอารมณ์ที่ดี ทำให้กุศลชวนะเกิดติดต่อกันไป, แต่ถ้าไม่ได้รับแรงกระตุ้นจากฝ่ายดีหรือได้รับแรงกระตุ้นจากฝ่ายที่ไม่ดี (อโยนิโส) เช่น ไม่มีตถาคตโพธิสัทธา...อัตตมิจฉาปณิธิ (ตั้งตนไว้ผิด,เป็นมิจฉาทิฏฐิ) เป็นต้น ก็จะกลายเป็น "อโยนิโส" กระตุ้นหรือเป็นปัจจัยให้มโนทวาราวัชชนะตัดสินอารมณ์ผิด ทำให้อกุศลชวนะเกิดต่อจากมโนทวาราวัชชะนั้นทันที... 

( ภ ตี น ท ป จัก สํ ณ วุ ช ช ช ช ช ช ช ต ต ภ | ภ ตี น ท ช ช ช ช ช ช ช ต ต ภ )

    อนึ่ง เมื่อกุศลชวนะเกิด (มโนทวารวิถี) องค์ของโพชฌงค์ ก็ประกอบอยู่ในกุศลชวนะนั้น (แล้วแต่จะเป็นกุศลระดับใด คือมีทั้งกามาวจรกุศล,รูปาวจรกุศล,อรูปาวจรกุศล,มรรคกุศล) และต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันและเกิดพร้อมกัน (ปัจจัยกลุ่มสหชาตชาติ)... และเมื่อกุศลชวนะนั้นดับไป...ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลชวนะในกาลภายหลัง (กุศลที่เกิดก่อน ซึ่งเป็นปุพเพกตปุญญตา จะเป็นปัจจัยแก่กุศลที่เกิดหลัง ๆ โดยอาศัยปโยคะในปัจจุบัน คือการได้อยู่ในประเทศอันสมควร,ได้คบสัตบุรุษ,ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ,ได้ตั้งตนไว้ชอบ เป็นองค์ประกอบด้วย) (เว้นอรหัตตมรรคกุศล) 


หมายเหตุ :-

      จะเห็นได้ว่า "...โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ และเป็นเหตุให้ วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์" นั้น เริ่มต้นไปจากกลุ่มธรรมที่ท่านเรียกว่า "โยนิโสมนสิการ" คือ "ปุพเพกตปุญญตา,ปฏิรูปเทสวาสะ,สัปปุริสูปัสสยะ, สัทธัมมัสสวนะ และ อัตตสัมมาปณิธิ" 

------------------------

คำว่า "อาหาร" ในที่นี้ คือเป็นปัจจัยให้ถึง มิใช่เป็นอาหารปัจจัยในมหาปัฏฐาน 

- โพชฌงค์ ๗ เป็น อาหารของวิชชาและวิมุตติ (โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์)  หมายความว่า "โพชฌงค์ ๗" เป็นปัจจัยให้ถึงหรือให้บรรลุวิชชาและวิมุตติ (สัมปาปกเหตุ)  เช่นเดียวกับมรรค ที่เป็นปัจจัยให้ถึงนิโรธ คือนิพพาน 

- องค์ของโพชฌงค์ ๗ คือ สติ, ปัญญา, วิริยะ, ปีติ, ปัสสัทธิ, ตัตตรมัชฌัตตตา, และเอกัคคตา ว่าโดยปริยายที่เป็นปัจจัยให้ถึงวิชชาวิมุตตินั้น เป็น ๔ ระดับคือ 

    ๑) "ที่ประกอบอยู่ในมหากุศลจิต" อันเป็นบุรพภาคของการเจริญวิปัสสนา ทำให้ถึงตทังควิมุตติ คือขณะที่พระโยคาวจรเจริญวิปัสสนาถึงขั้นภังคญาณ อันเป็นขอบข่ายของปหานปริญญา ย่อมมีการปหาณอารัมมณานุสัยเป็นขณะ ๆ ไป ในกาลนั้นชื่อว่า "ตทังควิมุตติ" ขณะนั้นองค์โพชฌงค์ทั้ง ๗ ก็ประกอบอยู่ในมหากุศลจิตนั้นฯ 

    ๒) "ที่ประกอบอยู่ในมหากุศล" อันเป็นเบื้องต้นของการเจริญสถมกรรมฐานภาวนา ซึ่งเป็นขณิกสมาธิ ไปจนถึงอุปจารสมาธิ สามารถข่มนิวรณ์ธรรมได้ระดับหนึ่ง (ตทังควิมุตติ) เพื่อเปิดทางให้อัปปนาสมาธิและโลกียอัปปนาจิตคือ รูปาวจรกุศล-กริยา และอรูปาวจรกุศล-กริยาจิต เกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้พระโยคีบุคคลบรรลุถึงการประหาณกิเลสที่เรียกว่า "วิกขัมภณวิมุตติ" คือการหลุดพ้นด้วยอำนาจการข่มไว้ (วิกขัมภณปหาณ) ด้วยอำนาจของสมาธิ (เอกัคคตาที่เข้าถึงอัปปนา) 

    ๓) "ที่ประกอบอยู่ในมรรคจิต" องค์ของโพชฌงค์ ๗ อยู่ในรูปขององค์ฌานบ้าง องค์มรรคบ้าง ทำการประหาณ ปริยุฏฐานกิเลส และอนุสัยกิเลสโดยความเป็น "สมุจทปหาณ" และการหลุดพ้นด้วยอำนาจของมรรค เป็นการหลุดพ้นแบบ "สมุจเฉทปหาณ" กล่าว คือ 

        - องค์โพชฌงค์ที่ถึงการสงเคราะห์เป็นสมาธิขันธ์ ได้แก่ วิริยะ,สติ,ปีติ,ปัสสัทธิ,ตัตตรมัชฌัตตตา,เอกัคคตา ย่อมปหาณปริยุฏฐานกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาณ

        - องค์โพชฌงค์ที่ถึงการสงเคราะห์เป็นปัญญาขันธ์ ได้แก่ ปัญญา (ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์) ซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิมรรค ย่อมปหาณอนุสัยกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาณ

     ๔) "ที่ประกอบอยู่ในผลจิต" องค์ของโพชฌงค์ ๗ ที่ประกอบอยู่ในผลจิต ย่อมทำให้ถึงวิมุตติที่เรียกว่า "ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ" คือหลุดพ้นด้วยอำนาจของการสงบระงับเรียบร้อยแล้ว 

* ในกรณีนี้ องค์ของโพชฌงค์ทั้ง ๗ อยู่ในรูปของเจตสิก ๗ อย่าง ย่อมประกอบอยู่ใน มหากุศลจิต, รูปาวจรกุศล-กริยา, อรูปาวจรกุศล-กริยา, มรรคจิต, ผลจิต 


- ส่วนการให้ถึงนิพพานนั้น ที่เรียกว่า "นิสสรวิมุตติ" นั้น เป็นภาวะการให้ถึงการหลุดพ้นที่เรียกว่า "เป็นการแล่นออกไปจากขันธ์, จากสังขตธรรม ไปสู่ธรรมอันเป็นวิสังขาร ไม่มีขันธ ๕ และไม่มีปัจจัยปรุงแต่งซึ่งเป็นอสังขตะ" 

  * ในกรณีนี้ องค์ของโพชฌงค์ ๗ ประกอบอยู่ในมรรคจิต ผลจิต รับนิพพานเป็นอารมณ์, มรรคจิต-ผลจิต ยังเป็นสังขตธรรมอยู่ ส่วนนิพพาน เป็นอสังขตธรรม  

    มรรจิต-ผลจิต เป็นมนายตนะ ส่วนนิพพาน เป็นธัมมายตนะ

    มรรจิต-ผลจิต เป็นมโนวิญญาณธาตุ ส่วนนิพพาน เป็นธัมมธาตุ

    มรรจิต-ผลจิต เป็นอารัมมณิกะ ส่วนนิพพาน เป็นอารัมมณะ

    ...ฯลฯ....

----------------

หมายเหตุ :-

(ธรรม ๕ ประการนี้ คือ  ปหาณ ๕, นิโรธ ๕, นิพพาน ๕, วิมุตติ ๕, วิเวก ๕, วิราคะ ๕, โวสสัคคะ ๕  เป็นธรรมที่มีความหมายอย่างเดียวกัน) 


*** กริยาจิต ๒ ดวงคือ 

    - ปัญจทวาราวัชชนจิต (จิตที่พิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวาร) เป็นจิตที่ไม่จัดว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ทั้งไม่ใช่จิตที่เป็นผลของกุศลและอกุศล ไม่ใช่จิตที่ก่่อให้เกิดวิบาก เป็นจิตพิเศษที่ถูกกระตุ้นเตือนจากอารมณ์ในทางปัญจทวาร (เป็นจิตที่ตัดกระแสภวังค์ให้ขาดไป คือทำให้จิตที่ชื่อว่าภวังค์ไม่สามารถรับอารมณ์เก่าของตนได้ กลับมารับรู้อารมณ์ใหม่ทางปัญจทวาร ดวงแรก) ไคร่ครวญพิจารณา ให้จิตที่เกิดติดต่อกันกับตน รับรู้อารมณ์ใหม่ในทางปัญจทวาร... (วิถีทางปัญจทวาร เริ่มต้นนับตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น) ดังนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต จึงมีชื่อว่า "วิถีปฏิปาทกมนสิการ" (จิตที่ใส่ใจในอารมณ์ใหม่แล้วรองรับการเกิดขึ้นของวิถีจิต) 

    - มโนทวาราวัชชนจิต (จิตที่พิจารณาอารมณ์ทางมโนทวาร) เป็นจิตเช่นเดียวกับปัญจทวาราวัชชนจิต เพียงแต่พิจารณาอารมณ์ทางมโนทวาร เป็นจิตที่ตัดกระแสภวังค์แล้วรับอารมณ์ใหม่ (ซึ่งไม่ใช่อารมณ์อย่างที่ภวังคจิตรับอยู่) จากนั้นยังทำหน้าที่คล้าย ๆ กับตัดสินอารมณ์ ทำให้ชวนจิตเกิดขึ้น เรียกว่าเป็นทั้ง "วิถีปฏิปาทก-ชวนปฏิปาทกมนสิการ" ในคราวเดียวกัน 


[full-post]

วิชชาสูตร,อาหารของวิชชาและวิมุตติ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.